Skip to main content
ข้อมูลสุขภาพ มูลนิธิหมอชาวบ้าน
menu

Login Pop

  • เข้าสู่ระบบ
    • ลืมรหัสผ่าน
search
  • เว็บหลักหมอชาวบ้าน
  • สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน
  • มูลนิธิหมอชาวบ้าน
  • หน้าแรก
  • ดูแลสุขภาพด้วยตัวเอง
  • บทความสุขภาพน่ารู้
  • สื่อสุขภาพ
  • คำถามสุขภาพ
  • ข่าวสาร
  • ติดต่อหมอชาวบ้าน
  • ข้อปฏิเสธความรับผิดชอบ
หน้าแรก » บทความสุขภาพน่ารู้ » STD and HIV problems in adolescents/teens
  • ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

STD and HIV problems in adolescents/teens

โพสโดย Anonymous เมื่อ 1 พฤษภาคม 2550 00:00

ปัญหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และโรคติดเชื้อเอชไอวีในเยาวชนและวัยรุ่น

การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ยังคงเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทยมาตลอด. ปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้เชื้อเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ยังคงแพร่ระบาดอยู่ คือการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่ติดเชื้อโดยไม่มีการป้องกัน โดยเฉพาะวัยรุ่น อายุระหว่าง 15-24 ปี จัดว่าอยู่ในภาวะเสี่ยงมากที่สุด. จากสำนักระบาดวิทยา ได้รายงานถึงการเฝ้าระวังพฤติกรรมที่สัมพันธ์กับการติดเชื้อเอชไอวีว่าการติดเชื้อมักเกิดขึ้นในเยาวชนก่อนอายุจะครบ 20 ปี ซึ่งเป็นวัยที่เริ่มมีเพศสัมพันธ์และมักจะไม่ได้ป้องกันตนเอง.

ข้อมูลการเฝ้าระวังผู้ป่วยเอดส์ของสำนักระบาดวิทยา พบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอายุ 25-39 ปี กลุ่มอายุที่มีความสัมพันธ์ต่อการติดเชื้อเอชไอวี คือกลุ่มวัยรุ่นที่เริ่มเป็นผู้ใหญ่อายุ 15-29 ปี การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ใช้ถุงยางอนามัยเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุด.

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในวัยรุ่นและเยาวชน

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในคนวัยนี้ ได้แก่ หนองในแท้ (gonorrhoea) หนองในเทียม (non-gonorrhoea urethritis/cervicitis) ซิฟิลิส (syphilis) แผลริมอ่อน (chancroid) กามโรคของต่อมและท่อน้ำเหลือง (lymphogranuloma venereum) เริม (herpes simplex) เชื้อรา (tinea, dermatophyte) โรคพยาธิในช่องคลอด (trichomonas) โรคหูดหงอนไก่ (condyloma accuminata) และโรคติดเชื้อเอชไอวี (HIV).

สาระสำคัญเกี่ยวกับลักษณะอาการ การรักษา และการดำเนินโรค มีดังต่อไปนี้

หนองใน (Gonorrhoea)

หนองในเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบบ่อยโรคหนึ่งในวัยรุ่นและเยาวชน มีระยะฟักตัวสั้นและแพร่ กระจายได้รวดเร็วและยังก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายได้มากมาย เช่น การอักเสบในอุ้งเชิงกราน การตั้งครรภ์นอกมดลูก การเป็นหมัน เป็นต้น.

สาเหตุของโรค เกิดจากเชื้อ Neisseria gonorrhoeae ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียรูปร่างค่อนข้างกลม อยู่กันเป็นคู่หันด้านเว้าเข้าหากัน ดูคล้ายเมล็ดกาแฟหรือเมล็ดถั่ว ย้อมสีแกรมติดสีแดง (แกรมลบ).

หนองในติดต่อโดยทางเพศสัมพันธ์ ระยะฟักตัวประมาณ 1-10 วัน ส่วนใหญ่ภายใน 5 วัน อาการและอาการแสดงคือ ในผู้ป่วยชายจะมีอาการปัสสาวะแสบขัดและมีหนองขุ่นข้นไหลจากท่อปัสสาวะ ถ้าไม่ได้รับการรักษาโรคจะลุกลามไปยังบริเวณใกล้เคียง ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น ต่อมลูกหมากอักเสบ อัณฑะอักเสบ เป็นต้น ซึ่งพบได้ประมาณร้อยละ 10-15 และทำให้เป็นหมันได้. ในผู้ป่วยหญิงจะมีอาการตกขาว กลิ่นเหม็น ปัสสาวะแสบขัดจากการอักเสบที่ท่อปัสสาวะและปากมดลูก ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องโรคก็จะลุกลามต่อไป ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น ต่อมบาร์โธลินอักเสบ เป็นฝีบวมโต การอักเสบในอุ้งเชิงกราน ปีกมดลูกอักเสบ การอุดตันของท่อรังไข่ ซึ่งทำให้เป็นหมันหรือตั้งครรภ์นอกมดลูกได้.

โรคหนองในจะตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาฉีด ceftriaxone 125 มก.ฉีดเข้ากล้ามครั้งเดียว ในปัจจุบันไม่ใช้เพนิซิลลินหรือยาในกลุ่ม quinolones เนื่องจากมีการดื้อยาสูง มักแนะนำให้รักษาหนองในเทียมด้วยเนื่องจากพบการติดเชื้อร่วมกันสูง. ในผู้ป่วยทุกรายที่เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ควรตรวจหาการติดเชื้อซิฟิลิสและเอชไอวีด้วย คนที่สัมผัสกับผู้ที่กำลังเป็นโรคหนองในภายใน 30 วันควรได้รับการตรวจหาเชื้อและได้รับการรักษาเช่นเดียวกับคนที่เป็นโรค.

หนองในเทียม (Non-gonorrhoea urethritis/cervicitis)

ประมาณร้อยละ 40-60 ของคนที่เป็นโรคหนองใน มักจะเป็นโรคหนองในเทียมร่วมด้วย โดยโรคหนองในเทียมเกิดจากเชื้อแบคทีเรียคนละตัวกัน ที่พบมากคือ Chlamydia trachomatis อาการคล้ายกับหนองใน แต่จะแสดงอาการน้อยกว่า โดยในผู้ชายร้อยละ 25 จะไม่มีอาการ และร้อยละ 70 ของผู้หญิงมักจะไม่มีอาการเลย.

ส่วนโรคหนองในเทียมชนิดเรื้อรังซึ่งมีอยู่ประมาณร้อยละ 30 ของผู้ป่วยโรคนี้มักจะเป็นๆ หายๆ ถึงแม้ว่าจะได้รับการรักษาแล้ว. สาเหตุที่มีอาการเป็นๆ หายๆ ได้แก่ การไปรับเชื้อมาใหม่ เช่น ภรรยาหรือคู่รักไม่ได้รับการรักษาพร้อมกัน. การติดเชื้อชนิดดื้อยา ซึ่งพบมากขึ้นในระยะหลังเกิดและการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ท่อปัสสาวะตีบ หรือต่อมลูกหมากอักเสบ.

การรักษาโรคหนองในเทียม จะใช้เวลารักษาประมาณ 1-2 สัปดาห์ มาตรฐานของประเทศไทยจะรักษา 2 สัปดาห์ เพราะถ้ารักษาเพียงสัปดาห์เดียวผู้ป่วยมักกลับมาเป็นใหม่ได้อีก. ยาที่ใช้คือ doxycycline 100 มก.วันละ 2 ครั้ง นาน 2 สัปดาห์ หรือ azithromycin ขนาด 1 กรัมครั้งเดียว.

ซิฟิลิส (Syphilis)

จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าจำนวนผู้ติดเชื้อกามโรค โดยเฉพาะโรคหนองในและซิฟิลิส มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี โดยในกลุ่มอายุต่ำกว่า 18 ปีเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 30 ในปี พ.ศ. 2547 มีวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี ติดเชื้อหนองในแสนละ 46 คน เพิ่มจากปี พ.ศ. 2546 ซึ่งมีแสนละ 28 คน สัญญาณดังกล่าวชี้ให้เห็นถึงการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน นับว่าเป็นเรื่องที่น่าห่วงมาก.

โรคซิฟิลิสเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Treponema pallidum ติดต่อโดยทางเพศสัมพันธ์ มีระยะฟักตัวประมาณ 1 สัปดาห์ถึง 3 เดือน อาการของโรคมีหลายระยะ ผู้ป่วยบางคนอาจไม่มีอาการ จะตรวจพบก็ต่อเมื่อตรวจเลือด แต่ในผู้ป่วยที่มีอาการมีหลายระยะด้วยกัน คือ

ระยะแรก จะเป็นแผลที่อวัยวะเพศ เป็นแผล ริมแข็ง มักไม่เจ็บ ไม่รักษาแผลก็หายเองได้ ระยะนี้อาจมีต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบโต.

