วิธีการดูแลผู้ป่วยให้ "ตายดี" สำหรับประเทศไทย
ประเทศไทยมี "ต้นทุนทางสังคม" ที่ดีมากถึงดีที่สุดประเทศหนึ่งในโลกสำหรับการดูแลผู้ป่วย ให้ " ตายดี" เช่น
1. พลเมืองไทยส่วนใหญ่ (>90%) นับถือพุทธศาสนาที่พร่ำสอนให้เราเห็นว่าการ"เกิด-แก่-เจ็บ-ตาย" เป็นของธรรมดาและเป็นธรรมชาติ เพราะสรรพสิ่งจะต้องเปลี่ยนแปลง (อนิจจัง) ขัดแย้งเป็นทุกข์ (ทุกขัง) และพึ่งพิงกัน จึงไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง (อนัตตา) จึงไม่ควรยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใด(สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย) แม้แต่ "ตัวเรา-ของเรา" ซึ่งไม่ได้มีอยู่จริง.
2. ความเชื่อของคนไทยจำนวนมากในเรื่องการ "เวียนว่ายตายเกิด" จึงไม่ค่อยกลัวความตาย เพราะเชื่อว่า จะได้ไปเกิดใน "ภพ" (ชาติ) ใหม่ที่ไม่ต้องทุกข์ทรมาน เหมือนกับที่ทุกข์ทรมาน(จากการเจ็บป่วย) ในชาตินี้.
3. ความเป็นคนรักสนุก และไม่สู้จะทุกข์ร้อนมากนักในเรื่องใดๆ รวมทั้งการ "ลืมง่าย" แม้จะมี ผู้ทำให้เดือดร้อน เช่น คำพูดที่ติดปากว่า "ไม่เป็นไร ลืมเสียเถิด" หรือบทกลอนขำขันแต่มีสาระ เช่น
ไม่ถึงที่ ก็ไม่ตาย วายชีวาตม์
ใครจะอาจ เข่นฆ่า ให้อาสัญ
เมื่อถึงที่ ก็ต้องตาย วายชีวัน
ไม้จิ้มฟัน ตำเหงือก ยังเสือกตาย ฯ
4. ความเป็นคนมีน้ำใจ เอื้ออาทร รักพวกพ้อง และรักถิ่น ทำให้มีการช่วยเหลือดูแลกันอย่าง อบอุ่น และอยาก "ตายที่บ้าน"มากกว่าในที่อื่นใด."ทุนทางสังคม" เหล่านี้จะมีมากในชนบท คนชนบทจึง "ตายดี" มากกว่าคนในกรุงในเมือง ที่ความเจริญทางวัตถุและเทคโนโลยีได้เปลี่ยนวิถีชีวิต ไปเป็นแบบฝรั่งที่ "ตัวใครตัวมัน""กลัวตาย"และคลั่งไคล้ในลัทธิ "บริโภคนิยม" (ตรวจมากๆ รักษามากๆ กินยาและอาหารเสริมมากๆ เป็นต้น) และ "วัตถุนิยม" (นิยมตัวเลขและวัตถุ เช่น ตัวเลขผลเลือด ตัวเลขอายุที่ยืดออกไปได้อีก 1 วัน หรือ 1 เดือน เป็นต้น).
เมื่อ "ต้นทุนทางสังคม" ของไทยยังดีอยู่ในเรื่องนี้ แพทย์ พยาบาลและผู้ดูแลผู้ป่วยอื่นๆจึงต้องพยายามใช้ "ต้นทุนทางสังคม" เหล่านี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ป่วย เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยต้องได้รับความทุกข์ทรมานจากญาติมิตรที่ต้องการให้ "ตรวจรักษามากๆ" หรือ"ตรวจรักษาให้ถึงที่สุด" (ซึ่งมักจะหมายความว่า ให้"ตรวจรักษาจนตายคามือแพทย์และพยาบาล" นั่นเอง).
