ทีมงานพื้นที่กำลังวิเคราะห์ข้อมูลด้านสุขภาพให้ละเอียดมากขึ้น เพื่อให้สามารถวางแนวทางการดำเนินการต่อไปทั้งนี้ จะต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับการปรับสภาพเตาเพื่อลดควันพิษรวมทั้งการทำความเข้าใจกับชาวบ้านด้านความเสี่ยงต่อสุขภาพด้วย
ยกตัวอย่างกรณีเหตุการณ์ด้านความเสี่ยงต่อสุขภาพจากสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในประเทศไทยมาหลายแห่ง ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นผลกระทบจากความต้องการพลังงานและภาคอุตสาหกรรม. บทความฉบับนี้ขอถกประเด็นที่เกือบจะตรงข้ามกันกับเหตุการณ์เหล่านั้น โดยจะเล่าถึงผลกระทบต่อสุขภาพจาการผลิตสินค้าพื้นบ้าน หรือที่เรียกกันติดปากว่า สินค้า " OTOP ".
เส้นทางบุหรี่
กรณีผลกระทบต่อสุขภาพครั้งนี้เกิดขึ้นที่ อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง หากท่านได้มีโอกาสไปเยี่ยมเยียนชาวกันตัง นอกจากจะได้สัมผัสบรรยากาศของเมืองชายทะเลอันดามันที่สวยงามแล้วท่านจะได้เห็นต้นยางพาราต้นแรกของประเทศไทยที่ท่านคอซิมบี้ ณ ระนองได้ปลูกไว้ รวมทั้งต้นจากที่ขึ้นหนาแน่นริมแม่น้ำตรัง และสินค้า OTOP ชนิดหนึ่งเรียกว่า " บุหรี่ใบจาก ".
บุหรี่ใบจากที่ว่านี้ คือใบไม้แห้งที่ห่อขดตัวเป็น แท่งทรงกระบอก เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1-2 มม. และมีขนาดยาวประมาณไม้จิ้มฟัน เมื่อคลี่ออกมาจะมีด้านกว้างประมาณ 4-5 ซม. ใช้สำหรับใช้ห่อยาเส้นเพื่อสูบคล้ายกับการใช้ใบยาสูบ. จริงๆ แล้วประเทศไทยมีนโยบาย มาตรการ และกิจกรรมมากมายเพื่อลดการสูบบุหรี่ แต่บุหรี่ใบจากกลับขายดีเป็นเทน้ำเทท่าจนสามารถเป็นสินค้ายังชีพให้กับชาวบ้านส่วนใหญ่ของตำบลย่านซื่อ อำเภอกันตังได้.
ชาวบ้านในตำบลนี้ผลิตบุหรี่ใบจากกันมาอย่างน้อย 2 ชั่วอายุคน ปริมาณการผลิตนั้นสูงถึงประมาณ 2 ตันต่อปีจนได้รับการคัดเลือกให้เป็นสินค้า OTOP. หมู่บ้านหนึ่งที่มีการผลิตมากคือ หมู่ที่ 3 โดยมีการผลิต 15หลังคาเรือนจากทั้งหมด 94 หลังคาเรือนหรือคิดเป็นจำนวนผู้ประกอบการ 35 รายจากประชากรกว่า 300 คน.
ขั้นตอนการผลิตเริ่มจากตัดยอดอ่อนของต้นจากจากต้น ท่านผู้อ่านที่ไม่เคยเห็นต้นจากมาก่อนต้องพยายามนึกภาพต้นไม้ขึ้นเป็นกอคล้ายต้นมะพร้าว แต่ไม่มีลำต้นมักจะพบเห็นบริเวณน้ำกร่อยทั่วไป.ยอดอ่อนของต้นจากจะอยู่ตรงกลางกอ มีลักษณะเป็นก้านแข็ง สีเขียว ปลายแหลมค่อนข้างจะกลมและเรียบกว่าก้านต้นมะพร้าวที่เห็นกันบ่อยกว่า. จากนั้นทำการริด (หรือ " ลับ" ) เอาแต่ใบ นำใบมามัดรวมกันเป็นช่อแล้วไปวางซ้อนกันในลังไม้ขนาดประมาณ 1 ลบ.ม. ที่มีแต่ผนัง 4 ด้าน ด้านล่างเปิดโล่งวางใบจากเก่าๆ เป็นพื้น มีช่องใต้ลังขนาดประมาณ 6 นิ้วจากพื้น. เมื่อวางใบจากเต็มลังแล้วก็จะปิดคลุมด้วยผ้าใบ แล้วนำก้อนกำมะถันมาจุดไฟวางบนชามกระเบื้อง แล้วสอดเข้าไปทางช่องที่เตรียมไว้ใต้ลัง ให้เกิดเป็นไอกำมะถันรมใบจากใช้เวลารมประมาณ 12 ชั่วโมง.
