ถาม : เส้นเลือดขอดคืออะไร
ตอบ : หมายถึง ผนังของเส้นเลือดดำที่อยู่ในชั้นพื้นผิว (superficial) เสียความยืดหยุ่นจนทำให้ผนังของเส้นเลือดมีการยืดขยายออกอย่างไม่เป็นระเบียบเกิดเป็นเส้นเลือดที่พองขยายตัวคดเคี้ยวขึ้น. ดังที่พบในผู้ป่วยทั่วไปโดยส่วนใหญ่ มักจะเกิดตามบริเวณขามากกว่าที่ส่วนอื่นของร่างกาย.
ถาม : มีสาเหตุจากอะไรได้บ้าง
ตอบ : ปัจจัยเสี่ยงที่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดเส้นเลือดขอดมีดังนี้
1.1 พันธุกรรม พบว่าในประวัติครอบครัวที่มีญาติพี่น้องเป็นเส้นเลือดขอดโอกาสที่ผู้ป่วยจะมีเส้นเลือดขอดเกิดได้มากกว่าประชาชนทั่วไป.
1.2 เพศ พบว่าเพศหญิงเป็นได้มากกว่าเพศชาย โดยเฉพาะในหญิงตั้งครรภ์ในช่วง 3 เดือนแรกจะพบว่ามีโอกาสเกิดเส้นเลือดขอดได้สูงมากเพราะร่างกายมีการหลั่งสารฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (progesterone) เพื่อช่วยในการตั้งครรภ์ ซึ่งฮอร์โมนชนิดนี้ทำให้ผนังของเส้นเลือดดำเสียความยืดหยุ่น.
1.3 อาชีพ พบว่าอาชีพที่ต้องยืนนานๆ เช่น ศัลยแพทย์, พยาบาล, ครูหรืออาชีพที่ต้องนั่งห้อยเท้านานๆ พบว่ามีโอกาสเกิดเส้นเลือดขอดได้มากกว่าคนทั่วไป.
1.4 ผู้ป่วยที่มีประวัติขาบวม หรือเส้นเลือดดำที่ขาอุดตันมาก่อนในอดีตจะมีโอกาสเกิดเส้นเลือดขอดได้มากกว่าคนทั่วไป.
ถาม : จะวินิจฉัยได้อย่างไร
ตอบ : โดยทั่วไปเส้นเลือดขอดสามารถวินิจฉัยได้จากการซักประวัติและตรวจร่างกายของแพทย์.ไม่มีความจำเป็นต้องสั่งตรวจพิเศษเพิ่มเติมยกเว้นในบางรายที่คิดว่ามีภาวะแทรกซ้อนร่วมด้วย เช่น มีแผลเรื้อรังที่ขา ขาบวม มีประวัติที่ถูกยิงหรือถูกแทงที่ขาในอดีต มีกระดูกหักที่ขานำมาก่อนที่จะมีเส้นเลือดขอด มีเส้นเลือดขอดเกิดขึ้นตั้งแต่วัยเด็ก มีเส้นเลือดขอดที่ขาข้างเดียวในขณะที่ขาอีกข้างปกติ
.
ถาม : ต้องตรวจเพิ่มเติมอะไรบ้าง
ตอบ : สำหรับในรายที่มีภาวะแทรกซ้อนร่วมอยู่ด้วยการส่งตรวจพิเศษเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อที่จะได้วางแผนการรักษาได้ถูกต้อง. การส่งตรวจพิเศษโดยทั่วไปสามารถทำได้ตามโรงพยาบาลขนาดใหญ่ เช่น โรงพยาบาลประจำจังหวัด, โรงพยาบาลที่เป็นสังกัดของโรงเรียนแพทย์ เป็นต้น.
การส่งตรวจพิเศษเพิ่มเติม มีดังนี้
1. การตรวจดูว่ามีการไหลย้อนกลับของเส้นเลือดดำหรือไม่ (reflux test หรือ venous filling time).
2. การตรวจดูว่ามีการอุดตันของเส้นเลือดดำหรือไม่ (maximum venous outflow).
3. อัลตราซาวนด์เส้นเลือด (Doppler ultrasound).
4. การตรวจด้วยเครื่องแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic Resonance Venography หรือ MRV).
5. การฉีดสีเข้าเส้นเลือดดำ (venography).
ถาม : กรณีไหนที่ต้องผ่าตัดรักษา
ตอบ : 1.ปวด โดยเฉพาะเวลาที่ยืนนานๆ หรือนั่งห้อยเท้านานๆ ผู้ป่วยให้ประวัติว่าปวดเหมือนขาหนักๆ เนื่องจากเลือดมีการไหลย้อนกลับไปที่บริเวณขามากขึ้น ทำให้ความดันในเส้นเลือดดำสูงขึ้น.
