"เรามีความสุขทุกครั้งที่พ่อแม่พูดว่าเขามีความสุข หลังจากที่เคยมีความทุกข์ที่รู้ว่าลูกบกพร่องทางสติปัญญา"
คำกล่าวข้างต้น เป็นการบอกเล่าถึงความรู้สึกที่มีต่องานที่รัก ของแพทย์หญิง พรรณพิมล หล่อตระกูล ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล สถาบันที่ทำหน้าที่ดูแลเด็กที่มีความพิการทางสมอง
"หมอจบการศึกษาจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อปี พ.ศ. 2532 จากนั้นมาเรียนด้านจิตเวชที่โรงพยาบาลสมเด็จ-เจ้าพระยา แล้วก็ไปเรียนต่อด้านจิตเวชเด็กที่ประเทศเยอรมันนี"
หลังกลับมาได้ทำงานเกี่ยวกับเด็กมาโดยตลอด งานที่ทำมีลักษณะเป็นการป้องกัน ส่งเสริมและพัฒนา ด้วยเหตุนี้จึงต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับสังคมค่อนข้างมาก แต่โดยส่วนตัวก็ชอบงานเพื่อสังคมอยู่แล้ว เพราะทำแล้วมีความสุข
ผลงานที่ผ่านมาก็มีเรื่องโครงการทีวีฟอร์คิดส์ (T.V for kids) เราทำมา 5-6 ปีแล้ว โครงการนี้เริ่มต้นจากเหตุการณ์ที่นักเรียนมัธยมศึกษา พกปืนเข้าไปยิงคู่อริถึงในโรงเรียน ส่งผลให้สังคมเกิดความตื่นตัวในการหาคำอธิบายปราฏการณ์ดังกล่าวว่ามีสาเหตุจากปัจจัยอะไร ผลจากการวิเคราะห์เราพบว่ามีปัจจัยหลายอย่างเข้ามาเกี่ยวข้อง แน่นอนว่าสิ่งแวดล้อมคือปัจจัยสำคัญอันหนึ่ง และเราก็พบว่าปัจจัยที่มีผลมากคือสื่อ ซึ่งสื่อที่มีอิทธิพลมากคือโทรทัศน์ เพราะเด็กใช้เวลาด้วยมากที่สุด ด้วยเหตุนี้จึงมีการนำเรื่องสื่อโทรทัศน์เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี เพื่อจัดให้มีโทรทัศน์ที่เหมาะสมสำหรับเด็ก
ตอนเริ่มทำงานใหม่ๆ ก็มีคนถามว่าต่อไปนี้จะมีแต่รายการเด็กใช่ไหม ผู้ใหญ่ไม่มีโอกาสดูเลยหรือเปล่า เราก็ตอบว่าเป็นความเข้าใจไม่ตรงกัน หลักการคือเราต้องมีพื้นที่สำหรับเด็ก ในขณะเดียวกันก็มีพื้นที่สำหรับผู้ใหญ่ด้วย
สิ่งที่เราทำคือการคิดร่วมกันว่า โทรทัศน์เพื่อเด็กควรจะเป็นอย่างไร เพื่อส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ของเขา ซึ่งเราไม่ได้ปฏิเสธความสนุก เพราะไม่เคยคิดว่ารายการโทรทัศน์ต้องมีแต่วิชาการ แต่ทำอย่างไรจึงจะสนุกสนานและส่งเสริมการเรียนรู้ที่ดีด้วย
การดำเนินงานที่ตามมา อย่างแรกคือการพัฒนางานวิชาการ ต่อมาก็ทำงานร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้กำหนดเกณฑ์รายการโทรทัศน์ ครอบครัวที่ต้องช่วยลูกในการแยกแยะสื่อ และสุดท้ายเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายด้านสื่อ
ส่วนงานที่ทำในฐานะผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูลมีหลายด้านด้วยกัน ด้านแรกคือการพัฒนาการให้บริการทางการแพทย์ ด้านที่สองคือสนับสนุนด้านการศึกษา สังคมและอาชีพ เพื่อพัฒนาเด็กจนเต็มศักยภาพ จนนำไปสู่การพึ่งตนเองอย่างอิสระ คือสามารถพึ่งตนเองได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และด้านที่สามคือการนำความรู้ทางการแพทย์ผนึกเข้าไปกับการศึกษา เพื่อให้เด็กสามารถเข้าสู่ระบบการเรียนร่วมกับเด็กปกติได้ และด้านสุดท้ายคือการพัฒนาศักยภาพจนสามารถทำงานได้ แต่ตรงนี้ต้องได้รับความเอื้อเฟื้อจากสังคม
แพทย์หญิงพรรณพิมล กล่าวถึงรางวัลที่ได้รับจากการทุ่มเททำงานหนักว่า รู้สึกภูมิใจที่มีส่วนช่วยครอบครัวที่มีลูกพิการทางสมอง ให้สามารถเปลี่ยนความทุกข์จากการมีลูกที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ กลายมาเป็นความภูมิใจที่ได้เห็นลูกสามารถพึ่งพาตนเองและอยู่ร่วมกับสังคมได้
- อ่าน 3,884 ครั้ง
พิมพ์หน้านี้