เมื่อรมด้วยกำมะถันเสร็จแล้ว นำใบจากที่เปียกชื้นมาแขวนตากให้แห้ง ใช้เวลาประมาณ 3 วัน เมื่อแห้งดีแล้วนำมา " ฝาน " ด้วยมีดให้เส้นบางลงจนห่อตัวเองได้ แล้วนำไปตัดเป็นท่อนขนาดไม้จิ้มฟันก่อนบรรจุใสถุงพลาสติกเพื่อขายต่อไป.
ควันเป็นพิษ
ท่านผู้อ่านอาจไม่แน่ใจว่าอะไรคือปัญหาสุขภาพของชาวบ้าน? สิ่งที่รบกวนชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านในหมู่บ้าน คือ กลิ่นไม่พึงประสงค์และควันที่แสบปากจมูกจากการรมใบจากด้วยกำมะถัน ทั้งนี้เนื่องจากไม่ได้ทำเป็นระบบปิด ประกอบกับไม่มีระบบระบายอากาศที่เหมาะสม ทำให้กลิ่นและควันเล็ดลอดออกมาและฟุ้งกระจายจนชาวบ้านหลายคนรู้สึกไม่สบาย. นอกจากนั้นหากได้มีโอกาสเดินรอบๆ หมู่บ้าน จะเห็นว่ามีการใช้ภาชนะรองน้ำฝนหรือวัสดุมุงหลังคาที่ไม่ใช่สังกะสี เนื่องจากถ้าใช้ก็จะมีการกัดกร่อนและผุพังเร็ว.
อย่างไรก็ตาม ประเด็นผลกระทบต่อสุขภาพนี้ เพิ่งได้รับความสนใจเมื่อต้นปี พ.ศ. 2547 นี่เองสืบเนื่องจากการทำวิจัยในชุมชนของนักศึกษากลุ่มหนึ่งซึ่งมีขั้นตอนการทำเวทีประชาคม และหนึ่งในประเด็นที่ได้รับการหยิบยกขึ้นมา คือ กลิ่นและควันจากการรมใบจาก ซึ่งได้ผลสรุปหรือข้อตกลงจากเวทีว่า ให้ผู้ประกอบการผลิตใบจาก หยุดรมกำมะถัน ณ เวลา 20.00 น.ทุกวัน จะได้ไม่มีกลิ่นรบกวน หากใครฝ่าฝืนจะทำการปรับครั้งละ 1,000 บาท แต่ที่ประชุมไม่ได้สรุปชัดเจนเรื่องคณะกรรมการดำเนินการ รวมทั้งการบริหารจัดการเงินค่าปรับ.
เมื่อเวลาผ่านไป ผู้ประกอบการไม่ได้ทำตามข้อตกลงนี้ ชาวบ้านจึงทำหนังสือร้องเรียนถึงนายอำเภอกันตัง ซึ่งได้แจ้งเรื่องต่อไปยังสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) กันตังเพื่อดำเนินการ. สสอ.ได้จัดการประชุมกับชาวบ้านครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2547 โดยมีข้อสรุปว่าผู้ผลิตจะหยุดทำการหลัง 2 ทุ่มโดยไม่มีข้อแม้. เจ้าหน้าที่ สสอ.จะหาแนวทางการลด ปัญหาจากผลกระทบ และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) จะศึกษาการออกข้อบังคับของตำบล.
