ฉบับที่แล้ว ผมได้กล่าวถึงความเป็นจิตอาสาของหมออนามัยหรือเจ้าหน้าที่ประจำสถานีอนามัยซึ่งกระจายอยู่ทั่วทุกตำบล. ฉบับนี้ขอต่อเรื่องหมออนามัยอีกครั้งหนึ่ง โดยขอคัดข้อความบางตอนจากปาฐกถาพิเศษเนื่องในวันหมออนามัยแห่งชาติประจำปี 2551 ที่ผมได้รับเชิญให้กล่าวในหัวข้อ "หมออนามัยจิตอาสา" เมี่อวันที่ 9 กันยายนที่ผ่านมา. (ดูรายละเอียดของปาฐกถานี้ได้ที่ www.mohanamaicouncil.com )
"ในช่วงห้าสิบปีที่ผ่านมา เครือข่ายสถานีอนามัยทั่วประเทศได้สร้างประโยชน์หรือคุณูปการอย่างใหญ่หลวงในการควบคุมและป้องกันโรคต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านอนามัยแม่และเด็ก. ถ้าไม่มีหมออนามัยเด็กก็จะยังเป็นโรคติดต่อที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน ไม่ว่า ไอกรน คอตีบ บาดทะยัก โปลิโอ รวมทั้งหัดที่กำลังสูญพันธุ์ เนื่องจากคงไม่สามารถครอบคลุมการฉีดวัคซีนได้ครบ. ในเรื่องการวางแผนครอบครัวที่ประเทศไทยมีชื่อเสียงโด่งดัง ประสบผลสำเร็จก็เกิดจากน้ำมือของหมออนามัย. นี่ยังไม่ได้พูดถึงอนามัยสิ่งแวดล้อม การสุขาภิบาล และการสร้างส้วม สร้างถังเก็บน้ำในสมัยก่อน. นอกจากนี้ หมออนามัยยังได้ช่วยเหลือชาวบ้านมากมาย รวมทั้งด้านการปฐมพยาบาลและการรักษาโรคเบื้องต้น. ปัจจุบันนี้มีโรคเบาหวานเพิ่มมากขึ้น หลายครั้งที่คนไข้หมดสติเนื่องจากน้ำตาลในเลือดต่ำ ซึ่งหากนำส่งโรงพยาบาลโดยไม่ช่วยเหลือเบื้องต้นก่อน ผู้ป่วยคงตายแน่ หมออนามัยก็มีบทบาทช่วยชีวิตผู้ป่วยด้วยการฉีดกลูโคส ทำให้ผู้ป่วยฟื้นขึ้นมา รอดชีวิต อันนี้ผมเคยไปสัมผัสมาในหลายพื้นที่. แม้ในปัจจุบันปัญหาใหม่ เช่น เบาหวาน ความดันสูง หมออนามัยก็มีบทบาทในการปรับพฤติกรรมและควบคุมป้องกันโรค จึงกล่าวได้ว่าสถานีอนามัยเป็นระบบบริการปฐมภูมิที่ได้มีวิวัฒนาการตลอดมาในประวัติศาสตร์สาธารณสุขไทยในช่วงเวลาห้าสิบปีที่ผ่านมา ก่อนจะมีวาทกรรมหรือศัพท์แสงใหม่ๆ เช่น คำว่า "PCU" เช่นคำว่า Humanized care เช่นคำว่า Holistic care เช่นคำว่า จิตอาสา. สถานีอนามัย คือโซ่ข้อกลางเชื่อมต่อระหว่างโรงพยาบาลกับชุมชน เชื่อมต่อระหว่างเทคโนโลยีกับวัฒนธรรมวิถีชีวิตชุมชน เชื่อมต่อระหว่างกิจกรรมด้านการแพทย์ สาธารณสุข กับกิจกรรมด้านสังคม.ดังนั้นจะเห็นว่าหมออนามัยใช้เวลาไม่น้อยที่ไปทำกิจกรรมด้านสังคม เพื่อดูแลผู้ป่วย ดูแลประชาชนให้มีคุณภาพชีวิต ที่เรียกว่าเป็นการช่วยเหลือด้านจิตใจและสังคม หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า "psycho-social care" ให้การดูแลด้านจิตใจสังคมของประชาชน ควบคู่กับการรักษาโรคของแพทย์.
