ในการมองปัญหาผู้ป่วยแบบองค์รวมที่เชื่อมโยงมิติทางกาย-จิต-สังคม (bio-psycho-social) เข้าด้วยกันนั้น ในแง่ปฏิบัติมีการเสนอให้ใช้สมการง่ายๆ ดังนี้
ตัวอย่างผู้ที่เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง หรือร้ายแรง (เช่น เอดส์ มะเร็ง ไตวายระยะท้าย อัมพาต ผู้พิการ เป็นต้น) นอกจากมีความทุกข์ทางกายแล้ว ยังมีความทุกข์ใจมหันต์ (กลัว กังวล โกรธแค้น ซึมเศร้า มีปมด้อย ไร้ศักดิ์ศรี คิดฆ่าตัวตาย) เกิดความทุกข์ทางสังคม (ออกจากงาน ขาดรายได้ เสียทรัพย์ในการรักษา) กระทบต่อครอบครัวให้เกิดความทุกข์ใจและแบกรับภาระในการดูแลผู้ป่วย (เช่น ลาหรือออกจากงาน หรือโรงเรียนเพื่อมาดูแลผู้ป่วย แบกรับค่าใช้จ่ายต่างๆ กระทบต่อเศรษฐกิจของครอบครัว) รวมทั้งเป็นที่รังเกียจเดียดฉันท์ของเพื่อนบ้าน (เช่น ผู้ป่วยเอดส์ โรคเรื้อน โรคจิต).
แพทย์และบุคลากรสาธารณสุข จำเป็นต้องเข้าใจความเจ็บป่วย (โรค + ความทุกข์) ของผู้ป่วยและครอบครัวเพื่อวางแผนให้การบำบัดรักษาและดูแลช่วยเหลืออย่างครบวงจร (บูรณาการ) จึงจะเกิดคุณภาพบริการที่ดีและสมบูรณ์.
แต่ถ้าผู้ให้บริการสนใจแต่เรื่อง " โรค " เพียงอย่างเดียว ไม่ใส่ใจ " ความทุกข์ " ของผู้ป่วย ก็อาจจะให้การดูแลไม่ได้เต็มที่ ขาดคุณภาพ รวมทั้งอาจสร้างผลกระทบต่างๆ ตามมาได้.
ตัวอย่างผู้ป่วยเบาหวาน หากเป็นโรคในระยะแรก (ก่อนเกิดภาวะแทรกซ้อน) ผู้ป่วยมัก ไม่มีอาการแสดง แม้มีระดับน้ำตาลสูงเกินปกติ (FPG อยู่ระหว่าง 126-200 มก./ดล.) ก็ยังรู้สึกสบายดี จึงไม่รู้สึกเดือดร้อนหรือมีความทุกข์. แพทย์เราซึ่งสนใจ " โรค " มากกว่า " ความทุกข์ " มักรู้สึกเดือดร้อนแทนและพยายามหาทางรักษาเพื่อคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์เป้าหมายให้ได้. บางครั้งคุมจนน้ำตาลต่ำเกิดอาการผิดปกติ ผู้ป่วยรู้สึกเป็นทุกข์ กลัว กังวล จึงแอบลดหรืองดยา ปล่อยให้ระดับน้ำตาลสูงเกินนิดๆ จะพอใจและเป็นสุขมากกว่าการลดระดับน้ำตาลให้ได้ตามความคาดหวังของแพทย์. การดูแลผู้ป่วยเบาหวาน จึงมักเกิด " สภาพผู้ป่วยดื้อ " (non-compliance) สร้างความหงุดหงิดไม่พอใจแก่ผู้ให้บริการอยู่เนืองๆ บางครั้งก็อาจดุว่าผู้ป่วย (ด้วยความหวังดี) ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่ไม่ราบรื่น ระหว่างผู้ให้และผู้รับบริการ.