ที่ประชุมครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2547 ได้มีการหารือเรื่องการปกปิดให้ควันกำมะถันออกน้อยที่สุดและได้มีการแนะนำให้ผู้ผลิตดัดแปลงเตารมใบจากโดยทำการต่อท่อพีวีซีสีฟ้า เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-3 นิ้ว สูงระหว่าง 4-5 ม. ออกจากเตา เพื่อลดควันและกลิ่นโดยอาศัยกระแสลมเบื้องบนพัดพา ไปที่อื่น.
ต่อมาในที่ประชุมครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2547 นักวิชาการสาธารณสุขจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ตรัง ได้นำเสนอต่อชาวบ้านว่าควัน (หรือไอ) กำมะถันที่ออกมาจะทำปฏิกิริยากับน้ำ (ไม่ว่าจะเป็นในอากาศ บนผิวหนังหรือตามเยื่อบุ) เกิดเป็นกรดกำมะถัน ซึ่งมีฤทธิ์กัดกร่อนค่อนข้างมาก แต่จะมากน้อยขึ้นกับปริมาณที่ได้สัมผัส ทั้งนี้มีแต่พิษในระยะเฉียบพลัน ไม่มีพิษระยะยาวหรือตกค้าง.
ที่น่าสนใจคือ ในที่ประชุมครั้งที่ 5 นี้ นักวิชาการจากสสจ.ได้เสนอให้อบต.ย่านซื่อ ออกข้อบังคับตำบลให้กิจการผลิตใบจาก เป็นกิจการอันตรายต่อสุขภาพ ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข (พ.ศ. 2535) ซึ่งจะต้องมีการขออนุญาตทำการ และถูกสั่งพักกิจการได้หากก่ออันตรายต่อสุขภาพ แต่ปลัดอบต.ชี้แจงว่าดำเนินการได้ แต่ในขั้นต้นนี้น่าจะพยายามตกลงกันเองให้ได้อย่างสันติวิธี (และไร้กฎหมาย) เนื่องจากผู้ผลิตกับชาวบ้านผู้เดือดร้อนต่างเป็นเครือญาติกัน.
นายอำเภอกันตัง ซึ่งเป็นประธานการประชุมครั้งที่ 5 นี้ ได้สรุปการประชุมว่าจะมีการทดลองสร้างเตารมใบจาก 2 แบบ คือ แบบคอนกรีตและแบบไม้ จำนวนอย่างละเตา เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพในการลดควันและกลิ่นกำมะถัน. ในระหว่างการทดลองให้ผู้ผลิตทุกรายหยุดรมกำมะถันเวลา 20.00 น. ขณะเดียวกันให้อบต.ไปศึกษาหลักเกณฑ์และออกข้อบังคับตำบล (ตามพรบ.การสาธารณสุข) และถ้าผลการทดลองเป็นที่น่าพอใจ ผู้ผลิตทุกรายต้องสร้างเตาแบบใหม่.
ปรึกษาหารือ
ถึงแม้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ทั้งจาก สสจ., สสอ. และสถานีอนามัย จะได้ทำการประเมินและจัดการความเสี่ยงในเบื้องต้นดังกล่าวมาแล้ว แต่ก็ยังมีประเด็นทางสุขภาพที่อาจหลงเหลือ หรือเร่งด่วนอีกจึงได้มีการปรึกษาหารือนักวิชาการจากระดับเขตและส่วนกลางในช่วงเดือนสิงหาคม 2547 ที่ผ่านมา.
ข้อสรุปของการหารือในด้านการประเมินการสัมผัส คือ ยังไม่ชัดเจนเรื่องช่วงเวลาและระยะเวลาของการสัมผัส (เช่น ช่วงเช้าทุกวันเป็นเวลากว่า 5 ชั่วโมงหรืออื่นๆ) ขาดข้อมูลด้านอุตุนิยมวิทยาของพื้นที่ ในการประมาณการทิศทาง ขอบเขตของการกระจายควัน และขาดเครื่องมือในการตรวจวัดระดับความเข้มข้นของไอกำมะถัน ซึ่งจะต้องเป็นเครื่องมือที่สามารถวัดในสภาพพื้นที่โล่งได้ (ไม่ใช่ที่ใช้วัดในโรงงาน). อย่างไรก็ตาม การหาข้อมูลทดแทนอาจทำได้โดยการให้ชาวบ้านลงบันทึกประจำวันว่าได้กลิ่นเวลาใด ในสภาพอากาศอย่างไร.
