Skip to main content
ข้อมูลสุขภาพ มูลนิธิหมอชาวบ้าน
menu

Login Pop

  • เข้าสู่ระบบ
    • ลืมรหัสผ่าน
search
  • เว็บหลักหมอชาวบ้าน
  • สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน
  • มูลนิธิหมอชาวบ้าน
  • หน้าแรก
  • ดูแลสุขภาพด้วยตัวเอง
  • บทความสุขภาพน่ารู้
  • สื่อสุขภาพ
  • คำถามสุขภาพ
  • ข่าวสาร
  • ติดต่อหมอชาวบ้าน
  • ข้อปฏิเสธความรับผิดชอบ
หน้าแรก » บทความสุขภาพน่ารู้ » "ผมเป็นหมอ...ผมไม่เมาาาาว!"
  • ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

"ผมเป็นหมอ...ผมไม่เมาาาาว!"

โพสโดย Anonymous เมื่อ 1 มีนาคม 2550 00:00

กรณีศึกษา
นายแพทย์อายุ 35 ปี มีพฤติกรรมชอบดื่มสุราจนเมามายมาตั้งแต่เริ่มทำงานใช้ทุนในโรงพยาบาลชุมชนแห่งหนึ่ง. ภาพที่ผู้คนเห็นเป็นประจำคือดื่มสุราจนเมาหลับทั้งชุดแพทย์อยู่กับยามหน้าโรงพยาบาล พอเช้าก็งัวเงียลุกไปอาบน้ำ ก่อนจะขึ้นมาตรวจผู้ป่วยบนตึกด้วยหน้าตาแดงก่ำ มีกลิ่นสุราประจำตัว ดื่มเบียร์แทนน้ำ พกเบียร์กระป๋องติดเสื้อกาวน์ประจำ ตรวจผู้ป่วยไปกระดกเบียร์ไป มีอาการมือสั่นมากขณะทำการผ่าตัดแต่ยังไม่เคยผ่าตัดผิดพลาด. เวลาตรวจผู้ป่วยในวอร์ด พยาบาลต้องโทรศัพท์มาถามซ้ำว่าต้องการสั่งอะไรกันแน่ เช่น O2 canula 120 cc/min เป็นต้น. ทั้งพยาบาลและผู้ป่วยร้องเรียนผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ่อยครั้งเรื่องกลัวอันตรายจากแพทย์ที่เมาสุราตลอดเวลา. ผู้ป่วยมักขอย้ายห้องตรวจเมื่อทราบว่าต้องเข้าห้องตรวจของนายแพทย์คนนี้. ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจึงเรียกมาคุยและแนะนำให้ไปรักษาจริงจัง รวมทั้งแนะนำให้หยุดการประกอบวิชาชีพไว้ก่อน แต่นายแพทย์รายนี้ปฏิเสธ เพราะไม่มีเงินเก็บ เป็นคนหารายได้หลักให้ครอบครัว และไม่ต้องการย้ายไปทำงานที่อื่น.

ประเด็นคำถาม
1. นายแพทย์รายนี้ทำความผิดประเภทใดในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม

จริงๆ แล้ว ในข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2526 ไม่มีบัญญัติห้ามผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมดื่มแอลกอฮอล์ในขณะประกอบวิชาชีพ แต่ในข้อ 2 หมวด 1 ของหลักทั่วไปในข้อบังคับดังกล่าว บัญญัติไว้ว่า "ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมย่อมไม่ประพฤติหรือกระทำการใดๆ อันอาจเป็นเหตุให้เสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ" พฤติกรรมของแพทย์ดังกล่าวจะเข้าข่ายผิดข้อบังคับข้อนี้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของคณะกรรมการแพทยสภา อย่างไรก็ตามยังไม่เคยมีกรณีทำนองนี้เข้าสู่การพิจารณาของแพทยสภาไทย.

สำหรับในฐานะข้าราชการ ตาม พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 มาตรา 98 วรรคแรก บัญญัติว่า "ข้าราชการพลเรือนสามัญต้องรักษาชื่อเสียงของตน และรักษาเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่ ราชการของตนมิให้เสื่อมเสีย โดยไม่กระทำการใดๆ อันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่ว..."

