Skip to main content
ข้อมูลสุขภาพ มูลนิธิหมอชาวบ้าน
menu

Login Pop

  • เข้าสู่ระบบ
    • ลืมรหัสผ่าน
search
  • เว็บหลักหมอชาวบ้าน
  • สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน
  • มูลนิธิหมอชาวบ้าน
  • หน้าแรก
  • ดูแลสุขภาพด้วยตัวเอง
  • บทความสุขภาพน่ารู้
  • สื่อสุขภาพ
  • คำถามสุขภาพ
  • ข่าวสาร
  • ติดต่อหมอชาวบ้าน
  • ข้อปฏิเสธความรับผิดชอบ
หน้าแรก » บทความสุขภาพน่ารู้ » ดูแลผู้ป่วยด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์
  • ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ดูแลผู้ป่วยด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์

โพสโดย Anonymous เมื่อ 1 ธันวาคม 2550 00:00

ระยะนี้ผมมีโอกาสทบทวนเอกสารเกี่ยวกับโครงการสร้างเสริมสุขภาพของหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะ อย่างยิ่ง โรงพยาบาลหลายแห่งที่พัฒนางานสร้างเสริมสุขภาพ โดยหันมาใช้กระบวนทัศน์ "การดูแลผู้ป่วยด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์".

กรณีตัวอย่าง 2 เรื่อง ได้แก่ "เรื่องเด่นที่โรงพยาบาลละงู" และ "คืนคุณค่าความเป็นมนุษย์แก่รำเพย" ที่นำมาเสนอไว้ในที่นี้ ซึ่งเป็นบันทึกเรื่องเล่าของทีมงานของโรงพยาบาล 2 แห่ง ได้สะท้อนภาพอันงดงาม และน่าประทับใจของผู้ให้บริการที่มีหัวใจของความเป็นมนุษย์อันเต็มเปี่ยม.

จึงขอฝากให้ผู้อ่านได้ชื่นชมกับความดีงาม และเรื่องดีๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย.
หากผู้อ่านมีเรื่องดีๆ ทำนองนี้ จะเขียนมาเล่าสู่กันฟัง ก็จะยินดียิ่งนัก. วารสารคลินิกยินดีเป็นสื่อกลางเผยแพร่เรื่องราวของ "ความดี และคนดี" ในวงการแพทย์และสาธารณสุขไทย.

เรื่อง "เด่น" วันนี้ที่โรงพยาบาลละงู

วันแรกที่ได้เจอ "เด่น" เป็นอะไรที่พวกเราทีมงานกายภาพบำบัดออกเยี่ยมผู้พิการในชุมชนจำได้ดี. วันนั้นประมาณบ่ายแก่ๆ อากาศร้อนมาก แดดแรง ขณะที่พวกเราออกเยี่ยมผู้พิการในชุมชนตามแผนที่กำหนด บริเวณข้างทาง หนุ่มไทยวัยแรงงานคนหนึ่งนั่งอยู่บนรถเข็นนั่งคนพิการ กำลังใช้เท้าที่เปลือยเปล่าของเขาพยายามดันพื้น เพื่อดันรถเข็นนั่งสภาพที่เก่าแก่ทรุดโทรม ยางล้อรถเสื่อมแบนติดดิน ให้เคลื่อนไปข้างหน้า. สภาพของเขา ณ ขณะนั้น ทำให้พวกเราต้องรีบจอดรถช่วยเหลือ. หลังจากพูดคุย ซักถาม ทราบว่า "เด่น" กลับจากไปซื้อปลาเพื่อนำไปให้โต๊ะ (ภาษา มลายู หมายถึง ยาย) ปรุงอาหารกลางวัน. พวกเราช่วยนำส่ง "เด่น" กลับบ้าน. สภาพบ้านที่ เห็นยิ่งทำให้พวกเราสะท้อนใจมากขึ้น เพราะเป็นเพียงกระท่อมหลังเล็กๆ คับแคบ ทรุมโทรม จะพังมิพังแหล่ หลังคามุงจากมีรอยรั่ว มุมหนึ่งเป็นที่สำหรับนอน ถัดไปอีกมุมหนึ่งเป็นที่ปรุงอาหาร ไม่มีห้องน้ำ/ห้องสุขาใช้. "เด่น" อาศัยอยู่กับโต๊ะและลูกสาวโต๊ะ.