ถ้าหากผู้ให้บริการเข้าใจว่าผู้ป่วยเบาหวาน (ระยะแรก) มีแต่โรค แต่ไม่มีความทุกข์ และพยายามสื่อสารให้เข้าใจมุมมองของผู้ป่วยและญาติ พร้อมทั้งชี้ให้พวกเขาเห็นเส้นทางเดินของโรคนี้ที่จะนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่จะก่อทุกข์มหันต์ตามมาในอนาคต จนสร้างความตระหนัก (รู้แจ้ง) ต่อโรคที่เป็น ก็น่าจะสร้างแรงจูงใจให้ผู้ป่วยหันมารับการดูแลรักษาอย่างจริงจังได้.
ในทางตรงข้าม มีโรคบางโรค เช่น ไมเกรน อาการเจ็บป่วยทางกายที่เกิดจากจิต (psychosomatic disorder) ซึ่งเป็นโรคที่ไม่มีอันตราย บางครั้งผู้ให้บริการอาจมองว่า " ไม่ใช่โรค " จึงให้แต่ยาบรรเทา โดยไม่ได้ให้ความสนใจต่อ " ความทุกข์ " (อาการเจ็บป่วยทรมาน เสียงานเสียการ วิตกกังวล สูญเสียคุณภาพชีวิต) และไม่พยายามสืบหาเหตุปัจจัยของปัญหาการเจ็บป่วย เพื่อให้อาการทุเลาห่างหายจากความทุกข์. ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักจะมีพฤติกรรมเปลี่ยนผู้รักษาไปเรื่อยๆ จนกว่าจะได้รับการดูแลแบบองค์รวมจากผู้ที่เข้าใจเรื่อง " ความเจ็บป่วย ".
ในการประกอบเวชปฏิบัติ จำเป็นต้องเข้าใจผู้ป่วยอย่างเป็นองค์รวม โดยการเข้าใจสมการแห่งความเจ็บป่วยดังกล่าว. วิธีง่ายๆ ก็คือ พยายามเข้าใจมุมมองของผู้ป่วยและครอบครัว โดยการให้เวลาพูดคุยซักถามใน 4 ประเด็นหลักๆ ได้แก่
¾ Idea : เข้าใจในความคิด ความรู้ ความเชื่อต่อโรค/อาการเจ็บป่วยที่เป็น ผลกระทบที่เกิดขึ้น เป็นต้น.
¾Feeling : เข้าใจในความรู้สึกที่ผู้ป่วยและ ญาติมีต่อโรค/อาการเจ็บป่วย มีความเดือดเนื้อร้อนใจ ทุกข์ใจ ความลำบากในการเดินทางมารับบริการอย่างไรหรือไม่ เป็นต้น.
¾Function : เข้าใจในบทบาทหน้าที่ของผู้ป่วยในครอบครัว สังคม การทำงาน การประกอบอาชีพ การเจ็บป่วยกระทบต่อบทบาทเหล่านี้อย่างไรหรือไม่ เป็นต้น.
¾Expectation : เข้าใจในความคาดหวังของผู้ป่วยและญาติที่มีต่อการบำบัดรักษาโรค/อาการเจ็บป่วย อยากให้ระบบบริการดูแลช่วยเหลือปัญหาด้านใดบ้าง ผู้ป่วยและญาติต่างคาดหวังซึ่งกันและกันอย่างไร เป็นต้น.
การเข้าใจมุมมองของผู้ป่วยและญาติสามารถกระทำโดยการพูดคุยแบบสองทาง (dialogue) ผู้ให้ บริการจะต้องใส่ใจฟังมากกว่าสอน
ถ้าจำเป็นอาจต้องมีทีมสหวิชาชีพในการให้คำปรึกษาแนะแนว (counseling) และ/หรือเยี่ยมบ้านผู้ป่วย. โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรส่งเสริมให้บุคลากรที่หน่วยบริการปฐมภูมิใน ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยและครอบครัว เนื่องเพราะมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดและมีความเข้าใจ-เข้าถึงผู้ป่วยและครอบครัวเป็นพื้นฐาน
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ
- อ่าน 9,951 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้