ถาม : อยากทราบเรื่องการทำพินัยกรรมก่อนตาย ไว้สำหรับแพทย์ที่ทำการรักษาโดยตรง จะได้ ยึดถือปฏิบัติโดยไม่ผิดกฎหมาย. ผมบอกตรงๆ ว่าขณะนี้อายุมากแล้วผ่านโลกมามากพอที่จะเห็นการ ตายของพรรคพวกเพื่อนฝูงจำนวนมากประเภทที่ไม่ยอมตายทั้งๆ ที่อยากตายเต็มที ได้แต่นอนมองตาปริบๆ พูดอะไรไม่ได้ บางคนก็เป็นเจ้าชายเจ้าหญิงนิทราไปเลยไม่รู้เรื่องอะไรทั้งสิ้น อยากตายเต็มที.แต่ลูกหลานชอบเอาพ่อแม่มาทรมานไปเรื่อยๆ ตายไปแล้วทั้งตัวยังเอาสายยางมายัดรูจมูกกรอกอาหารเหลวให้ทุกวัน เวลาเปลี่ยนสายยางเห็นเพื่อนร้องโอดโอยน้ำตาไหลพราก คงอยากจะให้แพทย์ถอดออกซิเจน ถอดสายอาหารมานานแล้วแต่พูดไม่ได้ บางคนไม่รู้สึกตัวใดๆ ทั้งสิ้น มีชีวิตอยู่ได้เพราะเครื่องคอยปั้มหัวใจให้เต้นเท่านั้น ลูกหลานก็ทรมานไปเป็นปีๆ นอนหลังเป็นแผลไปหมด แบบนี้ผมขยาดเต็มที จะให้ลูกหลานบอกแพทย์ให้งดกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ก็เท่ากับฆ่าพ่อตัวเองทำไม่ได้ฉะนั้นอยากจะให้เป็นความประสงค์ของผู้ป่วยดีกว่าอย่างอื่นทั้งหมด.
ผมเชื่อว่ามีคนจำนวนมากอยากจะตายแต่ตายไม่ได้เพราะพูดไม่ได้ไม่รู้สึกตัวนอนตายซากอยู่เป็นปีๆ ผมกับเพื่อนจำนวนหนึ่งตกลงกันว่าจะม่ยอมให้ลูกหลานฆ่าพ่อแบบทรมานให้ตายช้าๆแบบนี้.จึงอยากจะให้คุณหมอช่วยออกแบบพินัยกรรมก่อนตายสำหรับแพทย์จะได้ถือปฏิบัติโดยไม่ต้องฟังคำของญาติ โดยให้มีรายละเอียดทางวิทยาศาสตร์ครบถ้วนว่า โคม่าขั้นไหนที่ควรยุติการใช้เครื่องวิทยาศาสตร์เข้าช่วยได้แล้วจะได้ช่วยให้ไปเกิดใหม่เป็นหนุ่มสาวใหม่ ไม่ต้องนอนผะงาบๆ เป็นผีตายซากอยู่เป็นปีๆ อีกต่อไป และลูกหลานก็จะถือว่าคณะกรรมการแพทย์ได้ตัดสินแล้ว ไม่ถือเป็นบาปกรรมอะไร มีความสุขด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย.
สมาชิก
ตอบ : ตามตัวอย่างที่ถามมานั้น ไม่ควรเรียกว่า" พินัยกรรม " เพราะพินัยกรรมในความหมายของกฎหมาย หมายถึงคำสั่งที่จะมีผลเมื่อผู้ทำตายแล้วแต่ตามที่ถามต้องการให้คำสั่งนั้น มีผลก่อนที่ผู้ทำยังไม่ตาย แต่อยู่ในสภาวะที่สั่งเสียอะไรไม่ได้แล้ว ฝรั่ง เรียกว่า Living Will ผมอยากจะแปลว่า หนังสือแสดงเจตนากำหนดการรักษาไว้ก่อนตาย ในต่างประเทศ บางแห่งเขาใช้คำว่า Advanced directive อาจแปลว่าคำเสนอแนะล่วงหน้า.
เนื่องจาก technology ในการช่วยชีวิตในปัจจุบันที่ก้าวหน้ามาก ทำให้คนจำนวนมากตกอยู่ในสภาพ " ฟื้นก็ไม่ได้ ตายก็ไม่ลง ". ปัจจุบันนี้ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายรับรอง หนังสือแสดงเจตนากำหนด การรักษาไว้ก่อนตาย ถ้าเราจะทำไว้ถ้าลูกไม่สนใจหนังสือนั้นก็ไม่มีผลบังคับ วิธีที่ดีที่สุด ถ้าเรามีลูกหลายคนต้องประกาศให้ลูกทุกคนรับรู้ไว้ว่า ถ้าเห็นว่าสภาพของร่างกายเราไม่ไหวแล้ว อย่ายอมให้แพทย์เอาเข้าห้องไอซียูเป็นอันขาด หรือถ้าอยู่ในสภาพเป็นผักแล้วอย่าให้อาหารทางสายยางเลย.การบอกให้ลูกๆ ทุกคนรู้ ต้องพูดย้ำบ่อยๆ และต้องพูดขณะที่เรายังแข็งแรงดีมีพลังอำนาจพอที่ลูกจะเชื่อฟังเราอยู่ ถ้าเราอยู่ในสภาพนอนแซ่วตาปริบๆ แม้จะยังพูดได้ถึงตอนนั้นจะพูดขอร้องเขาอย่างไร เขาคงทำไม่ได้ยิน.