1. การกล้าพูดความจริงของการป่วย
ในกรณีที่ผู้ป่วยจะหรือน่าจะได้รับความทุกข์ทรมานเพิ่มขึ้นๆ จากการตรวจรักษา แพทย์ พยาบาล และผู้ดูแลอื่นๆ จะต้อง " กล้า" พูดความจริงเกี่ยวกับความเจ็บป่วยแก่ญาติ และ/หรือผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยและญาติได้ทราบข้อเท็จจริงเหล่านั้นทั้งหมด ไม่ใช่ให้ความหวังผิดๆ หรือเล่นเกมเอาใจผู้ป่วยและญาติไปเรื่อยๆ (เพราะอาจจะโดนข้อหาว่า " เลี้ยงไข้" ได้โดยเฉพาะในโรงพยาบาลเอกชน).
การพูดความจริง จะต้องพูดอย่างมีเมตตาสูงเพื่อประโยชน์ของผู้ป่วย โดยให้ผู้ป่วยตกใจน้อยที่สุด จึงต้องดูกาลเทศะ และมีศิลปะในการพูดแม่จะมีเวลาจำกัด เช่น
ตัวอย่างในการพูดในกรณีที่อยู่ในห้องฉุกเฉิน (ไม่รู้จักผู้ป่วยมาก่อน) โดยผู้ป่วยผ่านการรักษามาแล้ว และไม่ดีขึ้น หรือมีอาการทรุดลงๆ จนต้องเข้าๆ ออกๆ โรงพยาบาลบ่อยๆ และยังพูดรู้เรื่องอยู่
แพทย์ : "สวัสดีครับ วันนี้มีอาการไม่สบายอะไรหรือครับ"
ผู้ป่วย : "ปวดทั้งตัว กินอาหารไม่ได้ เหนื่อยมากขึ้นๆ แล้วก็นอนไม่ได้มาหลายวันแล้วละหมอ"
แพทย์ : "คุณมีอาการอย่างนี้บ่อยมั้ยครับ"
ผู้ป่วย : "ก็หลายครั้งแล้วนะ นี่ก็เพิ่งออก จากโรงพยาบาล กลับบ้านได้ 4-5 วัน ก็แย่อีกแล้ว"
แพทย์ : "ครั้งที่แล้วคุณหมอเค้าบอกว่าคุณเป็นโรคอะไรครับ"
ผู้ป่วย : "ก็ชั้นเป็นโรคมะเร็งเต้านม ตัดไปแล้วเมื่อปีก่อน แล้วก็ได้ยาเคมีบำบัดเรื่อยมา แต่ใน ระยะ 2-3 เดือนนี้ อาการมันแย่ลง หมอบอกว่า มะเร็งมันลุกลามไปที่ตับ ปอด และกระดูก หมอว่าอาจจะลองยาตัวใหม่"
แพทย์ : "ในระยะ 2-3 เดือนที่ได้รับการรักษามาตลอด คุณคิดว่าคุณสบายขึ้นหรือ" สบายลง" ครับ" (ที่ใช้คำว่า "สบายลง" จะดูนุ่มกว่า "แย่ลง")
ผู้ป่วย : "ไม่ดีขึ้นเลย รู้สึกแย่ลงๆ"
แพทย์ : "คุณบอกคุณหมอเจ้าของไข้เรื่องที่รู้สึกแย่ลงๆ หรือเปล่าครับ"
ผู้ป่วย : "บอกนะ แต่หมอเค้าบอกว่าจะดีขึ้น ให้อดทนไปอีกหน่อย"
แพทย์ : "คุณหมอเจ้าของไข้เค้าหวังดี อยากจะให้คุณหายหรือดีขึ้น แต่บางครั้งโรคก็ไม่ตอบสนอง ต่อยาที่ให้ และยาพวกนี้ก็มีผลข้างเคียงหรือพิษมากคุณจึงต้องบอกคุณหมอเค้าเรื่องอาการไม่สบายต่างๆ เค้าจะได้ให้ยาบรรเทาอาการเหล่านั้นได้"