"สุดท้ายนี้ผมจะพูดสรุป ความเป็นหมออนามัยจิตอาสาว่า ด้วยเงื่อนไขทางสังคม ประวัติศาสตร์และวิวัฒนาการของหมออนามัยดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น งานของหมออนามัยคืองานจิตอาสาในเนื้อในตัวของมัน พอสรุปเป็นข้อๆได้ดังนี้
" 1. หมออนามัยคือ บุคคลผู้ดูแลสุขภาพประชาชนทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม จิตวิญญาณด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์ โดยการให้บริการด้านส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันควบคุมโรค รักษาพยาบาล ฟื้นฟูสภาพ ตามกลุ่มอายุ ตามกลุ่มเสี่ยงต่างๆ ในพื้นที่รับผิดชอบ. ในอนาคตหมออนามัยต้องเตรียมพร้อมในการรับภารกิจใหม่ๆ สำหรับปัญหาสุขภาพใหม่ๆ ที่มีความสลับซับซ้อนมากกว่าในอดีต เช่น โรคเรื้อรัง เบาหวาน ความดัน มีกันทุกตำบล ทุกหมู่บ้าน ซึ่งเป็นโรคที่ยังไม่สามารถดูแลได้อย่างมีคุณภาพ ไม่สามารถควบคุมพฤติกรรม และก่อให้เกิดโรคแทรกมากมาย เพียงแต่หมออนามัย ถ้ามีความรู้ มีทักษะ ก็สามารถไปแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้อย่างมีคุณภาพ ผมเชื่อว่าจะสร้างประโยชน์ได้อย่างใหญ่หลวงในการลดภาระให้แก่ประเทศ ที่จะต้องรักษาโรคแทรกซ้อนจากปัญหาของโรคเหล่านี้. โรคมะเร็งก็พบมากขึ้นในชุมชน ถึงแม้เราไม่สามารถวินิจฉัยรักษาโรคมะเร็งได้ แต่เราก็สามารถติดตามให้กำลังใจ ดูแลจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต. หมออนามัยหลายท่านในปัจจุบันเริ่มมีบทบาทในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ซึ่งต้องดูแลที่บ้านเท่านั้น จึงจะเป็นการดูแลที่มีคุณภาพและประหยัด ดังนั้น ภารกิจอันใหม่ในอนาคตจึงควรดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่ชุมชน. นอกจากนี้ ยังมีบทบาทในการดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่น่าสงสารอีกด้วย คนไทยเป็นโรคจิตเวชกันเยอะมากในชุมชน เช่น โรคจิตเภท โรคซึมเศร้า เป็นโรคที่สามารถควบคุมด้วยยากิน ยาฉีด ขอให้คนไข้ยอมกินยา ยอมฉีดยา ตามหมอสั่ง ก็จะสามารถมีคุณภาพชีวิตได้เช่นเดียวกับคนปกติ เหมือนโรคเบาหวาน ความดัน. ขณะนี้ปัญหาจิตเวชในชุมชนมีเพิ่มขึ้น จำเป็นต้องไปหาหมอที่โรงพยาบาลศูนย์ฯ โรงพยาบาลเฉพาะทางโรงพยาบาลจังหวัดใหญ่ๆ โรงพยาบาลชุมชนยังไม่มีหมอเฉพาะทางด้านจิตเวช เกิดปัญหาทำให้ผู้ป่วยเหล่านี้เข้าไม่ถึงการบริการ เข้าไม่ถึงยา, บทบาทใหม่ของหมออนามัยคือ ช่วยดูแลผู้ป่วยจิตเวชให้คืนศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์กลับคืนมา ด้วยการคัดกรองโรคในชุมชน