อาชีวเวชศาสตร์ปริทัศน์สองฉบับแรกของปี ได้นำเสนอประวัติการเจ็บป่วยของผู้ป่วยชายไทย คนหนึ่งซึ่งไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลทั่วไปแห่งหนึ่งด้วยอาการสำคัญ คือ ปวดท้องมากมาเป็นเวลา 1 วัน ในที่สุดอายุรแพทย์ก็วินิจฉัยได้ว่าผู้ป่วยมีอาการพิษตะกั่วเฉียบพลันและได้ให้ยาขับตะกั่วจนผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นและกลับบ้านได้หลังเข้ารับการรักษาตัว 12 วัน. บทความตอนนี้ จะได้กล่าวถึงบทบาทของแพทย์อาชีวเวชศาสตร์ (occupational medicine physician) ในการดูแลรักษาผู้ป่วยรายนี้ เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้เข้าใจแพทย์สาขานี้มากขึ้นและเห็นช่องทางในการดูแลผู้ป่วยร่วมกันต่อไป.
ความเดิม
เวลาประมาณ 1.00 น. กลางเดือนมกราคม พ.ศ. 2549 ชายไทย อายุ 42 ปี ไปที่ห้องฉุกเฉิน โรงพยาบาลทั่วไปแห่งหนึ่ง ด้วยอาการปวดท้องอย่างรุนแรงมา 1 วัน แพทย์เวรบันทึกการตรวจร่างกาย ไว้ในบัตรผู้ป่วยนอกว่า อุณหภูมิ 37 องศาเซลเซียส ความดันโลหิต 160/100 มิลลิเมตรปรอท ชีพจร 90 ครั้งต่อนาที ผลการตรวจหน้าท้อง soft, flat abdomen, generalized tender, no guarding ให้การวินิจฉัยว่าเป็น recurrent abdominal pain caused ? และให้ผู้ป่วยนอนพักรักษาตัวที่แผนกอายุรกรรมของโรงพยาบาล.
1 วันหลังเข้ารับการรักษา ผู้ป่วยได้เข้ารับการผ่าตัด explore laparatomy พบว่าไม่มีอะไรผิดปกติในช่องท้อง แพทย์ทำ appendectomy แล้วเย็บปิดหน้าท้อง. ต่อมา 1 วันหลังการผ่าตัด ผู้ป่วยมีอาการชักเกร็ง ตาค้าง แขนขากระตุกและมีความดันโลหิตสูง (170/110 มิลลิเมตรปรอท) ศัลยแพทย์ให้ยากันชักหลายครั้งในช่วง 24 ชั่วโมง ผู้ป่วยอาการทุเลาลงและได้ปรึกษาอายุรแพทย์เพื่อหาสาเหตุการชัก อายุรแพทย์ส่งถ่ายภาพรังสีของสมอง (CT brain) ไม่พบ intracranial lesion ใดๆ.
อายุรแพทย์สงสัยว่าผู้ป่วยมีอาการเข้าได้กับพิษตะกั่วเฉียบพลัน จึงส่งเลือดตรวจหาระดับตะกั่ว พบว่าระดับตะกั่วในเลือดผู้ป่วยวันที่มีอาการชักเท่ากับ 141 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร ซึ่งมากพอที่จะก่อให้เกิดภาวะ lead encephalopathy จนชักและอาจเสียชีวิตได้ จึงให้ยาขับตะกั่ว EDTA ด้วยขนาด 30-50 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมต่อวัน.
หลังจากได้รับยาครบ 5 วัน ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นมาก แพทย์จึงให้กลับบ้านหลังพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลได้ 12 วัน ระดับตะกั่วในเลือดก่อนกลับบ้านเท่ากับ 130.3 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร. อีก 1 สัปดาห์ต่อมา ผู้ป่วยมาตรวจตามนัด อาการทั่วไปปกติดี ความดันโลหิตปกติดี (120/80 มิลลิเมตรปรอท) ชีพจร 68 ครั้งต่อนาที และระดับตะกั่ว 67.2 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร.
