ระบบบริการ 30 บาท รักษาทุกโรค ให้บทเรียนอะไรบ้างต่อกระทรวงสาธารณสุข ทั้งในด้านบวก และลบ
"นโยบายหลักประกันสุขภาพเป็นนโยบาย ที่ดี เพราะเป็นนโยบายที่สร้างประโยชน์ให้คนไทย ไม่ว่ายากดีมีจนสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นได้อย่างทั่วหน้า ต้องชมว่ารัฐบาลที่แล้วคิดถูกที่ทำเรื่องนี้เป็นนโยบายสำคัญ และทำจนเป็นรูปธรรม ผลกระทบด้านบวก ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการดีขึ้น ทั้งทางด้านปริมาณและคุณภาพ มีการพัฒนามาตรฐานบริการสาธารณสุขอย่างเป็นระบบและมีรูปธรรมชัดเจน. แต่จุดอ่อนคือ เอาของดีๆ อย่างนี้ไปหาเสียงแบบประชานิยมมากไปหน่อย และผลกระทบด้านลบจากการกระจายงบประมาณที่ไม่เพียงพอในบางพื้นที่ หรือบางหน่วยบริการ ทำให้ใน 3-4 ปีที่ผ่านมา ดูแลได้เฉพาะภารกิจการดูแลสุขภาพประชาชน แต่ขาดการพัฒนาทั้งกำลังคนและระบบ รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานที่ดี เรียกว่าหยุดชะงักการพัฒนาไปพอสมควร จากปัญหาขาดแคลนงบประมาณ.
ผมเข้ามารับงาน ก็ได้ให้นโยบายยกเลิกการเก็บค่าธรรมเนียมรักษาพยาบาล ครั้งละ 30 บาทไปแล้ว เพื่อไม่ให้เหลื่อมล้ำและบริหารจัดการได้สะดวกขึ้น ไม่เก็บ 30 บาทก็ขาดเงินไปไม่มาก ในขณะเดียวกันผมก็ขอให้รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณให้มากขึ้น ซึ่งต้องขอขอบคุณ ครม. โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านนายกรัฐมนตรี ได้กรุณาเพิ่มค่าใช้จ่ายต่อหัวให้เป็นหัวละ 1,900 บาทต่อปี เพิ่มขึ้นจากเดิมหัวละกว่า 240 บาท ได้เม็ดเงินเพิ่มกว่า 1 หมื่นล้าน ปี 2550 นี้ได้เงินมาจัดหลักประกันสุขภาพแก่ประชาชนกว่า 45 ล้านคน เป็นเงินกว่า 7 หมื่นล้านบาท.
ผมเชื่อว่าด้วยเงินที่ได้รับเพิ่ม ขึ้นนี้ เมื่อกระจายอย่างเป็นธรรม ก็สามารถนำไปพัฒนาการจัดบริการสาธารณสุขให้กับประชาชนได้อย่างมีคุณภาพ มีมาตรฐานมากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ผมได้กำชับเป็นนโยบายกับผู้บริหารทุกระดับไปแล้ว.
อย่างไร ก็ตาม การจัดบริการสาธารณสุขจะคิดถึงแต่เรื่องเงินทองอย่างเดียวไม่ได้ เพราะบริการของเราเป็นบริการเชิงมนุษย์ ต้องคำนึงถึงจิตใจและจิตวิญญาณเป็นหลัก ถ้าเรามองข้ามมิติของความเป็นมนุษย์ มัวพะวงกันอยู่แต่เรื่องเงิน เรื่องผลประโยชน์ ก็ไม่น่าถูกต้องนัก ผมขอฝากทุกคนให้คิดถึงประเด็นนี้ไว้ด้วยเสมอ".