ตัวอย่างแนวทางการลงโทษกรณีนี้ อาจดูได้จากการลงโทษที่ส่วนราชการต่างๆ ได้รายงานไปยัง ก.พ. ระหว่างปี พ.ศ. 2540-2545 อย่างไรก็ตามในกรณีที่ข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์แห่งการกระทำผิดแตกต่างจากแนวทางการลงโทษเหล่านี้ ผู้พิจารณาคดีก็สามารถใช้ดุลพินิจ พิจารณาปรับระดับโทษให้แตกต่างไปได้ แต่ต้องอยู่ภายในกรอบของกฎหมายและพฤติการณ์แห่งการกระทำผิดในแต่ละกรณี เช่น

2. ผู้อำนวยการโรงพยาบาลควรทำอย่างไร เมื่อพบว่าแพทย์ในโรงพยาบาลมีปัญหาติดสุรา
ปัญหานี้มักจะเป็นยาขมหม้อใหญ่ของผู้บังคับบัญชาที่มีลูกน้องแพทย์ลักษณะดังกล่าว หลายคนคิดว่ายากจะตักเตือนเพราะเห็นว่าเป็นเรื่องส่วนตัว ใครดื่มก็ต้องรับผิดชอบตนเอง บ้างก็คิดว่าพูดลำบากเพราะยังไม่เกิดความเสียหายใดๆ บ้างก็ไม่รู้จะตักเตือนได้อย่างไรเพราะอาจจะเป็นการไปกล่าวหาหรือดูถูกเขา เหตุผลต่างๆเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าจริงๆแล้วเป็นปัญหาซ่อนเร้นที่พบบ่อยในวงการแพทย์ของไทย แต่แพทย์ส่วนใหญ่ยังไม่มีทักษะในการจัดการหรือสื่อสารให้แพทย์ที่ติดสุราเข้ารับการบำบัดรักษา.

อนึ่งแพทย์ทุกคนควรตระหนักว่าพฤติกรรมการติดสุราไม่ใช่เรื่องของอุปนิสัยส่วนตัว แต่เป็นความเจ็บป่วยที่ต้องได้รับความช่วยเหลือ ซึ่งแตกต่างจากการดื่มสุราตามงานสังคมนานๆ ครั้ง คนที่ดื่มสุราเป็นประจำมักจะโกรธหรือรำคาญคนเตือน แต่นั่นเป็นเพราะฤทธิ์ของสารเสพติดที่ต้องเสพต่อเนื่อง.

นอกจากนี้ คนที่ติดสุราจะประเมินตนเอง ต่ำกว่าความเป็นจริงว่า "ผมไม่เมา" การเตือนจึงไม่ใช่การพูดจนกระทั่งเขายอมรับสารภาพว่าเขาผิดหรือเขาเมา เพราะเขาจะไม่ยอมรับว่าเขาเมา และเขามักจะบอกว่าเลิกเมื่อไหร่ก็เลิกได้ ไม่ได้เสพติด เหล่านี้ล้วนเป็นคำแก้ตัวของผู้ที่เสพติดแล้ว ต้องเข้าใจ และไม่ตอกย้ำเรื่องสุรามากนัก แต่หันมาสนใจที่มาของพฤติกรรมการดื่มสุราของแพทย์คนนี้มากกว่า เช่น เหงา ว้าเหว่ โดดเดี่ยว กดดัน เครียด เซ็ง ต้องการเพื่อน เป็นต้น และแนะนำช่วยเหลือที่สาเหตุต้นตอมากกว่าจะไปแก้ไขที่พฤติกรรมการติดสุราอย่างเดียว.