สำหรับด้านผลกระทบต่อสุขภาพนั้น ที่ผ่านมามีแต่ subjective symptoms ที่ชาวบ้านระบุว่าเกิดจากกำมะถัน เช่น แสบจมูก ปวดศีรษะ ฯลฯ ควรมีการตรวจบางประการให้เป็น objective symptoms ซึ่งอาจจะลำบาก เนื่องจากมักเกิดอาการเฉพาะช่วงเวลาที่มีความเข้มข้นของควันสูง แต่ก็อาจใช้ข้อมูลทดแทนจากแบบสอบถามอาการที่เหมาะสม เช่น ของ American Thoracic Society เพื่อให้เห็นภาพชัดว่ามีอาการผิดปกติเกิดขึ้นจริง. อย่างไรก็ตาม จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบว่าสอดคล้องกับข้อมูลการสัมผัสกำมะถันหรือไม่ ที่สำคัญที่สุด คือ ไม่มีข้อมูลพื้นฐานด้านสุขภาพก่อนเกิดการสัมผัสไว้ทำการเปรียบเทียบ ทำให้อาจแยกได้ลำบากว่าเกิดจากควันกำมะถันจริง หรือไม่.
และในด้านของการจัดการเพื่อลดควันนั้น ควรปรึกษาหารือกับอุตสาหกรรมจังหวัดหรือนักวิชาการด้านวิศวกรรมศาสตร์ด้วย เพื่อให้ช่วยตรวจสอบและประเมินประสิทธิภาพของการใช้ท่อระบายควัน รวมทั้งการก่อสร้างเตาแบบใหม่.
ผลต่อสุขภาพ
ภายหลังการหารือ ทีมงานวิชาการได้รับความร่วมมืออย่างดีจากผู้อำนวยการโรงพยาบาลกันตังในการจัดเจ้าหน้าที่ไปร่วมกันซักประวัติและตรวจร่างกาย ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบ. ผลการตรวจเบื้องต้นของชาวบ้านที่เข้ารับการตรวจทั้งหมด 36 คน ไม่พบอาการผิดปกติ อาจเป็นไปได้ว่าทุกคนได้ผ่านช่วงเวลาที่เกิดอาการระคายเยื่อบุอย่างมากในระยะแรกของการทำงานนานแล้ว จนสามารถทนทำงานได้ในขณะนี้ เนื่องจากชาวบ้านส่วนมากผลิตใบจากมาเป็นเวลานานกว่า 30 ปี.
ขณะที่ท่านได้รับทราบเรื่องราวนี้ ทีมงานพื้นที่กำลังวิเคราะห์ข้อมูลด้านสุขภาพให้ละเอียดมากขึ้นเพื่อให้สามารถวางแนวทางการดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ จะต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับการปรับสภาพเตาเพื่อลดควันพิษ รวมทั้งการทำความเข้าใจกับชาวบ้านด้านความเสี่ยงต่อสุขภาพ (risk communication) ด้วย.
ผู้เขียนหวังว่าบทความนี้จะช่วยจุดประกายท่านผู้อ่านอีกครั้งหนึ่งว่าประชาชนต้องการที่พึ่งเวลามีปัญหาผลกระทบต่อสุขภาพจากสิ่งแวดล้อม. ที่สำคัญท่านสามารถประเมินและจัดการในระดับเบื้องต้นได้ทั้งในส่วนงานด้านสุขภาพที่ท่านสามารถเป็นผู้นำและงานด้านอื่นที่ท่านต้องทำร่วมกับผู้ร่วมทีมจาก หน่วยงานอื่น ท่านพร้อมหรือยัง?
ฉันทนา ผดุงทศ พ.บ., DrPH in Occupational Health, สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม, กรมควบคุมโรค, กระทรวงสาธารณสุข, E-mail address : [email protected]<
- อ่าน 4,457 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้