ถาม : การผ่าตัดแก้ปัญหาสายตาเป็นการผ่าตัดส่วนใดของตา.
ตอบ : การแก้ปัญหาสายตาผิดปกติ คือ สายตาสั้น (myopia) สายตายาว(hyperopia) หรือสายตาเอียง (astigmatism) นอกจากการใช้แว่นตาและคอนแทคเลนส์แล้ว ปัจจุบันมีการผ่าตัดหลายแบบเพื่อแก้ปัญหาสายตา ทั้งการผ่าตัดที่เลนส์แก้วตา (phacorefractive surgery) หรือการผ่าตัดที่กระจกตาดำ (kerato-refractive surgery) ซึ่งเป็นส่วนที่ทำหน้าที่หักเหแสงที่สำคัญของดวงตาเพื่อลดความโค้งหรือความหนา ของกระจกตา ทำให้ผู้ป่วยหายสายตาสั้น สายตาเอียง หรือแม้แต่สายตายาว.
ถาม : การผ่าตัดทำ excimer เหมือนกับการทำเลสิก (lasik) หรือไม่.
ตอบ : การใช้ excimer laser เป็นวิธีการหนึ่งในการทำให้กระจกตาบางลงเพื่อแก้ไขภาวะสายตาผิดปกติที่นิยมมากที่สุดในปัจจุบัน โดยใช้แสงเลเซอร์ชนิด excimer (ความยาวคลื่นประมาณ 193 นาโนเมตร) ยิงบริเวณกระจกตาในตำแหน่งที่ต้องการให้บางลง เพื่อลดการหักเหของแสงที่กระจกตา ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 วิธีคือ
1. Photo-refractive keratectomy (PRK) ทำโดยการยิงเลเซอร์ไปบนกระจกตาในบริเวณที่ต้องการโดยไม่มีการใช้มีด (microkeratome) ฝานกระจกตา ก่อนยิงเลเซอร์ สามารถทำได้ในผู้ที่มีสายตาสั้นไม่มาก แต่มีข้อเสียคือ หลังทำผู้ป่วยจะเคืองตามากเนื่องจากมีการสูญเสียเซลล์ epithelium ของกระจกตาบริเวณนั้น.
2. การทำเลสิก (laser in situ keratomileusis, lasik) จะมีการใช้มีด (microkeratome) ผ่าน
กระจกตาบริเวณที่จะยิงเลเซอร์เปิดออกก่อน และยิงเลเซอร์ excimer ไปบริเวณที่ต้องการ แล้วจึงปิดฝากระจกตาที่ฝานไว้กลับที่เดิม ทำให้ไม่มีการสูญเสีย epithelium ของกระจกตา ผู้ป่วยจึงไม่เคืองตา จึงเป็นที่นิยมมากในปัจจุบัน.
จะเห็นได้ว่า excimer เป็นชื่อของเลเซอร์ที่นิยมนำมาใช้ในการผ่าตัดแก้สายตาผิดปกติ ส่วนเลสิกเป็นชื่อวิธีซึ่งนิยมทำในปัจจุบัน.
ถาม : ผู้ป่วยกลุ่มใดจึงจะเหมาะสมกับการทำเลสิก.
ตอบ : ผู้ป่วยที่จะมาทำเลสิก ต้องแน่ใจว่าต้องการวิธีนี้ เนื่องจากไม่สะดวกในการแก้ไขสายตาผิดปกติด้วยวิธีอื่น เช่น การใส่แว่นตาหรือคอนแทคเลนส์ นอกจากนั้นยังต้องมีภาวะสายตาที่คงที่มาอย่างน้อย 1 ปี (เพราะถ้าสายตายังไม่คงที่หลังทำอาจต้องกลับมาใส่แว่นอีกเมื่อระดับสายตาเปลี่ยนไป) จึงควรทำในผู้ที่มีอายุเกินกว่า 18-20 ปี เพราะลูกตาเจริญเติบโตเต็มที่และมักมีสายตาที่ไม่เปลี่ยนแปลงมาก.
นอกจากนั้นผู้ป่วยต้องไม่เป็นโรคของดวงตา เช่น เปลือกตาอักเสบที่ยังไม่ได้รับการรักษา, โรคตาแห้งอย่างรุนแรง, โรคกระจกตาโค้งผิดปกติ (keratoconus) หรือโรคต้อหินระยะรุนแรง รวมทั้งต้องไม่เป็นโรคทางร่างกายบางโรค เช่น โรครูมาตอยด์, โรคเอส แอล อี, ไม่ได้กำลังได้รับยาเคมีบำบัด (จะมีผลต่อการหายของแผลเลสิก), ไม่ได้ตั้งครรภ์ หรือเพิ่งคลอดบุตรภายใน 6 เดือน (เพราะภาวะฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงมีผลต่อการหายของแผลที่กระจกตา).
สำหรับระดับสายตาผิดปกติที่เหมาะสมในการทำเลสิก คือสายตาสั้นน้อยกว่า 15.00 ไดออปเตอร์ (หรือที่เรียกทั่วไปว่าสายตาสั้น 1500) ขึ้นกับความหนาของกระจกตา ซึ่งจักษุแพทย์จะพิจารณาเป็นรายๆ ไป สายตาเอียงไม่เกิน 6.00 ไดออปเตอร์ หรือสายตายาวไม่เกิน 6.00 ไดออปเตอร์ (การใช้เลเซอร์แก้สายตายาวได้ผลน้อยกว่าการแก้สายตาสั้นหรือสายตาเอียง). ส่วนการทำ PRK จะทำในผู้ที่สายตาสั้นไม่เกิน 9.00 ไดออปเตอร์ สายตาเอียงไม่เกิน 6.00 ไดออปเตอร์ และสายตายาวไม่เกิน 4.00 ไดออปเตอร์.