ในแง่ของข้าราชการ ตามมาตรา 99 ของ พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 บัญญัติว่า "มาตรา 99 ให้ผู้บังคับบัญชามีหน้าที่เสริมสร้างและพัฒนาให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชามีวินัย ป้องกันมิให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชากระทำผิด และดำเนินการทางวินัยแก่ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาซึ่งมีกรณีอันมีมูลที่ควรกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัย

การเสริมสร้างและพัฒนาให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชามีวินัย ให้กระทำโดยการปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี การฝึกอบรม การสร้างขวัญและกำลังใจ การจูงใจหรือการอื่นใดในอันที่จะเสริมสร้างและพัฒนาทัศนคติ จิตสำนึก และพฤติกรรมของผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาให้เป็นไปในทางที่มีวินัย

การป้องกันมิให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชากระทำผิดวินัย ให้กระทำโดยการเอาใจใส่สังเกตการณ์และขจัดเหตุที่อาจก่อให้เกิดการกระทำผิดวินัยในเรื่องอันอยู่ในวิสัยที่จะดำเนินการป้องกันตามควรแก่กรณีได้...........

ผู้บังคับบัญชาผู้ใดละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ ตามมาตรานี้ และตามหมวด 5 หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวโดยไม่สุจริต ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำผิดวินัย"


จากวรรคท้าย ผู้บังคับบัญชาผู้ใดละเลย ปล่อยให้ผู้ใต้บังคับบัญชากระทำผิดวินัย โดยมิได้ดำเนินการทางวินัยกับผู้กระทำผิด จึงถือว่าผู้บังคับบัญชานั้นกระทำผิดวินัยด้วย ดังนั้นในฐานะผู้บังคับบัญชาต้องหาทางให้แพทย์ผู้นี้เข้ารับการรักษาให้ได้ รวมทั้งควรหาทางโยกย้ายแพทย์ผู้นี้ไปทำงานในตำแหน่งหน้าที่อื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการรักษาผู้ป่วยก่อนจนกว่าจะเข้ารับการบำบัดจนหายเป็นปกติ เพราะกรณีนี้มีความเสี่ยงสูงที่จะทำการรักษาผิดพลาดให้เกิดแก่ผู้ป่วยได้.

3. เพื่อนแพทย์ในโรงพยาบาลควรให้ความช่วยเหลือแก่แพทย์รายนี้อย่างไร
ควรสนับสนุนและให้กำลังใจต่อแพทย์ผู้นั้น ให้เข้ารับการบำบัดรักษาโดยถือว่าเขาเป็นผู้ป่วยคนหนึ่ง ในขณะที่เขาป่วย เขาไม่ใช่แพทย์ เขาไม่เห็นตนเอง เขาสลัดตนเองจากวงจรของการเสพติดไม่ได้.

ภาวะนี้สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ต้องอาศัยกำลังใจและแรงสนับสนุนจากรอบด้าน ไม่ต่อว่า ไม่รังเกียจ ไม่ประชดประชันส่อเสียด แต่เผชิญหน้าพูดคุยตรงๆ และแสดงความห่วงใยจริงใจอย่างต่อเนื่อง ให้นึกว่าเขาเป็นเหมือนคนไข้ฉลาดๆรายอื่น อย่าเกร็งว่าเขาเป็นเพื่อนหรือเขาเป็นแพทย์ จึงคิดไป เองว่าเขาน่าจะรู้อะไรดีชั่ว จริงๆ แล้วการเสพติดไม่เกี่ยวกับความดีชั่ว แต่เป็นความเจ็บป่วยทางจิตที่ ไปออกอาการทางการเสพติดสิ่งบางอย่าง ขณะที่เขาป่วย เขาไม่ใช่แพทย์ การตัดสินใจต่างๆ จะผิดปกติไป.

การแสดงความเห็นใจใส่ใจอย่างต่อเนื่องจากเพื่อนผู้หวังดี จะสามารถกระตุ้นให้เขามีแรงบันดาลใจที่จะหยุดการเสพติดลงได้ ข้อสำคัญคือต้องพูดคุยและทำความเข้าใจสาเหตุที่ทำให้เขาดื่มสุราเสียก่อน จึงจะช่วยเขาหาแรงบันดาลใจในการหยุดสุราได้พบ. ส่วนการทำจิตบำบัดผู้ติดสุรามีหลากหลายวิธี เช่น Motivation enhancement therapy (MET) ซึ่งแพทย์ทั่วไปก็สามารถทำได้