การจะเขียนคำสั่งเป็นหนังสือให้ละเอียดทุกขั้นตอนนั้นคงทำไม่ได้ เพราะไม่มีใครรู้ว่าเมื่อไรเราจะอยู่ในสภาพอย่างไร ตัวอย่างเช่น คนที่ยังแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัวอะไร ถ้าจะเขียนสั่งไว้ว่าถ้าเราเป็นลมหมดสติไม่รู้ตัว เพราะเหตุใดก็ตาม อย่าให้แพทย์ปั้มหัวใจหรือเจาะคอ เช่นนี้คงไม่มีใครยอมรับคำสั่งนั้น.แต่ถ้าเราเป็นมะเร็งและมะเร็งลุกลามไปมากแล้ว และเขียนคำสั่งไว้ว่า เมื่อหัวใจหยุดอย่าปั้มหัวใจให้ฟื้นกลับมาอีก ไม่อยากฟื้นกลับมาอยู่ในสภาพเป็นมะเร็งอีกคำสั่งเช่นนี้อาจมีผู้ยอมรับได้ แต่ถ้าจะเขียนให้ละเอียดลงไปว่าถ้าหมดสติอยู่ถึงขั้นนั้นขั้นนี้แล้วให้เลิกรักษาได้ คงจะเป็นเรื่องยาก. ดังนั้นถ้าจะเขียนไว้กว้างๆ ว่าขณะนี้เราอายุมากแล้ว (ไม่รู้ว่าคนถามอายุเท่าไร?) ผ่านโลกมามากแล้ว ถ้าเจ็บป่วยและเสียชีวิตก็ไม่ควรเหนี่ยวรั้งชีวิตไว้. ถ้าตกอยู่ในภาวะวิกฤติแพทย์เห็นว่าสิ้นหวังแล้ว ให้หยุดการช่วยชีวิตทุกชนิด รวม ทั้งการให้อาหารทางสายยางด้วย แต่ก็อาจมีปัญหาเพราะแพทย์ที่ดูแลเราอาจบอกว่ายังไม่หมดหวัง ขอให้รักษาไปเรื่อยๆ ก่อน อย่างนี้คำสั่งเราก็ไร้ผลอยู่ดี. เพราะฉะนั้นถ้าจะใช้วิธีของท่านพุทธทาสก็ได้ โดยสั่งว่า ไม่ว่าจะป่วยหนักขนาดไหนอย่าหามไปโรงพยาบาลใดๆ ทั้งสิ้น ขอตายอยู่ที่บ้านนี่แหละ ถ้าสั่งไว้อย่างนี้อาจได้ผลบ้าง. หรือถ้าจะกลัวว่าเราอาจจะนอนเป็นเจ้าชายนิทรา เราอาจจะสั่งไว้ว่าถ้าหมดสติไม่รู้ตัวเกิน 10 วัน ก็ให้ถอดสายยางให้อาหาร และถอดท่อหายใจออกได้ ก็ยังไม่แน่อีก แพทย์บางคนก็ อาจบอกว่าสภาพเช่นนั้นยังไม่หมดหวัง เพราะหมดสติอยู่ถึง 10 วัน ในบางโรคเราก็อาจมีโอกาสฟื้นได้. ดังนั้นขอสรุปว่าจะเขียนคำสั่งให้ครอบคลุมไปหมดทุกสถานการณ์ย่อมไม่อาจทำได้ ขึ้นอยู่กับว่าขณะนี้เราป่วยเป็นโรคอะไรอยู่ ถ้าเรารู้ว่าขณะนี้ป่วยเป็นโรคอะไร เราก็อาจจะสั่งไว้ว่าถ้าโรคเราดำเนินไปถึงขั้นไหนแล้ว จึงให้เลิกรักษาเสียทีก็อาจพอทำได้ แต่โดยทั่วไปเขาจะสั่งกันไว้หรือเขียนไว้กว้างๆ เท่านั้น ไม่อาจลง รายละเอียดลึกซึ้งลงไปว่าถึงจุดไหนให้เลิกรักษาได้.
วิฑูรย์ อึ้งประพันธ์ พ.บ., ศาสตราจารย์เกียรติคุณ มหาวิทยาลัยมหิดล
สุรางค์ เจียมจรรยา พ.บ.ศาสตราจารย์, ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ,มหาวิทยาลัยมหิดล
- อ่าน 3,838 ครั้ง
พิมพ์หน้านี้