2.มีแผลเรื้อรัง.
3.มีเลือดออก.
4.กังวลเกี่ยวกับเรื่องความสวยงาม.
ถาม : ถ้าไม่รักษา ทิ้งไว้จะเกิดปัญหาอะไรบ้าง
ตอบ : กรณีที่เป็นเส้นเลือดขอดควรที่จะมาพบแพทย์ เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยและการแนะนำในเรื่องการปฏิบัติตนและการรักษาอย่างถูกต้อง เพราะเส้นเลือดขอดที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องอาจจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่ตามมาได้ เช่น
= ปวด.
=มีแผลเรื้อรังที่ขารักษาไม่หาย.
=มีเลือดออกที่บริเวณเส้นเลือดขอด.
=มีการอักเสบของเส้นเลือดขอด.
ถาม : ถ้ารักษาโดยการผ่าตัดจะหายขาดหรือไม่
ตอบ : โดยทั่วไปการผ่าตัดมักจะหายขาด ยกเว้นในบางรายที่มีแขนงของเส้นเลือดขอดหลงเหลืออยู่ ก็อาจจะทำให้มีอาการกลับเป็นซ้ำได้อีก และโดยทั่วไปหลังผ่าตัดผู้ป่วยควรจะใส่ถุงน่องสำหรับเส้นเลือดขอดไว้ประมาณ 4-6 สัปดาห์.
ถาม : การผ่าตัดรักษามีข้อดีข้อเสียอย่างไร และมีภาวะแทรกซ้อนหรือไม่
ตอบ : การผ่าตัดรักษามีข้อดี คือ
= มีโอกาสกลับเป็นซ้ำของเส้นเลือดขอดน้อยมากหรือแทบไม่มีเลย.
= เป็นวิธีการรักษาที่หายขาดได้.
= ป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้นได้จากเส้นเลือดขอด.
การผ่าตัดรักษามีข้อเสีย คือ
= ผู้ป่วยต้องนอนโรงพยาบาลเพื่อเตรียมการผ่าตัดโดยวิสัญญีแพทย์จะใช้วิธีการระงับปวดขณะทำผ่าตัดได้โดยการฉีดยาชาเข้าไขสันหลัง หรือยาดมสลบ ทั้งนี้ขึ้นกับสภาพของผู้ป่วยแต่ละราย.
= หลังผ่าตัดอาจมีจ้ำเลือดใต้ผิวหนังได้ แต่จ้ำเลือดนี้หายไปได้เองใน 1-2 สัปดาห์.
ถาม : การรักษามีกี่วิธี อะไรบ้าง
ตอบ : การวางแผนการรักษาขึ้นอยู่กับสภาพความรุนแรงและภาวะแทรกซ้อนของเส้นเลือดขอดในขณะนั้น โดยทั่วไปการรักษามีวิธีใหญ่ๆ คือ
1. ไม่ต้องผ่าตัด (conservative treatment)
คือการเฝ้าระวังอาการและป้องกันไม่ให้อาการเป็นมากขึ้น โดยการใส่ถุงน่องสำหรับเส้นเลือดขอด (compression stocking) แนะนำว่าควรใส่ตลอดเวลาที่ทำงาน หรือมีกิจกรรมต่างๆ เช่น ยืน, เดิน, นั่ง ยกเว้นขณะนอนไม่ต้องใส่ แต่ให้ยกปลายเท้าสูงประมาณ 30 องศา เพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเลือด. การรักษาโดยวิธีนี้มักใช้ในรายที่เส้นเลือดขอดมีขนาดเล็กมาก เป็นเส้นเลือดฝอยขนาดเล็กๆ เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 มม. หรือน้อยกว่า.
2. การฉีดสารที่ทำให้เส้นเลือดขอดยุบลง (sclerotherapy)
ทำโดยการใช้สารที่มีคุณสมบัติในการทำลายผนัง (endothelium) ของเส้นเลือดขอด เช่น สาร aethoxysclerol 3 % โซเดียมคลอไรด์. การฉีดสารเหล่านี้มักทำในรายที่เส้นเลือดขอดโตขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1-3 มม.
