(Ram FS, et al. Hospital at home for patients with acute exacerbations of chronic obstructive pulmonary disease : systematic review of evidence. BMJ published July 2004.)
ในประเทศอังกฤษ ผู้ป่วยโรคปอดเรื้อรัง (chronic obstructive pulmonary disease, COPD) เข้ารักษาเป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาลปีละเกือบแสนรายด้วยอาการรุนแรงเฉียบพลัน. ช่วงเวลาอยู่โรงพยาบาลแต่ละครั้งเฉลี่ย 11 วัน ทำให้เสียเตียงผู้ป่วยและค่าใช้จ่ายรวมสูงถึงประมาณปีละ 2 หมื่นกว่าล้านบาท
ที่ผ่านมาสาเหตุการตายของผู้ป่วยมักเกิดจากภาวะ hypercapnia หรือ acidosis หรือจากภาวะแทรกซ้อนอื่น ราชวิทยาลัยแพทย์ลอนดอนมีข้อแนะนำให้มีผู้ช่วยดูแลผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจที่บ้านได้ แม้ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงก็รักษาที่บ้านได้ โดยมีพยาบาลเชี่ยวชาญทางระบบทางเดินหายใจไปเยี่ยมบ้านเป็น ระยะจนกว่าอาการผู้ป่วยจะดีขึ้น. แต่ผลของการรักษาผู้ป่วยที่บ้านนี้จะดีจริงหรือไม่ ยังไม่มีข้อสรุปแน่ชัด จึงได้นำมาสู่การทบทวนงานวิจัยที่ผ่านมาโดย Ram FS และคณะ.
การประมวลมีงานวิจัยแบบ RCT 7 รายงานที่เข้าเกณฑ์ รวมผู้ป่วยกว่า 754 คน. ผลการเปรียบเทียบพบว่า อัตราการกลับเข้ารักษาในโรงพยาบาลและอัตราตายในกลุ่มรักษาที่บ้านไม่มีความแตกต่างจากกลุ่มรักษาที่โรงพยาบาล (RR 0.89, 95 % CI 0.72, 1.12 และ 0.61, 95 % CI 0.36, 1.05 ตามลำดับ). ค่าใช้จ่ายในกลุ่มรักษาที่บ้านนั้นต่ำกว่ากลุ่มรักษาที่โรงพยาบาล และยังทำให้เตียงโรงพยาบาลว่างมากขึ้น.
ข้อสรุปของผู้วิจัย คือ การรักษาผู้ป่วย COPD ที่มีอาการรุนแรงเฉียบพลันที่บ้านเป็นโครงการที่มีความปลอดภัย บุคลากรทางการแพทย์ควรพิจารณาใช้แนวทางนี้ในการรักษาผู้ป่วย.
วิชัย เอกพลากร พ.บ., Ph.D., รองศาสตรจารย์, ศูนย์เวชศาสตร์ชุมชน
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี, มหาวิทยาลัยมหิดล
- อ่าน 4,121 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้