ส่งต่อคนไข้เพื่อรับการตรวจรักษา ติดตามการใช้ยาและประเมินอาการ ช่วยให้เข้าถึงยา แม้กระทั่ง การไปฉีดยาถึงที่บ้านของคนไข้ รวมทั้งส่งเสริมให้ครอบครัวและชุมชนมีความรู้ความเข้าใจและช่วยดูแลคนไข้. ดังนั้น บทบาทตรงนี้ก็คือ หมออนามัยจะต้องปรับพฤติกรรมของผู้ป่วย ควบคู่ไปกับการรักษาและการใช้ยาของแพทย์ ให้การดูแลด้านจิตใจสังคมของผู้ป่วยและครอบครัว ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย โดยต้องสนใจเรียนรู้วิธีส่งเสริมให้เกิดการตายอย่างมีศักดิ์ศรีและประหยัด ไม่ใช่ตายคา ICU ตายคาเครื่องมือแพทย์ด้วยราคาที่แพงมากจนเป็นหนี้สิน หมดเนื้อหมดตัว. ต้องเน้นเรื่องการป้องกันโรคใหม่ๆ เช่น ส่งเสริมกิจกรรมการออกกำลังกาย การควบคุมอารมณ์ การบริหารจิต การปฏิบัติทางศาสนา หรือการพัฒนาทางจิตวิญญาณ. หมออนามัยจะต้องมีบทบาทในการป้องกันควบคุมโรคต่างๆ. หมออนามัยต้องเรียนรู้จากสื่อต่างๆ เรียนรู้จากระบบไอทีต่างๆ และน่าจะมีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ที่เรียกว่า "KM หรือ knowledge management" ของเครือข่ายหมออนามัยที่ระตับตำบล อำเภอ จังหวัด โดยประสานงานกับแพทย์ กับพยาบาล กับเภสัชฯ กับทันตแพทย์ กับวิชาชีพอื่นๆ ให้เป็นเครือข่ายการเรียนรู้เพื่อดูแลคนไข้ที่ชุมชนและสร้างเสริมสุขภาพของประชาชน.
"2. หมออนามัยคือ บุคคลที่เสริมพลังสร้างอำนาจให้ประชาชนและชุมชนมีความเข้มแข็งด้านการดูแลสุขภาพตนเอง พึ่งพาตนเองได้อย่างแท้จริง สำหรับคนทุกวัยตั้งแต่ปฏิสนธิจนสู่เชิงตะกอน. หมออนามัยต้องมีความรู้ในการที่จะส่งเสริมให้ประชาชนในการดูแลมนุษย์ ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ทำให้เด็กในครรภ์มีวิวัฒนาการที่สมบูรณ์ ทางกาย ทางสมอง ทางอารมณ์ ส่งเสริมการฝากครรภ์ การคลอดที่ปลอดภัย การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การดูแลภาวะโภชนาการเด็ก รวมทั้งส่งเสริมการดูแลสุขภาพตนเองของกลุ่มวัยรุ่น วัยทำงาน วัยสูงอายุ จนกระทั่งถึงวาระสุดท้ายของชีวิต. ตรงนี้จะต้องมีแนวคิดว่าสุขภาพอยู่ในวิถีชีวิตของประชาชน ตั้งแต่ตื่นนอนจนเข้านอน ในเรื่องการกินอยู่หลับนอน การทำงาน การพักผ่อนหย่อนใจ โดยให้มีลักษณะที่เอื้อต่อสุขภาพกาย จิต สังคม และจิตวิญญาณ. ขณะเดียวกันหมออนามัยควรจะดูแลสุขภาพตัวเองด้วย ดูแลครอบครัวตัวเองด้วย โดยทำหน้าที่เป็นต้นแบบของประชาชน ในการเลี้ยงลูกให้ดีๆ ในการสร้างครอบครัวที่อบอุ่น เข้มแข็ง เรียนรู้วิธีผ่อนคลายความเครียด ในการพัฒนาจิตวิญญาณให้สูงส่ง เรียนรู้การเผชิญวิกฤติการณ์ชีวิตต่างๆ ในการดำเนินชีวิตแบบพอเพียง และมีความสุข.
