เดือนตุลาคมเป็นช่วงเวลาที่โรงเรียนปิดภาคเรียน การใช้ชีวิตของทั้งผู้ปกครองและนักเรียนแตกต่างจากช่วงเวลาเปิดภาคเรียนและเป็นช่วงเวลาที่เด็กนักเรียนมีโอกาสเจ็บป่วยจากการวิ่งเล่นภายในบ้านตนเอง โดยเฉพาะจากสิ่ง " คุกคามสุขภาพ" กลุ่มหนึ่งที่พบบ่อยตามบ้านเรือน คือ พืชและสัตว์ที่เป็นพิษ. การเจ็บป่วยที่มีสาเหตุจากสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ได้รับการจัดกลุ่มโดยสำนักระบาดวิทยาให้เป็นโรคจาก " สิ่งแวดล้อม" ประเภทหนึ่งและเป็นโรคที่ต้องรายงานด้วยแบบรายงาน 506/2 เฉกเช่นโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ที่ได้กล่าวมาแล้วในฉบับก่อนๆ.
ท่านผู้อ่านอาจจะแปลกใจว่าเหตุใดจึงจัดให้ โรคพิษจากพืชและสัตว์เป็นโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม ? ถ้าพิจารณาจากมุมมองของอาชีวอนามัย หากการได้รับพิษจากสัตว์และพืชเกิดขึ้นจากการปฏิบัติงาน ก็ถือว่าเป็น "โรคจากการประกอบอาชีพ"เช่น คนสวนของหมู่บ้านเกิดอาการผื่นคันจากการสัมผัสหมามุ่ยขณะตัดกิ่งไม้หน้าอาคารสำนักงานหมู่บ้าน เจ้าหน้าที่สถานเสาวภาถูกงูเห่ากัดขณะทำการรีดพิษงู แต่ถ้าคนทั่วไปดายหญ้าในสวนหลังบ้านแล้วถูกงูเขียวกัดก็ไม่ถือเป็นโรคจากการประกอบอาชีพ.
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากมุมมองของอนามัยสิ่งแวดล้อม "นิยาม" ของ "สิ่งแวดล้อม" ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ เช่น อากาศ น้ำ หากแต่สามารถขยายครอบคลุมสิ่งแวดล้อมที่เป็นสิ่งมีชีวิต ทั้งที่มีและไม่มีพิษได้ด้วย ดังเช่นที่องค์การอนามัยโลก2 ได้ให้นิยามไว้ว่า " สิ่งแวดล้อม" ในทางการแพทย์หมายถึงภาวะแวดล้อม สภาพหรือสิ่งที่มีอิทธิพลต่อสิ่งมีชีวิต ขณะที่ทางระบาดวิทยาหมายถึง ทุกอย่างที่อยู่ภายนอกร่างกายมนุษย์ โดยแบ่งออก ได้เป็นสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ ชีวภาพ สังคมวัฒนธรรมและอื่นๆ ซึ่งสิ่งแวดล้อมแต่ละประเภทนี้หรือทั้งหมดรวมกันสามารถก่อผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนได้.
อีกนัยหนึ่ง2 เราสามารถให้นิยามสิ่งแวดล้อม เป็นพิสัย เริ่มจากนิยามที่ครอบคลุมประเภทของ สิ่งแวดล้อมจำนวนน้อยที่สุดไปยังจำนวนมากที่สุดได้ คือ สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ (physical environment) สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ (natural and physical environment) สิ่งแวดล้อมทางสังคม (social, natural and physical environment) สิ่งแวดล้อมทางพฤติกรรม (behavioral,social natural and physical environment) และสิ่งแวดล้อมทั้งหมด (total environment) จะเห็นได้ว่า หากใช้นิยามลักษณะนี้พืชและสัตว์ถือว่าเป็นสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ (natural) นั่นเอง.
ทั้งนี้ สำนักระบาดวิทยาได้จัดให้โรคพิษงูและโรคพิษจากสัตว์อื่นๆ เป็นกลุ่ม "โรคพิษจากสัตว์" และจัดให้โรคพิษเห็ดและโรคพิษพืชอื่นๆ เป็น " โรคพิษจากพืช "
โรคพิษงู (poisoning snake bite)
อาการและลักษณะความเป็นพิษจากการถูกงูพิษกัด จำแนกตามความเป็นพิษต่อระบบต่างๆ ของร่างกายและประเภทของงูพิษ ดังนี้
1.พิษต่อระบบประสาท ผู้ที่ถูกกัดมีอาการตาปรือ หนังตาตก สายตาพร่า ง่วงนอน หายใจลำบาก กลืนลำบากและพูดไม่ชัด ในรายที่รุนแรงอาจหยุดหายใจ หมดสติและเสียชีวิตได้ ได้แก่ งูเห่า งูจงอาง งูสามเหลี่ยม และงูทับสมิงคลา เป็นต้น.
2. พิษต่อระบบเลือด เกิดอาการเลือดออกผิดปกติ ได้แก่ งูแมวเซา งูกะปะ และงูเขียวหางไหม้ เป็นต้น.
