ก่อนปี พ.ศ. 2544 กองระบาดวิทยา (ในขณะนั้น1) ได้กำหนดให้มีการรายงานโรคพิษยาฆ่าแมลงในรายงาน (รง.) 506 โดยถือเป็นโรคจากการประกอบอาชีพประเภทหนึ่งและเมื่อวิเคราะห์ข้อมูลจากรายงานดังกล่าว มักพบเสมอว่าเป็นโรคที่มีจำนวนผู้ป่วยมากที่สุดในบรรดาโรคจากการประกอบอาชีพ 7 ประเภทที่กำหนดให้รายงาน เช่น ในปี พ.ศ. 2547 มีผู้ป่วยด้วยพิษยาฆ่าแมลงกว่า 2,000 ราย (ร้อยละ 55 จากการรายงานทั้งหมด 4,252 รายทั่วประเทศ) และเมื่อวิเคราะห์ลึกลงไปอีก พบว่าผู้ป่วยส่วนมากกินยาฆ่าแมลงโดยเจตนาเพื่อฆ่าตัวตาย มีเพียงส่วนน้อยที่เป็นอาการเจ็บป่วยจากการใช้ยาฆ่าแมลง เช่น เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน หลังการฉีดพ่นยาในสวนผลไม้.
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 เป็นต้นมากองระบาดวิทยาได้พัฒนาแบบรายงานชุดใหม่ เรียกว่า รง.506/2 สำหรับการรายงานโรคจากการประกอบอาชีพและ สิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะ. โรคพิษจากยาฆ่าแมลงเดิมได้รับการจัดกลุ่มใหม่เป็น " โรคพิษจากสารเคมีการเกษตรและสารเคมีอื่นๆ ". นอกจากนั้น สำนักระบาดวิทยายังได้จัดทำแนวทางการวินิจฉัยเพื่อการรายงานโรคกลุ่มนี้ เพื่อให้แพทย์และผู้เกี่ยวข้องกับผู้ป่วย ได้รายงานโรคที่เกิดจากการทำงานจริงๆ ไม่รวมการกินยาฆ่าตัวตายดังที่เคยเป็นมา. ผลการทดลองใช้แบบรายงานใหม่นี้ ทำให้การรายงานโรคพิษยาฆ่าแมลงลดจำนวนลงอย่างเห็นได้ชัด เช่น ในปี พ.ศ. 2547 จากผู้ป่วยโรคจากการประกอบอาชีพทั้งหมดที่รายงานจำนวน 1,320 ราย พบว่าเป็นโรคพิษจากสารเคมีการเกษตรเพียง 48 ราย (ร้อยละ 4) เปรียบเทียบกับร้อยละ 55 จากการรายงานแบบเดิม และเชื่อว่าหากมีการวิเคราะห์ข้อมูลโดยละเอียด จะเห็นว่าเป็นผู้ป่วยจากการทำงานจริงๆ ไม่ใช่การฆ่าตัวตาย.
สารเคมีเกษตร
โดยทั่วไปแล้ว มีการใช้สารเคมีทางการเกษตรหลายประเภทในประเทศไทย แต่สารเคมีที่สำนักระบาดวิทยาถือว่ามีการใช้เป็นปริมาณมากต่อปี และมักทำให้ผู้ใช้เกิดอาการเจ็บป่วยมี 3 กลุ่มใหญ่ คือ สารกำจัดแมลง สารกำจัดหนูและสัตว์แทะ และสารกำจัดวัชพืช. โดยสารกำจัดแมลงที่ใช้บ่อย คือ สารกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต คาร์บาเมตและไพรีทรอยด์ ขณะที่สารกำจัดหนูที่ใช้บ่อย คือ สังกะสีฟอสไฟด์ และสารกำจัดวัชพืชที่ใช้บ่อย คือ พาราควอทและกลัยโฟเสด.
พิษออร์กาโนฟอสเฟต (organophosphate poisoning)
โรคพิษกลุ่มนี้ เกิดจากการได้รับสารฟอสเฟตอินทรีย์ซึ่งเป็นสารกำจัดศัตรูพืชและสัตว์ สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ทางผิวหนัง ทางการหายใจหรือทางปาก (กินโดยไม่เจตนา). ผู้ที่เสี่ยงต่อการได้รับสารกลุ่มนี้ คือ คนทำงานอุตสาหกรรมผลิต บรรจุ ขนส่งและจำหน่ายสารกลุ่มนี้ เกษตรกรผู้ใช้สารเคมี และพนักงานผู้ให้บริการกำจัดแมลงตามอาคารบ้านเรือนหรือสำนักงาน. นอกจากนั้น ประชาชนทั่วไปอาจสัมผัสออร์กาโนฟอสเฟตจากสิ่งแวดล้อม เช่น การบริโภคอาหารที่ปนเปื้อน การใช้สารเคมีกำจัดแมลงในบ้านเรือน การทำสวนปลูกต้นไม้ การนำภาชนะบรรจุสารเคมีมาใช้เป็นภาชนะบรรจุอาหารและน้ำดื่ม เป็นต้น.
