(ร่าง) พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ได้ถูกส่งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขแล้ว เพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้เป็นร่างของรัฐบาลในการดำเนินการพิจารณาออกกฎหมายต่อไป ซึ่งยังมีกระบวนการอีกหลายขั้นตอนมาก โดยจะต้องผ่านคณะกรรมการกฤษฎีกาและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จึงยังไม่รู้จะออกหัวหรือออกก้อย หรืออาจมีการปรับปรุงแก้ไขในประเด็นต่างๆ ได้อีก ซึ่งแพทยสภาได้ติดตามและเฝ้าระวังเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด เพื่อให้ได้เป็นกฎหมายทางการแพทย์ที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งฝ่ายผู้ป่วยและแพทย์อย่างแท้จริง จึงได้จัดสัมมนาเรื่องนี้ขึ้นอย่างเร่งด่วนในวันที่ 4 พฤษภาคม 2550 โดยมีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้คือ
ในภาคเช้าภายหลังจากที่ได้มีการนำเสนอให้ที่ประชุมได้รับทราบถึงรายละเอียดของ (ร่าง) พระราชบัญญัติฉบับนี้โดยนายแพทย์ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย กรรมการ แพทยสภา และผู้ช่วยเลขาธิการด้านกฎหมาย ต่อมาเป็นการอภิปรายในหัวข้อ "ที่มา ขอบเขต ความเป็นไปได้ของการจัดตั้งกองทุนคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข" โดยผู้อภิปรายประกอบด้วย ผู้แทนจากสำนักงบประมาณ ผู้แทนจากกรมบัญชีกลาง นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน นายแพทย์สมศักดิ์ เจริญชัยปิยกุล กรรมการแพทยสภา โดยมีนายแพทย์สัมพันธ์ คมฤทธิ์ รองเลขาธิการแพทยสภาเป็น ผู้ดำเนินการอภิปราย ในการอภิปรายนั้น ผู้อภิปรายรวมทั้งผู้เข้าร่วมสัมมนาได้แสดงความคิดเห็นกันอย่างหลากหลาย ถึงความเป็นไปได้ของการจัดตั้งกองทุนนี้ เนื่องจากส่วนใหญ่ ประเมินว่าต้องใช้เงินจำนวนมากพอสมควรซึ่งยังไม่มีผู้ใดประมาณการได้ว่าจะเป็นเงินจำนวนเท่าใด และที่มาของเงินกองทุนตามมาตรา 34 ก็ยังอยู่ในวงแคบเพราะประกอบด้วย เงินอุดหนุนจากงบประมาณแผ่นดิน เงินสมทบจากสถานพยาบาล และเงินบริจาคเท่านั้น ซึ่งอาจมีปัญหาได้ทุกส่วนเพราะการที่รัฐจะจัดสรรได้ เป็นธรรมและ เพียงพอก็เป็นเรื่องไม่ง่าย การจะให้สถานพยาบาลสมทบนั้นก็เป็นเรื่องที่ยากลำบาก ไม่ทราบว่าจะจ่ายกันอย่างไร แค่ไหน เพียงใด จึงจะเหมาะสมและยุติธรรม. การบริหารกองทุน โดย "คณะกรรมการคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข" ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานกรรมการ ตามมาตรา 8 และมีคณะกรรมการประกอบด้วย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ผู้แทนจากสถานพยาบาลจำนวน 3 ท่าน ผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค ด้านบริการสุขภาพจำนวน 3 ท่าน และผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 6 ท่าน ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านนิติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ สื่อสารมวลชน การแพทย์และสาธารณสุข และด้านสิทธิมนุษยชน โดยมีเลขาธิการสำนักงานคุ้มครองผู้เสียหายจากการ รับบริการสาธารณสุขเป็นกรรมการและเลขานุการ ผู้อภิปรายและผู้ร่วมสัมมนาเห็นว่าควรมีการพิจารณาแก้ไของค์ประกอบของคณะกรรมการใหม่ให้เหมาะสมกว่านี้ โดยควรจะมีบุคลากรทางการแพทย์หลายฝ่ายเข้าไปเป็นกรรมการด้วย.
การอภิปรายในส่วนที่สอง ในหัวข้อ "ยุติการฟ้องร้องทางแพ่งและทางอาญาด้วยกองทุนได้หรือไม่" โดยผู้อภิปรายประกอบด้วย ผู้พิพากษา มนตรี จิตร์วิวัฒน์ อัยการณัฐจักร ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา และทนายเสงี่ยม บุญจันทร์ โดยมีผมเป็นผู้ดำเนินการอภิปราย. ภายหลังจากที่ผมได้นำเสนอให้ผู้อภิปรายได้เห็นภาพของปัญหาของการฟ้องร้องแพทย์ในปัจจุบัน ซึ่งได้ทวีความรุนแรงอย่างรวดเร็ว ในประเด็นนี้ผู้อภิปรายทั้ง 3 ท่าน มีความเห็นตรงกันว่าในการตรวจรักษาผู้ป่วยนั้น แพทย์มีความเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องทั้งทางอาญา และแพ่งสูงมาก เมื่อเกิดภาวะอันไม่พึงประสงค์จากการรักษาขึ้น แม้แพทย์จะใช้ความระมัดระวังอย่างเต็มที่แล้วก็ตาม โดยเฉพาะผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะวิกฤตที่มีโอกาสเสียชีวิตได้ตลอดเวลา. ดังนั้นจึงควรมีภูมิคุ้มกันในการปฏิบัติหน้าที่ของแพทย์ในระดับที่เหมาะสม เช่นเดียวกับผู้พิพากษา อัยการ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ปฏิบัติงานในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยผู้อภิปรายทั้ง 3 ท่าน ได้แสดงความเห็นด้วยต่อมาตรา 43 ที่บัญญัติให้ผู้เสียหายหรือทายาทที่ตกลงรับเงินชดเชยจากกองทุนแล้วจะต้องสละสิทธิการฟ้องร้องทางแพ่ง. ส่วนการได้รับความคุ้มครองจากการถูกฟ้องคดีอาญาอันเนื่องมาจากการประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขตามมาตรา 44 นั้น ผู้อภิปรายทุกท่านเห็นด้วย โดยมีความเห็นว่า ควรฟ้องร้องได้เฉพาะ กรณี "กระทำโดยเจตนาหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง" เท่านั้น โดยผู้อภิปรายทั้ง 3 ท่านเห็นว่า การบังคับใช้กฎหมายตามมาตรา 43 และ 44 ของ (ร่าง) พระราชบัญญัติฉบับนี้ ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข ก็จะสามารถใช้บังคับได้ทั้งทางอาญาและแพ่ง.
ผมมั่นใจว่าหาก (ร่าง) พระราชบัญญัติฉบับนี้คลอดออกมาได้โดยไม่มีการแก้ไขสาระสำคัญในเรื่องของการยุติการฟ้องร้อง จะเป็นการพลิกวิกฤตความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยให้เป็นโอกาสแห่งการสร้างความผูกพันต่อกันตลอดไป.
อำนาจ กุสลานันท์ พ.บ.
ศาสตราจารย์คลินิก
เลขาธิการแพทยสภา
- อ่าน 2,103 ครั้ง
พิมพ์หน้านี้