ผู้ป่วย : "ชั้นได้ยาแก้ปวด ยาแก้คลื่นไส้อาเจียน ยาบำรุงเยอะแยะไปหมด แต่รู้สึกแย่ลง"
แพทย์ : "คุณถามคุณหมอเจ้าของไข้เค้าหรือเปล่าว่า ทำอย่างไรคุณจึงจะสบายขึ้นได้บ้าง"
ผู้ป่วย : "ไม่ได้ถาม ก็หมอเค้าบอกให้อดทนไปก่อน แล้วมันจะดีขึ้น"
แพทย์ : "คุณหมอเจ้าของไข้เค้าหวังดี ให้ความหวังและให้กำลังใจคุณ แต่คุณคงต้องพิจารณาด้วยตนเองว่า ตั้งแต่รักษามา คุณดีขึ้นหรือแย่ลง ถ้าแย่ลง มันคุ้มที่จะทรมานไปเรื่อยๆ หรือไม่ หรือว่าควรจะทำอย่างไร"
ผู้ป่วย : "แล้วหมอคิดว่า ชั้นควรจะทำอย่างไร"
แพทย์ : "ถ้าผมเป็นคุณ ผมจะถามคุณหมอเจ้าของไข้ให้เค้าบอกผมตรงๆ โดยไม่ต้องเกรงใจและไม่ต้องมาเอาใจผม หรือให้ความหวังผมไปเรื่อยๆ ว่า"ผมจะหายจากโรคนี้มั้ย ถ้าไม่หาย จะต้องทรมานเพิ่มขึ้นๆ หรือไม่" ถ้าต้องทรมานเพิ่มขึ้นๆ ผมคงต้องคิดหนักว่าผมจะรับการรักษาหรือไม่ ถ้าการรักษานั้นเป็นเพียงการยืดเวลาให้ผมต้องทรมานนาน ขึ้นและมากขึ้น เพราะโรคมันจะลุกลามไปเรื่อยๆ"
ผู้ป่วย : "ชั้นก็เคยบอกเค้าว่าชั้นทรมาน และอยากตาย แต่หมอเค้าบอกว่าโรคมันจะหายและดีขึ้น ให้อดทนไปก่อน"
แพทย : "ถ้าอย่างนั้น คุณก็คงต้องพิจารณาเองว่า การรักษาทำให้คุณดีขึ้นหรือสบายขึ้นหรือไม่ ถ้าดีขึ้น ก็ต้องอดทนและสู้ต่อไป ถ้าไม่ดีขึ้น คุณก็ ควรคิดว่า ถ้าคุณไม่ รักษาแล้วพยายามพักผ่อนให้เต็มที่ หลับให้มากๆ เพื่อจะได้ไม่ต้องรู้สึกเจ็บปวด คลื่นไส้อาเจียน และอื่นๆ แล้วอย่าไปกังวลกับโรคมะเร็งของคุณ มันจะดีกว่าหรือไม่"
ผู้ป่วย : "แล้วจะหลับได้อย่างไรเมื่อมันเจ็บปวดอยู่"
แพทย์ : "ถ้าเจ็บปวด ก็ต้องกินยาแก้ปวด ถ้ากินแล้วไม่ดีขึ้นใน 1 ชั่วโมง ก็ให้กินซ้ำใหม่ได้ทุกชั่วโมง หรือกินยานอนหลับช่วย ถ้ากินยานอนหลับแล้วไม่หลับใน 1 ชั่วโมง ก็ให้กินซ้ำใหม่ได้ทุกชั่วโมงจนกว่าจะหลับ ก็จะทำให้คุณหลับได้ และเมื่อหลับได้ อาการทุกข์ทรมานต่างๆ จะลดลง"
ผู้ป่วย : "ตกลงหมอ ฉันจะลองวิธีของหมอดู เพราะที่ผ่านมานี่ ฉันรู้สึกทนต่อไปไม่ไหวแล้ว"
ส่วนในกรณีที่ผู้ป่วยไม่รู้ว่าเป็นโรคร้ายแรง เพราะญาติไม่ยอมให้บอกผู้ป่วย คงต้องพูดคุยกับญาติ เช่น
แพทย์ : "คุณคิดว่า การรักษาที่ผ่านมา 2-3 เดือนนี้ทำให้คุณแม่ดีขึ้นหรือแย่ลง"
ลูกผู้ป่วย : " แย่ลงครับ"