การทบทวนประวัติการรักษาของผู้ป่วย พบว่าผู้ป่วยเป็นพนักงานโรงงานอุตสาหกรรมขนาดกลาง ทำหน้าที่บรรจุตะกั่วผงจากภาชนะใหญ่สู่ถุงขนาดเล็ก และได้มารับการดับตะกั่วในเลือดปีละครั้งอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ พ.ศ. 2542 ถึงพ.ศ. 2548 โดยพบว่ามีค่าสูงในแต่ละปีและมีแนวโน้มสูงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ.
ทำไมต้อง occ med
ก่อนที่จะอธิบายบทบาทของแพทย์อาชีวเวชศาสตร์ ต้องถามท่านผู้อ่านก่อนว่าผู้ป่วยรายนี้เกิดอาการพิษตะกั่วเฉียบพลันโดยไม่จำเป็นหรือไม่และ "ใคร" เป็นต้นเหตุ.
โดยทั่วไปแล้ว พนักงานโรงงานอุตสาหกรรมที่สัมผัสตะกั่วตลอดเวลาการทำงานเช่นผู้ป่วยรายนี้มักได้รับการชี้แจงสั้นๆ จากทางฝ่ายบุคคลของโรงงาน ว่าต้องใส่อุปกรณ์ป้องกันตัวขณะทำงานโดยเฉพาะหน้ากากกันฝุ่น แม้บางโรงงานอธิบายเหตุผลด้วยว่าเพื่อป้องกันตัวพนักงานเองจากการสัมผัสตะกั่ว ซึ่งอาจมีอันตรายต่อสุขภาพ แต่อีกหลายโรงงานก็ไม่มีการอธิบายเหตุผลดังกล่าว และเมื่อประกอบกับการที่พนักงานมีการศึกษาน้อย ความจำเป็นที่จะต้องทำงานหารายได้และความอึดอัดเมื่อสวมอุปกรณ์เหล่านี้ขณะทำงาน ทำให้ความตระหนักในการป้องกันตัวเอง ของพนักงานมีน้อยกว่าที่ควร นำไปสู่การไม่ใส่อุปกรณ์ป้องกันเหล่านี้.
หน่วยงานด้านอาชีวอนามัยในหลายประเทศตระหนักถึงการไม่ป้องกันตัวเองของพนักงานดังกล่าว จึงได้สนับสนุนการออกกฎหมายบังคับให้นายจ้างหรือผู้ประกอบการ ต้องปรับสภาพแวดล้อมในการทำงานและจัดการหมุนเวียนพนักงาน เพื่อให้พนักงาน ไม่ต้องสัมผัสตะกั่วในระดับที่อันตรายต่อสุขภาพ นอกเหนือไปจากการจัดหาอุปกรณ์ป้องกันให้พนักงานสวมใส่. นอกจากนั้นยังกำหนดให้นายจ้างหรือผู้ประกอบการทำการตรวจวัดระดับตะกั่วในที่ทำงานและในเลือดพนักงานที่สัมผัสเป็นประจำเพื่อวิเคราะห์แนวโน้ม หากพบว่าเริ่มสูงขึ้น ก็ให้ปรับสภาพแวดล้อมการทำงานและจัดการหมุนเวียนพนักงาน ให้เหมาะสมมากขึ้น รวมทั้งเพิ่มมาตรการจูงใจให้พนักงานใส่อุปกรณ์ป้องกันให้มากขึ้นด้วย ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้พนักงานต้องเจ็บป่วยด้วยอาการพิษตะกั่ว ทั้งในระยะเฉียบพลันและเรื้อรัง.
