www.who.int/foodsafety/micro/strepsuis
เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมปีนี้ ได้มีรายงานว่า ชาวบ้านหมู่ 4, 5 และ 9 ตำบลทุ่งกล้วย กิ่งอำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา ทยอยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 55 รายหลังกินลาบและเนื้อหมูดิบในงานศพเมื่อวันที่ 25-26 เมษายน ที่ผ่านมา และต้องเข้าไอซียู 3 ราย มีผู้ป่วยเสียชีวิต 3 ราย ในเบื้องต้นพบว่าเกิดจากเชื้อ Streptococcus suis ในหมู ซึ่งผู้เขียนเคยนำเสนอเรื่องราวเชื้อดังกล่าวเมื่อ 2 ปีที่แล้วที่เกิดการระบาดในประเทศจีน ส่วนครั้งนี้เกิดในประเทศไทย จึงนำเว็บไซต์ที่ update เรื่องดังกล่าวมารายงานอีกครั้ง.
กรณีการเกิดโรคนี้เนื่องจากชาวบ้านกินหมูดิบหรือเลือดหมูสดๆ โดยเชื้ออยู่ในคอ จมูก และเลือดหมู เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกาย จะฟักตัวประมาณ 1-3 วันผู้ป่วยเริ่มแสดงอาการป่วย โดยระยะแรกจะมีไข้สูง คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะรุนแรง ปวดตามข้อ ต่อมาเชื้อจะเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ผู้ป่วยอาจสูญเสียการได้ยินถึงขั้นหูหนวก ในรายที่อาการรุนแรงอาจถึงขั้นเสียชีวิตดังที่พบในผู้ป่วยที่จังหวัดพะเยาถึง 3 ราย.
โดยปกติ โรคนี้จะเกิดกับผู้ที่ใกล้ชิดกับสุกรหรือผลิตภัณฑ์หมูดิบ เช่น คนเลี้ยง และคนงานโรงฆ่าสัตว์ เชื้อนี้จะอยู่ในรูจมูกและทอนซิลของหมู กระจายเชื้อทางทางเดินหายใจหรือทางแผล. การระบาดมักเกิดจากความแออัดของการเลี้ยง ระบบระบายอากาศไม่ดี หมูเป็นพาหะได้โดยปราศจากอาการ ในคนเชื่อว่าติดเชื้อโดยเข้าทางบาดแผลระหว่างการชำแหละ ส่วนการติดทางลมหายใจยังไม่มีรายงาน นับเป็น emerging infectious disease ที่แพทย์ควรรู้อีกโรคหนึ่ง.
ซำแก้ว หวานวารี พ.บ., รองศาสตราจารย์, ศูนย์เวชศาสตร์ชุมชน, คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี, มหาวิทยาลัยมหิดล
- อ่าน 2,978 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้