"เด่น" เป็นลูกคนที่สองของครอบครัว หลังจากคลอด "เด่น" ได้ไม่นาน พ่อกับแม่แยกทางกัน. "เด่น" อยู่ในความเลี้ยงดูของแม่ และเนื่องจากแม่ต้องทำงาน จึงได้นำ "เด่น" ไปฝากเลี้ยงที่ศูนย์เด็กเล็กในหมู่บ้าน ซึ่งลูกสาวโต๊ะทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงเด็กอยู่. เมื่อ "เด่น" อายุได้ประมาณ 3 ขวบ แม่มีครอบครัวใหม่ ครอบครัวของแม่ยอมรับ "เด่น" ไม่ได้ ทำให้แม่ต้องทิ้ง "เด่น" ให้อยู่กับพี่เลี้ยงเด็กที่ศูนย์เด็กเล็ก โดยไม่กลับมาเยี่ยมอีกเลย. ลูกสาวโต๊ะนำปัญหาไปเล่าให้โต๊ะฟัง โต๊ะแม้นจะยากจนและไม่มีความเกี่ยวข้องทางสายเลือดใดๆ กับ "เด่น" แต่มีจิตใจที่ดีงาม มีคุณธรรม ขอรับ "เด่น" มาเลี้ยงที่บ้าน. ในปี พ.ศ. 2540 ขณะที่ "เด่น" กำลังเรียนอยู่ชั้น ม.5 "เด่น" ถูกรถจักรยานยนต์คันหนึ่งพุ่งชน ล้มลงหมดสติ ถูกนำส่งไปรับการผ่าตัดสมองที่โรงพยาบาลหาดใหญ่.

อุบัติเหตุที่ได้รับทำให้ร่างกายซีกซ้ายของ "เด่น" อ่อนแรง ช่วยเหลือตนเองได้น้อย แพทย์ส่งต่อไปให้ทำกายภาพบำบัดที่โรงพยาบาลสตูล แต่ด้วยข้อจำกัดเรื่องการเดินทางและค่าใช้จ่าย ทำให้โต๊ะและลูกสาวไม่สามารถทำตามแผนการรักษาของแพทย์ได้. "เด่น" ต้องนอนอยู่กับที่ โต๊ะคอยดูแลอาบน้ำ เช็คถูอุจจาระ ปัสสาวะให้. ลูกสาวโต๊ะไปขอบริจาครถเข็นนั่งคันเก่าๆ จากคนในหมู่บ้านมาได้คันหนึ่ง เพื่อให้ "เด่น" ไม่ต้องนอนอยู่กับที่เพียงอย่างเดียว. ความรัก ความเมตตาและความเหน็ดเหนื่อยของโต๊ะและลูกสาว ทำให้ "เด่น" พยายามที่จะช่วยเหลือตัวเองมากขึ้น พยายามที่จะใช้เท้าข้างที่แข็งแรงในการเข็นรถด้วยตนเอง และแบ่งเบาภาระโต๊ะในส่วนที่ทำได้.

ความทุกข์ยากที่ได้เห็น และแบบอย่างของการไม่มองข้ามคุณค่าใน "ความเป็นคน" ของโต๊ะ ที่ทำให้มนุษย์ด้วยกันด้วยความเต็มใจโดยไม่ได้มีบทบาทหน้าที่ทางสังคมหรือมาตรฐานแห่งวิชาชีพบีบบังคับ ทำให้เราสำนึกว่า "ในฐานะของมนุษย์คนหนึ่ง การทำเพียงเฉพาะบทบาทหน้าที่ที่มาตรฐานวิชาชีพหรือระบบงานที่โรงพยาบาลกำหนดคงไม่เพียงพอ แต่ถ้าเราต้องใส่หัวใจ ใส่ความรัก ความเมตตาต่อมนุษย์ลงไปในงาน จึงจะช่วยให้มนุษย์คนหนึ่งมีพลังที่จะอยู่ในสังคมได้ด้วยตัวเขาเอง". เราเข้าไปทำกายภาพบำบัดให้กับ "เด่น" ที่บ้านสัปดาห์ละครั้ง เนื่องจาก "เด่น" ไม่สะดวกที่จะมาหาเรา. นำเรื่องราวของ "เด่น" ไปบอกเล่าในที่ประชุมและเวทีเสวนาของโรงพยาบาล ได้รับการช่วยเหลือจากทีมบริหารและเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลในเรื่องเงินทอง เสื้อผ้า ข้าวสาร อาหารแห้ง รถเข็นนั่งคันใหม่ และทีมผู้บริหารโรงพยาบาลติดต่อเครือข่ายเพื่อให้การช่วยเหลือทั้งจากแหล่งช่วยเหลือในพื้นที่ ได้แก่ อบต. และนอกพื้นที่ ได้แก่ สภากาชาดจังหวัดสตูล ในการก่อสร้างบ้านใหม่ให้กับครอบครัว "เด่น".