เมื่อกลับมาพิจารณากรณีผู้ป่วยรายนี้ จะเห็นได้ว่า โรงงานได้จัดหาอุปกรณ์ป้องกันให้พนักงาน พนักงานได้สวมใส่อุปกรณ์ดังกล่าว และโรงงานก็ได้ส่งพนักงานมาตรวจระดับตะกั่วในเลือดเป็นประจำ ทุกปี นั่นคือ ถ้าพิจารณาวงจรคุณภาพของ Deming ที่มี 4 องค์ประกอบ คือ Plan-Do-Check-Act กล่าวได้ว่าโรงงานได้ประเมิน (Plan) แล้วว่าพนักงานของตนต้องสัมผัสสารตะกั่วตลอดเวลา อาจเกิดภาวะพิษตะกั่วได้ จึงได้จัดหาอุปกรณ์ให้พนักงานและพนักงานเองก็ได้สวมใส่ (Do). นอกจากนั้นโรงงานยังได้ตรวจสอบ (Check) ว่าพนักงานปลอดภัยหรือไม่ด้วยการส่งพนักงานไปตรวจระดับตะกั่วในเลือด แต่สิ่งที่ขาดไป คือ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขไม่สรุปให้โรงงานเห็นว่าเกิดปัญหาขึ้นแล้วในขั้นตอน Check จึงไม่มี Act โดยโรงงานเพื่อป้องกันการเจ็บป่วย ทำให้ความพยายามในการป้องกันไม่ให้พนักงานป่วยด้วยพิษตะกั่วของโรงงานยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ.
ในกรณีนี้ "เจ้าหน้าที่สาธารณสุข" ที่ไม่ได้ชี้ให้โรงงานเห็นว่าผู้ป่วยมีระดับตะกั่วในเลือดสูง คือ พยาบาลแผนกผู้ป่วยนอกที่ทำหน้าที่ตรวจสุขภาพพนักงาน ผู้เขียนไม่มีเจตนาจะกล่าวหาเจ้าหน้าที่ท่านนั้น (หรือหลายท่านในแผนกนั้น) ว่าทำงานผิดพลาด แต่อยากจะชี้ให้เห็นว่า ถ้ามี "ใครสักคน" ที่ช่วยดูแล "คุณภาพ" ของบริการตรวจสุขภาพพนักงาน ก็น่าจะทำให้ผู้ป่วยรายนี้ไม่ต้องเจ็บป่วย อย่างไม่จำเป็นได้.
"ใครสักคน"
ถ้าโรงพยาบาลทั่วไปที่ผู้ป่วยไปรับการตรวจตะกั่วในเลือด มีการควบคุมคุณภาพการตรวจสุขภาพ พนักงานก็จะต้องมีการประเมินว่า การให้บริการตรวจสุขภาพที่มีประสิทธิภาพ จะต้องเริ่มจากการประเมินว่าผู้ป่วยมี "ความเสี่ยง" อะไรบ้าง ซึ่งในที่นี้มี 2 ประเภทหลัก คือ ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคทั่วๆ ไป เช่น ไขมันสูง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง พิษสุรา เรื้อรัง มะเร็งปอด ฯลฯ กับความเสี่ยงต่อการเกิดโรคพิษตะกั่ว ซึ่งโดยทั่วไปแล้วแพทย์หรือพยาบาลไม่ว่าสาขาใด สามารถประเมินความเสี่ยงประเด็นแรกให้กับผู้ป่วยได้ แต่ความเสี่ยงประเด็นหลังนั้น ต้องการ "ความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง" ที่จะตัดสินว่าผู้ป่วยเสี่ยงหรือไม่.
สำหรับประเทศไทย ณ ปัจจุบัน "ใครสักคน" ซึ่งมี "ความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง" ดังกล่าว คือ บุคลากรด้านอาชีวอนามัย ซึ่งอาจเป็นนักวิชาการสาธารณสุข พยาบาลหรือแพทย์ซึ่งจบการศึกษาด้านอาชีวอนามัย (ปริญญาตรี โทหรือเอก) แพทย์ที่ได้รับวุฒิบัตรหรือหนังสืออนุมัติสาขาอาชีวเวชศาสตร์ แพทย์ที่ได้รับการอบรมด้านอาชีวเวชศาสตร์ (หลักสูตร 8 สัปดาห์) หรือพยาบาลที่ได้รับการอบรมด้านอาชีวอนามัย (หลักสูตร 2 สัปดาห์หรือต่อเนื่อง 4 เดือน).
ถ้ามี "ใครสักคน" ที่ว่าที่โรงพยาบาลทั่วไป แห่งนั้น เขาหรือเธอก็จะ
(1) ช่วยตัดสินได้ว่า ผู้ป่วยควรได้รับการตรวจอะไรบ้างและตรวจบ่อยแค่ไหน จึงจะสามารถป้องกันภาวะพิษตะกั่วได้อย่างมีประสิทธิภาพ .
