การแพทย์ตะวันตกได้รับการยอมรับในวงกว้างทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทย ว่ามีพัฒนาการและความเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็วทั้งในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จนเป็นความหวังว่าจะทำให้มนุษย์มีสุขภาพดี และนำไปสู่ความเป็นอยู่ที่ดีทั้งในระดับบุคคลและสังคม. ความก้าวหน้าด้านวิทยาการทำให้เกิดความเข้าใจกันว่า จะสามารถรักษาโรคให้หายขาดหรือทุเลาลงได้ และจะสามารถยืดชีวิตหรือชะลอการตายได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด.
การแพทย์ตะวันตกจึงให้ความสำคัญกับการวินิจฉัยและการรักษาโรคด้วยยาและเทคโนโลยีชั้นสูง มากกว่าด้านจิตใจ ซึ่งแตกต่างจากการแพทย์ตะวันออกทั้งในประเทศอินเดีย (อายุรเวท) และประเทศจีน รวมทั้งการแพทย์ในซีกตะวันตกแต่ดั้งเดิมด้วย ทำให้เกิดปัญหาด้านการแพทย์อย่างมากมาย เพราะในขณะนี้เป็นที่ประจักษ์ถึงข้อจำกัดของการแพทย์ตะวันตกแล้วว่ายังคงไม่สามารถรักษาโรคให้หายขาดหรือทุเลาได้เสมอไป แต่อาจชะลอการตายได้ในบางกรณี. ผลที่เกิดขึ้น คือ ยืดอายุได้แต่ผู้ป่วยมีชีวิตอยู่อย่างทุกข์ทรมาน โดยเฉพาะเมื่อขาดการดูแลด้านจิตใจและขาดปัญญาในการรู้เท่าทันชีวิต.
ใน 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมาจึงมีการรณรงค์ให้มีการดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวม คือการดูแลรักษาทั้งด้านร่างกาย จิตใจ จิตวิญญาณ ครอบครัว และสังคม ตลอดจนให้ความสำคัญกับความเชื่อ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณีของผู้ป่วยด้วย แต่ทั้งนี้ก็ยังกระทำอยู่ในระดับทฤษฎีมากกว่าระดับปฏิบัติ.
ปัจจุบันประเทศต่างๆ ในซีกโลกตะวันตกได้ตระหนักถึงข้อจำกัดของวิทยาการด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ และได้เริ่มแสวงหาวิธีการรักษาอื่นๆ เช่น การแพทย์ทางเลือก (alternative medicine) การแพทย์แบบผสมผสาน (integrative medicine) เป็นต้น.
นอกจากนั้นยังมีผู้สนใจศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างกายกับใจ ในการเกิดโรคและอาการต่างๆ. โรคทางกายทำให้เกิดความทุกข์ทรมานทางใจ ซึ่งอาจทำให้อาการต่างๆ ของโรคทางกายเพิ่มขึ้น ทำให้เข้าใจผิดว่าโรคเป็นรุนแรงขึ้น ขณะเดียวกันจิตใจที่ไม่สบายก็นำไปสู่โรคทางกายต่างๆ ได้ดังที่ทราบกัน. แต่แพทย์ส่วนใหญ่ก็ยังมองข้ามความสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างกายและใจ และไม่ได้นำมาประยุกต์ ใช้ในการประกอบเวชปฏิบัติทั่วไป.