หลังจาก 6 สัปดาห์ ที่เราเป็นฝ่ายไปดูแล "เด่น" ที่บ้าน ช่วยให้ "เด่น" สามารถมาหาเราเองที่โรงพยาบาลตามลำพังคนเดียว โดยไม่ต้องมีโต๊ะดูแล ด้วย walker ที่เราจัดหาให้ และกำลังจะไปฝึกอาชีพที่ศูนย์ฝึกอาชีพในพระบรมราชินูปถัมภ์ จังหวัดสุราษฏร์ธานี โดยอาสาสมัครจิตอาสาของโรงพยาบาล คุณฮิดยาเราะ ปากบารา เป็นผู้ติดต่อให้.

รอการตอบรับเข้าศึกษาต่อในระดับมัธยมปลาย ที่ กศน. และการจัดสร้างห้องน้ำ ห้องส้วมให้ ระหว่างรอบ้านหลังใหม่จัดสร้างเสร็จ โดยโรงพยาบาลละงูเป็นผู้ดำเนินการ.

และคณะกรรมการที่ปรึกษาโรงพยาบาลละงู ช่วยดำเนินการในการจัดทุนเลี้ยงชีพสำหรับผู้พิการให้กับครอบครัว "เด่น" ขณะที่อยู่ระหว่างดำเนินการ.

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่ยืนยันว่า โดยเนื้อแท้ของมนุษย์ทุกคน ล้วนแล้วแต่มีเมล็ดพันธ์แห่งความดีสะสมอยู่ และพร้อมที่จะช่วยเหลือคนในสังคม ถึงแม้จะไร้ทรัพย์สินเงินทอง แต่หากมีหัวใจแห่งความเป็นมนุษย์ ก็สามารถเยี่ยวยาคนทุกข์ยากในสังคมได้เช่นกัน.

โรงพยาบาลตาคลี : คืนคุณค่าความเป็นมนุษย์แก่รำเพย
รำเพย
อายุ 47 ปี ป่วยด้วยโรคจิตเภท (schizophrenia) เรื้อรังมาหลายปี ช่วงฤดูหนาวของทุกปีรำเพยจะมีอาการทางจิตกำเริบรุนแรง เอะอะอาละวาด แก้ผ้า บางครั้งทำร้ายตนเองและผู้อื่น จนเป็นที่สลดหดหู่ใจของเพื่อนบ้านใกล้เคียงที่พบเห็น.

ทีมงานสุขภาพจิตและจิตเวชโรงพยาบาลตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ออกเยี่ยมรำเพยที่บ้าน พบว่ารำเพยอาศัยอยู่ในกระท่อมที่น้องสาวและน้องเขยสร้างไว้ให้ เพื่อแยกรำเพยออกจากบ้านตนด้วยความกลัวร่วมกับความรู้สึกอับอายที่รำเพยไม่ดูแลกิจวัตรประจำวัน เนื้อตัวสกปรกมอมแมม นั่งพูดคนเดียว หัวเราะคนเดียว บางครั้งจะด่าทอน้องเขยด้วยคำหยาบคายเพราะอาการหลงผิดและหวาดระแวง.

ทีมงานได้เข้าไปสร้างสัมพันธภาพกับรำเพยด้วยความจริงใจและเข้าใจถึงความรู้สึก และความทุกข์ทรมานกับความรู้สึกมีคุณค่าของความเป็นมนุษย์ที่สูญหายไปกับโรคจิตเภท. ทีมงานเรี่มต้นด้วยการชวนรำเพยแวะเข้ามากินยารักษาอาการทางจิตต่อหน้าพยาบาลที่คลินิกสุขภาพจิตและจิตเวช หลังจากรำเพยได้กินยาติดต่อกันเป็นเวลาหนึ่งเดือน อาการทางจิตของรำเพยเริ่มสงบลงแต่ยังมีหูแว่วเป็นบางครั้ง. ทีมงานชวนรำเพยไปอาบน้ำที่งานแพทย์แผนไทยเนื่องจากมีห้องอาบน้ำและเครื่องทำน้ำอุ่นด้วยเกรงว่ารำเพยจะหนาวเพราะไม่ได้อาบน้ำมาเกือบปี หลังอาบน้ำสระผม รำเพยสดชื่นขึ้นเปลี่ยนเป็นคนละคน.

