ปกติต่อมทอนซิลที่ด้านข้างของคอ จะมีร่องหรือซอก (crypts) ซึ่งเศษอาหารอาจเข้าไปติดหรือตกค้างได้ นอกจากนั้นเซลล์ที่บุร่องหรือซอกนั้น อาจมีการตายหลุดลอกออกมาแล้วมีแบคทีเรีย, เม็ดเลือดขาวและเอนไซม์ในน้ำลายเข้าไปย่อยสลายเกิดเป็นสารคล้ายเนย สีเหลืองขาวสะสมอยู่ ผู้ป่วยบางรายอาจมีสารแคลเซียมมาเกาะ ทำให้มีลักษณะคล้ายก้อนแคลเซียมอยู่ในร่องของต่อมทอนซิล (tonsillolith)ได้ซึ่งอาจ
1. ก่อให้เกิดความรำคาญ รู้สึกคล้ายมีอะไร ติดๆ อยู่ในลำคอ.
2. ทำให้ต่อมทอนซิลอักเสบ ทำให้มีอาการ เจ็บคอเป็นๆ หายๆ.
3. ทำให้มีกลิ่นปาก.
4. ทำให้มีอาการปวดร้าวไปที่หู หรือไอเรื้อรัง ได้ในผู้ป่วยบางราย.
ปัญหาดังกล่าวพบในผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก เมื่อก้อนดังกล่าวในร่องของต่อมทอนซิลมีขนาดใหญ่กว่าที่ร่องจะรับได้ ก็อาจหลุดออกมาเองได้ หรือเมื่อผู้ป่วยไอ หรือขากเสมหะแรงๆ อาจหลุดออกมาให้เห็นได้.
การรักษา
การรักษามี 2 วิธี คือ วิธีไม่ผ่าตัด และวิธีผ่าตัด
1. วิธีไม่ผ่าตัด ได้แก่
- การกลั้วคอแรงๆหลังรับประทานอาหารด้วยน้ำยากลั้วคอ, น้ำเกลือ หรือน้ำเปล่าธรรมดา.
- การใช้นิ้วนวดบริเวณใต้คางบริเวณมุมขากรรไกรล่าง (ซึ่งตรงกับบริเวณต่อมทอนซิล) เพื่อให้ก้อนดังกล่าวหลุดออกมา.
- การใช้ไม้พันสำลี (cotton bud), ปลาย ของที่หนีบผม, เครื่องมือที่ใช้เขี่ยขี้หูออก (ear curette), แปรงสีฟัน เขี่ย หรือกดบริเวณต่อมทอนซิล เพื่อเอาก้อนดังกล่าวออก.
- ใช้ที่พ่นน้ำทำความสะอาดช่องปาก, ฟัน และลิ้น (water pick) ฉีดบริเวณต่อมทอนซิล เพื่อให้ก้อนดังกล่าวหลุดออก.
- ใช้นิ้วล้วงเข้าไปในช่องปาก แล้วกดบริเวณส่วนล่างของต่อมทอนซิล แล้วดันขึ้นบน หรือใช้ลิ้นดัน เพื่อให้ก้อนดังกล่าวหลุดออกมา.
2. วิธีผ่าตัด ได้แก่
- ใช้กรด trichloracetic acid หรือเลเซอร์ (laser tonsillotomy) จี้ต่อมทอนซิลเพื่อเปิดขอบร่องของต่อมทอนซิลให้กว้าง ไม่ให้เป็นซอกหลืบ ที่จะเป็นที่สะสมของสิ่งต่างๆได้อีก ซึ่งสามารถทำได้โดยใช้ยาชาเฉพาะที่.
- ผ่าตัดต่อมทอนซิลออก (tonsillectomy) เป็นการรักษาที่หายขาด มักจะทำในกรณีที่ใช้วิธีดังกล่าวข้างต้นแล้วยังไม่ได้ผล.
ปารยะ อาศนะเสน พ.บ.,
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
- อ่าน 35,428 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้