แพทย์ : "แล้วคุณถามหมอเจ้าของไข้หรือเปล่าว่า การรักษาต่อไปจะทำให้คุณแมของคุณดีขึ้นหรือแย่ลง"
ลูกผู้ป่วย : " ไม่ได้ถามครับ"
แพทย์ : "แล้วคุณถามคุณแม่หรือเปล่าว่า คุณแม่ได้รับความทุกข์ทรมานจากการรักษามากเพียงใด "
ลูกผู้ป่วย : " ไม่ได้ถาม แต่เห็นอยู่แล้วว่า คุณแม่คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร ปวดไปทั้งตัว กินยาแก้ปวดก็หายปวดเดี๋ยวเดียว แล้วหมอคิดว่าผมควรจะทำอย่างไร" (ลูกเริ่มมีอารมณ์และพูดห้วน)
แพทย์ : "คุณคงต้องถามตนเองว่า สิ่งที่เราหมายถึงคุณและหมอเจ้าของไข้พยายามช่วยคุณแม่อย่างเต็มที่นั้นเป็นประโยชน์กับคุณแม่หรือเปล่า หรือเพียงแต่ทำให้คุณแม่ทรมานมากขึ้น และการทำให้คุณแม่ต้องทรมานมากขึ้นและนานขึ้น เพื่อจะได้อยู่กับคุณนานๆ นั้น เป็นสิ่งที่คุณแม่ต้องการหรือเปล่า หรือเป็นสิ่งที่คุณต้องการ แต่ฝ่ายเดียว หมอคิดว่า ผู้ป่วยมีสิทธิที่จะรับรู้ความจริงเกี่ยวกับความเจ็บป่วยของเขา และมีสิทธิที่จะตัดสินใจว่าจะรับการรักษาหรือไม่รับการรักษาเมื่อได้ทราบความจริงทั้งหมดแล้ว เพราะผู้ป่วยเป็นคนที่ได้รับความทุกข์ทรมานจากโรคภัยไข้เจ็บของเขาและจากผลข้างเคียงของการรักษาต่างๆ เวลาคุณแม่เจ็บหรือทรมาน คุณและหมอ ไม่ได้เจ็บหรือทรมานด้วย คุณจึงน่าจะบอกความจริงแก่คุณแม่ ว่าโรคของคุณแม่ลุกลามไปมากแล้ว การรักษา จึงเป็นเพียงการยืดเวลาเท่านั้น และยิ่งยืดเวลาไปเท่าไร ความทุกข์ทรมานก็จะเพิ่มมากขึ้น เพราะโรคมันจะลุกลามไปเรื่อยๆ"
ลูกผู้ป่วย : " แล้วหมอจะให้ผมเลิกรักษาแม่หรือ "
แพทย์ : " ถ้ารักษาแล้ว ผู้ป่วยสบายขึ้น ไม่เจ็บ ไม่ปวด กินได้นอนหลับ และถ่ายได้ตามปกติก็จำเป็นต้องรักษา แต่ถ้ารักษาแล้ว เจ็บปวดมากขึ้นและทุกข์ทรมานมากขึ้น เราคงไม่เรียกว่าเป็นการ "รักษา" แต่เป็นการ " ทรมาน" มากกว่า
แต่คุณอย่าเชื่อหมอ คุณต้องไปคิดไปตรองดูเองว่า คุณแม่ทุกข์ทรมานเพิ่มขึ้นๆหรือไม่ในช่วงเวลาที่ผ่านมา และคุณอยากให้คุณแม่ทรมานไปอีกนานเท่าใด"
ลูกผู้ป่วย : " หมอจะเลิกรักษาแม่หรือ"
แพทย์ : "การจะรักษาหรือไม่รักษาไม่ได้ขึ้นกับหมอ แต่ขึ้นกับคนไข้ ญาติของคนไข้ และหมอเจ้าของไข้ ส่วนหมอเป็นเพียงมาพูดคุยความจริงให้คุณฟัง แต่เมื่อคุณพาคุณแม่มาที่ห้องฉุกเฉิน เราก็จะรักษาภาวะฉุกเฉินให้