อันที่จริงผู้ประกอบเวชปฏิบัติไม่ว่าจะในแขนงสาขาวิชาใดทางการแพทย์ ย่อมตระหนักเป็นอย่างดีว่า แม้จะสามารถรักษาโรคให้หายขาดได้ แต่ผู้ป่วยก็ยังคงมีอาการต่างๆ ทางกายได้มากมายจากใจที่ยังป่วยอยู่. ดังนั้นหน้าที่ของแพทย์จึงไม่จำกัดอยู่เฉพาะเพียงการรักษาโรคทางกายเท่านั้น แต่ยังมีหน้าที่รับผิดชอบหลักในการช่วยผู้เจ็บป่วยให้บรรเทาเบาคลายจากความทุกข์ทรมาน และมีคุณภาพชีวิตที่ดี คือ มีความสุขด้วย. ฉะนั้นแพทย์จึงควรศึกษาและแสวงหาศาสตร์และวิธีการต่างๆ ที่สามารถนำมาใช้ควบคู่กับการแพทย์แผนปัจจุบัน
เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยพ้นจากความทุกข์ทรมานและมีคุณภาพชีวิตที่ดี แม้ร่างกายจะเจ็บป่วย. บทความนี้จะได้กล่าวถึงวิปัสสนากรรมฐาน (insight or mindfulness meditation) และการนำมาประยุกต์ใช้ควบคู่กับการแพทย์แผนปัจจุบัน ในการตรวจรักษาผู้ป่วยในการประกอบเวชปฏิบัติ รวมทั้งผลที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยจากประสบการณ์ตรงในการประกอบเวชปฏิบัติของผู้เขียน.
วิปัสสนากรรมฐาน เป็นวิธีการฝึกจิตให้เกิดปัญญาที่เห็นแจ้ง รู้ เข้าใจสิ่งทั้งหลายตรงตามสภาวะที่มันเป็น เพื่อให้จิตหลุดพ้นเป็นอิสระ1 ทำให้สามารถปฏิบัติต่อสิ่งนั้นๆ ได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม และพอดี ก็คือ เกิดปัญญาที่จะรู้เท่าทันสิ่งต่างๆ ทั้งหลายทั้งปวงนั่นเอง รวมทั้งความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติด้วย.
มนุษย์นั้นถึงแม้จะมีความฉลาดที่จะคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ได้ และมีความรู้ว่าควรประพฤติปฏิบัติอย่าง ไร เมื่อมีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้น แต่เมื่อเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นจริง ก็กลับทำไม่ได้ หรือไม่ทำ เพราะ 'ใจ' ไม่เอาด้วย และไม่มี 'ปัญญา' ที่จะรู้เท่าทัน. ผู้ที่ได้มีโอกาสฝึกวิปัสสนากรรมฐานไม่ว่าจะเป็นชาติใดภาษาใด ต่างพบความเปลี่ยนแปลงในตนเองไปในทางที่ดีขึ้นทั้งสิ้น และเป็นการเยียวยาความเจ็บป่วย ทั้งทางกายและทางใจที่ได้ผล ทำให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองในการดำเนินชีวิต ไม่ว่าจะมีความเจ็บป่วยเกิดขึ้นหรือไม่.
สำหรับผู้ที่เจ็บป่วยก็สามารถอยู่กับความเจ็บป่วยได้ดีขึ้น เพราะป่วยแต่กายส่วนใจไม่ป่วย ทำให้อาการทางกายที่เกิดจากใจที่ป่วยลดน้อยลงหรือไม่เกิดขึ้นเลย. นอกจากนั้นยังสามารถอยู่กับอาการไม่สบายต่างๆ จากโรคทางกายได้ดีขึ้น. ขณะนี้นักวิทยาศาสตร์ในประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา และยุโรป ได้ศึกษาถึงผลของการฝึกวิปัสสนากรรมฐานต่อร่างกาย และมีรายงานการศึกษาผลของการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานต่อการเปลี่ยนแปลงของสมองและระบบต่างๆ ในร่างกาย พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น2 และมีผู้นำมาใช้ในการรักษาโรค psoriasis ร่วมกับ phototherapy หรือ photochemotherapy เพื่อลดความเครียด ในผู้ป่วย 37 คน พบว่าพยาธิสภาพที่ผิวหนังในกลุ่มที่ฝึกวิปัสสนากรรมฐานลดลงเร็วกว่า กลุ่มที่ไม่ได้ฝึก.3
นอกจากนี้ยังมีผู้ศึกษาผลของวิปัสสนากรรมฐานในการรักษาภาวะซึมเศร้าร่วมกับการรักษาด้วย cognitive therapy ที่เรียกว่า mindfulness-based cognitive therapy (MBCT) จากการติดตาม ดูการเกิดซ้ำ (relapse) ของโรคในหนึ่งปี พบว่าผู้ที่ได้รับการรักษาด้วย MBCT ไม่เกิดโรคซ้ำร้อยละ 66 ในขณะที่ผู้ที่ได้รับการรักษาตามแบบเดิมไม่เกิดโรคซ้ำเพียงร้อยละ 34.4 ผลจากการศึกษาต่างๆ นี้แม้จะเป็นในระยะเริ่มแรก ก็ทำให้เกิดความสนใจในวงการนักวิทยาศาสตร์และวงการการแพทย์ และนำไปสู่การศึกษาอื่นๆในขณะนี้เพื่อหาคำอธิบายเพิ่มเติมถึงสิ่งที่ได้ศึกษาพบ.
