http://lapublichealth.org/ACD/MRSA.htm
MRSA ในชุมชน
Community-Associated Methicillin-Resistant Staphylococcus aureus (CAMRSA)
ในยุคของ emerging & re-emerging infectious diseases มักจะมีโรคติดเชื้อใหม่ หรือกลับมาใหม่เป็นระยะ. สำหรับวารสารฉบับนี้ขอนำเสนอเชื้อที่คิดว่าอาจจะเป็นสาเหตุของโรคติดเชื้อใหม่ในอนาคตสำหรับประเทศไทยนั่นคือเชื้อ community-associated methicillin-resistant Staphylococcus aureus (CAMRSA) ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ ได้มีรายงานผู้ป่วยรายแรกที่แพทย์สงสัยว่าจะติดเชื้อดังกล่าวในกรุงเทพมหานคร.
แพทย์ทุกท่านคงจะคุ้นกับคำว่า MRSA หรือ methicillin-resistan Staphylococcus aureus ตั้งแต่อยู่ในโรงเรียนแพทย์แล้ว เนื่องจากเป็นเชื้อดื้อยาสำคัญที่เกิดในโรงพยาบาล. ต่อมาพบว่ามีการติดเชื้อดังกล่าวในชุมชน โดยผู้ที่ติดเชื้อไม่เคยเข้าโรงพยาบาล หรือได้รับการทำหัตถการ เช่น การผ่าตัด การล้างฟอกไต (hemodialysis) หรือการใส่สาย catheter ใดๆ มาก่อน จึงตั้งชื่อว่า community-associated MRSA (CAMRSA) โดยเป็นการติดเชื้อทางผิวหนังเป็นส่วนใหญ่ในผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงปกติ. แต่เมื่อเร็วๆ นี้มีรายงานการติดเชื้อในผู้ป่วย HIV ด้วยลักษณะทางคลินิกมักจะเป็นหนองฝีตามผิวหนังที่เกิดหลังการมีบาดแผลหรือสัมผัสกับเชื้อผ่านทางผิวหนังที่ติดเชื้อของผู้อื่น. ในบางกรณีเชื้ออาจเข้าสู่กระแสเลือดทำให้เกิดอาการไข้หนาวสั่น ปอดอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบเป็นต้นเกณฑ์การวินิจฉัยว่าเป็น CAMRSA ของ CDC ได้แก่
1. การวินิจฉัยเกิดในผู้ป่วยนอก หรือเพาะเชื้อได้จากผู้ป่วยภายใน 48 ชั่วโมงหลังรับไว้รักษาในโรงพยาบาล.
2. ไม่เคยมีประวัติติดเชื้อหรือมี colonization จาก MRSA.
3. ในรอบปีที่ผ่านมา ไม่เคยเป็นผู้ป่วยในของโรงพยาบาลหรือสถานพักฟื้นใดๆ และไม่เคยได้รับการผ่าตัดหรือทำ hemodialysis.
4. ไม่มีสายสวนคาหรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ติดตัวถาวรผ่านทางผิวหนัง.
เชื้อ CAMRSA จะเป็นสายพันธ์ที่แตกต่างจากเชื้อ HAMRSA (hospital-acquired MRSA) โดยมีคุณสมบัติทางจุลชีววิทยาและพันธุกรรมแตกต่างกันซึ่งเชื่อว่าเกี่ยวข้องกับ virulence factors ที่อาจทำให้การแพร่กระจายของ CAMRSA เกิดขึ้นได้ง่ายกว่า เป็นผลให้พบการติดเชื้อดังกล่าวในผิวหนังได้บ่อย. การรักษาให้ใช้ยาปฏิชีวนะที่เชื้อไม่ดื้อยาโดยพิจารณาจากผลของ susceptibility test (antibiogram).
หากแพทย์ได้ตระหนักถึงเชื้อดังกล่าวในเวชปฏิบัติแล้วก็น่าจะได้พบผู้ป่วย CAMRSA ได้มากขึ้นในอนาคต.
ซำแก้ว หวานวารี พ.บ., รองศาสตราจารย์, ศูนย์เวชศาสตร์ชุมชน, คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี, มหาวิทยาลัยมหิดล
- อ่าน 2,461 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้