นอกจากเสี่ยงต่อการเสียชีวิต การติดเชื้อ methicillin-resistant staphylo- coccus (MRSA) ยังเป็นภาระทางการเงินสูงหลายหมื่นดอลลาร์สหรัฐในผู้ป่วยแต่ละราย. แต่ละปีในประเทศสหรัฐอเมริกา การติดเชื้อ MRSA คร่าชีวิตคนอเมริกัน 13,000 คน โดยที่ร้อยละ 64 ของการติดเชื้อในโรงพยาบาลเป็นชนิด MRSA ข้ามไปฝั่งยุโรปตัวเลขชนิดนี้ในโรงพยาบาลของประเทศเนเธอร์แลนด์ต่ำกว่าร้อยละ 1.
ทำไมจึงมีความแตกต่างกันมากถึงเพียงนั้น ดูเหมือนว่าคำตอบคือ แนวทางการจัดการความเสี่ยงต่างกัน ในขณะที่โรงพยาบาลในประเทศสหรัฐฯยึดถือแนวทางป้องกันด้วยการรักษาสุขอนามัย เช่นการหมั่นล้างมือตามคำแนะนำของศูนย์ควบคุมป้องกันโรค (CDC) ซึ่งในความเป็นจริงมักมีข่าวเนืองๆ ว่าบุคลากรมักปฏิบัติได้ไม่เคร่งครัด. โรงพยาบาลในยุโรปตะวันตกบางประเทศเช่น เนเธอร์แลนด์และเดนมาร์กอาศัยการแยกผู้ป่วยที่สงสัยว่าเสี่ยงที่จะติดเชื้อชนิดนี้ตั้งแต่แรกรับจนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าปลอดการติดเชื้อ การแพร่เชื้อชนิดนี้ไปสู่ผู้ป่วยรายอื่นหรือบุคลากรจึงมีโอกาสต่ำมาก.
นอกจากมาตรการในระดับโรงพยาบาล ยุโรปยังมีมาตรการระดับชุมชนอันเป็นแหล่งฟักตัวของ MRSA. ตั้งแต่มกราคมปีที่แล้ว ยุโรปห้ามการใช้ปฏิชีวนะในปศุสัตว์ ยกเว้นเพื่อการรักษาโรคสัตว์เท่านั้น และยังห้ามการใช้ avoparcin ในทางการเกษตรโดยสิ้นเชิง เพราะยาปฏิชีวนะขนานนี้เป็นความหวังสุดท้ายในการรับมือกับ MRSA.
มาตรการห้ามการใช้ปฏิชีวนะในยุโรป สะท้อนให้เห็นความห่วงใยเกี่ยวกับผลกระทบเชิงลบจากการพัฒนานอกวงการสาธารณสุข (non health sector) ที่มีต่อสถานการณ์ในวงการสาธารณสุข ซึ่งแท้ที่จริงไม่ได้จำกัดเฉพาะเรื่องการดื้อยาปฏิชีวนะเท่านั้น เราคงไม่ลืมปัญหาการเลี้ยงวัวในประเทศอังกฤษด้วยโปรตีนจากสัตว์อันนำไปสู่การระบาดของโรควัวบ้ามาสู่คน.
ทำนองเดียวกัน การปนเปื้อนมูลสัตว์และปุ๋ยในอุตสาหกรรมเกษตรลงสู่แม่น้ำ และทะเลในที่สุด ก็ได้ก่อปัญหาการระบาดของสาหร่ายหรือแพลงตอนพืชที่บดบังแสงแดดลงสู่ก้นทะเล เป็นที่มาของการทำลายพืชสีเขียวที่ก้นทะเล ทำให้สมดุลออกซิเจนในน้ำทะเลเสียไปในทุกระดับความลึกจนสัตว์น้ำอันเป็นแหล่งอาหารของมนุษย์ก็ร่อยหรออย่างน่าวิตก ที่เรียกว่าปรากฏการณ์ทะเลมรณะ (dead sea) กระจายอยู่ตามชายฝั่งประเทศยุโรปตะวันตก สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ รวมทั้งญี่ปุ่น ซึ่งล้วนเป็นประเทศที่มีนโยบายปกป้องอุตสาหกรรมการเกษตรด้วยการให้เงินอุดหนุน จนเป็นกรณีพิพาทเรื่อยมาในเวทีเจราจาการค้าโลก รอบอุรุกวัย จนถึงโดฮา ก็ยังไม่ยุติ. ผลของการอุดหนุนนี้ทำให้ผลผลิตการเกษตรหลายชนิดในประเทศเหล่านั้นล้นเกิน จนกลายเป็นแรงกดดันให้ส่งออกสินค้าเกษตรไปทั่วโลกโดยเฉพาะเข้าสู่ตลาดประเทศกำลังพัฒนา ทั้งในรูปอาหารวัตถุดิบ (เช่น ครีม เนย เนยแข็ง) อาหารปรุงสำเร็จ หรือกึ่งสำเร็จ (มันฝรั่งทอดกรอบ พิซซ่า เค้ก ไอศกรีม คุ้กกี้ เป็นต้น) ซึ่งเมื่อผนวกเข้ากับกลยุทธการตลาดที่เหนือชั้น ในลักษณะของช่องทางจัดจำหน่ายอันหลากหลาย (ซูเปอร์สโตร์ คอนวีเนียนสโตร์ ดิสเคาน์สโตร์) การโฆษณาประชาสัมพันธ์ และการส่งเสริมการขาย นำไปสู่การบริโภคอาหารพลังงานเข้มข้นและการระบาดของโรคอ้วนไปทั่วโลก.
- อ่าน 2,282 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้