4. ใครมีสิทธิในการตัดสินว่านายแพทย์รายนี้ ควรหยุดหรือกลับมาประกอบวิชาชีพเวชกรรมเมื่อใด
ในการตัดสินใจหยุดการประกอบวิชาชีพเวชกรรมต้องเป็นการตัดสินใจโดยตัวแพทย์ผู้เข้ารับการบำบัดรักษาเอง ไม่มีใครตัดสินใจแทนได้ แต่สามารถเกลี้ยกล่อมให้เขาเห็นว่าเขากำลังป่วยและมีความเสี่ยงสูงในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมผิดพลาด ซึ่งจะมีผลเสียต่อตนเองและผู้ป่วย หากเขาเคยเป็นแพทย์ที่ดีได้และอยากเป็นแพทย์ต่อไป เขาน่าจะคำนึงถึงผลเสียหากเกิดการฟ้องร้องกรณีผิดพลาดจากการดื่มสุรา ซึ่งจะทำให้เขาสูญเสียความมั่นใจในตนเองลงไปกว่าเดิมอีก.

เมื่อแพทย์รายนี้เข้ารับการรักษา ภายหลังได้รับการรักษาไปสักระยะหนึ่งแล้ว แพทย์ผู้ทำการรักษาจะเป็นผู้วินิจฉัยว่าอาการของเขาสมควรจะกลับมาประกอบวิชาชีพเวชกรรมได้เมื่อใด.

แต่หากแพทย์รายนี้ไม่ได้เข้ารับการรักษาตัว ก็คงหาใครไปตัดสินให้ไม่ได้ เพราะปัจจุบันแพทยสภา ไทยยังไม่มีกระบวนการตรวจสอบในเรื่องนี้.

5. มีหน่วยงานหรือระบบใดบ้างในการช่วยเหลือแพทย์ที่ติดสุรา มีขั้นตอนอย่างไร
จากอดีตถึงปัจจุบันในวงการแพทย์ไทยมีแพทย์ที่ติดสุราและยาบางชนิดอยู่ไม่น้อยทำให้สูญเสีย สมรรถภาพในการประกอบวิชาชีพ เพราะวิชาชีพแพทย์เป็นวิชาชีพที่สร้างความเครียดและเผชิญหน้าอยู่กับการตัดสินใจเกี่ยวกับชีวิตของผู้ป่วยอยู่ตลอดเวลา อีกทั้งแพทย์ยังเป็นคนมีปัญหาส่วนตัวและปัญหาครอบครัวเหมือนคนทั่วไปอื่น ซึ่งเมื่อมีปัญหารุมเร้าหลายด้าน อาจเป็นปัจจัยที่นำไปสู่วงจรของการเสพติดได้ ไม่ว่าติดสุรา ติดบุหรี่ ติดเกมคอมพิวเตอร์ ติดพนันบอล เป็นต้น.

อย่างไรก็ตามยังไม่ปรากฏว่ามีโครงการช่วยเหลือแพทย์เหล่านี้อย่างเป็นรูปธรรมในประเทศไทย อีกทั้งแพทย์มักจะอับอายและคำนึงถึงเรื่องความลับของการรักษา และไม่รู้จะหาหมอคนไหนมารักษาตนเอง. ปัจจุบันจิตแพทย์เป็นผู้รับผิดชอบในการบำบัดรักษาอาการเสพติดดังกล่าว จึงควรขอรับคำปรึกษาจากจิตแพทย์ที่ตนเองรู้จักและไว้ใจก่อน ส่วนแพทย์จะเข้าร่วมกลุ่มบำบัดแบบ Matrix หรือไม่ก็เป็นการตัดสินใจของแพทย์อีกครั้ง.

6. ในโรงพยาบาลชุมชนที่แพทย์ถูกจัดสรรมาจำนวนจำกัดต่อปีและไม่สามารถคัดเลือกคุณภาพได้นั้น ผู้อำนวยการควรมีแนวทางอย่างไรในการเฝ้าระวังหรือดูแลปัญหาแพทย์ติดสุราดังกล่าว
การจัดสรรแพทย์ให้แก่โรงพยาบาลชุมชนหรือโรงพยาบาลจังหวัดต่างๆ ในประเทศไทยยังคงเป็น ปัญหาต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลและประชาชนจึงไม่มีสิทธิที่จะเลือกหมอที่ต้องการได้ ดังนั้นโอกาสที่จะพบแพทย์ที่มีปัญหาเช่นนี้จึงพบได้เรื่อยๆ.

