Forman JP, et al. Diet and lifestyle risk factors associated with incidence hypertension in women. JAMA 2009; 302(4):401-11.
เรื่องอาหารและพฤติกรรมกับการเกิดโรคความดันเลือดสูงแม้จะเป็นเรื่องเก่าแต่ก็เล่าใหม่ได้เมื่อการวิเคราะห์ข้อมูลการศึกษาไปข้างหน้าแบบ cohort ในกลุ่มพยาบาล ที่สหรัฐอเมริกา จำนวน 83,882 คนอายุ 27-44 ปี ในปี พ.ศ. 2534 ซึ่งกลุ่มพยาบาลเหล่านี้ยังไม่มีโรคต่อไปนี้คือ ความดันเลือดสูง โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด เบาหวาน และมะเร็ง ต่อจากนั้นมีการติดตามเป็นเวลา 14 ปีจนถึง ปี พ.ศ. 2548 ตัวชี้วัดผลคืออุบัติการณ์ของโรคความดันเลือดสูงและวิเคราะห์ว่ามีความเกี่ยวข้องกับปัจจัยด้านพฤติกรรม 6 อย่าง คือ BMI <25 กก./ตร.ม., ออกกำลังกายอย่างหนัก เฉลี่ย 30 นาทีทุกวัน กินอาหารสุขภาพ (DASH diet ผักผลไม้ ไขมันต่ำ เกลือต่ำ) กินแอลกอฮอล์พอประมาณ (ไม่เกิน 10 กรัม/วัน) กินยาแก้ปวดน้อยกว่า 1 ครั้งต่อสัปดาห์ และกิน folic acid 400 มก. ทุกวัน.
ผลการศึกษาพบว่า ในระยะเวลาศึกษามีพยาบาล เป็นความดันเลือดสูงเกิดขึ้น 12,319 คน ร้อยละ 78 ของโรคความดันเลือดสูงสามารถป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้ถ้าคุณพยาบาลเหล่านี้ ปฏิบัติการลดปัจจัยทั้ง 6 อย่างดังกล่าวข้างต้น รายงานระบุมีเพียงร้อยละ 0.3 เท่านั้นที่สามารถปฏิบัติตัวทั้ง 6 อย่างนี้ได้ โดย ความอ้วนเป็นปัจจัยที่พบมากที่สุด และเป็นสาเหตุหลักของภาวะความดันเลือดสูงที่ตามมา (population attributable risk 40%) ถ้าสามารถปฏิบัติได้ 5 อย่าง ยังคงสามารถป้องกันได้ถึงร้อยละ 72 และสามารถป้องกันได้ร้อยละ 58 ถ้าสามารถทำได้ 4 อย่าง และ ร้อยละ 53 ถ้าสามารถทำได้ 3 อย่าง.
ผู้วิจัยสรุปว่า การกินอาหารสุขภาพและมีพฤติกรรมสุขภาพที่ดีสามารถลดอัตราการเกิดโรคความดันเลือดสูงได้ ผลการศึกษานี้สามารถขยายผลไปในประชากรเพื่อป้องกันความดันเลือดในผู้หญิงที่ยังมีอายุไม่มาก.
วิชัย เอกพลากร พ.บ., Ph.D.
รองศาสตราจารย์, ศูนย์เวชศาสตร์ชุมชน,
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี,
มหาวิทยาลัยมหิดล
- อ่าน 6,313 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้