รำเพยมีอาการดีขึ้นตามลำดับ สามารถจัดยาใส่กล่องเพื่อนำกลับไปกินเองที่บ้านได้ถูกต้อง แรกๆ จะมีเม็ดยาเหลือติดกลับมาประมาณ 1-2 เม็ดต่อวัน จนกระทั่งสองเดือนผ่านไปไม่มีเม็ดยาเหลือกลับมาให้เห็นอีก สอดคล้องการประเมินสภาพจิตพบว่า รำเพยมีอาการทางจิตดีขึ้น เนื้อตัวสะอาด เปลี่ยนเสื้อผ้าทุกวัน รำเพยเล่าให้ฟังว่า ซักผ้าเองทุกวัน.

ทีมงานพารำเพยไปทำความรู้จักกับเจ้าหน้าที่ที่ห้องบัตรเพื่อฝากกล่องให้รำเพยในวันหยุดราชการ เกือบทุกคนในโรงพยาบาลจะรู้จักรำเพยดี ไม่มีใครแสดงท่าทีรังเกียจ แล้ววันหนึ่ง...คุณค่าของความเป็นมนุษย์ของรำเพยก็กลับมาจริงๆ แม่ค้าหน้าโรงพยาบาลรับรำเพยเป็นลูกจ้างล้างชามและเสิร์ฟอาหาร รำเพยดีใจมาก ขยันขันแข็งและตั้งใจทำงาน แม้ว่าค่าตอบแทนจะไม่มากนัก แต่ ก็ทำให้รำเพยรู้สึกภาคภูมิใจและรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง เหมือนความเป็นมนุษย์ได้กลับมาอีกครั้งหนึ่ง.

วันแรกที่ได้รับเงินค่าจ้าง รำเพยบอกกับทีมงานว่า "หนูมีงานทำแล้ว หนูอยากตอบแทนหมอ อยากช่วยค่ายาหมอบ้าง" พวกเราจึงเอ่ยปากชวนรำเพยให้มาช่วยงานในโรงพยาบาลหลังเสร็จงานล้างจาน สีหน้าของรำเพยบ่งบอกถึงยินดีและเต็มใจ สุดท้ายรำเพยกลายเป็นอาสาสมัครที่มีจิตใจอาสาช่วยทำความสะอาดห้องน้ำของผู้รับบริการในโรงพยาบาลตาคลีจนถึงปัจจุบัน.
 

ป้ายคำ:
  • กรณีศึกษา
  • โรคเรื้อรัง
  • อัมพฤกษ์ อัมพาต
  • โรคทางจิตเวช เครียด หวาดระแวง
  • คุยสุขภาพ
  • บทบรรณาธิการ
  • อ่าน 9,063 ครั้ง
  • พิมพ์หน้านี้พิมพ์หน้านี้