เมื่อหมอเห็นคนไข้ต้องทรมานโดยไม่รู้ความจริงว่าเป็นโรคอะไร และทนทุกข์ทรมานเพื่ออะไร หมอจึงเชิญคุณมาคุยด้วยเพราะสงสารคุณแม่
อันที่จริง หมอทุกคนต้องถือ "ประโยชน์ของผู้ป่วยเป็นประโยชน์สูงสุด และประโยชน์ของญาติเป็นประโยชน์รองๆ ลงไป"
แต่โดยทั่วไป ไม่มีหมอคนไหนที่อยากมีเรื่องกับญาติผู้ป่วย และหลายครั้งผู้ป่วยก็ไม่อยู่ในสภาพที่จะตัดสินใจเองได้ เราจึงมักจะปรึกษาญาติก่อนเสมอ ถ้าญาติไม่ยอมให้บอกความจริงแก่ผู้ป่วย เราก็มักจะอนุโลมตามนั้น"
ลูกผู้ป่วย : "แล้วหมอจะให้ผมทำอย่างไร "
แพทย์ : "ถ้าคุณไม่รู้ คุณก็ควรจะถามคุณแม่ บอกความจริงให้คุณแม่ทราบ และให้คุณแม่เป็นคนตัดสินใจว่า คุณแม่ต้องการให้หมอรักษาอย่างไร"
ลูกผู้ป่วยนิ่งอยู่นาน ในที่สุดก็บอกว่า"ถ้าอย่างนั้น คุณหมอช่วยถามคุณแม่แทนผมได้ไหมครับ"
แพทย์ : "ถ้าอย่างนั้น เราไปที่เตียงคุณแม่ และผมจะคุยกับคุณแม่ต่อหน้าคุณ"
แล้วแพทย์และลูกผู้ป่วยก็เดินไปที่เตียงผู้ป่วย และแพทย์ก็คุยกับผู้ป่วยอย่างอ่อนโยน เช่น
แพทย์ : "สวัสดีครับ เมื่อกี้นี้ หมอคุยกับลูกคุณ. และลูกคุณอยากให้หมอมาคุยกับคุณอีก
คุณได้มารักษาที่นี่นานแล้ว แต่ 2-3 เดือนที่ผ่านมา คุณเข้าๆ ออกๆ โรงพยาบาลบ่อย คุณทราบไหมครับว่า เป็นเพราะอะไร"
ผู้ป่วย : "ก็หมอเค้าบอกว่า แพ้ยาบ้างติดเชื้อบ้าง เกลือแร่ผิดปกติบ้าง ขาดอาหารบ้าง ก็ จะไม่ขาดได้ยังไงคุณหมอ ก็มันเบื่ออาหารและคลื่นไส้ อาเจียนตลอด หมอเค้าให้ยาแก้คลื่นไส้อาเจียนตั้ง หลายขนาน แล้วยังเอาไม่อยู่เลย"
แพทย์ : "แล้วคุณเป็นโรคอะไรหรือครับ จึงรักษายากและเอาไม่อยู่"
ผู้ป่วย : "ก็หมอเค้าบอกว่าเป็นโรคเลือดมั่ง โรคไขกระดูกมั่ง ชั้นก็เลยไม่แน่ใจว่าเป็นโรคอะไรแน่"
แพทย์ : "ก็เป็นโรคเดียวกันแหละครับ เพราะไขกระดูกเป็นที่สร้างเม็ดเลือด เมื่อไขกระดูกผิดปกติก็เลยทำให้เม็ดเลือดผิดปกติ"
ผู้ป่วย : "แล้วมันจะหายมั้ยล่ะหมอ"
แพทย์ : "แล้วหมอเจ้าของไข้เค้าบอกคุณว่ามันจะหายหรือไม่ครับ"
ผู้ป่วย : "เค้าไม่ได้บอก บอกแต่ว่าให้รักษาไปก่อน นี่ก็รักษามาตั้งนานแล้ว แต่ 2-3 เดือนนี้ชักแย่ เข้าๆ ออกๆ โรงพยาบาลบ่อยๆ
หมอว่าฉันจะหายมั้ย"
