ขณะนี้ได้มีร่างพระราชบัญญัติฉบับหนึ่งที่มีความสำคัญยิ่งต่อวงการแพทย์ที่กำลังจะถูกผลักดันเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีชื่อว่า "(ร่าง) พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข" ซึ่งจะส่งให้รัฐมนตรีว่า การกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้เสนอเข้าสู่คณะรัฐมนตรีและสภานิติบัญญัติตามลำดับ มีทั้งหมด 7 หมวด รวมบทเฉพาะกาลด้วยก็เป็น 51 มาตรา ซึ่งมีเนื้อหาหลัก คือ การจัดตั้ง "กองทุนคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข".
คณะทำงานร่างกฎหมายฉบับนี้ ประกอบด้วย 2 หน่วยงานหลัก คือ กองการประกอบโรคศิลปะ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และคณะทำงานของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเดิมมีคนละร่าง ซึ่งในส่วนของแพทยสภาก็ได้ดำเนินการในเรื่องนี้ไปบางส่วนแล้ว โดยเป็นการเสริมในแนวทางหลักของเราที่ได้ดำเนินการร่างกฎหมายเพื่อแก้ไขให้แพทย์รับผิดทางอาญา จากการประกอบวิชาชีพ เฉพาะในความผิดโดยเจตนาหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเท่านั้น มิใช่ประมาทธรรมดาก็มีความผิดแล้วอย่างในกฎหมายปัจจุบัน โดยจะมีกองทุนมารองรับให้ยุติปัญหาการฟ้องร้องแพทย์ทั้งทางแพ่งและทางอาญา เพื่อเรียกความสัมพันธ์ในอดีตอันสวยสดงดงาม ระหว่างผู้ป่วยกับแพทย์กลับคืนมาให้ได้ตามเจตนารมณ์อันแรงกล้าของเรา.
ทันทีที่ทราบว่ามีถึง 2 หน่วยงานแล้วที่ให้ดำเนินการร่างกฎหมายเพื่อจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้ได้รับความเสียหายทางการสาธารณสุขขึ้น แพทยสภาจึงได้นำความเห็นของเราในส่วนที่ได้ดำเนินการไปแล้ว เข้านำเสนอต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้ร่างที่ดีที่สุดและเป็นที่ยอมรับของทุกๆ ฝ่าย โดยได้มีการนำเสนอในการประชุมร่วมกันของผู้ที่เกี่ยวข้องไปบางส่วนแล้ว เช่นที่สภาที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งในวันนั้นผมก็ได้รับเชิญให้เป็นผู้ให้ความเห็นหลักคนหนึ่ง ซึ่งก็ได้นำเสนอหลักการใน 3 ประเด็น คือ หนึ่ง ขอเปลี่ยนชื่อในส่วนของคำว่า "กองทุนคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข" เป็น "กองทุนเยียวยาผู้ได้รับผลอันไม่พึงประสงค์จากการประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ" เพราะคำว่า "สาธารณสุข" นั้นกว้างเกินไป อาจทำให้มีปัญหาในวิธีการปฏิบัติได้ การใช้คำว่า "สุขภาพ" ก็น่าจะครอบคลุมได้หมดอยู่แล้ว.
ส่วนประเด็นที่สอง คือ "จะต้องไม่มีการพิสูจน์ถูกผิด" เพราะว่าเกิดผลเสียตามมาคือ จะทำให้การจ่ายเงินล่าช้าทำให้ผู้ได้รับผลอันไม่พึงประสงค์ไม่ได้รับการเยียวยาอย่างทันท่วงที และรอไม่ไหวซึ่งจะนำไปสู่การฟ้องร้องได้ และยังมีปัญหาอีกว่า จะจ่ายอย่างไร แค่ไหน เพียงใด ดังนั้นควรจะมีการพิสูจน์ทางวิชาการในภายหลังเพื่อป้องกันการเกิดขึ้นอีกเท่านั้น.
และประการสุดท้ายคือ "เมื่อได้รับเงินช่วยเหลือเยียวยาแล้วจะต้องยุติการฟ้องร้องทั้งทางแพ่งและอาญา" โดยหากต้องการจะให้มีการตรวจสอบก็ดำเนินการส่งเรื่องให้สภาวิชาชีพเป็นผู้พิจารณา.
ผมได้เคยนำเสนอการแก้ปัญหาการฟ้องร้องแพทย์ทั้งทางแพ่งและทางอาญา โดยการแก้ไขกฎหมายมาโดยตลอด และการจัดการกองทุนในลักษณะนี้ จะเป็นเครื่องรองรับการฟ้องร้องในภาวะอันไม่พึงประสงค์จากการประกอบวิชาชีพเวชกรรมได้. ดังนั้นผมจึงรู้สึกดีใจมากที่กองทุนนี้จะเกิดขึ้น แม้จะมีเนื้อหาหลายส่วน (โดยเฉพาะที่มาขอเงินกองทุน) ที่ผมคิดว่าน่าจะต้องมีการปรับปรุงแก้ไข แต่ก็ต้องถือว่าเป็นนิมิตรหมายอันดียิ่ง. ผมคิดว่ากองทุนนี้น่าจะเป็น "กาวใจ" ระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยบางกลุ่มได้เป็นอย่างดี และลดปัญหาการฟ้องร้องแพทย์ลงได้อย่างเป็นรูปธรรม.
ผมขอสัญญาว่าจะนำทีมงานจากแพทยสภาติดตามร่างพระราชบัญญัตินี้อย่างใกล้ชิด กัดไม่ปล่อยอย่างสุดกำลัง เพื่อให้เป็นกฎหมายสมานฉันท์ ระหว่างผู้ป่วยกับแพทย์และผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพอย่างแท้จริง.
อำนาจ กุสลานันท์ พ.บ.
ศาสตราจารย์คลินิก
เลขาธิการแพทยสภา
- อ่าน 1 ครั้ง
พิมพ์หน้านี้