3. พิษต่อระบบกล้ามเนื้อ ทำให้ปวดกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง ได้แก่ งูทะเล.
การวินิจฉัยโรคเพื่อการรายงาน อาศัยประวัติถูกงูพิษกัด พบรอยเขี้ยวงู หรือจับงูมาด้วย และการตรวจพิเศษที่อาจช่วยในการวินิจฉัยใช้ในกรณีงูที่มีพิษต่อระบบเลือด โดยตรวจเลือดพบปริมาณเกร็ดเลือดลดลง และระยะเวลาการแข็งตัวของเลือด (venous clotting time) นานผิดปกติ.
นอกจากงูพิษแล้ว สำนักระบาดวิทยายังกำหนดให้รายงานโรคพิษจากสัตว์อื่นๆ อีกด้วย ได้แก่ กรณีถูกพิษสัตว์อื่นๆ กัดหรือต่อย เช่น แมงมุม แมงป่อง ตะขาบ ผึ้ง ต่อ แตน หรือกรณีได้รับอันตรายจากการกินสัตว์พิษ ได้แก่ ปลาปักเป้า ตั๊กแตน แมงดาทะเลหรือสัตว์มีพิษอื่นๆ.
โรคพิษเห็ด (Mushroom poisoning)
โรคพิษเห็ดเกิดจากการกินเห็ดพิษ ซึ่งชนิดที่พบบ่อยในประเทศไทย มีจำนวน 8 ตระกูล รวม 14 ชนิด คือ
1. Agaricaceae ได้แก่ Chlorophyllum molybdites (Meyer Ex Fr.) Mass. (เห็ดหัวกรวด); Clarleinda trachodes (Berk.) Sing. (เห็ดหัวกรวด); Leucocoprinus birnbaumii (Corda) Sing. (เห็ดยวงขนุน) เป็นต้น.
2. Amanitaceae ได้แก่ Amanita pantherina (DC.Ex Fr.) Secr. (เห็ดเกร็ดดาว); Amanita verna (Bull.Ex Fr.) Vitt. (เห็ดไข่ตายซากเห็ดระโงกหิน); และ Amanita virosa Secr. (เห็ดไข่เป็ด เห็ดไข่ห่านตีนต่ำ).
3. Coprinaceae ได้แก่ Copelandia cyanescens (Berk.Et Broome) Sing. (เห็ดขี้วัว)เป็นต้น.
4. Cortinariaceae ได้แก่ Inocybe lanuginella (Schroet.) Konr. (เห็ดหมวกจีน).
5. Hevellanceae ได้แก่ Gyromitra esculenta (Pers.Ex Fr.) Fr. (เห็ดสมองวัว).
6. Russulaceae ได้แก่ Russula rosacea Pers.Ex S.F.Gray (เห็ดแดงกุหลาบ); Russula emetica (Schaeff.Ex.Fr.) Pers.Ex S.F. Gray (เห็ดแดงน้ำหมาก) และ Russula Foetens Fr. (เห็ดพุงหมูใหญ่) เป็นต้น.
7. Sclerodermataceae ได้แก่ Scleroderma citrinum Pers. (เห็ดไข่หงษ์).
8. Strophariaceae ได้แก่ Psilocybe culensis (Earle) Sing. (เห็ดขี้ควาย เห็ดโอสถลวงจิต) เป็นต้น.
ลักษณะทางเวชกรรมหรืออาการและอาการแสดงที่เกิดจากการกินเห็ดพิษ มีได้หลายแบบ ขึ้นอยู่กับชนิดของเห็ด กล่าวคือ
1. อาการคลื่นไส้ อาเจียน จากกินเห็ดร่วม กับแอลกอฮอล์ (Disulfiram like reaction) เกิดขึ้นภายใน 3 ชั่วโมงหลังจากกิน ได้แก่ Laetiporous sulfureus (เห็ดลูกไก่).
2. อาการเหงื่อแตก คลื่นไส้ และปวดเกร็งในท้อง เกิดขึ้นภายใน 3 ชั่วโมง หลังจากกินเห็ดพิษ ได้แก่ พิษจาก Inocybe spp. (เห็ดหมวกจีน).
3. อาการประสาทหลอน เพ้อ คลุ้มคลั่ง เกิดขึ้นภายใน 3 ชั่วโมงหลังจากกินเห็ด ต่อมามีอาการ ชัก ซึม และหมดสติ ได้แก่ พิษจาก Amanita patherian (เห็ดเกร็ดดาว).
4. อาการประสาทหลอน เพ้อ คลุ้มคลั่ง เกิดขึ้นภายใน 3 ชั่วโมงหลังจากกินเห็ดพิษ แต่ไม่มีอาการซึม ได้แก่ พิษจาก Psilocybe spp. (เห็ดขี้ควาย เห็ดโอสถลวงจิต).
5. อาการอ่อนแรง ปวดศีรษะ และคลื่นไส้ เกิดขึ้นในเวลาเกิน 6 ชั่วโมง หลังจากกินเห็ดพิษ ได้แก่ พิษจาก Gyromitra esculenta (เห็ดสมองวัว).