วิธีนี้สามารถทำได้ที่คลินิก หรือโรงพยาบาลทั่วไป และไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล แต่หลังฉีดยา ผู้ป่วยจำเป็นต้องพันผ้า elastic bandage ไว้ประมาณ 2-3 สัปดาห์ เพื่อให้เส้นเลือดขอดบริเวณนั้นมีการฝ่อยุบตัวลงได้ดียิ่งขึ้น แต่วิธีนี้เป็นการรักษาไม่หายขาด ในระยะยาวอาจมีการกลับเป็นซ้ำของเส้นเลือดขอดได้อีก.
ข้อเสียของวิธีนี้คือ อาจมีภาวะแทรกซ้อนจากการฉีดยาได้ เช่น ผิวหนังมีรอยดำคล้ำ(hyperpigmentation) จากแนวที่ฉีดยา, ผิวหนังมีเนื้อตาย (skin necrosis) มีอาการปวดบริเวณที่ฉีดยา, แพ้ยา (anaphylaxis).
3. การผ่าตัด-โดยทั่วไป
การผ่าตัดใช้สำหรับในรายที่มีการขยายของเส้นเลือดขอดที่โตขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 4-6 มม. ในรายที่เป็นแขนงของเส้นเลือดเล็กๆ สามารถที่จะฉีดยาชาเฉพาะที่ แล้วตัดเฉพาะแขนงเล็กๆ นี้ออกได้ (stab avulsion). วิธีนี้สามารถทำได้ที่คลินิกหรือโรงพยาบาลทั่วไป และผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล แต่ในรายที่เส้นเลือดขอดเป็นกับระบบของเส้นเลือดดำของพื้นผิวทั้งระบบ (greater sapheneous vein) จำเป็นต้องทำผ่าตัดโดยการเอาเส้นเลือดนี้ออกตลอดทั้งเส้น (venous stripping) เพราะถ้าไม่ทำผ่าตัดโดยวิธีนี้จะทำให้มีอาการกลับเป็นซ้ำได้อีก. วิธีนี้ผู้ป่วยจำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล และใช้วิสัญญีแพทย์ช่วยในการให้ยาระงับปวดขณะทำผ่าตัด โดยการฉีดยาชาเข้าไขสันหลัง หรือดมยาสลบ ทั้งนี้ขึ้นกับสภาพของผู้ป่วยแต่ละราย. การผ่าตัดวิธีนี้ในโรงพยาบาลของรัฐบาล เสียค่าใช้จ่ายประมาณ 6,000- 7,000 บาท ในปัจจุบันนี้ยังมีวิธีการรักษาเส้นเลือดขอดที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยในการผ่าตัด ทำให้สามารถรักษาได้โดยที่ผู้ป่วยอาจจะไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล เช่น การใช้เลเซอร์ หรือการใช้คลื่นความถี่ (radio-frequency) แต่วิธีนี้ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ในโรงพยาบาลรัฐบาลจะเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 15,000- 20,000 บาท.
ถาม : ถ้ายังไม่ผ่าตัด ผู้ป่วยควรจะดูแลรักษาตนเองอย่างไรบ้าง
ตอบ : = ควรหลีกเลี่ยงการยืนหรือนั่งห้อยเท้านานๆ เพราะจะทำให้เลือดมีการไหลย้อนกลับไปที่บริเวณขามากขึ้น ทำให้มีอาการของเส้นเลือดขอดมากขึ้น.
= ควรใส่ถุงน่องที่ใช้สำหรับเส้นเลือดขอด (compression stocking) โดยเฉพาะ โดยถุงน่องนี้จะมีคุณสมบัติพิเศษที่ต่างจากถุงน่องทั่วไป คือ มีความดันที่บริเวณข้อเท้า 20-25 มม.ปรอท ทำให้เลือดที่อยู่บริเวณขามีการไหลกลับสู่ระบบไหลเวียนเลือดได้ดีขึ้น.
= ควรใช้หมอนหรือผ้ารองปลายเท้าสูงประมาณ 30 องศาขณะนอน เพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเลือดในเส้นเลือดดำ.
= ควรหมั่นสังเกตภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้น เช่น แผลเรื้อรังที่บริเวณขา การอักเสบของเส้นเลือดขอด มีเลือดออก ขาบวม ปวดขา เพื่อที่จะได้ไปพบแพทย์ได้ทันท่วงที.
ปิยนุช พูตระกูล พ.บ. อาจารย์, หน่วยศัลยศาสตร์เส้นเลือด, ภาควิชาศัลยศาสตร์,คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี, มหาวิทยาลัยมหิดล
วีรพัฒน์ สุวรรณธรรมา พ.บ., ภาควิชาศัลยศาสตร์, คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี, มหาวิทยาลัยมหิดล (บรรณาธิการ)
- อ่าน 13,506 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้