ลักษณะทางเวชกรรมหลังได้รับสารกลุ่มนี้ หากได้รับในปริมาณความเข้มข้นสูงในทันที ทำให้เกิดพิษเฉียบพลัน มีอาการน้ำมูก น้ำตา น้ำลายและเหงื่อออกมาก อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย รูม่านตาหดเล็ก หัวใจอาจเต้นช้าหรือเร็ว และความดันเลือดอาจต่ำหรือสูง กล้ามเนื้อเป็นตะคริวและอ่อนแรง อาจมีอาการหายใจแผ่วจนถึงหยุดหายใจจากการที่กล้ามเนื้อช่วยหายใจบริเวณซี่โครงไม่ทำงาน บางรายอาจชัก ซึมหรือหมดสติ บางรายเกิดอัมพาตของเส้นประสาทสมอง โดยเริ่มมีอาการภายใน 2-5 วันหลังจากเกิดอาการเฉียบพลัน ทำให้ผู้ป่วยหยุดหายใจและเสียชีวิตได้.
การตรวจพิเศษที่นิยมใช้ คือ การตรวจระดับเอนไซม์ acetyl-cholinesterase ในเม็ดเลือดแดง โดยพบว่ามีค่าลดลงมากกว่าร้อยละ 30 (จากค่าปกติ).
พิษคาร์บาเมต (carbamate poisoning)
โรคพิษกลุ่มนี้ มีผู้ใช้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงกลุ่มเดียวกับออร์กาโนฟอสเฟต และก่อให้เกิดอาการเหมือนกัน. อย่างไรก็ตาม คาร์บาเมตมีกลไกในการยึดจับเอนไซม์ acetyl-cholinesterase ที่ไม่ถาวรเท่าออร์กาโนฟอสเฟต ทำให้ต้องรีบตรวจเลือดทันทีหลังสัมผัสและเกิดอาการ เพราะระดับเอนไซม์ลดลงสู่ระดับปกติ เร็วกว่าออร์กาโนฟอสเฟตมาก.
พิษไพรีทรอยด์ (pyrethroid)
สารไพรีทรอยด์มีอันตรายต่อร่างกายน้อยกว่า 2 กลุ่มแรก จึงนิยมใช้เป็นส่วนผสมของยากำจัดแมลงที่ใช้ฉีดพ่นหรือจุดภายในบ้านเรือน กลุ่มเสี่ยงจึงมักเป็นประชาชนทั่วไป มากกว่าผู้ทำงานในอุตสาหกรรมผลิตหรือเกษตรกรผู้ใช้สารเคมี.
โรคพิษจากสารกำจัดแมลงกลุ่มนี้ มักเกิดจากการได้รับเข้าสู่ผิวหนัง ทำให้ผิวหนังอักเสบ (irritant contact dermatitis) เป็นผื่นคัน แสบร้อน ชา บริเวณที่สัมผัส โดยเฉพาะที่ใบหน้า และไม่สามารถตรวจหาระดับเอนไซม์ acetyl-cholinesterase ได้ เนื่องจากมีกลไกการออกฤทธิ์ต่างจากยา 2 กลุ่มแรก.
พิษสังกะสีฟอสไฟด์ (zinc phosphide poisoning)
อาการพิษจากสารกลุ่มนี้ เกิดจากการกินโดยไม่เจตนา ส่วนมากเกิดขึ้นกับผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการใช้สารเคมีกำจัดหนูหรือแมลงสัตว์แทะ รวมทั้งอาจเกิดจากการปนเปื้อนอาหารตามบ้านเรือน.
ลักษณะทางเวชกรรม ส่วนใหญ่มีผลต่อระบบทางเดินอาหาร ทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง อย่างรุนแรง. บางรายเกิดอาการตับอักเสบเฉียบพลัน และบางรายมีอาการแน่นหน้าอก และหายใจลำบากร่วมด้วย. การส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการใช้การตรวจหาสังกะสีฟอสไฟด์ในน้ำล้างกระเพาะอาหาร.
พิษพาราควอท (paraquat poisoning)
เกิดจากการได้รับพาราควอทเข้าสู่ร่างกายทางปากและผิวหนัง โดยมีประวัติการทำงานเกี่ยวข้องกับการผลิต บรรจุ ขนส่งและจำหน่าย รวมทั้งเกษตรกรผู้ใช้ยานี้ในการฆ่าหญ้าและวัชพืชต่างๆ เนื่องจากยา กลุ่มนี้เป็นยากำจัดวัชพืชที่ได้ผลดีมาก จึงนิยมใช้กันทั่วไป.