ระยะที่ 2 เชื้อจะแพร่ไปตามกระแสเลือด และท่อน้ำเหลือง ผู้ป่วยจะมีอาการผื่นขึ้นตามตัว แขนขา ใบหน้า ฝ่ามือ ฝ่าเท้า นอกจากนี้อาจมีอาการผมร่วงเป็นหย่อม หรือทั้งศีรษะ อาจมีขนคิ้วขนตาร่วง มีต่อมน้ำเหลืองโตทั้งตัว บางรายอาจมีอาการของระบบประสาทหูไม่ได้ยิน ตามัว.

ระยะแฝง ระยะนี้มักจะไม่ปรากฏอาการอะไรมาก จะทราบเมื่อตรวจเลือดเท่านั้น.

ระยะที่ 3 เป็นเรื่องของซิฟิลิสเข้าสู่ระบบประสาท ผู้ป่วยจะมีอาการอักเสบของระบบประสาท มีอาการของระบบประสาท เช่น หูไม่ได้ยิน ตามัว กล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือมีปัญหาเกี่ยวกับระบบไหลเวียนโลหิต แต่อาการเหล่านี้พบได้น้อยมาก เพราะส่วนใหญ่จะได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มแรก.

ผู้ป่วยที่เป็นวัยรุ่นและเยาวชนมักมาด้วยซิฟิลิสระยะแรกหรือระยะที่สอง การวินิจฉัยโรคซิฟิลิส สามารถ ตรวจคัดกรองผู้ป่วยด้วยการตรวจเลือด แต่พบผลบวกปลอมได้ การรักษาใช้ยาฉีด benzathine penicillin G 2.4 ล้านยูนิตแบ่งฉีดสะโพกสองข้างครั้งเดียวถ้าเป็นระยะแรก หรือ 3 ครั้งห่างกันแต่ละครั้ง 1 สัปดาห์ถ้าเป็นระยะที่สอง ควรตรวจหาการติดเชื้อซิฟิลิสและเอชไอวีด้วย.

การติดเชื้อ Trichomonas

Trichomanas vaginalis เป็นปรสิตเซลล์เดียว พบได้ค่อนข้างบ่อยในวัยรุ่นและเยาวชน มักจะติดเชื้อบริเวณช่องคลอด ส่วนผู้ชายก็สามารถติดเชื้อที่ท่อปัสสาวะได้เหมือนกัน มักเกิดจากการติดต่อทางเพศสัมพันธ์ แต่อย่างไรก็ตามเชื้อสามารถอยู่ได้ 24 ชั่วโมงในสภาพที่ชื้น ดังนั้นอาจจะติดจากผ้าเช็ดตัวได้ ระยะฟักตัวของเชื้อประมาณ 5-28 วัน.

อาการของผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้ คือ ผู้ชายอาจจะไม่มีอาการ หรืออาจจะมีอาการระคายเคืองหลังปัสสาวะหรือมีหนองไหลเล็กน้อย. สำหรับผู้หญิงจะมีอาการตกขาวสีเหลืองกลิ่นเหม็น ปวดหลังปัสสาวะหรือปวดขณะมีเพศสัมพันธ์ คันบริเวณอวัยวะเพศ แต่บางคนก็มีอาการเพียงเล็กน้อยเท่านั้น.

วินิจฉัยโดยการนำหนองหรือสารคัดหลั่งจากการตรวจภายในไปส่องกล้อง ถ้าคนที่ติดเชื้อก็จะพบตัวปรสิต ความไวในการตรวจด้วยวิธีนี้คือร้อยละ 60-70 หรือนำตกขาวไปเพาะเชื้อ. การรักษาโรคติดเชื้อ Trichomonase จะใช้ยา metronidazole 500 มก. วันละ 2 ครั้งเป็นเวลา 7 วัน โดยให้การรักษาคู่นอนด้วยแม้ว่าจะไม่มีอาการก็ตาม และงดการมีเพศสัมพันธ์ในระหว่างการรักษาไปจนกว่าจะไม่มีอาการ ยาสอดช่องคลอดจะให้ผลการรักษาไม่ดีเท่ายากิน.

โรคติดเชื้อเอชไอวีในวัยรุ่นและเยาวชน

โรคติดเชื้อเอชไอวีเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่มีความอันตรายสูงสุด และเป็นที่น่าเป็นห่วงว่าผู้ป่วย ที่ติดเชื้อนี้ที่เป็นวัยรุ่นและเยาวชนมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ จึงควรตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีในวัยรุ่น และเยาวชนทุกรายที่เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์. ผลการศึกษาทางคลินิกพบว่าวัยรุ่นและเยาวชนส่วนใหญ่มักจะไม่กล้ามารับการตรวจ แม้ว่าจะสงสัยว่าตนเองติดเชื้อ การมีคลินิกนิรนามจะช่วยให้วัยรุ่นและเยาวชน สามารถเข้าถึงการตรวจได้ดีขึ้น.