ระบบบริการสาธารณสุขที่จะเอื้อประโยชน์ด้านสุขภาพคนไทยอย่างถ้วนหน้าจะเป็นอย่างไรในอนาคต
"ระบบบริการสาธารณสุขที่จะเอื้อประโยชน์ด้านสุขภาพของคนไทยอย่างถ้วนหน้าในอนาคต จะต้องยึดหลักให้ประชาชนทุกคน ร่วมสร้างสุขภาพ อย่าหวังพึ่งแต่หมอ หรือโรงพยาบาล จะต้องสร้างระบบให้การสร้างสุขภาพนำการซ่อมสุขภาพ ประชาชนดูแลตนเองได้ป่วยน้อยลง และมีสถานบริการปฐมภูมิ ดูแลใกล้บ้าน ใกล้ใจ สถานบริการระดับสูงขึ้น ในระดับทุติยภูมิ ตติยภูมิ หรือศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะจะได้ทำภารกิจที่เหมาะสมเต็มที่ และมีระบบคุณภาพมาตรฐาน ที่ประกันคุณภาพ ลดความเสี่ยงของผู้รับบริการในทุกระดับ และให้ผู้ให้บริการมีความสุขในการให้บริการด้วย ฉะนั้น สถานบริการระดับต่างๆ จะต้องไม่มีผู้ป่วยล้น เกินกำลังการดูแลเหมือนในปัจจุบัน ซึ่งจะต้องค่อยๆ ปรับระบบและสร้างความเข้าใจกันต่อไป".
ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านั้น ได้ตราไว้ในพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ยังมี จะมีการปรับปรุงในรูปธรรมหรือกิจกรรมอย่างไรบ้าง
"รูปธรรมของระบบที่จะผลักดันให้เกิดในอนาคต คือ การกระจายอำนาจการจัดบริการสาธารณสุขระดับปฐมภูมิ ไปให้กับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขกำลังดำเนินการจัด ทำร่างข้อเสนอและพัฒนากลไก หลักเกณฑ์ต่างๆ ในการโอนถ่ายภารกิจดังกล่าวซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จเร็วๆ นี้. จากนั้นจะมีการทดลองโอนถ่ายในสถานีอนามัยที่มีความพร้อมและเป็นไปตามเกณฑ์ที่เรากำหนด เป็นแบบนำร่องก่อน แล้วนำประสบการณ์ตรงนั้นมาปรับเปลี่ยน เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในระยะต่อไป. ส่วนงานบริการระดับทุติยภูมิ และตติยภูมินั้นมีนโยบายที่จะปรับสถานพยาบาลในระดับนี้ให้เป็นนิติบุคคลที่เป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่ใช่ราชการเพื่อให้การบริหารจัดการคล่องตัวและมีประสิทธิภาพมากขึ้น และประสบการณ์ที่ผ่านมาที่โรงพยาบาลบ้านแพ้วออกไปเป็นองค์การมหาชน ก็ถือว่าประสบความสำเร็จมาก เราจึงอยากขยายผลทดลองทำในสถานพยาบาลอื่นๆ ที่มีความพร้อมเช่นกัน".
ปัญหาหลักในปัจจุบัน ได้แก่ปัญหากำลังคนด้านสุขภาพ ปัญหาฟ้องร้องของประชาชน และเสียงบ่นเรื่องคุณภาพบริการสุขภาพในปัจจุบันนั้น จะมีนโยบายอย่างไร
"ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาทางเชิงระบบที่กระทบกันเป็นลูกโซ่ เพราะถ้ามีปัญหาเรื่องกำลังคน ก็จะมีผลต่อคุณภาพบริการที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือไม่เป็นที่พอใจ ก็จะนำไปสู่ปัญหาฟ้องร้องของประชาชน การแก้ปัญหาจะต้องแก้พร้อมกันทั้งระบบ โดยแก้ที่สาเหตุ เช่น ปัญหากำลังคน ที่ขาดทั้งปริมาณและคุณภาพ จะต้องมาแก้ที่การเพิ่มปริมาณการผลิต