แพทย์ : "โรคของคุณยังเป็นโรคที่รักษายาก คุณหมอเจ้าของไข้เค้าพยายามรักษาเต็มที่แล้ว ช่วงแรกก็ดีขึ้นบ้าง แต่ระยะหลังนี้ มันดื้อยา เลยไม่ค่อยได้ผล แถมยังทำให้คุณเกิดผลข้างเคียงจากยาด้วย"
ผู้ป่วย : "ถ้ามันดื้อยา และรักษาไม่ได้ผล ก็อย่าไปรักษามันเลยหมอ เพราะชั้นทนไม่ไหวแล้ว มันไม่สบายมากๆ หลังให้ยา ได้ยาแก้อาการแพ้ก็ช่วย ได้ประเดี๋ยวประด๋าวเท่านั้น"
แพทย์ : "วันนี้คุณมาที่ห้องฉุกเฉินนี่มีอาการอ่อนเพลียมาก จากการขาดอาหารและน้ำ คุณหมอเค้าให้น้ำเกลือและยาฉีดแก้อาการคลื่นไส้อาเจียนอยู่อีกสักพักคุณก็จะดีขึ้น แล้วคงจะให้คุณกลับบ้าน
และคุณคงจะได้กลับมาพบหมอเจ้าของไข้ตามที่นัดไว้ คุณปรึกษากับหมอเจ้าของไข้ดูอีกครั้งว่าควรจะรักษาต่อหรือไม่ เพราะหมอรู้จักคุณน้อยกว่าหมอเจ้าของไข้ หมอเจ้าของไข้จะได้อธิบายให้คุณเข้าใจ ได้ดีขึ้นว่า การรักษาต่อไปจะทำให้คุณ "สบายขึ้น" หรือ "สบายลง" นะครับ"
ผู้ป่วย : "ชั้นไม่ไปหาเค้าแล้วล่ะ ถามเค้าทีไร เค้าก็บอกว่าให้รักษาไปก่อน อดทนอีกหน่อย ชั้นจะไม่ไปรักษากับเค้าตั้งหลายครั้งแล้ว แต่ลูกก็เคี่ยวเข็ญให้ไป บอกว่าแม่จะได้หายและอยู่กับเขานานๆ แต่ระยะหลังนี้ ชั้นรู้สึกแย่ลงมาก ชั้นทนการให้ "เคโม" ไม่ไหวแล้ว"
แพทย์ : "อ้าว คุณรู้ว่าเค้าให้ "เคโม" ด้วยหรือ"
ผู้ป่วย : "ทำไมจะไม่รู้ล่ะหมอ ก็พวกหมอพวกพยาบาลเค้าคุยกัน และคนไข้ที่ได้ " เคโม" ข้างๆ ก็ คุยกัน ชั้นรู้ว่าชั้นเป็นมะเร็งแน่นอน แต่ไม่รู้ว่าเป็น มะเร็งเม็ดเลือดหรือมะเร็งไขกระดูก เพราะหมอเค้าไม่ตอบให้ชัดเจน และลูกเค้าก็ไม่ยอมบอก แล้วชั้นควรทำยังไงล่ะหมอ"
แพทย์ : "ถ้าคุณรู้อยู่แล้วว่า คุณเป็นมะเร็ง และการรักษาไม่ทำให้คุณดีขึ้น แต่ทำให้คุณทรมานมากขึ้น คุณคงต้องตัดสินใจว่าจะรักษาต่อหรือไม่ ถ้าไม่ให้ "เคโม" ต่อ ก็ควรดูแลตนเองให้มีความสุขความสบายให้มากที่สุด อย่าไปกังวลกับโรคที่เป็นอยู่พยายามพักผ่อนนอนหลับให้มากๆ อาการทุกข์ทรมานต่างๆ จะได้ลดลงมากๆ เวลาคุณหลับได้ ถ้าหลับเองไม่ได้ คงต้องกินยานอนหลับช่วย การนอนหลับได้สนิทจะลดความทุกข์ทรมานลง"
ผู้ป่วย : ถ้าอย่างนั้น หมอช่วยสั่งยานอนหลับให้หน่อย แล้วชั้นจะได้กลับบ้าน"
ในกรณีนี้ จะเห็นว่า ผู้ป่วยก็รู้อยู่แล้วว่าตนเป็นโรคมะเร็ง แต่เมื่อแพทย์และญาติไม่ยอมบอกผู้ป่วยตรงๆ จึงเข้าใจผิดมาเรื่อยๆ ว่าผู้ป่วยไม่รู้.