การรักษาด้วยยาต้านไวรัสในวัยรุ่นและเยาวชนพบว่าได้ผลการรักษาดีไม่แตกต่างจากวัยอื่น แต่มักเป็นกลุ่มอายุที่กินยาไม่สม่ำเสมอได้บ่อย จึงต้องมีการให้ความรู้ถึงข้อเสียของการกินยาที่ไม่สม่ำเสมอมากขึ้น และติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด.

ข้อคิด

- วัยรุ่นและเยาวชนมักจะคิดว่าการมีเพศสัมพันธ์กับเพื่อนหรือคนรู้จักมีความปลอดภัย จึงไม่ยอมใช้ถุงยางอนามัย ทำให้มีการติดเชื้อได้ง่าย.
- วัยรุ่นและเยาวชนที่เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มักซื้อยารักษาเอง และไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ทำให้มีภาวะแทรกซ้อนบ่อย.
- วัยรุ่นและเยาวชนที่เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และพบแพทย์ มักจะไม่ได้รับการแนะนำให้ตรวจหาเชื้อเอชไอวี และการรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์คู่นอน.
- วัยรุ่นและเยาวชนที่ติดเชื้อเอชไอวีมักจะไม่รู้ตัวและไม่ได้รับการรักษา ทำให้มาด้วยความเจ็บป่วยรุนแรง.

เอกสารอ้างอิง
1. Saranrittichai K, Sritanyarat W, Ayuwat D. Adolescent sexual health behavior in Thailand : implications for prevention of cervical cancer. Asian Pac J Cancer Prev 2006;7:615-8.
2. Mansergh G, Naorat S, Jommaroeng R, et al. Inconsistent condom use with steady and casual partners and associated factorsamong sexually-active men who have sex with men in Bangkok, Thailand. AIDS Behav 2006;10: 743-51.
3. Allen DR, Carey JW, Manopaiboon C, et al. Sexual health risks among young Thai women : implications for HIV/STD prevention and contraception. AIDS Behav 2003;7:9-21.
4. Manopaiboon C, Kilmarx PH, Limpakarnjanarat K, et al. Sexual coercion among adolescents in northern Thailand : prevalence and as- sociated factors. Southeast Asian J Trop Med Public Health 2003;34:447-57.
5. Paz-Bailey G, Kilmarx PH, Supawitkul S, et al. Risk factors for sexually transmitted diseases in northern Thai adolescents : an audio-computer-assisted self-interview with noninvasive specimen collection. Sex Transm Dis 2003;30:320-6.
6. Trees DL, Sirivongrangson P, Schultz AJ, et al. Multiclonal increase in ciprofloxacin-resistant Neisseria gonorrhoeae, Thailand, 1998-1999. Sex Transm Dis 2002;29:668-73.

สมนึก สังฆานุภาพ พ.บ. ผู้ช่วยศาสตราจารย์
หน่วยโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล

 

ป้ายคำ:
  • โรคตามระบบ
  • โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • โรคติดเชื้อ
  • เวชปฏิบัติปริทัศน์
  • การติดเชื้อ Trichomonas
  • ซิฟิลิส
  • หนองใน
  • เอชไอวี
  • ผศ.นพ.สมนึก สังฆานุภาพ
  • อ่าน 7,200 ครั้ง
  • พิมพ์หน้านี้พิมพ์หน้านี้

ข้อมูลสื่อ

269-006
วารสารคลินิก 269
พฤษภาคม 2550
เวชปฏิบัติปริทัศน์
ผศ.นพ.สมนึก สังฆานุภาพ
Skip to Top