แพทย์จึงต้องมีความตระหนักปัญหาสุขภาพของเพื่อนแพทย์ด้วยกันอยู่เสมอ และคอยดูแลกันแบบพี่น้อง ให้คำนึงว่า แพทย์รู้วินิจฉัยโรค แต่ประชาชนไม่รู้วินิจฉัยโรค ดังนั้นแพทย์ต้องคอยดูแลควบคุมคุณภาพของแพทย์ ด้วยกันเองโดยเฉพาะเมื่อแพทย์ด้วยกันป่วยแบบใดแบบหนึ่ง ควรจะแนะนำให้รับการรักษา จนดีขึ้น จะได้กลับมาทำเวชปฏิบัติได้โดยปลอดภัย เพราะในสายตาประชาชนจะมองแบบเหมารวมว่า "แพทย์" เหมือนกันหมด เมื่อเกิดประสบการณ์ไม่พึงประสงค์จากแพทย์ที่ป่วย ความศรัทธาเชื่อถือที่มีต่อวงการแพทย์จะลดลงโดยรวม แพทย์ทุกคนจึงได้รับผลกระทบโดยถ้วนหน้าเช่นทุกวันนี้.

บทความชุดนี้เป็นส่วนหนึ่งของการประชุมเสวนา Medical Law Series ในหลักสูตรแพทย์ประจำบ้าน เวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ นายแพทย์ วิฑูรย์ อึ้งประพันธ์ ศาสตราจารย์ แสวง บุญเฉลิมวิภาส และผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์เอนก ยมจินดา จากศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาเป็นที่ปรึกษาและวิทยากรร่วมเสวนา.

ขอเชิญชวนผู้สนใจที่มีกรณีผู้ป่วยที่ต้องการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นกฎหมายการแพทย์ส่งรายละเอียดกรณีศึกษามาได้ที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงสายพิณ หัตถีรัตน์ ตาม E-mail : [email protected] หรือกองบรรณาธิการคลินิก เลขที่ 36/6 ซอยประดิพัทธ์ 10 ถนนประดิพัทธ์ แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400

สายพิณ หัตถีรัตน์ พ.บ., ว.ว (เวชปฏิบัติทั่วไป) อ.ว. (เวชศาสตร์ครอบครัว)
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

 

ป้ายคำ:
  • กรณีศึกษา
  • คุยสุขภาพ
  • กฎหมายการแพทย์น่ารู้
  • ผศ.พญ.สายพิณ หัตถีรัตน์
  • อ่าน 3,089 ครั้ง
  • พิมพ์หน้านี้พิมพ์หน้านี้

ข้อมูลสื่อ

267-008
วารสารคลินิก 267
มีนาคม 2550
กฎหมายการแพทย์น่ารู้
ผศ.พญ.สายพิณ หัตถีรัตน์
Skip to Top

