จากการเฝ้าระวังของงานระบาดวิทยา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดน่าน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544-2549 พบว่าในแต่ละปีจะพบผู้ป่วยจากการกินเห็ดพิษ และเสียชีวิต โดยพบในช่วงระหว่างเดือนพฤษภาคม-มิถุนายนของทุกปี เกิดที่อำเภอปัว ติดต่อกัน 4 ปี (พ.ศ. 2545, 2546, 2547, 2549) พบที่อำเภอนาหมื่น, สองแคว และเชียงกลางปีละ 1 ครั้ง โดยอำเภอปัว ปี พ.ศ. 2545 พบผู้ป่วย 19 ราย เสียชีวิต 3 ราย ปี พ.ศ. 2546 พบ 8 ราย เสียชีวิต 1 ราย, ที่อำเภอนาหมื่นพบผู้ป่วย 10 ราย เสียชีวิต 1 ราย และล่าสุด ปี พ.ศ. 2549 พบผู้ป่วยที่อำเภอเฉลิมพระเกียรติ 7 ราย เสียชีวิต 2 ราย.
ภาพที่ 1. ผู้ป่วยกินเห็ดพิษ มีอาการตับวายก่อนเสียชีวิต.
ภาพที่ 2. เห็ดพิษที่ชาวบ้านอำเภอบ่อเกลือจังหวัดน่าน เก็บมากินแล้วเสียชีวิต.
ปี พ.ศ. 2550 จังหวัดน่าน พบผู้ป่วยจากการกินเห็ดพิษ ตั้งแต่ต้นปี ถึงวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 จำนวน 44 ราย เสียชีวิต 6 ราย อัตราป่วยตายร้อยละ 13.64 ส่วนใหญ่เป็นเพศชายร้อยละ 75 (ชาย 33, หญิง 11) อายุต่ำสุด 8 ปี สูงสุด 72 ปี ส่วนใหญ่มาด้วยอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ ถ่ายเหลว ไม่มีไข้ จากการวิเคราะห์ข้อมูล และผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ สรุปผู้ป่วยดังนี้
กลุ่มที่กินเห็ดพิษชนิดรุนแรงและเสียชีวิตปี พ.ศ. 2550
- พบผู้ป่วยรวมทั้งหมด 17 ราย เสียชีวิต 6 ราย อัตราป่วยตายร้อยละ 35.29 ผู้ป่วยกลุ่มนี้อยู่ในอำเภอบ่อเกลือ จำนวน 12 ราย เสียชีวิต 5 ราย, อำเภอท่าวังผา 4 ราย เสียชีวิต 1 ราย, อำเภอปัว 1 ราย กลุ่มที่อำเภอบ่อเกลือมีครอบครัวที่กินเห็ดด้วยกัน 7 คน เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 มีอาการหลังกินแล้ว 6 ชั่วโมง เข้ารักษาในโรงพยาบาล ตั้งแต่วันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 เสียชีวิต 4 คน คนแรกอายุมาก 72 ปี เสียชีวิตวันที่ 10 พฤษภาคม 2550 รายสุดท้ายเสียชีวิตวันที่ 24 พฤษภาคม 2550.
- ผู้ป่วยกลุ่มนี้ มีประวัติกินเห็ดที่มีลักษณะคล้ายเห็ดที่ชาวบ้านเรียกว่า เห็ดโม่งโก้ง หรือเห็ดไข่ห่าน. จากการศึกษาพบว่า เห็ดที่ชาวน่านกินและเสียชีวิต เรียกว่าเห็ดไข่ห่านขาวตีนตัน บางท้องที่เรียกเห็ดผีเบื่อ, เห็ดหามแปด โดยเมื่อเป็นเห็ดอ่อนจะมีลักษณะกลมคล้ายไข่สีขาว พอโตขึ้นจะมีลักษณะโคนยาว ดอกสีขาว และจากผลการส่งตัวอย่างเห็ดที่เก็บได้จากอำเภอบ่อเกลือ ส่งตรวจกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบสารพิษชนิด แอลฟ่า (alpha) และ เบต้า-อะมานิติน (beta-amanitin) เป็นอะมาท็อกซิน (amatoxin) ซึ่งเป็น toxin ที่พบในเห็ดพิษหลาย ชนิดในสกุล Amanita สกุล Galcrina และสกุล Lcpiota.
ปัจจุบันประเทศไทยพบ 2 ชนิดคือ
1. Amanita verna.(Bull.cx.Fr) Vitt. ซึ่งทางภาคเหนือบางท้องที่ เรียกเห็ดไข่ตายซาก (ฮาก) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียกเห็ดระโงกหิน.
2. Amanita virosa Secr. เรียกเห็ดไข่เป็ด หรือเห็ดระโงกหิน ขนาดของ amatoxin ที่ทำให้คนกินเสียชีวิตประมาณ 0.1 มก./น้ำหนักตัว 1 กก. อาการของผู้ป่วยที่กินเห็ดชนิดนี้คือ มีอาการปวดท้อง อาเจียน ถ่ายเหลว การทำงานของตับและไตล้มเหลว ซึ่งเห็ดพิษชนิดนี้มีพิษ amatoxins ซึ่งจะถูกดูดซึมเข้าไปในเซลตับส่งผลยับยั้งการสังเคราะห์ RNA และกดการสร้างโปรตีน ซึ่งทำให้เกิดตับอักเสบอย่างรุนแรง และทำให้เกิดภาวะตับวายในเวลาต่อมา ทำให้อัตราการเสียชีวิตสูง (ภาพที่ 1).
ทีมงานสาธารณสุขจังหวัดน่านได้เน้นย้ำประชาสัมพันธ์ให้ประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงให้ระมัดระวังการกินเห็ดที่เกิดจากดินในฤดูฝน แต่ที่เกิดปัญหามาตลอด เพราะชาวบ้านมั่นใจว่าเห็ดที่นำมาปรุงอาหารกิน เป็นเห็ดที่กินได้และเคยกินและเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อปีก่อนๆ. สิ่งที่ยากที่สุดคือการแยกแยะเห็ดมีพิษ (ภาพที่ 2) และเห็ดไม่มีพิษด้วยตาเปล่า เนื่องจากมีลักษณะที่คล้ายกันมาก และวิธีทดสอบแบบพื้นบ้าน เช่นใส่ข้าวสารไปในการปรุงด้วย หรือใช้ช้อนเงินทดสอบ ก็ไม่สามารถแยกเห็ดมีพิษได้.เคยมีรายงานจากต่างประเทศว่าผู้เชี่ยวชาญเรื่องเห็ดโดยเฉพาะ ยังเสียชีวิตจากการกินเห็ดพิษชนิดเดียวกันนี้ และความร้อนสูงๆ จากการปรุงอาหารทุกรูปแบบก็ไม่สามารถทำลายพิษชนิดนี้ได้ จึงไม่ควรเสี่ยงกินเห็ดดินในช่วงหน้าฝนครับ เพราะเกิดเจอเห็ดพิษแล้ว โอกาสเสียชีวิตสูงมาก.
อภิชาติ รอดสม พ.บ.
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดน่าน
- อ่าน 7,274 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้