บทความสุขภาพน่ารู้

  • ทั้งหมด
  • การแพทย์ทางเลือก
    • แพทย์แผนไทย
      • กดจุด
      • นวดไทย
    • แพทย์แผนจีน
  • ดูแลสุขภาพ
    • การดูแลผู้สูงอายุ
    • การปฐมพยาบาล
    • การรักษาเบื้องต้น
    • การใช้ยาสมุนไพร
    • คู่มือดูแลสุขภาพ
    • ยาและวิธีใช้
    • ตรวจสุขภาพด้วยตัวเอง
      • คำนวณค่า BMI
      • วินิจฉัยโรคเบื้องต้น
      • แนะนำการตรวจสุขภาพประจำปี
    • คุยสุขภาพ
      • กรณีศึกษา
      • ถามตอบปัญหาสุขภาพ
  • สุขภาพทางเพศและครอบครัว
    • การดูแลบุตร
    • แม่และเด็ก
    • การตั้งครรภ์
    • เรียนรู้เรื่องเพศและการวางแผนครอบครัว
  • สร้างเสริมสุขภาพ 3 อ. ​และป้องกันโรค
    • อาหาร
      • อาหาร 5 หมู่
      • อาหารของผู้่ป่วยโรคเรื้อรัง
        • ความดันสูง
        • หัวใจ
        • เกาต์
        • เบาหวาน
      • อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง
      • อาหารป้องกันมะเร็ง
      • อาหารสมุนไพร
    • ออกกำลังกาย
      • วิ่ง เดิน ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ แอร์โรบิค แอร์โรบอคซิ่ง รำกระบอง ไทเก็ก ชี่กง โยคะ
    • อารมณ์
      • การทำสมาธิ
      • การพักผ่อน
      • การพัฒนา EQ
      • จิตอาสา/ ฉือจี้
  • พฤติกรรมอันตราย
    • พฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ
    • อนามัยสิ่งแวดล้อม
    • อิริยาบถ
  • โรคและอาการ
    • โรคเรื้อรัง
      • กลุ่มอาการเมตาโบลิค
      • ความดันโลหิตสูง
      • ถุงลมปอดโป่งพอง
      • มะเร็ง
      • อัมพฤกษ์ อัมพาต
      • เบาหวาน
      • โรคข้อ/เกาต์
      • โรคทางจิตเวช เครียด หวาดระแวง
      • โรคหวัด ภูมิแพ้
      • โรคหัวใจ
      • โรคหืด
      • ไขมันในเลือดสูง/ผิดปกติ
      • ไตวาย
    • โรคตามระบบ
      • ระบบทางเดินอาหาร
      • โรคจากอุบัติเหตุ สารพิษ และสัตว์พิษ
      • โรคช่องปากและฟัน
      • โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
      • โรคติดเชื้อ
      • โรคผิวหนัง
      • โรคพยาธิ
      • โรคระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ
      • โรคระบบต่อมไร้ท่อ
      • โรคระบบทางอวัยวะเพศชาย
      • โรคระบบทางอวัยวะเพศหญิง
      • โรคระบบทางเดินปัสสาวะ
      • โรคระบบทางเดินหายใจ
      • โรคระบบประสาทและสมอง
      • โรคระบบไหลเวียนโลหิต
      • โรคหู ตา คอ จมูก
    • โรคจากการทำงาน
      • พิษภัยจากสารเคมี (ยาฆ่าเมลง/ สารตะกั่ว)
      • โรคจากฝุ่นและสารเคมีในโรงงาน
      • โรคจากสัตว์ เช่น ฉี่หนู
      • โรคจากอริยาบทที่ผิดสุขลักษณะ
      • โรคเส้นเอ็นอักเสบ/ นิ้วล็อค
  • ทันกระแสสุขภาพ
  • คลังความรู้สื่อสังคมออนไลน์
  • อื่น ๆ

ได้รับความนิยม

  • นม
  • ถั่วพู
  • คนท้อง
  • ธาลัสซีเมีย
  • ผู้สูงอายุ
  • ผักพื้นบ้าน
  • สมุนไพร

แผนผังเว็บไซต์

  • หน้าแรก
  • ดูแลสุขภาพด้วยตัวเอง
  • บทความสุขภาพน่ารู้
  • สื่อสุขภาพ
  • คำถามสุขภาพ
  • ข่าวสาร
  • ติดต่อหมอชาวบ้าน
  • ข้อปฏิเสธความรับผิดชอบ

รวมลิงค์เครือข่าย

  • มูลนิธิหมอชาวบ้าน
  • สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน
  • สถาบันโยคะวิชาการ

สื่อสุขภาพ

  • คลิปสุขภาพ
  • หมอชาวบ้านรายเดือน
  • คลินิกรายเดือน
  • จดหมายข่าวย้อนหลัง
  • feed หมอชาวบ้าน
  • facebook หมอชาวบ้าน
  • youtube หมอชาวบ้าน
  • feed หมอชาวบ้าน
  • facebook หมอชาวบ้าน
  • twitter หมอชาวบ้าน
  • youtube หมอชาวบ้าน
สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสถาบัน ChangeFusion พัฒนาระบบโดย Opendream สัญญาอนุญาต cc by-nc-sa