พิการ คือ ความอัปยศ ความพ่ายแพ้ ความอ่อนแอ ความสิ้นหวัง ฯลฯ.....
นั่นคือ เจตคติที่สังคมส่วนใหญ่ในโลกอาจมองผู้พิการ ผลที่ตามมาคือ ในสังคมเช่นนั้น ผู้พิการจึงถูกทอดทิ้งให้อยู่โดยลำพัง อยู่อย่างไร้ศักดิ์ศรี และจมปลักอยู่กับความทุกข์กายใจจนลมหายใจสุดท้าย.
ในทางตรงกันข้าม ยังมีคนอีกมากมายในโลกที่ปฏิเสธทัศนะเช่นนั้น พวกเขามีมุมมองที่ทำให้ผู้พิการมีที่ยืนบนโลกใบนี้อย่างทัดเทียมกับคนอื่นๆ.
อาจจะด้วยมุมมองเช่นนี้ Sir Ludwig Guttmann จึงริเริ่มจัดการแข่งขันกีฬา สำหรับทหารผ่านศึกที่ได้รับบาดเจ็บไขสันหลังเป็นครั้งแรก ณ เมือง Stoke Mandeville ประเทศอังกฤษ เมื่อปี พ.ศ. 2491 4 ปีต่อมา ผู้พิการจากประเทศเนเธอร์แลนด์เข้าร่วมการแข่งขัน วันนั้นคือวันเริ่มต้นของความเคลื่อนไหวระดับนานาชาติอันเป็นที่มาของโอลิมปิกเกมส์เพื่อผู้พิการ ณ โรม พ.ศ. 2503 หรือที่เรียกกันในปัจจุบันว่า Paralympics.
Paralympics จึงเป็นสัญลักษณ์ทางสังคมในรูปกิจกรรมที่มุ่งแสดงให้โลกได้ประจักษ์ในศักยภาพและความสามารถพึ่งตนเองได้ของผู้พิการ ด้วยการจัดการที่ดี. สัญลักษณ์นี้ได้เป็นแรงบันดาลใจให้โลกทัศน์ของสังคมค่อยๆเปลี่ยนจากด้านลบเป็นบวก กฎหมายใหม่ นโยบายใหม่จึงค่อยๆอุบัติขึ้น นำไปสู่สิ่งแวดล้อมใหม่ โอกาสใหม่สำหรับผู้พิการ.
วันนี้ในมหานครเป่ยจิง ความหวังของกลุ่มเล่นบอลไท่จี๋ (ไทเก็ก) ที่ดิ้นรนมาช้านานให้ผู้พิการอย่างพวกเขาได้มีสนามเล่นบอลในที่สาธารณะจึงปรากฏเป็นจริง. สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการ เช่น ทางเดินสาธารณะ รถเมล์ รถไฟใต้ดิน ห้องน้ำ ฯลฯ ได้กลายเป็นมาตรฐานสิ่งแวดล้อมใหม่ของมหานครแห่งนี้.
แน่นอน การเปลี่ยนแปลงเพื่อผู้พิการเหล่านั้น มิได้เป็นผลโดยลำพังจากการที่รัฐบาลจีนหรือรัฐบาลประเทศอื่นๆ ตกลงเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกผู้พิการ แต่ก็คงไม่ยากนักที่จะเข้าใจว่า การตั้งต้นเมื่อ พ.ศ. 2491 โดย Sir Ludwig Guttmann เปรียบเสมือนการกระพือปีกของผีเสื้อตัวน้อย ที่ก่อเกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ร้อยเรียง สั่นไหว แผ่ซ่านออกไปอย่างต่อเนื่องจากเล็กสู่ใหญ่จนกลายเป็นกระแสหลักของการเปลี่ยนแปลงโลกให้น่าอยู่มากขึ้นสำหรับผู้พิการในวันนี้และเชื่อได้ว่าจะต่อเนื่องไปสู่วันข้างหน้าไม่รู้จบ.
ใช่หรือไม่ว่า นี่คือตัวอย่างของการเปลี่ยนร้ายให้กลายเป็นดี โดยเชื่อว่า ในโลกอันมีคุณสมบัติของสภาวะโกลาหล (chaos) ปรากฏการณ์ผีเสื้อกระพือปีกมีอยู่จริงในทุกมิติของการเปลี่ยนแปลงในโลกทางธรรมชาติและโลกทางสังคม.
- อ่าน 4,041 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้