ตอบ : ใช้เวลาในการทำนานหรือไม่ และขณะทำเจ็บมากหรือไม่.
ถาม : เวลาในการฉายแสงเลเซอร์เพียงข้างละครึ่งถึง 1 นาที แต่หากรวมเวลาทั้งหมดจะประมาณ 30 นาทีต่อตา 1 ข้างขณะทำจะใช้การหยอดยาชา โดยทั่วไปผู้ป่วยจะไม่รู้สึกเจ็บเลย.
ถาม : เครื่องเลเซอร์ excimer ที่มีใช้ในประเทศไทยขณะนี้เหมือนกันหมดทุกที่หรือไม่ ควรทำที่ไหนดี.
ตอบ : เครื่อง excimer มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่
รุ่นที่ 1 ซึ่งลำแสงเลเซอร์เป็นวงใหญ่ทำให้ได้พื้นผิวกระจกตาไม่เรียบ
รุ่นที่ 2 พัฒนาลำแสงเลเซอร์เป็นแถบบาง ทำให้กระจกตาเรียบขึ้น
รุ่นที่ 3 แสงเลเซอร์เป็นจุดเล็กๆ จะทำให้กระจกตาเรียบและได้ผลแม่นยำมากขึ้น
รุ่นที่ 4 มีการนำหลักการหน้าคลื่น (wavefront) มาใช้ในการวัดภาวะสายตาผิดปกติอย่างละเอียดเพื่อวางแผนในการยิงเลเซอร์ จึงให้ผลที่แม่นยำและลดภาวการณ์เห็นแสงสะท้อนรอบดวงไฟ ที่อาจพบได้ในผู้ป่วยหลังทำ excimer และ รุ่นที่ 5 ซึ่งพัฒนาให้ใช้เวลาในการยิงเลเซอร์สั้นลงกว่ารุ่นที่ 4. ปัจจุบันในประเทศไทยมีเครื่อง excimer ทุกรุ่นขึ้นกับโรงพยาบาลแต่ละแห่ง.
การพิจารณาทำที่ใด คงขึ้นกับหลายปัจจัยแล้วแต่ความสะดวกของผู้ป่วยเพราะปัจจุบันโรงพยาบาลของรัฐและโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่เกือบทุกแห่งมีให้บริการได้.
ถาม : ค่าใช้จ่ายในการทำราคาสูงหรือไม่ ใช้สิทธิเบิกราชการได้เท่าใด.
ตอบ : ค่าใช้จ่ายในการทำเลสิกในโรงพยาบาลของรัฐประมาณ 20,000-35,000 บาทต่อข้างหากทำพร้อมทั้ง 2 ตา ค่าใช้จ่ายประมาณ 40,000-60,000 บาท หากเป็นโรงพยาบาลเอกชน อาจมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้นแล้วแต่โรงพยาบาล และไม่สามารถเบิกราชการได้.
ถาม : ผู้มีอายุที่เริ่มอ่านหนังสือใกล้ไม่เห็น สามารถทำเลสิกได้หรือไม่.
ตอบ : การทำเลสิกไม่สามารถแก้ภาวะสายตายาวในผู้สูงอายุ (presbyopia) ซึ่งจะมีปัญหาอ่านหนังสือระยะใกล้ไม่ชัด แต่อาจใช้เลเซอร์เพื่อให้ตาข้างหนึ่งเห็นภาพที่ระยะไกลชัด และตาอีกข้างหนึ่งเห็นภาพที่ระยะใกล้ชัด ขึ้นกับการพิจารณาร่วมกันระหว่างผู้ป่วยกับจักษุแพทย์.
ถาม : อันตรายหรือภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากการทำเลสิกมีหรือไม่.
ตอบ : ปัญหาหรือภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบหลังการทำเลสิก เช่น การเห็นแสงสะท้อนบริเวณดวงไฟ (glare) พบได้ร้อยละ 3-40 ขึ้นกับขนาดรูม่านตาผู้ป่วยและขนาดบริเวณที่ยิงเลเซอร์ ซึ่งปัญหานี้มักหายไปในที่สุด, ปัญหาตาแห้งพบได้ร้อยละ 3-60 แก้ไขโดยการใช้น้ำตาเทียม, ปัญหาการติดเชื้อพบน้อยเพียงร้อยละ 0.02-0.1.
ถาม : หลังทำแล้ว จะไม่ต้องใส่แว่นไปตลอดชีวิตเลยได้หรือเปล่า.
ตอบ : โดยทั่วไปจักษุแพทย์จะพยายามทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องใส่แว่นอีก แต่ในระยะยาวหากมีสายตาเปลี่ยนแปลงหรือเกิดการซ่อมแซมตัวเองของกระจกตามากอาจมีสายตาสั้นได้อีก โดยทั่วไปมักไม่มากเหมือนก่อนทำ และยังสามารถทำ excimer ซ้ำได้.
ศักดิ์ชัย วงศกิตติรักษ์ พ.บ., น.บ., ว.ว. (จักษุวิทยา)
สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี, กรมการแพทย์
วีรพัฒน์ สุวรรณธรรมา พ.บ., ภาควิชาศัลยศาสตร์, คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี, มหาวิทยาลัยมหิดล (บรรณาธิการ)
- อ่าน 4,567 ครั้ง
พิมพ์หน้านี้