(2) ประเมินได้ว่าผู้ป่วยมีระดับตะกั่วในเลือดสูง (เกิน 40 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร) ตั้งแต่ครั้งแรก และสามารถให้คำแนะนำได้ว่าควรต้องมีการหาสาเหตุ และทำการแก้ไขเพื่อไม่ให้ผู้ป่วยต้องมีระดับตะกั่วสูงไปกว่านั้น.
(3) สามารถอธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจและตระหนักถึงการดูแลตนเองให้มากขึ้น ถ้าพบว่าตะกั่วในเลือดเพิ่มสูงขึ้นหรือยังสูงเท่าเดิมอยู่ในการตรวจครั้งต่อๆ ไป.
(4) สามารถช่วยโรงงานหาสาเหตุอย่างจริงจัง เพื่อป้องกันพิษตะกั่วสำหรับผู้ป่วยและเพื่อนร่วมงานของผู้ป่วย ได้แก่ ไปร่วมเดินสำรวจโรงงาน แนะนำโรงงานให้ตรวจวัดปริมาณตะกั่วในที่ทำงาน ช่วยประเมินการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อลดตะกั่วในอากาศที่ทำงาน รวมทั้งช่วยประเมินการจัดระบบให้พนักงานสัมผัสตะกั่วน้อยที่สุดและประสิทธิภาพของหน้ากากป้องกันที่ใช้อยู่.
นั่นคือ "ใครสักคน" ที่ว่านั้น จะช่วยทำให้ผู้ป่วยคนนี้ ไม่ต้องเจ็บป่วยโดยไม่จำเป็นได้
บทบาท occ med
ถึงตอนนี้แม้จะเข้าใจความสำคัญของการมี "ใครสักคน" เพื่อเพิ่มคุณภาพบริการตรวจสุขภาพพนักงาน โดยเฉพาะการป้องกันการเจ็บป่วยจากการทำงานดังกล่าวแล้ว ท่านผู้อ่านก็อาจยังสงสัยว่า ไม่จำเป็นต้องเป็นแพทย์และยังไม่แน่ใจว่าเหตุใดจึงต้องเป็นแพทย์อาชีวเวชศาสตร์.
ณ ช่วงเวลาที่ผู้ป่วยรายนี้ยังไม่เกิดอาการพิษตะกั่ว ผู้เขียนเห็นด้วยว่าผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่จะให้คำแนะนำในการดูแลสุขภาพพนักงาน ไม่จำเป็นต้องเป็นแพทย์อาชีวเวชศาสตร์ เนื่องจาก competency ของนักวิชาการสาธารณสุข (อาชีวอนามัย) และพยาบาลอาชีวอนามัยในด้านการป้องกันโรคจากการทำงานนั้นเท่ากับแพทย์อาชีวเวชศาสตร์. อย่างไรก็ตาม จำเป็นที่จะต้องเป็นแพทย์อาชีวเวชศาสตร์ ไม่ใช่แพทย์สาขาใดก็ได้ที่จะสามารถประเมินความเสี่ยงและให้คำแนะนำที่เหมาะสมกับผู้ป่วยในระยะก่อนป่วย.