วิปัสสนากรรมฐานเป็นภูมิปัญญาทางตะวันออกและมีการปฏิบัติในประเทศไทยอยู่แล้ว จึงน่าที่บุคลากรทางการแพทย์จะได้ให้ความสนใจ และนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับผู้ป่วยและตนเอง. วิปัสสนากรรมฐานนั้นทำได้ทุกที่และทุกเวลา เพราะอารมณ์กรรมฐาน ซึ่งหมายถึงสิ่งที่มาให้จิตรับรู้นั้น คือ รูปกับนาม หรือ กายกับใจ ที่เป็นปัจจุบันนั่นเอง และกายกับใจก็เป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนมีอยู่และอยู่กับตัวตลอดเวลา. วิปัสสนากรรมฐานจึงเป็นสิ่งที่ทำได้ตลอดเวลาไม่เลือกสถานที่ และอารมณ์กรรมฐานนั้นจะเป็นอะไรก็ได้ที่เป็นรูปนามปัจจุบัน เช่น ขณะเดิน การเคลื่อนของเท้าเป็นรูป ใจที่รู้การเคลื่อนของเท้าเป็นนาม ขณะนั่งสมาธิอาจกำหนดรู้การหายใจเข้า-หายใจออก หรือ การเคลื่อนของหน้าท้องที่พองออก-ยุบเข้า การหายใจและการเคลื่อนของหน้าท้องเป็นรูป ใจที่รู้เป็นนาม เป็นต้น.
นอกจากนั้นยังสามารถใช้อิริยาบถปัจจุบัน คือสิ่งที่กำลังทำอยู่แต่ละขณะๆ เป็นอารมณ์กรรมฐานในการกำหนดรู้ได้ โดยมีสติกำหนดอารมณ์ที่กำลังเคลื่อนไหว หรือเป็นไปในสภาพใดๆ ก็ได้ ไม่จำกัดขอบเขต สุดแต่อะไรปรากฏขึ้นให้พิจารณา และอะไรก็ตามที่จะให้เห็นความจริง.1 จากการกำหนดรู้รูปนามหรือกายกับใจตามจริง คือ อะไรเกิดขึ้นกับกายหรือเกิดขึ้นกับใจก็รู้ตามจริงนี้เอง นำไปสู่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎธรรมชาติในระดับประสบการณ์ตรง เกิดปัญญารู้จักชีวิตตามจริง มีมุมมองและทัศนคติที่เปลี่ยนไปในทางที่ดี มีศิลปะในการดำเนินชีวิต.
