ในช่วงเวลานี้ดูเหมือนมีกระแสสูงของการเรียกร้องเรื่องคุณธรรมจริยธรรม และการดำเนินชีวิตแบบพอเพียงเกิดขึ้นในสังคมไทยและสังคมโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีนี้ที่มีการจัดงานมหามงคล " ฉลองครองราชย์ครบ 60 ปี " ซึ่งมีการเผยแพร่แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง และพระราชจริยวัตรอันเปี่ยมด้วยทศพิธราชธรรมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว.
การพัฒนาประเทศในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ได้เกิดกระแสวัตถุนิยมและบริโภคนิยมขึ้นในสังคมไทยอย่างรุนแรง แม้ว่าผู้คนจะได้รับความสะดวกสบายมากขึ้น เพราะสามารถบริโภคสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ แต่กลับก่อให้เกิดปัญหาสังคมมากมาย เช่น การแก่งแย่ง การทุจริต ความรุนแรงยาเสพติด อาชญากรรม การพนัน การขายตัวขายวิญญาณ ปัญหาหนี้สิน ปัญหาครอบครัว เป็นต้น. ผู้คนถูกสอนให้เข้าใจว่าเงินสามารถซื้อความสุขได้ ยิ่งมีเงินมากจะยิ่งมีความสุขมากจึงมีความคิดบูชาเงินเป็นพระเจ้า ทำอะไรทุกอย่าง (ไม่ว่าจะเรียนหนังสือ ทำงาน เล่นหวย เล่นหุ้น การคบหาสมาคม เป็นต้น) ก็เพื่อให้ได้เงินหรือกำไรสูงสุดโดยไม่คำนึงถึงความถูกต้อง ถูกศีลธรรม. ผู้คนมีความเห็นแก่ตัวมากขึ้น ไร้หิริโอตตัปปะ มีความคิดพร่ามัว (สีเทา) แยกไม่ออกว่าอะไรคือความดีอะไรคือความชั่ว อะไรควร อะไรไม่ควร. สิ่งเหล่านี้ได้นำไปสู่วิกฤติการณ์ทางสังคมและการเมือง ซึ่งปรากฏให้เห็นเด่นชัดขึ้นทุกขณะ. หลายๆ ฝ่ายจึงมีการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสังคมครั้งใหญ่ทั้งทางด้านการเมือง การศึกษา เศรษฐกิจ.
ในทางการแพทย์และสาธารณสุข ก็เกิดปัญหาในทำนองเดียวกัน เพราะหนีไม่พ้นการถูกครอบงำด้วยกระแสวัตถุนิยมและบริโภคนิยมจนกลายเป็น " ระบบการแพทย์พาณิชย์ ". ในช่วงหลายปีมานี้มีการเติบโตของการบริการด้านการแพทย์ที่มุ่งเพื่อกำไรสูงสุด จนแทบจะลืมไปว่าวิชาชีพแพทย์มีจุดมุ่งหมายเพื่อการบรรเทาทุกข์จากโรคภัยไข้เจ็บของทุกผู้ทุกนาม อย่างไม่เลือกฐานะ ชนชั้น ชนชาติ และมีลักษณะเป็น " การบริการสาธารณะ " ยิ่งกว่าการบริหารธุรกิจ. ในเวลานี้แพทย์ถูกมองว่าขาดคุณธรรมจริยธรรม เมื่อเกิดความผิดพลาดจากการรักษาพยาบาล จึง มีการฟ้องร้องกันมากขึ้น ดังปรากฏเป็นข่าวอยู่เนืองๆ. ในขณะเดียวกันก็เกิดปัญหาสมองไหลของแพทย์ทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนแพทย์ในหน่วยบริการระดับพื้นฐาน และอยู่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชนบท. แม้ว่าจะมีการบังคับให้แพทย์จบใหม่ออกไปทำงาน ใช้ทุนในต่างจังหวัด ซึ่งได้ดำเนินต่อเนื่องมากว่า 3 ทศวรรษ ปัญหาการขาดแคลนแพทย์ในชนบท ก็มิได้เบาบางลง แต่กลับรุนแรงยิ่งขึ้นในช่วงไม่ กี่ปีมานี้ เนื่องจากมีการไหลของแพทย์ไปสู่ภาคเอกชนกันมากขึ้น เพราะค่าตอบแทนที่ต่างกันลิบลับ.
นอกจากนี้แพทย์ยังถูกมองว่าขาดความเข้าใจ และมุมมองเชิงมนุษยธรรมในการดูแลผู้ป่วยคือ สนใจแต่มิติทางกาย แต่ละเลยมิติทางด้านจิตใจ และสังคมของผู้ป่วย ดังที่กล่าวกันว่า " ขาดการมองผู้ป่วยแบบองค์รวม" " รักษาไข้ไม่รักษาคน ".
ปัญหาเหล่านี้ไม่เพียงกระทบต่อคุณภาพและความเท่าเทียมในการให้บริการสุขภาพโดยรวม และสร้างความทุกข์ให้แก่ประชาชนเท่านั้นแต่ก็ยังกระทบต่อศักดิ์ศรีแห่งวิชาชีพและสุขภาวะของตัวแพทย์เองอีกด้วย. แพทย์จำนวนไม่น้อยรู้สึกไม่มั่นคงหรือถูกคุกคามจากกระแสการฟ้องแพทย์. หลายคนทำงานหนักจนกระทบต่อคุณภาพชีวิต และครอบครัว. แพทย์จำนวนไม่น้อยต้องเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากอุบัติเหตุและโรคภัยจนมีการพูดกันว่าอายุเฉลี่ยของแพทย์ (ที่เสียชีวิต) นั้นต่ำกว่าวิชาชีพอื่น.
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางกระแสดังกล่าวก็ยังมีแพทย์ส่วนหนึ่งที่ยืนหยัดทำงานเพื่อชุมชน โดยเฉพาะแพทย์หลายๆ ท่านที่ทำงานอยู่ในชนบทอย่างต่อเนื่องยาวนาน ซึ่งได้ใช้ความรู้ ความสามารถในการพัฒนาคุณภาพบริการ รวมทั้งการสร้างเสริมสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบอย่างน่าประทับใจ. แพทย์เหล่านี้ได้เป็นแบบอย่างของการดำเนินชีวิตแบบพอเพียง มีคุณธรรมและมีความสุขที่ไม่ต้องพึ่งพาวัตถุ แต่น่าเสียดายที่มีอยู่จำนวนไม่มากนัก.
ท่ามกลางกระแสปฏิรูปสังคมก็ได้มีการเรียกร้องให้มีการจัดการปฏิรูปสุขภาพ ทั้งด้านการผลิตกำลังคน และการจัดระบบบริการสุขภาพ โดยเน้นให้มีหัวใจแห่งความเป็นมนุษย์ เพื่อทวนกระแสวัตถุนิยมและบริโภคนิยม.
การปฏิรูปแม้ว่าเป็นเรื่องยากเย็น แต่ถ้าร่วมมือร่วมใจกันฝ่าฟัน คิดค้น ทดลอง เรียนรู้ พัฒนาอย่างต่อเนือง ก็เชื่อว่าในที่สุดจะก้าวสู่เป้าหมายได้แน่นอน.
(รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สุรเกียรติ อาชานานุภาพ)
- อ่าน 1 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้