และพัฒนาคุณภาพกำลังคน ปัญหาการคงกำลังคนไว้ในระบบ แก้ปัญหาสมองไหล ก็จะต้องมาดูแลเรื่องการตอบแทน และขวัญกำลังใจของคนในระบบ และต้องให้ทุกภาคส่วน รวมทั้งท้องถิ่นรับทราบปัญหาและมีส่วนร่วมในการพัฒนากำลังคน. ส่วนเรื่องลดการฟ้องร้องและพัฒนาคุณภาพบริการ ต้องทำเป็นระบบควบคู่กันไป ทั้งการลดความเสี่ยงด้วยการพัฒนาระบบคุณภาพมาตรฐานให้สถานบริการทุกระดับได้รับการรับรองคุณภาพ และ มีระบบป้องกันความเสี่ยงและสร้างความเข้าใจกับประชาชนผู้รับบริการ และช่วยแก้ปัญหาได้ทันท่วงที และขณะนี้ทางกระทรวงสาธารณสุข กำลังผลักดันให้มีกฎหมายกองทุนทดแทน ความเสียหายที่เกิดจากการรับบริการสาธารณสุข และคุ้มครองผู้ให้บริการที่ให้บริการตามมาตรฐานแล้วด้วยครับ. ในขณะเดียวกันทางกระทรวงสาธารณสุขกำลังส่งเสริมให้มีการจัดระบบและบริหารจัดการให้คนที่มีจิตอาสาเข้ามาเป็นอาสาสมัครในโรงพยาบาล และในสถานีอนามัย อย่างที่โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า จังหวัดนนทบุรี ที่เปิดโอกาสให้อาสาสมัครมาช่วยทำงานที่แผนกต่างๆ ในโรงพยาบาล ซึ่งตรงนี้จะช่วยผ่อนเบาภาระของเจ้าหน้าที่ ในขณะเดียวกันอาสาสมัครก็มีความสุขที่ได้ช่วยเหลือผู้ป่วย และญาติเองก็มีความสุขจากที่มีอาสาสมัครมาดูแลใกล้ชิด ถ้ามีการขยายผลทำในสถาน พยาบาลอื่นๆ หรือทดลองทำในรูปแบบต่างๆ ตามบริบทของพื้นที่ ก็จะช่วยแก้ปัญหาฟ้องร้อง หรือปัญหาคุณภาพบริการสุขภาพได้มากครับ".
เนื่องจากระยะเวลาที่ดำเนินการแก้ปัญหาที่ค้างอยู่มีแค่ 1 ปี รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข จะทำเรื่องใดเป็นเรื่องเร่งด่วน เพื่อจะเป็นคุณูปการแก่ประเทศชาติและประชาชน
"ต้องดูที่นโยบายด้านสุขภาพ 10 ข้อ ที่ประกาศออกไป ถ้าจะว่าไปแล้ว ผมก็อยากให้สำเร็จเป็น รูปธรรมโดยเร็วทุกเรื่องแหละครับ แต่เวลาน้อยคงสำเร็จได้บางเรื่อง อย่างการออกกฎหมาย ก็หวังว่ากฎหมายสำคัญๆ จะออกมาได้ทันเพื่อลงหลักปักฐานระบบสุขภาพและกลไกสำคัญๆ ที่หวังก็คือ พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ ซึ่งผ่านสภาแล้ว คงจะออกมาเป็นกฎหมายในเร็ววันนี้ เราก็จะมีกลไกที่เปิดให้ประชาชนทุกฝ่ายมาช่วยกันสร้างนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม เกิดสิทธิใหม่ๆ ในการด้านสุขภาพซึ่งเป็นผลดีกับประชาชน. กลไกคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ก็จะเป็นกลไกช่วยกระทรวงสาธารณสุขทำงานเชิงนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพและการพัฒนานโยบายและยุทธศาสตร์ด้านสุขภาพที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคมมากขึ้น เรื่องสุขภาพจะได้เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายช่วยกันทำ ไม่ใช่เรื่องแค่ของพวกแพทย์ พยาบาลหรือกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น.