ข้อมูลสื่อ

276-001
วารสารคลินิก 276
ธันวาคม 2550
บทบรรณาธิการ
Skip to Top

บทความสุขภาพน่ารู้

  • ทั้งหมด
  • การแพทย์ทางเลือก
    • แพทย์แผนไทย
      • กดจุด
      • นวดไทย
    • แพทย์แผนจีน
  • ดูแลสุขภาพ
    • การดูแลผู้สูงอายุ
    • การปฐมพยาบาล
    • การรักษาเบื้องต้น
    • การใช้ยาสมุนไพร
    • คู่มือดูแลสุขภาพ
    • ยาและวิธีใช้
    • ตรวจสุขภาพด้วยตัวเอง
      • คำนวณค่า BMI
      • วินิจฉัยโรคเบื้องต้น
      • แนะนำการตรวจสุขภาพประจำปี
    • คุยสุขภาพ
      • กรณีศึกษา
      • ถามตอบปัญหาสุขภาพ
  • สุขภาพทางเพศและครอบครัว
    • การดูแลบุตร
    • แม่และเด็ก
    • การตั้งครรภ์
    • เรียนรู้เรื่องเพศและการวางแผนครอบครัว
  • สร้างเสริมสุขภาพ 3 อ. ​และป้องกันโรค
    • อาหาร
      • อาหาร 5 หมู่
      • อาหารของผู้่ป่วยโรคเรื้อรัง
        • ความดันสูง
        • หัวใจ
        • เกาต์
        • เบาหวาน
      • อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง
      • อาหารป้องกันมะเร็ง
      • อาหารสมุนไพร
    • ออกกำลังกาย
      • วิ่ง เดิน ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ แอร์โรบิค แอร์โรบอคซิ่ง รำกระบอง ไทเก็ก ชี่กง โยคะ
    • อารมณ์
      • การทำสมาธิ
      • การพักผ่อน
      • การพัฒนา EQ
      • จิตอาสา/ ฉือจี้
  • พฤติกรรมอันตราย
    • พฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ
    • อนามัยสิ่งแวดล้อม
    • อิริยาบถ
  • โรคและอาการ
    • โรคเรื้อรัง
      • กลุ่มอาการเมตาโบลิค
      • ความดันโลหิตสูง
      • ถุงลมปอดโป่งพอง
      • มะเร็ง
      • อัมพฤกษ์ อัมพาต
      • เบาหวาน
      • โรคข้อ/เกาต์
      • โรคทางจิตเวช เครียด หวาดระแวง
      • โรคหวัด ภูมิแพ้
      • โรคหัวใจ
      • โรคหืด
      • ไขมันในเลือดสูง/ผิดปกติ
      • ไตวาย
    • โรคตามระบบ
      • ระบบทางเดินอาหาร
      • โรคจากอุบัติเหตุ สารพิษ และสัตว์พิษ
      • โรคช่องปากและฟัน
      • โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
      • โรคติดเชื้อ
      • โรคผิวหนัง
      • โรคพยาธิ
      • โรคระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ
      • โรคระบบต่อมไร้ท่อ
      • โรคระบบทางอวัยวะเพศชาย
      • โรคระบบทางอวัยวะเพศหญิง
      • โรคระบบทางเดินปัสสาวะ
      • โรคระบบทางเดินหายใจ
      • โรคระบบประสาทและสมอง
      • โรคระบบไหลเวียนโลหิต
      • โรคหู ตา คอ จมูก
    • โรคจากการทำงาน
      • พิษภัยจากสารเคมี (ยาฆ่าเมลง/ สารตะกั่ว)
      • โรคจากฝุ่นและสารเคมีในโรงงาน
      • โรคจากสัตว์ เช่น ฉี่หนู
      • โรคจากอริยาบทที่ผิดสุขลักษณะ
      • โรคเส้นเอ็นอักเสบ/ นิ้วล็อค
  • ทันกระแสสุขภาพ
  • คลังความรู้สื่อสังคมออนไลน์
  • อื่น ๆ

ได้รับความนิยม

  • นม
  • ถั่วพู
  • คนท้อง
  • ธาลัสซีเมีย
  • ผู้สูงอายุ
  • ผักพื้นบ้าน
  • สมุนไพร

แผนผังเว็บไซต์

  • หน้าแรก
  • ดูแลสุขภาพด้วยตัวเอง
  • บทความสุขภาพน่ารู้
  • สื่อสุขภาพ
  • คำถามสุขภาพ
  • ข่าวสาร
  • ติดต่อหมอชาวบ้าน
  • ข้อปฏิเสธความรับผิดชอบ

รวมลิงค์เครือข่าย

  • มูลนิธิหมอชาวบ้าน
  • สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน
  • สถาบันโยคะวิชาการ

สื่อสุขภาพ

  • คลิปสุขภาพ
  • หมอชาวบ้านรายเดือน
  • คลินิกรายเดือน
  • จดหมายข่าวย้อนหลัง
  • feed หมอชาวบ้าน
  • facebook หมอชาวบ้าน
  • youtube หมอชาวบ้าน
  • feed หมอชาวบ้าน
  • facebook หมอชาวบ้าน
  • twitter หมอชาวบ้าน
  • youtube หมอชาวบ้าน
สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสถาบัน ChangeFusion พัฒนาระบบโดย Opendream สัญญาอนุญาต cc by-nc-sa