บทความสุขภาพน่ารู้

  • ทั้งหมด
  • การแพทย์ทางเลือก
    • แพทย์แผนไทย
      • กดจุด
      • นวดไทย
    • แพทย์แผนจีน
  • ดูแลสุขภาพ
    • การดูแลผู้สูงอายุ
    • การปฐมพยาบาล
    • การรักษาเบื้องต้น
    • การใช้ยาสมุนไพร
    • คู่มือดูแลสุขภาพ
    • ยาและวิธีใช้
    • ตรวจสุขภาพด้วยตัวเอง
      • คำนวณค่า BMI
      • วินิจฉัยโรคเบื้องต้น
      • แนะนำการตรวจสุขภาพประจำปี
    • คุยสุขภาพ
      • กรณีศึกษา
      • ถามตอบปัญหาสุขภาพ
  • สุขภาพทางเพศและครอบครัว
    • การดูแลบุตร
    • แม่และเด็ก
    • การตั้งครรภ์
    • เรียนรู้เรื่องเพศและการวางแผนครอบครัว
  • สร้างเสริมสุขภาพ 3 อ. ​และป้องกันโรค
    • อาหาร
      • อาหาร 5 หมู่
      • อาหารของผู้่ป่วยโรคเรื้อรัง
        • ความดันสูง
        • หัวใจ
        • เกาต์
        • เบาหวาน
      • อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง
      • อาหารป้องกันมะเร็ง
      • อาหารสมุนไพร
    • ออกกำลังกาย
      • วิ่ง เดิน ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ แอร์โรบิค แอร์โรบอคซิ่ง รำกระบอง ไทเก็ก ชี่กง โยคะ
    • อารมณ์
      • การทำสมาธิ
      • การพักผ่อน
      • การพัฒนา EQ
      • จิตอาสา/ ฉือจี้
  • พฤติกรรมอันตราย
    • พฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ
    • อนามัยสิ่งแวดล้อม
    • อิริยาบถ
  • โรคและอาการ
    • โรคเรื้อรัง
      • กลุ่มอาการเมตาโบลิค
      • ความดันโลหิตสูง
      • ถุงลมปอดโป่งพอง
      • มะเร็ง
      • อัมพฤกษ์ อัมพาต
      • เบาหวาน
      • โรคข้อ/เกาต์
      • โรคทางจิตเวช เครียด หวาดระแวง
      • โรคหวัด ภูมิแพ้
      • โรคหัวใจ
      • โรคหืด
      • ไขมันในเลือดสูง/ผิดปกติ
      • ไตวาย
    • โรคตามระบบ
      • ระบบทางเดินอาหาร
      • โรคจากอุบัติเหตุ สารพิษ และสัตว์พิษ
      • โรคช่องปากและฟัน
      • โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
      • โรคติดเชื้อ
      • โรคผิวหนัง
      • โรคพยาธิ
      • โรคระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ
      • โรคระบบต่อมไร้ท่อ
      • โรคระบบทางอวัยวะเพศชาย
      • โรคระบบทางอวัยวะเพศหญิง
      • โรคระบบทางเดินปัสสาวะ
      • โรคระบบทางเดินหายใจ
      • โรคระบบประสาทและสมอง
      • โรคระบบไหลเวียนโลหิต
      • โรคหู ตา คอ จมูก
    • โรคจากการทำงาน
      • พิษภัยจากสารเคมี (ยาฆ่าเมลง/ สารตะกั่ว)
      • โรคจากฝุ่นและสารเคมีในโรงงาน
      • โรคจากสัตว์ เช่น ฉี่หนู
      • โรคจากอริยาบทที่ผิดสุขลักษณะ
      • โรคเส้นเอ็นอักเสบ/ นิ้วล็อค
  • ทันกระแสสุขภาพ
  • คลังความรู้สื่อสังคมออนไลน์
  • อื่น ๆ

ได้รับความนิยม

  • นม
  • ถั่วพู
  • คนท้อง
  • ธาลัสซีเมีย
  • ผู้สูงอายุ
  • ผักพื้นบ้าน
  • สมุนไพร

แผนผังเว็บไซต์

  • หน้าแรก
  • ดูแลสุขภาพด้วยตัวเอง
  • บทความสุขภาพน่ารู้
  • สื่อสุขภาพ
  • คำถามสุขภาพ
  • ข่าวสาร
  • ติดต่อหมอชาวบ้าน
  • ข้อปฏิเสธความรับผิดชอบ

รวมลิงค์เครือข่าย

  • มูลนิธิหมอชาวบ้าน
  • สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน
  • สถาบันโยคะวิชาการ

สื่อสุขภาพ

  • คลิปสุขภาพ
  • หมอชาวบ้านรายเดือน
  • คลินิกรายเดือน
  • จดหมายข่าวย้อนหลัง
  • feed หมอชาวบ้าน
  • facebook หมอชาวบ้าน
  • youtube หมอชาวบ้าน
  • feed หมอชาวบ้าน
  • facebook หมอชาวบ้าน
  • twitter หมอชาวบ้าน
  • youtube หมอชาวบ้าน
สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสถาบัน ChangeFusion พัฒนาระบบโดย Opendream สัญญาอนุญาต cc by-nc-sa