แต่เมื่อผู้ป่วยเกิดอาการป่วยขึ้นแล้ว จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยแพทย์เฉพาะทางในการดูแลผู้ป่วย ทั้งนี้ จะขอแยกแยะกิจกรรมการวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยรายนี้ ให้ท่านผู้อ่านเห็นภาพ ดังต่อไปนี้
(1) การวินิจฉัยโรค การวินิจฉัยว่าผู้ป่วยรายนี้มีอาการพิษตะกั่วหรือไม่นั้น แพทย์สาขาพิษวิทยาคลินิก (clinical toxicology) แพทย์เวช-ศาสตร์ฉุกเฉินและอายุรแพทย์ทั่วไปที่ได้รับการอบรมด้านพิษสารเคมี สามารถให้การวินิจฉัยได้เท่าเทียมกับแพทย์อาชีวเวชศาสตร์ อย่างไรก็ตาม แพทย์อาชีวเวชศาสตร์มีความเชี่ยวชาญเฉพาะตัวที่แพทย์สาขาอื่นไม่มี นั่นคือ การวินิจฉัยว่าพยาธิสภาพนั้นเกี่ยวเนื่องกับการทำงานหรือไม่ อย่างไร (work-relatedness) กล่าวคือ แพทย์อาชีวเวชศาสตร์ได้รับการฝึกฝน ให้รู้จักสภาพแวดล้อมในการทำงานต่างๆ สามารถประเมินได้ว่าผู้ป่วยรายนี้ทำงานลักษณะใด มีโอกาสสัมผัสตะกั่วได้อย่างไรและน่าจะเป็นปริมาณมากแค่ไหน และสามารถหาข้อมูลประกอบการวินิจฉัยดังกล่าวด้วยการเดินสำรวจโรงงานและแปลผลการตรวจวัด สิ่งแวดล้อมโรงงาน (ซึ่งในกรณีนี้คือระดับตะกั่วในอากาศ).
(2) การรักษา เมื่อทำการวินิจฉัยได้แล้วว่าเป็นพิษตะกั่ว โดยทั่วไปแล้วแพทย์อาชีวเวชศาสตร์สามารถให้การรักษาผู้ป่วยได้ แต่บางครั้ง เช่น กรณีผู้ป่วยมีโรคอื่นๆหรือด้วย ก็อาจต้องปรึกษาแพทย์สาขาพิษวิทยาคลินิก (clinical toxicology) แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน อายุรแพทย์หรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาอื่น เพื่อร่วมกันให้การรักษาผู้ป่วย.
(3) การดูแลหลังการรักษา แพทย์อาชีวเวชศาสตร์มีหน้าที่ประเมินสภาวะสุขภาพว่าผู้ป่วยว่าสามารถกลับไปทำงานได้หรือไม่ เมื่อใดควรทำงานเดิมหรือไม่และควรปฏิบัติตนอย่างไรเพื่อไม่ให้เจ็บป่วยอีก ซึ่งศัพท์ทางอาชีวอนามัยเรียกกิจกรรมนี้ว่า "fitness for work" evaluation อย่างไรก็ตาม ถ้าผู้ป่วยมีพยาธิสภาพที่หลงเหลือจากอาการเจ็บป่วยครั้งนี้ เช่น อาการซีด เวียนศีรษะ หรือเป็นโรคอื่นๆ เช่น เบาหวาน ก็อาจต้องปรึกษาแพทย์เฉพาะทางสาขาอื่นๆ เพื่อทำให้แพทย์อาชีวเวชศาสตร์สามารถประเมินสภาวะสุขภาพของผู้ป่วยได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น .
(4) การป้องกันการเจ็บป่วยครั้งต่อไป นอกจากให้การดูแลผู้ป่วยรายนี้แล้ว ภารกิจที่สำคัญของแพทย์อาชีวเวชศาสตร์ คือ การดูแลไม่ให้ผู้ป่วยรายนี้เจ็บป่วยอีกและป้องกันไม่ให้เพื่อนร่วมงานของผู้ป่วยต้องเจ็บป่วย เนื่องจากผู้ป่วยหนึ่งคนจากที่ทำงานใดที่ทำงานหนึ่ง เสมือนเป็นยอด "ภูเขาน้ำแข็ง" ที่ชี้ให้เห็นว่ามีเพื่อนร่วมงานอีกจำนวนหนึ่งที่มีโอกาสสูงที่จะป่วยเช่นผู้ป่วย ซึ่งถ้าทำการป้องกันได้ทันเวลาเพื่อนร่วมงานเหล่านี้ก็จะไม่เจ็บป่วยเช่นผู้ป่วย. ดังนั้น แพทย์อาชีวเวชศาสตร์จะต้องประสานงานกับโรงงาน เพื่อให้ทราบความจำเป็นดังกล่าวและดำเนินการอย่างทันเวลา อันจะทำให้โรงงานสามารถลดค่าใช้จ่ายจากการเจ็บป่วยที่ป้องกันได้และพนักงานก็มีสุขภาพดีเต็มที่ที่จะทำงาน กิจกรรมที่ต้องทำร่วมกับโรงงาน เช่นในกรณีผู้ป่วยรายนี้ คือ การไปสำรวจโรงงาน เพื่อประเมินว่าพนักงานทุกคน รวมทั้งผู้ป่วย มีโอกาสสัมผัสตะกั่วขณะทำงานมากขนาดไหน โดยอาศัยข้อมูลการตรวจวัดตะกั่วในอากาศประกอบกับการสังเกตการทำงานของพนักงาน จากนั้นก็ให้คำแนะนำในการลดการสัมผัส เช่น การปรับกระบวนการผลิตให้เป็นระบบปิดมากขึ้น การใช้เครื่องดูดฝุ่นตะกั่วจากจุดที่ฟุ้งกระจายมากที่สุด การหมุนเวียนพนักงานเพื่อทำงานในจุดที่ต้องสัมผัสมาก การจูงใจให้พนักงานสวมหน้ากากขณะปฏิบัติงาน และการตรวจวัดระดับตะกั่วในที่ทำงานและในเลือดอย่างสม่ำเสมอ. อย่างไรก็ตาม ในการปฏิบัติงานจริง ภารกิจด้านนี้ แพทย์อาชีวเวชศาสตร์มักจะทำร่วมกับพยาบาลอาชีวอนามัยและนักวิชาการสาธารณสุข มากกว่าจะทำเองทั้งหมด เนื่องจากเจ้าหน้าที่อื่นเหล่านี้ก็มี competency เท่าเทียมกับแพทย์อาชีวเวชศาสตร์ในการป้องกันขั้นตอนนี้และแพทย์อาชีวเวชศาสตร์เองก็ต้องจัดเวลาให้กับกิจกรรมอื่นที่คนอื่นทำแทนไม่ได้.
ท่านผู้อ่านคงจะเข้าใจการทำงานของแพทย์อาชีวเวชศาสตร์และทีมงานมากขึ้น และน่าจะสนใจว่าสำหรับผู้ป่วยรายนี้ ได้มีการทำอะไรอีกบ้าง.
การดูแลครบวงจร
สำหรับผู้ป่วยรายนี้ ถือว่าได้รับการดูแลอย่างครบวงจร กล่าวคือ อายุรแพทย์ที่ให้การวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วย ปรึกษากลุ่มงานอาชีวเวชกรรมของโรงพยาบาล ซึ่งมีพยาบาลอาชีวอนามัยเป็นหัวหน้า และทีมงานนี้ ได้ประสานงานกับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลชุมชน สาธารณสุขอำเภอ สาธารณสุขจังหวัดและสำนักงานป้องกันควบคุมโรคในพื้นที่ ในการร่วมกันเข้าพบผู้บริหารโรงงานเพื่อชี้แจงความสำคัญของการดำเนินการ เพื่อป้องกันความเจ็บป่วยของผู้ป่วยและเพื่อนร่วมงาน และได้เข้าสำรวจโรงงาน ทำการตรวจระดับตะกั่วในอากาศและตรวจสุขภาพพนักงานทุกคนของโรงงาน.
ผลการตรวจพบว่าโรงงานนี้เปิดกิจการมาประมาณ 10 ปี มีพนักงานประจำประมาณ 40 คน ทำการผลิตสารเคมีเพื่อเป็นวัตถุดิบให้กับผู้ประกอบการอื่น มีการใช้สารเคมีหลายชนิดในกระบวนการผลิตโดยเฉพาะตะกั่วออกไซด์ ซึ่งผู้ป่วยและเพื่อนร่วมงานต้องสัมผัสตลอดเวลา 8 ชั่วโมงที่ทำงาน. ผลการตรวจระดับตะกั่วโดยใช้อุปกรณ์ตรวจวัดติดที่ตัวพนักงาน (personal sampling) ที่ทำงานแผนกเดียวกับผู้ป่วย พบว่ามีระดับตะกั่ว 2.6 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งถือว่าสูงกว่าค่ามาตรฐานของปริมาณตะกั่วในบรรยาการการทำงานตลอด 8 ชั่วโมง (TLV-TWA)1 ถึง 10 เท่า และผลการตรวจตะกั่วในเลือด ของเพื่อนพนักงาน พบว่าผลการตรวจทั้งโรงงานครั้งล่าสุดเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2548 พบว่ามีพนักงาน 15 คน (จาก 36 คน) มีระดับตะกั่วในเลือดสูง โดย 10 คนสูงกว่า 60 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร, 3 คนอยู่ในระดับ 50-59 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตรและอีก 2 คนในระดับ 40-49 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร ซึ่งทีมงานสาธารณสุขได้ตรวจซ้ำ พบว่ามีระดับตะกั่วสูงกว่า 60 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตรจำนวน 7 จาก 9 คนที่รับการตรวจ.