ลักษณะทางเวชกรรม แยกเป็นพิษเฉียบพลันและพิษเรื้อรัง อาการพิษเฉียบพลัน ทำให้เกิดแผลในปาก เจ็บคอ กลืนลำบาก อาเจียน ปวดท้อง แสบร้อนในอก. ระยะต่อมาอาจเกิดปัสสาวะออกน้อย ไตวาย ตับอักเสบ หายใจหอบเหนื่อย และมีอัตราการเสียชีวิตสูงจากระบบอวัยวะหลายระบบไม่ทำงาน. บางครั้ง การสัมผัสทางผิวหนัง ทำให้เกิดผิวหนังไหม้ เป็นแผลพุพอง ปวดแสบ ปวดร้อนและเล็บเปลี่ยนเป็นสีขาวหรือเหลือง ถ้าเข้าตาอาจเกิดแผลที่กระจกตา (corneal ulcer). อาการพิษเรื้อรัง มักเกิดจากการสัมผัสทางผิวหนัง โดยมีอาการผื่นคัน ผิวหนังไหม้ ตาดำอักเสบ น้ำตาไหลมาก บางรายมีเลือดกำเดาไหล.
เนื่องจากไม่มีการตรวจทางห้องปฏิบัติการสำหรับสารเคมีกลุ่มนี้ การวินิจฉัยอาศัยประวัติการสัมผัสและอาการที่สอดคล้องดังกล่าวมาแล้ว.
พิษไกลโฟเสด (glyphosate poisoning)
กลุ่มเสี่ยงต่อการใช้สารไกลโฟเสด คือ คนรับจ้างทำสวนตามบ้านหรือสถานที่ทำงานต่างๆ และคนงานในสนามกอล์ฟ เนื่องจากต้องใช้ยากลุ่มนี้ในการกำจัดวัชพืชในสนามหญ้า อนึ่ง เนื่องจากพาราควอทมีพิษร้ายแรงจนเสียชีวิตได้ ในระยะหลังๆ ผู้ใช้ยากำจัดวัชพืช จึงหันมาใช้ยากลุ่มนี้แทน.
อาการพิษเกิดจากการได้รับไกลโฟเสดทางปากหรือผิวหนัง อาการพิษเฉียบพลัน ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ไอแห้งๆ แน่นหน้าอก. ในรายที่เป็นรุนแรงจะมีอาเจียนปนเลือด ปัสสาวะออกน้อย ไตวายและปอดบวมน้ำ (pulmonary edema). การสัมผัสทางผิวหนังทำให้เกิดผื่นคัน แสบตา เคืองตาและ เจ็บแสบในลำคอ และอาจมีอาการพิษเรื้อรังจากการสัมผัสทางผิวหนัง โดยเป็นผื่นคัน ผิวหนังไหม้ ตาดำอักเสบ น้ำตาไหลมาก. บางรายมีเลือดกำเดาไหลการวินิจฉัยใช้ประวัติการสัมผัสเช่นเดียวกับการสัมผัสพาราควอท เนื่องจากไม่มีการตรวจทางห้องปฏิบัติการ.
ส่งท้าย
ท่านผู้อ่านอาจรู้สึกว่าโรคพิษจากสารเคมีทาง การเกษตรเหล่านี้ไม่รุนแรง ไม่จำเป็นต้องรายงานหรือรายงานแล้วไม่เกิดผลใดๆต่อท่านหรือเกษตรกร. แต่ในความเป็นจริงแล้ว ความเจ็บป่วยจากการใช้สารเคมีทางการเกษตรเกิดขึ้นบ่อยมากและอาจมีจำนวนผู้ป่วยสูงกว่าสารเคมีทางอุตสาหกรรมเสียอีกแต่มักไม่ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ ทำให้มีตัวเลขสถิติน้อยกว่าความจริง หรือมีแต่เพียงตัวเลขการตรวจระดับเอนไซม์ acetyl-cholinesterase ด้วยชุดตรวจ (test kit) ที่เจ้าหน้าที่สถานีอนามัยทำเป็นประจำแต่ยังขาดข้อมูลอาการและอาการแสดง (signs and symptoms) ที่ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ โดยเฉพาะที่รุนแรงจนเสียชีวิต เช่น กรณีพาราควอท หรือที่ก่อให้เกิดอาการตามมาจนพิการหรือคุณภาพชีวิตลดลง เช่น กรณีเส้นประสาทเป็นอัมพาตจากการได้รับออร์กาโนฟอสเฟตปริมาณมาก.
หากมีข้อมูลการใช้สารกำจัดศัตรูพืช ประกอบกับผลการตรวจเอนไซม์ (ก่อนเกิดการเจ็บป่วย) และการวินิจฉัยอาการพิษจากแพทย์ จะทำให้เห็นขนาด และความรุนแรงของปัญหาสารพิษทางการเกษตรที่ชัดเจนขึ้น นำไปสู่การสร้างมาตรการ นโยบาย แม้แต่การบังคับใช้กฎหมายที่ทำให้เกษตรกรและผู้บริโภคที่ต้องสัมผัสสารเคมีทางการเกษตรปลอดภัยมากขึ้นกว่าในปัจจุบัน.
เอกสารอ้างอิง
1. แสงโฉม เกิดคล้าย, บรรณาธิการ. แนวทางการวินิจฉัยเพื่อการรายงานโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข, 2547 (สิงหาคม) : หน้า 48-53.
ฉันทนา ผดุงทศ พ.บ.,DrPH in Occupational Health, สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม, กรมควบคุมโรค, กระทรวงสาธารณสุข
E-mail address : [email protected]<
- อ่าน 34,806 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้