6. อาการอาเจียนและท้องร่วงอย่างรุนแรง เกิดขึ้นหลังจากกินเห็ดพิษ 6 ชั่วโมงขึ้นไปและอาการมักทุเลาใน 1-2 วัน ต่อมามีอาการตับอักเสบหรือตับวาย ได้แก่ พิษจาก Amanita verna (Bull.Ex.Fr.) Vitt. (เห็ดไข่ตายซาก เห็ดชะโงกหิน) และ Amanita virosa Secr. (เห็ดไข่เป็ด เห็ดไข่ห่านตีนต่ำ) ซึ่ง เห็ดชนิดนี้พบเป็นสาเหตุการเจ็บป่วยของชาวบ้าน 3 คนที่อำเภอบ้านหลวง จังหวัดน่าน เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา.
โรคพิษจากพืช (Plants poisoning)
เกิดจากการกินพืชพิษต่างๆ โดยอาจเป็นหัว รากเหง้า เมล็ด ลำต้น ใบ และผลของพืชที่มีพิษ เช่น หัวกลอย มันสำปะหลังดิบ เม็ดมะม่วงหิมพานต์ดิบ ละหุ่ง สบู่ดำ ผลมะคำดีควาย เทียนหยด เป็นต้น โดยมีอาการและอาการแสดงขึ้นกับชนิดของพืชที่กินเข้าไป แต่ส่วนใหญ่มักมีอาการทางระบบทางเดินอาหาร มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวด ท้อง ท้องเสีย ในราย ที่เป็นรุนแรงอาจหมดสติและเสียชีวิตได้.
อย่างไรก็ตาม หากพบผู้ป่วยเป็นพิษจากการสัมผัสพืช สำนักระบาดวิทยากำหนดให้ทำการวินิจฉัยเพื่อรายงานโรคภายใต้กลุ่ม "โรคผิวหนังอักเสบจากการสัมผัส" โดยให้ระบุชนิดของพืชพิษที่สัมผัสให้ชัดเจน.
ใช่แต่รายงาน...
ท่านผู้อ่านบางท่านอาจคิดว่าโรคพิษจากสัตว์และพืชนี้เป็นเรื่องธรรมชาติที่ไม่อาจจัดการเพื่อลดการ เกิดโรคได้ เมื่อเปรียบเทียบกับโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมอื่นๆ. อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาโรคกลุ่มนี้ในมุมมองของการบาดเจ็บบนท้องถนน ซึ่งคนทั่วไปเคยคิดว่าเป็นเรื่องของโชคชะตา จนในเวลาไม่นานมานี้จึงยอมรับกันทั่วไปว่าสามารถปรับพฤติกรรมหรือสภาพแวดล้อม เช่นไม่ดื่มสุรา ไม่ขับขณะง่วงนอน ตรวจสอบสภาพรถก่อนเดินทาง ทำให้ลดการเกิดอุบัติเหตุจราจรได้ จะพบว่าโรคพิษจากสัตว์และพืชก็ป้องกันได้เช่นกัน.
ยกตัวอย่างกรณีที่เด็กและผู้ใหญ่หลายคนเสียชีวิตในช่วงประมาณ 6 เดือนที่ผ่านมาจากการถูกตัวต่อต่อย เหตุการณ์ที่นำไปสู่การถูกต่อต่อยมีแบบแผนที่คล้ายคลึงกัน คือ การเข้าไปใกล้รังต่อมากเกินไป ทั้งตั้งใจ เช่น กรณีไปเก็บของป่า หรือไม่ ตั้งใจ เช่น ไม่ทราบว่าเป็นบริเวณที่อาจมีรังต่อ หรือไม่ทราบว่าการเอาไม้แหย่จะทำให้เกิดอันตราย. ดังนั้น ถ้าหากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะ " เอาจริง" กับการลดการเสียชีวิตด้วยเหตุไม่อันควรนี้ ก็น่าจะสามารถทำได้ เริ่มต้นจากการรวบรวมข้อมูลเหตุการณ์ที่ คล้ายกัน นำมาเป็น "ประเด็นนำเข้า" ในการให้ความรู้กับชุมชน รวมทั้งการแสวงหาวิธีที่คนในชุมชนจะถ่ายทอดความรู้และช่วยกันดูแลกันเองให้พ้นภัยสุขภาพประเภทนี้ได้.
เอกสารอ้างอิง
1. แสงโฉม เกิดคล้าย, บรรณาธิการ. แนวทางการวินิจฉัยเพื่อการรายงานโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม. พิมพ์ครั้งที่ 1. สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข, สิงหาคม 2547: หน้า 18-21.
2. Pruss Ustun A, Corvalan C. Preventing Disease Through Healthy Environments Towards an Estimate of the Environmental Burden of Disease. World Health Organization 2006:21-2.
ฉันทนา ผดุงทศ พ.บ.,DrPH in Occupational Health สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค, กระทรวงสาธารณะสุข
E-mail address :[email protected]
- อ่าน 6,294 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้