จะเห็นว่าวิปัสสนากรรมฐานมิได้เป็นสิ่งที่พิเศษพิสดาร หากแต่เป็นสิ่งที่เป็นธรรมดาธรรมชาติที่ใกล้ตัวมนุษย์ที่สุด และเป็นสิ่งที่มนุษย์พึงศึกษาและเรียนรู้ เพื่อนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะแพทย์และพยาบาลที่ต้องดูแลความทุกข์กายทุกข์ใจของผู้ป่วย รวมทั้งของตนเองในการให้การดูแลรักษาผู้ป่วยด้วย.
ผู้เขียนเป็นผู้หนึ่งที่มีโอกาสได้ใช้วิชานี้ในการดูแลรักษาผู้ป่วยควบคู่ไปกับการรักษาด้วยยาและเทคโนโลยีที่ทันสมัย พบว่าเป็นสิ่งที่ทำได้จริง ด้วยการให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วยที่มาตรวจรักษาทั้งผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอกบางราย ให้กำหนดรู้กายและใจของตนเองด้วยวิธีง่ายๆ เป็นการเจริญสติ สมาธิ เพื่อให้เกิดปัญญา ซึ่งอาจนำฝึกเองที่บ้าน. หรือบางรายที่ผู้ป่วยและครอบครัวมีความทุกข์ทรมานทั้งทางกายและทางใจมาก และจะต้องเผชิญกับปัญหาความเจ็บป่วยที่จะหนักหน่วงยิ่งๆ ขึ้นไปในอนาคต ก็ได้เตรียมความพร้อมของผู้ป่วยและครอบครัวไว้ล่วงหน้า ด้วยการนำไปปฏิบัติธรรมอย่างเข้มข้น ทำให้ผู้ป่วยตั้งรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างดี มีความสงบสุขขึ้นในครอบครัว ทำให้ผลการรักษาดีขึ้น ความต้องการยา คลายเครียด ยานอนหลับ ยาแก้ปวด ยาลดความดันโลหิต และยาแก้คันลดลง ค่าใช้จ่ายในการรักษาก็ลดลง ทั้งจากการใช้ยาลดลง และลดความจำเป็นที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่เกิดจากใจที่ป่วย แต่พากันเข้าใจผิดว่าเกิดจากโรคทางกาย เป็นต้น. ไม่แต่เท่านั้นยังทำให้มีการเปลี่ยนแปลงในด้านทัศนคติ มุมมองชีวิต และอารมณ์ ไปในทางที่ดีขึ้น สามารถกลับไปทำงานได้ ไปเที่ยวทัศนาจรได้ โดยที่ก่อนหน้านั้นทำไม่ได้เพราะจิตใจหดหู่เศร้าหมอง.
ผู้ป่วยบางคนกล่าวว่าเขาได้มากกว่าการกลับไปทำงานได้อีก คือ เขารู้วิธีว่าจะดำเนินชีวิตต่อไปอย่างไร. และว่าการรักษาทางกาย เพียงให้รอดตายเท่านั้น แต่ผู้ป่วยยังต้องทนทุกข์อื่นต่อไปเช่นเดิม การช่วยให้ผู้ป่วยมีความเห็นถูกต้องในธรรมด้วย จึงจะเป็นกุศลสูงสุด เพราะเป็นการเติมเต็มชีวิตให้ผู้ป่วย มิใช่เป็นเพียงการยืดอายุให้อยู่ไปอย่างทุกข์ทรมานเท่านั้น และยังทำให้ทุกขเวทนาไม่กลายเป็นความทุกข์ทรมานอีกด้วย.
การให้คำแนะนำต่างๆ นี้มิได้เพิ่มเวลาของแพทย์ในการตรวจรักษามากมาย เพราะแพทย์และพยาบาลต้องให้คำปรึกษาแนะนำกับผู้ป่วยและครอบครัวอยู่แล้ว และเมื่อผู้ป่วยนำไปฝึกปฏิบัติจนเกิดผล กลับทำให้เวลาที่ต้องใช้ในการตรวจรักษาลดลง เพราะอาการต่างๆ ลดลง. ผู้ป่วยเกิดปัญญาสามารถพึ่งตนเองได้ในเรื่องการดูแลอารมณ์ของตนเอง และการอยู่กับความเจ็บป่วยโดยไม่เกิดความทุกข์ทรมานทางใจ และหลายๆ คนสามารถไปช่วยเหลือผู้ป่วยคนอื่นๆ ได้ สมดังที่ท่าน SU Pandita5 กล่าวไว้ว่า
"Wisdom, the most potent medicine, can bring you relief from the sufferings of your mind".
สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ในประเทศไทยน่าจะให้โอกาสตนเองได้เรียนรู้วิชาอันประเสริฐนี้ แล้วฝึกปรือตนเองอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ควบคู่กับการรักษาอื่นๆ ก็จะทำให้การทำหน้าที่แพทย์และพยาบาลของตนสมบูรณ์. และประโยชน์ที่จะเกิดกับตนเอง คือ การลดความเหนื่อยล้าที่เกิดจากการทำงาน แต่กลับเกิดกำลังขึ้นและมีความอิ่มเอิบใจเมื่อได้ให้การดูแลรักษาผู้ป่วย. วิปัสสนากรรมฐานเป็นวิธีหนึ่งที่สามารถนำมาใช้ในการแพทย์แบบผสมผสานโดยใช้ควบคู่ไปกับการรักษาอื่นๆ ได้ จึงน่าที่บุคลากรทางการแพทย์ในประเทศไทยจะได้ให้ความสนใจและตระหนักถึงความสำคัญและประโยชน์ที่จะได้จากภูมิปัญญาไทยนี้ ด้วยการฝึกปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานและนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและผู้ป่วยไข้ ซึ่งจะทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาตรงตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงอีกด้วย.
ท่านพุทธทาส6 ได้กล่าวกับนายแพทย์บัญชา พงษ์พานิชและคณะ ว่า .หมอมีความรู้ของหมอ คือ ทางกายโดยสมบูรณ์ แล้วก็มีความรู้ทางจิต คือ สมาธิ หรือกำลังจิตนี่พอสมควร แล้วมีความรู้ทางปัญญา อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา พอสมควร ครบทั้ง 3 จำพวกนี้ จะง่ายมากในการปฏิบัติหน้าที่ จะง่ายมาก จะถูกต้องและพอดีอยู่เรื่อยๆ โดยไม่มีปัญหา..." แล้ววงการแพทย์และแพทย์ได้ยินหรือยังในการที่จะพัฒนาจิต และปัญญา แล้วนำมาใช้ในเวชปฏิบัติให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ป่วย ญาติ และตนเอง.
เอกสารอ้างอิง
1. พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) พุทธธรรม. มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2532:822.
2. Davidson RJ, Kabat-Zinn J, Schumacher J, Rosenkranz M, Muller D, Santorelli SF, et al. Alterations in brain and immune function produced by mindfulness meditation. Psychom Med 2003;65:564-70.
3. Kabat-Zinn J, Wheeler E, Light T, Skillings A, Scharf MJ, Cropley TG, et al. Influence of a mindfulness meditation-based stress reduction intervention on rates of skin clearing in patients with moderate to severe psoriasis undergoing phototherapy (UVB) and photochemothreapy (PUVA). Psychom Med 1998; 60:625-32.
4. Segal ZV. Mindfulness-based cognitive therapy in depression. In Mind & Life XIII The Science and Clinical Applications of Meditation. November 2005.
5. Pandita SU. In this very life. Boston : Wisdom publications, 1992:xiii.
6. บัญชา พงษ์พานิช. ทำให้ดู อยู่ให้เห็น ตายให้เป็น. พุทธสาสนา ปีที่ 75 เล่ม 2 พ.ศ. 2550.
สุมาลี นิมมานนิตย์ พ.บ.
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
- อ่าน 4,046 ครั้ง
พิมพ์หน้านี้