" 3. หมออนามัยคือ บุคคลที่ทำงานร่วมกับเครือข่ายชุมชนด้วยความรัก ไม่ว่าจะเป็น อบต. อสม. ครู พระ ผู้นำชุมชน องค์กรชุมชนต่างๆ. การทำงานกับเครือข่ายชุมชนถือเป็นความถนัดอย่างยิ่งยวดของหมออนามัย หมออนามัยมีความเก่งด้านนี้มาก มีความโดดเด่นด้านการทำงานเครือข่ายในชุมชน เพราะสถานีอนามัยเป็นหน่วยงานที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด เป็นหน่วยงานที่อยู่กับชุมชนตลอดเวลา. อันนี้ถือเป็นต้นทุนทางสังคมที่มีค่าอย่างยิ่ง.
"4.หมออนามัยคือ บุคคลที่ทำงานเป็นภาคีกับวิชาชีพทุกสาขา ทั้งแพทย์ ทั้งพยาบาล ทั้งเภสัชฯ ทั้งทันตแพทย์ และอื่นๆ เพื่อช่วยกันทำงานในชุมชน เพราะหมออนามัยมีภาวะผู้นำของการทำงานเพื่อชุมชน ช่วยนำพาทีมงานทั้งหมดลงไปช่วยทำงานเพื่อชุมชน ให้บุคลากรต่างๆได้เรียนรู้ร่วมกัน ได้ไปสัมผัสปัญหา ได้สัมผัสความทุกข์ยากของผู้ป่วย ของประชาชน. ผมยังเชื่อมั่นว่าเราสามารถเสนอสิ่งเรียนรู้ให้แก่บุคคลต่างๆ แม้แต่นักเรียนนักศึกษาในการสร้างจิตสำนึก ในการสร้างคุณธรรม จริยธรรม เพราะเรามีวัตถุดิบ เรามีสื่อการเรียนรู้ที่มีชีวิตจิตใจ หมายถึงผู้ป่วยและครอบครัวที่มีปัญหาความทุกข์ยาก ซึ่งหมออนามัยรู้จักเป็นอย่างดี เอาครอบครัวผู้ป่วยเหล่านี้ เป็นสื่อที่มีชีวิตในการที่จะกระตุ้นต่อมจิตสำนึกของผู้คนต่างๆ ในสังคม. ดังนั้น เราจะมีเครือข่ายภาคีในการทำงานร่วมกันในชุมชน เพื่อประชาชนที่เรารัก รวมทั้งช่วยผลักดันนโยบายต่างๆ ให้เกิดการปฏิรูปการเปลี่ยนแปลงที่ดีทั้งการศึกษา การสาธารณสุขที่ เอื้อประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน.
"ผมเชื่อมั่นว่าด้วยการรวมตัวของกองทัพหมออนามัย ที่อยู่ด่านหน้าของแนวรบสุขภาพของประเทศ ด้วยการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องของหมออนามัย ในการปรับเปลี่ยนบทบาทและภารกิจใหม่ๆ ต่อการเผชิญปัญหาใหม่ๆ หมออนามัยจะสามารถสร้างคุณูปการใหม่ๆต่อการสร้างเสริมสุขภาพ และคุณภาพชีวิตของประชาชน ซึ่งจะเป็นการสร้างคุณค่าของหมออนามัยให้เป็นที่ยอมรับของสังคมยิ่งๆขึ้นไป"
รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ สุรเกียรติ อาชานานุภาพ
- อ่าน 12,822 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้