เนื่องจากมีจำนวนพนักงานเกือบครึ่งที่มีระดับตะกั่วในเลือดสูงและหนึ่งในสี่อยู่ในระดับที่อันตรายต่อสุขภาพ (สูงกว่า 60 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร) ทีมงานจึงแนะนำผู้บริหารสถานประกอบการว่าอยู่ในภาวะที่ควรดำเนินการเร่งด่วนเพื่อป้องกันการเจ็บป่วยให้กับพนักงาน ได้แก่
- ในระยะสั้น ควรทำการชี้แจงเพื่อให้พนักงานเข้าใจสภาพการทำงานที่เสี่ยงอันตราย และตระหนักถึงความสำคัญในการดูแลตนเอง จัดหาอุปกรณ์ป้องกันที่ได้มาตรฐานให้พนักงาน จัดให้พนักงานที่มีระดับตะกั่วในเลือดสูงได้รับการตรวจสุขภาพเพิ่มเติมโดยแพทย์เพื่อค้นหาพยาธิสภาพอื่นๆ จากตะกั่ว เช่น ภาวะซีด ภาวะไตเสื่อม.
- ในระยะยาว ควรปรับสภาพแวดล้อมการทำงานเพื่อลดฝุ่นตะกั่วในที่ทำงานโดยอาศัยเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับโรงงาน และทำการเฝ้าระวังสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องควบคู่กับการตรวจสุขภาพประจำปีของพนักงาน.
แม้ว่าทางโรงงานจะได้รับข้อแนะนำเหล่านี้ไปปฏิบัติตาม แต่การค้นพบผู้ป่วยรายนี้ ทำให้หน่วยงานภาครัฐอื่นๆ ก็ต้องเข้าไปสำรวจประเมินปัญหา ทำให้ผู้บริหารโรงงานและเพื่อนพนักงานรู้สึกกดดันผู้ป่วยจึงตัดสินใจลาออกจากโรงงานเองในเวลาต่อมา. ปัจจุบันผู้ป่วยบวชเป็นพระภิกษุที่วัดในเขตอำเภอเดิม และสุขภาพทั่วไปแข็งแรงดี โดยเฉพาะระดับตะกั่วได้อยู่ในระดับ 60 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตรแล้ว.
บทสรุป
ผู้ป่วยรายนี้และเจ้าหน้าที่ที่ทำการตรวจสุขภาพประจำปีให้กับผู้ป่วย ณ โรงพยาบาลทั่วไป ถือว่าเป็นผู้ที่มีคุณูปการต่อวงการอาชีวเวชศาสตร์ในประเทศไทย เนื่องจากได้ชี้ให้บุคลากรสาธารณสุขอื่นๆ โดยเฉพาะแพทย์อาชีวเวชศาสตร์ได้เห็นจุดด้อยของการดูแลสุขภาพผู้ประกอบอาชีพและสามารถปรับปรุงบริการอาชีวอนามัย เพื่อจะได้สามารถป้องกันการเจ็บป่วย-ที่ป้องกันได้และไม่จำเป็น-จากการสัมผัสสารเคมีอันตรายขณะทำงาน.
รุ่งศรี รุ่งตระกูล พย.บ., กลุ่มงานอาชีวเวชกรรม
โรงพยาบาลโพธาราม จังหวัดราชบุรี
ฉันทนา ผดุงทศ พ.บ.
DrPH in Occupational Health, สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม, กรมควบคุมโรค, กระทรวงสาธารณสุข E-mail address : [email protected]
- อ่าน 6,958 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้