"ชีวิตของผมรับราชการมาตลอด นับตั้งแต่เรียนจบจากคณะแพทย์ จุฬาฯ" คำพูดเปิดฉากเผยชีวิตการทำงานของรองศาสตราจารย์ นายแพทย์กำจร ตติยกวี อาจารย์ประจำภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ปัจจุบันนอกจากสวมหมวกในฐานะครูของนักศึกษาแพทย์ แล้วยังสละเวลามาทำงานเพื่อสังคมในฐานะคณะกรรมการบริหารแผน คณะที่ 6 สนับสนุนโครงการเปิดรับทั่วไปและนวัตกรรมของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อเป็นอีกหนึ่งพลังที่ช่วยส่งเสริม ให้ประชาชนไทยมีสุขภาพดี "สาเหตุที่ได้เข้ามาช่วยงานในสสส. เนื่องจากระหว่างที่เป็นอาจารย์ ได้มีโอกาสออกไปช่วยเหลือระบบสุขภาพของประเทศ นั่นคือ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขแห่งชาติ (สวรส.) ช่วยทำในส่วนการเผยแพร่ความรู้ด้านการแพทย์ หลังจาก สวรส. ได้พัฒนาจนเกิดเป็น สสส. ก็ได้เข้าไปช่วยโดยดูแลในส่วนการให้ทุนแก่ภาคประชาชน อันหมายถึง กลุ่มบุคคล เครือข่าย หรือภาคี ที่สนใจเกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาพ"
วัตถุประสงค์ของการให้ทุน มุ่งหวังให้ประชาชนมีความตื่นตัว และความเข้าใจในการดูแลสุขภาพของตนเองมากขึ้นกว่าเดิม อันจะทำให้ประชาชนชาวไทยมีสุขภาพที่แข็งแรง
แนวทางการให้ทุนของเราเป็นเชิงรับ นั่นคือชาวบ้านมีโครงการอยู่แล้ว แต่ไม่มีเงิน เราก็นำเงินไปสนับสนุนเขา เปรียบเหมือนน้ำมันหล่อลื่น ที่ช่วยให้ขับเคลื่อนไปได้ เช่น บางชุมชนอยากรณรงค์ไม่ดื่มแอลกอฮอลล์ในงานเลี้ยง แต่ขาดเงินและอุปกรณ์ เราก็ไปสนับสนุนตรงนั้น
การทำงานเรามีโจทย์ที่กลุ่มประชากรและปัญหาที่เกิด อย่างกลุ่มวัยรุ่น ปัญหาสุขภาพที่พบได้แก่ ปัญหายาเสพติด ปัญหาเรื่องเพศ กลุ่มวัยทำงาน ปัญหาโรคเอดส์ สารเคมีจากการเกษตร ส่วนวัยชรา ปัญหาที่พบคือ โรคต่างๆ และการดูแล เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน การเดินเหิน เป็นต้น
ในส่วนของการแก้ปัญหาสุขภาพวัยรุ่นนั้น ที่ผ่านมาทาง สสส. ได้จัดทำโครงการกำหนดแผนที่กำหนดพื้นที่ดี-พื้นที่เสี่ยง โดยระดมความคิดเห็นจากนักเรียนว่าสถานที่ใดในชุมชนของเขาควรถูกจัดเป็นพื้นที่ดีหรือพื้นที่เสี่ยง เช่น ร้านเกม อาบอบนวด ข้อดีของการคิดกันเอง คือทำให้เยาวชนเริ่มตระหนักว่า สิ่งเหล่านี้เป็นการเสี่ยงต่อภาวะสุขภาพทั้งกายและใจ หลังจากระบุว่าสถานที่ใดเป็นพื้นที่ดี พื้นที่เสี่ยงแล้ว ก็ให้คิดต่อว่าจะจัดการกับพื้นที่เสี่ยงเหล่านั้นอย่างไร อันที่จริงเขาไม่สามารถเลิกล้มกิจการเหล่านั้นได้ แต่สามารถให้ความรู้แก่เพื่อนๆ ได้รับรู้ว่าพื้นที่ตรงนี้ไม่ดีอย่างไร แม้ว่าโครงการดังกล่าวไม่เกิดเป็นมรรคผล แต่ช่วยให้เด็กคิดเป็น รู้จักแก้ปัญหา และป้องกันตัวเอง
จำนวนหน้ากระดาษเพียง 2 หน้าคงไม่พอที่จะบอกเล่าถึงภาระหน้าที่ทั้งหมด เพราะยังมีอีกหลายหมวกที่รองศาสตราจารย์ นายแพทย์กำจร ตติยกวี ต้องสวม หากทุกหมวกที่ยอมสวมนั้น เพราะมีความรักเป็นแรงขับเคลื่อน รักในงาน รักในคน
- อ่าน 1 ครั้ง
พิมพ์หน้านี้