(Dicpinigaitis PV, et al. Effect of guaifenesin on cough reflex. Chest 2003;124:2178-81.)
อาการไอเป็นกระบวนการซับซ้อนของปฏิกิริยาตอบสนองจากสมองต่อการกระตุ้นที่หลอดลม โดยกลไกยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด. Guaifenesin มีผสมอยู่ในยาแก้ไอหลายยี่ห้อและถูกอ้างว่ามีคุณสมบัติลดการไอ เพราะละลายและขับเสมหะ.แม้ว่ายาขนานนี้มีการใช้อย่างแพร่หลาย แต่การศึกษาที่ผ่านมาเกี่ยวกับประสิทธิผล ของยายังไม่ได้ข้อยุติ. คุณหมอ Dicpinigaitis และคณะจึงทำการทดลองว่ายา guaifenesin ลดความไวของการไอได้หรือไม่.
ผู้อยู่ในการศึกษามี 2 กลุ่มคือคนไข้หวัดจากไวรัส เปรียบเทียบกับคนปกติ(ไม่เป็นหวัด). ทั้ง 2 กลุ่มเป็นคนไม่สูบบุหรี่ ไม่มีโรคปอด ไม่มี gastroesophageal reflux. กลุ่มคนปกติไม่เคยเป็นหวัดใน 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา ส่วนกลุ่มที่เป็นหวัดก็ไม่ได้ยารักษาอะไรในช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา จำนวนกลุ่มละ 14 คน.
กลุ่มที่ 1 ได้ยากิน guaifenesin 400 มก. กลุ่มที่ 2 ได้ยาหลอก 1 dose หลังจากนั้น 1-2 ชั่วโมง ทดสอบกลุ่มศึกษาด้วย การให้ดม capsaicin เพื่อกระตุ้นการไอ. การทดสอบค่อยๆ เพิ่มปริมาณของ capsaicin ขึ้นทีละน้อยๆ จนทำให้กลุ่มทดสอบเกิดอาการไอ 5 ครั้งขึ้นไปภายใน 15 วินาทีหลังดม capsaicin. ตัวชี้วัด ผลการทดสอบคือ ปริมาณความเข้มข้นของสาร capsaicin ที่ทำให้กลุ่มทดสอบไอตั้งแต่ 5 ครั้งขึ้นไป เปรียบเทียบระหว่างยา guaifenesin กับยาหลอก และระหว่างคนเป็นหวัดและคนไม่เป็นหวัด.
ผลการศึกษา ภายหลังให้ดม capsaicin กลุ่มได้ยา guaifenesin และยาหลอกมีผลการวัดสมรรถภาพปอดไม่แตกต่างกัน. ในคนเป็นหวัดกลุ่มได้ยา guaifenesin ต้องใช้สาร capsaicin ในขนาดที่เข้มข้นกว่ากลุ่มยาหลอกในการทำให้เกิดอาการไอ โดย 7 ใน 14 คนที่ได้ยา guaifenesin นั้น ต้องใช้ capsaicin เข้มข้นเป็น 2 เท่าจึงทำให้เกิดอาการไอได้เมื่อเทียบกับกลุ่มยาหลอก. ส่วนในกลุ่มคนไม่เป็นหวัดนั้น ไม่มีความแตกต่างของความเข้มข้นของ capsaicin ที่ทำให้เกิดการไอระหว่างยาหลอกและยา guaifenesin.
ผู้วิจัยสรุปว่ายา guaifenesin มีประสิทธิผลในการกดอาการไอได้ในผู้ป่วยที่เป็นหวัด เพราะในผู้ป่วยหวัดนั้นปุ่มรับการกระตุ้นให้ไอมีความไวมากกว่าปกติ ซึ่ง guaifenesin ช่วยลดความไวนี้ได้.
การศึกษานี้เป็นตัวอย่างหนึ่งของการพิสูจน์ว่ายาที่การใช้มานานในอดีตแต่เดิมนั้นได้ผลดีจริงหรือไม่ ผลการศึกษาน่าสนใจว่า ยา guaifenesin ได้ผลในลดอาการไอในผู้ป่วยหวัดได้ลดน้อยลงจริง กลไกแท้จริงยังไม่ทราบแต่คาดว่ายาอาจทำให้น้ำมูกในทางเดินหายใจอมน้ำมากขึ้น เหนียวน้อยลง ทำให้การขับออกง่ายขึ้นจึงลดการไอลง.
วิชัย เอกพลากร พ.บ., Ph.D., รองศาสตราจารย์, ศูนย์เวชศาสตร์ชุมชน
คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี, มหาวิทยาลัยมหิดล
- อ่าน 11,806 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้