อันที่จริง ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ต้องได้รับ "ยาฆ่ามะเร็ง" หรือ "เคโม" (anticancer chemotherapy) หรือได้รับการ "ฉายแสง" (radiation therapy) เกือบทั้งหมดจะรู้ว่าตนเป็นโรคมะเร็ง เพราะผู้ป่วยที่ไดรับการรักษาแบบเดียวกันจะพูดคุยกัน เวลานั่งรอพบแพทย์ หรือรอการฉายแสง/ให้ยา "เคโม" เป็นต้น.
เมื่อแพทย์และ/หรือญาติไม่กล้าพูดความจริง กับผู้ป่วย ผู้ป่วยก็จะต้องแบกรับความกังวลและความหวังผิดๆ (ความหวังที่ไม่อาจเป็นจริงได้) ไปเรื่อยๆ จนไม่สามารถ "ปล่อยวาง" ความทุกข์ทางใจ ทำให้อาการทางกายกำเริบมากขึ้นหรือทำให้ทุกข์ทรมานเพิ่มขึ้นๆ.
หลายครั้ง เราอาจไม่จำเป็นต้องพูดชื่อโรคที่อาจทำให้ผู้ป่วยตกใจ เช่น มะเร็ง เอดส์ แต่เราจำเป็นต้องบอกความจริงเกี่ยวกับการรักษา ผลข้างเคียง ภาวะแทรกซ้อน โรคแทรก ค่าใช้จ่าย การอนุมานโรค (prognosis) และอื่นๆ ที่เป็นความจริงหรือใกล้เคียงกับความจริงมากที่สุดเท่าที่ เรามีความรู้อยู่ในปัจจุบัน.
เพื่อให้ผู้ป่วย (และญาติ) ร่วมในการตัดสินใจว่าตนจะสามารถแบกรับความทุกข์ทรมานต่างๆ จากการรักษา จากโรคภัยไข้เจ็บที่อาจลุกลามมากขึ้น จากค่าใช้จ่ายที่มักจะบานปลายออกไปเรื่อยๆ จากการต้องมีคนคอยเฝ้าดูแลเอาใจใส่ผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดเพิ่มขึ้นๆ (โดยเฉพาะในปัจจุบัน ที่ลูกหลานมักต้องไปทำมาหากินนอกบ้าน และหาคนที่เต็มใจ/มีน้ำใจที่จะมาดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่อาการหนักได้ยาก เป็นต้น).
การพูดและการสัมผัส (มือ แขน ไหล่) ผู้ป่วยอย่างมีเมตตาสูงสุด จะทำให้คำพูดมี น้ำหนักมากขึ้น และทำให้ผู้ป่วยไม่ตกใจหรือเสียใจ หรือโกรธ แต่อย่าคาดหวังว่า การพูดเพียงครั้งเดียวจะทำให้ผู้ป่วย (และญาติ) เข้าใจ และยอมรับความจริงได้.
สันต์ หัตถีรัตน์ พ.บ.
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ มหาวิทยาลัยมหิดล
- อ่าน 5,377 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้