พ.ร.บ.ควบคุมการบริโภคแอลกอฮอล์ ผมก็หวังจะให้สำเร็จ ตอนนี้ผ่าน ครม. ไปกฤษฎีกาแล้ว แต่ก็มีแรงต้านไม่น้อย แต่ที่ผมกำหนดนโยบายและทำเรื่องนี้ก็เพราะว่า เรื่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นี้มันกระทบต่อสุขภาพมากเหลือเกิน ทั้งสุขภาพกาย สุขภาพจิต ก่อให้เกิดความรุนแรงในครอบครัว เกิดอาชญากรรม เกิดอุบัติเหตุ ทำให้มีคนตายบนท้องถนนปีละเป็นหมื่นคน วันละ 37 คน บาดเจ็บ พิการ ปีละเป็นแสนคน.
พ.ร.บ.จัดระบบการแพทย์ฉุกเฉินก็น่าจะสำเร็จทันเวลา เพราะจะทำให้เราจัดระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินรองรับปัญหาการบาดเจ็บ ล้มตายจากอุบัติภัยโรคและภาวะวิกฤตต่างๆ ที่จะเกิดมากขึ้นเรื่อยๆ เหมือนในประเทศที่พัฒนาแล้ว เราต้องรีบจัดระบบตรงนี้ให้มีประสิทธิภาพ ไม่งั้นไม่ทันกาล.
พ.ร.บ. อื่นๆ ที่พยายามผลักดัน ได้แก่ พ.ร.บ. ยา พ.ร.บ.เครื่องมือแพทย์ พ.ร.บ.กองทุนชดเชยความเสียหายจากบริการสาธารณสุขโดยไม่ต้องพิสูจน์ ความผิด พ.ร.บ.สถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล พ.ร.บ.สถาบันพระบรมราชชนก ที่ค้างมาจากสภาก่อน ก็เสนอกลับไปแล้ว เพื่อให้วิทยาลัยของเราบริหารจัดการได้คล่องตัว ครูอาจารย์มีความก้าวหน้า แต่ยังคงอยู่ในกำกับของกระทรวงสาธารณสุขทำงานผลิตและพัฒนาคนในกระทรวงสาธารณสุขเป็นหลักเหมือนเดิมครับ.
อยากให้ฝากข้อความถึงแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน ในกระทรวงสาธารณสุขและแพทย์ในหน่วยงานอื่นๆที่ปฏิบัติหน้าที่ในการดูแลรักษาสุขภาพประชาชน
"อยากฝากถึงพี่ น้อง แพทย์ ที่ทำงานอยู่ในขณะนี้ให้มีกำลังใจและมุ่งมั่นในการร่วมสร้างระบบสุขภาพที่ดีร่วมกัน ช่วงนี้เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านสำคัญ ในเรื่องมนุษยธรรมทางด้านการแพทย์กับยุคของเทคโนโลยี และธุรกิจทางด้านการแพทย์และสุขภาพให้พี่ น้อง แพทย์ทุกท่านระลึกถึง พระราชดำรัสของพระราชบิดา ที่ว่า ขอให้ยึดถือประโยชน์ส่วนตนเป็นกิจที่สอง ประโยชน์เพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่งแล้ว ลาภทรัพย์ เกียรติยศจะตกเป็นของท่านเอง ถ้าท่านทรงธรรมะแห่งอาชีพไว้ให้บริสุทธิ์ เพราะฉะนั้นคุณค่าแท้ของการเป็นแพทย์ คือการได้ทำประโยชน์ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์และความสุขที่แท้จริงจะเกิดกับตัวเรา ซึ่งต้องใช้ความอดทน ความปรารถนาดีและความรู้ ความสามารถที่เต็มที่ จึงขอให้ทุกท่านได้พัฒนาตนเองอยู่เสมอ มีกำลังใจปฏิบัติงาน และมุ่งประโยชน์กับมหาชน โดยที่ตัวเราต้องไม่เดือดร้อนเพราะได้ร่วมสร้างสังคมสงบสุข ร่มเย็นเป็นสุขด้วยกัน ขอให้กำลังใจทุกคนครับ".
ผู้สัมภาษณ์
สมบัติ ตรีประเสริฐสุข พ.บ.
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ คณะแพทยศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- อ่าน 3,440 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้