จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกระบุว่า การดื่มสุราก่อผลกระทบด้านลบต่อชีวิต อีกทั้งทำให้มนุษย์อายุสั้นยิ่งกว่าการสูบบุหรี่และเป็นสาเหตุของโรคและการบาดเจ็บมากกว่า 60 ชนิด. ในปี พ.ศ. 2545 ประชากรโลกเสียชีวิตเพราะสาเหตุจากสุรามากกว่ายาเสพติด โดยคิดเป็นร้อยละ 5 ของการเสียชีวิตในประชากรวัย 15-29 ปี หรือจำนวนประชากรประมาณ 1.8 ล้านคนในปีเดียวกัน และจากยอดจำนวนตัวเลขอุบัติเหตุที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบันนี้ 1 ใน 5 ของสาเหตุที่ทำ ให้เกิดอุบัติเหตุและความรุนแรงในครอบครัวคือ ผู้ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์.
และในขณะที่อีกซีกโลกหนึ่งกำลังระอุด้วยไฟสงครามแห่งศาสนา ประเทศไทยกลับรวมองค์กรทุกศาสนามาทำงานร่วมกัน ในนามของเครือข่ายองค์กรงดเหล้า.
เครือข่ายองค์กรงดเหล้า เป็นเครือข่ายภาคประชาชน ซึ่งถือกำเนิดขึ้นเมื่อประมาณกลางปี พ.ศ. 2546 ช่วงก่อนเข้าพรรษาเพียงไม่กี่สัปดาห์ โดยครั้งแรกมีองค์กรกว่า 50 องค์กรร่วมทำกิจกรรม "รณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา " โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปลุกกระแสสังคมให้ตระหนักถึงโทษภัยของสุรา และเชิญชวนประชาชนเข้ามีส่วนร่วมในการรณรงค์ใน ครั้งนี้โดยการลงนามในใบปฏิญาณตนงดสุรา ซึ่งในครั้งนั้นมีผู้สนใจเข้าร่วมลงนามเลิกสุราทั้งตลอดช่วงเข้าพรรษาและตลอดชีวิตจำนวนมาก.
หลังจากกิจกรรมรณรงค์ในครั้งนั้น ศาสตราจารย์ นายแพทย์อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการโครงการรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา ปี พ.ศ. 2546 ร่วมกับองค์กรกว่า 50 องค์กร ที่ร่วมกันทำงานว่าควรจะมีการรวมตัวทำกิจกรรมรณรงค์อย่างนี้อย่างต่อเนื่องต่อไป จึงได้จัดตั้งคณะกรรมการเครือข่ายขึ้นโดยเลือกมาจากตัวแทนองค์กรภาคประชาชนต่างๆ จำนวน 16 ท่าน และให้จัดตั้งสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า เพื่อทำหน้าที่ประสานงานระหว่างเครือข่ายโดยมีเภสัชกรสงกรานต์ ภาคโชคดี เป็นผู้จัดการโครงการ และคณะกรรมการชุดนี้ยังทำหน้าที่เป็นคณะอนุกรรมการด้านรณรงค์และสร้างภาคีของคณะกรรมการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอลแห่งชาติ (คบอช.) ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน*.
ยุทธศาสตร์และกิจกรรมหลักของเครือข่ายองค์กรงดเหล้า จะแบ่งกันทำงานไปตามความถนัดและตามธรรมชาติของแต่ละองค์กร ซึ่งในปี พ.ศ. 2547 นี้ มีองค์กรที่มาร่วมงานกันกว่า 150 องค์กร โดยแบ่งกิจกรรมการรณรงค์เป็น 2 ลักษณะคือ รณรงค์เพื่อปลุกกระแสสังคม และรณรงค์แนวลึกเข้าไปติดอาวุธทางปัญญาและแก้ไขที่รากของปัญหา คือความไม่รู้ของคน ทั้งที่ดื่มแล้วและยังไม่ดื่ม. ซึ่งงานในส่วนที่ 2 นี้เป็นงานที่ต้องอาศัยระยะเวลาเนื่องจาก ต้องยอมรับว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า เหล้า นั้นอยู่ในวิถีชีวิตของคนไทย อยู่ในทุกประเพณีและแทบจะเรียกว่าเป็นวัฒนธรรม เพราะฉะนั้นการจะใช้เวลาเพียงปีหรือ 2 ปีกับการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้คงจะเป็นเรื่องใจร้อนเกินไป. เครือข่ายฯหวังจะเป็นเพียงน้ำหยดหนึ่งในแม่น้ำกว้างใหญ่แห่งสังคมและหวังว่าจะมีเพื่อนๆ จากองค์กรต่างๆ หันมาเห็นด้วยและมาร่วมมือกันรณรค์เรื่องนี้อย่างจริงจัง.
หากมีคนถามว่า หากกระแสการรณรงค์ประสบความสำเร็จจนกระทั่งไม่มีคนดื่มเลยแล้วเครือข่ายฯ จะทำอะไร เพราะก็คงคล้ายคำถามที่ว่า หากหมอรักษาคนป่วยจนหายแล้วไม่มีคนป่วยเลยหมอก็คงจะตกงาน หรือถ้าทุกคนเป็นคนดีหมดตำรวจก็คงไม่มี แต่ถ้าวันนั้นมาถึงจริง แผ่นดินไทยคงงดงาม เป็นแผ่นดินธรรมแผ่นดินทองที่มีแต่ความสุข.
*รายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับองค์กรเครือข่ายงดเหล้า สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ " สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า " โทรศัพท์ 0-2733-6008-9 หรือทางเว็บไซต์ www.stopdrink.com
- อ่าน 3,542 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้