Skip to main content
ข้อมูลสุขภาพ มูลนิธิหมอชาวบ้าน
menu

Login Pop

  • เข้าสู่ระบบ
    • ลืมรหัสผ่าน
search
  • เว็บหลักหมอชาวบ้าน
  • สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน
  • มูลนิธิหมอชาวบ้าน
  • หน้าแรก
  • ดูแลสุขภาพด้วยตัวเอง
  • บทความสุขภาพน่ารู้
  • สื่อสุขภาพ
  • คำถามสุขภาพ
  • ข่าวสาร
  • ติดต่อหมอชาวบ้าน
  • ข้อปฏิเสธความรับผิดชอบ
หน้าแรก » บทความสุขภาพน่ารู้ » รู้ทันเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 (H1N1)
  • ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

รู้ทันเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 (H1N1)

โพสโดย somsak เมื่อ 1 มิถุนายน 2552 00:00

บทนำ
เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Influenza virus) เป็นปัญหาสำคัญทางด้านสาธารณสุข เศรษฐกิจ และสังคมในหลายๆ ประเทศทั่วโลกตั้งแต่ในอดีตถึงปัจจุบัน ในปัจจุบันได้มีการพัฒนาวัคซีนและยาต้านไวรัสอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามตัวเชื้อไวรัสชนิดนี้มีอัตราการกลายพันธุ์และวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่อง ทำให้สามารถหลบเลี่ยงระบบภูมิคุ้มกัน หรือดื้อต่อยาที่ใช้ในการรักษาได้ เนื้อหาในบทความนี้มุ่งเน้นเกี่ยวกับโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ที่เกิดการระบาดใหญ่ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา เพื่อให้ผู้อ่านได้รู้และเข้าใจเกี่ยวกับลักษณะทางคลินิกและเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่ระบาดอยู่ในปัจจุบัน.


สาเหตุของโรคไข้หวัดใหญ่
โรคไข้หวัดใหญ่ เกิดจากการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ที่มีชื่อเรียกว่า Influenza virus จัดอยู่ใน Orthomyxoviridae family ซึ่งเป็นไวรัสที่มีเปลือกหุ้ม (Envelop) มีสารพันธุกรรมเป็น RNAสายเดี่ยวที่มีลักษณะเป็นท่อน ๆ ปัจจุบันสามารถแบ่งเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ออกได้เป็น 3 ชนิด ได้แก่ ชนิด เอ บี และ ซี เป็นต้น โดยที่เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิด ซี จะมีความแตกต่างจากชนิด เอ และ บี ค่อนข้างมาก ในแง่ของการมีสารพันธุกรรมจำนวน 7 ท่อน ในขณะที่ชนิด เอ และ บี มีสารพันธุกรรมจำนวนทั้งสิ้น 8 ท่อน นอกจากนี้เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิด ซี จะมีไกลโคโปรตีนที่เปลือกผิวชั้นนอกเพียงชนิดเดียวคือ Hemagglutinin-esterase-fusion glycoprotein (HEF) แต่สำหรับเชื้อไวรัส  ไข้หวัดใหญ่ชนิด เอ และ บี จะมีไกลโคโปรตีนสำคัญที่เปลือกผิวชั้นนอก 2 ชนิดคือ Haemagglutinin   (HA) และ Neuraminidase (NA) สำหรับเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิด เอ และ บี จะมีความแตกต่างกันในส่วนของโปรตีนที่จับกับสารพันธุกรรม (Nucleoprotein) และโปรตีนที่ทำหน้าที่เป็น ion channel โดยจะพบโปรตีน M2 ในเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิด เอและโปรตีน NB ในเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิด บี เป็นต้น (ดังภาพที่ 1) ในปัจจุบันพบว่าเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อและระบาดอย่างต่อเนื่องในมนุษย์และสัตว์ชนิดต่างๆ นั้นจัดอยู่ในกลุ่มเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิด เอ (Influenza A virus) ซึ่งจะกล่าวถึงโดยละเอียดต่อไป.



ลักษณะทางไวรัสวิทยาของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิด เอ
เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิด เอ เป็นไวรัสที่มี   เปลือกหุ้ม (Envelop) รูปร่างกลม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของอนุภาคไวรัส ประมาณ 80-120 นาโนเมตร และมีสารพันธุกรรมเป็น RNA สายลบจำนวนทั้งสิ้น 8 ท่อน ซึ่งสามารถแปลรหัสพันธุกรรมเพื่อสร้างเป็นโปรตีนของไวรัสได้ 10 ชนิดซึ่งมีหน้าที่เฉพาะต่างๆ ดังแสดงในตารางที่ 1 และภาพที่ 2.  


บทบาทของโปรตีน HA (Haemagglutinin) และ NA (Neuraminidase) ในการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิด เอ

ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้นว่าไวรัสชนิดนี้มีโปรตีนเป็นองค์ประกอบหลายชนิด ซึ่งโปรตีนสำคัญที่ใช้ ในการแบ่งแยกสายพันธุ์และมีส่วนเกี่ยวข้องในการติดเชื้ออย่างจำเพาะของไวรัส ได้แก่ Haemagglu- tinin (HA) และ Neuraminidase (NA) ซึ่งเป็นไกลโคโปรตีนที่อยู่บนเปลือกผิวชั้นนอกของไวรัส (ภาพที่ 2) โดยกลไกการติดเชื้อเริ่มจากโปรตีน HA ของเชื้อไวรัสจับกับ Sialic acid receptor ที่อยู่บนผิวเซลล์เจ้าบ้าน (Host cell) ซึ่งลักษณะการจับนี้ค่อนข้างมีความจำเพาะสูง (ภาพที่ 3) หากโปรตีน HA ของไวรัสไม่สามารถจับกับ receptor บนผิวเซลล์ได้ ไวรัสก็จะไม่สามารถผ่านเข้าสู่เซลล์ได้ก็จะไม่เกิดการติดเชื้อ ในทางกลับกันถ้าโปรตีน HA ของไวรัสสามารถจับกับ receptor บนผิวเซลล์ได้ดี ไวรัสก็จะสามารถผ่านเข้าสู่เซลล์ได้ง่ายด้วย ดังนั้นลักษณะความจำเพาะนี้เองที่เป็นตัวกำหนดว่าไวรัสจะสามารถ ติดเชื้อในสิ่งมีชีวิตต่างๆ เช่น มนุษย์ สัตว์ปีก สุกร เสือ แมว สุนัข เป็นต้น เนื่องจากสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดก็จะมีลักษณะของ receptor บนผิวเซลล์ที่แตกต่างกันไป ต่อมาเมื่อไวรัสเข้าสู่เซลล์ได้แล้วขั้นแรกจะอยู่ในรูป ของ Endosome ห่อหุ้มอนุภาคของไวรัสไว้ จากนั้นโปรตีน ion channel จะทำหน้าที่ปั้มโปรตอน ทำให้ ภายในอนุภาคไวรัสมีความเป็นกรดมากขึ้น จนกระทั่งอนุภาคไวรัสแตก สารพันธุกรรมที่อยู่ในอนุภาคของไวรัสก็จะเคลื่อนที่เข้าสู่นิวเคลียสของเซลล์ เพื่อทำการ เพิ่มจำนวนสารพันธุกรรม พร้อมทั้งผลิตโปรตีนชนิดต่างๆ จากนั้นสารพันธุกรรมที่เพิ่มขึ้นก็จะไปรวมตัวกับโปรตีนชนิดต่างๆ เพื่อประกอบเป็นอนุภาคของเชื้อไวรัสที่บริเวณเยื่อหุ้มเซลล์ แต่เชื้อไวรัสจะยังไม่สามารถเคลื่อนที่หลุดออกจากเซลล์ได้เนื่องจากมีโปรตีน HA จับกับ Sialic acid receptor อยู่ ดังนั้นในขั้นสุดท้ายโปรตีน NA ก็จะทำหน้าที่ตัด Sialic acid receptor  เพื่อทำให้เชื้อไวรัสหลุดออกนอกเซลล์ และแพร่กระจายไปติดเชื้อสู่เซลล์ข้างเคียงต่อไป (ภาพที่ 3). 
 


การจัดจำแนกสายพันธุ์ (Subtypes) ของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิด เอ
การแยกสายพันธุ์ของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่  อาศัยหลักการทางด้าน Serology ในการระบุความแตกต่างของไกลโคโปรตีน ที่เปลือกผิวชั้นนอกของไวรัส ได้แก่ Haemagglutinin (HA) และ Neura-minidase (NA) ในปัจจุบันสามารถแบ่ง Haemagglutinin ได้ 16 ชนิด และ Neuraminidase ได้ 9 ชนิด ดังนั้นการระบุสายพันธุ์ของไวรัสจึงต้องระบุทั้งชนิดของ Haemagglutinin และ Neuraminidase ประกอบกัน ตัวอย่างเช่น ถ้าเชื้อไวรัสมี Haemagglutinin ชนิดที่ 1 และ Neuraminidase ชนิดที่ 1 ก็จะเรียกได้ว่าเป็นเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิด เอ สายพันธุ์ H1N1 เป็นต้น ซึ่งความหลากหลายของสายพันธุ์ที่แตกต่างกันของเชื้อไวรัส ก็จะมีความจำเพาะของการติดเชื้อในสิ่งมีชีวิตที่แตกต่างกันด้วย ยกตัวอย่างเช่น สามารถพบการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ H1 ได้ในสัตว์ปีก สุกร และมนุษย์ ในขณะที่การติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ H5 จะ พบได้ในสัตว์ปีก สนัข แมว เสือ และมนุษย์ เป็นต้น รายละเอียดดังแสดงในภาพที่ 4.

 

การติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ชนิด เอ ในสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ
เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิด เอ มีหลากหลายสายพันธุ์ ซึ่งแต่ละสายพันธุ์จะมีความจำเพาะในการติดเชื้อในสิ่งมีชนิดต่างๆ แตกต่างกันออกไป (ภาพที่ 5) โดยทั่วไปแล้วเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิด เอ ทุกสายพันธุ์ (H1-H16 และ N1-N9) สามารถพบได้ในสัตว์ปีกจำพวกนกน้ำ ซึ่งบางสายพันธุ์อาจก่อโรครุนแรงทำให้สัตว์ปีกที่ติดเชื้อนั้นมีอาการป่วยอย่างรุนแรง (High pathogenic) ถึงขั้นเสียชีวิต ดังตัวอย่างที่พบในกรณีของเชื้อไวรัสไข้หวัดนก (Avian Influenza A virus) สายพันธุ์ H5N1 ที่ระบาดในอดีตที่ผ่านมา ส่วนบางสายพันธุ์อาจก่อโรคไม่รุนแรง (Low pathogenic) ทำให้สัตว์ปีกที่ติดเชื้อมีอาการป่วยเพียงเล็กน้อยเท่านั้น นอกจากนี้บางสายพันธุ์ก็ไม่ก่อให้เกิดอาการใดๆ ทั้งสิ้น (Asymptomatic) เพียงแต่อาศัยสัตว์ปีกเป็นพาหะ (Reservoir host) ในการแฝงตัวและแพร่กระจายเชื้อไวรัสเท่านั้น. สำหรับในมนุษย์พบว่าตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันมีการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิด เอ สายพันธุ์ต่าง ๆ ได้แก่ H1N1, H2N2, H3N2, H5N1, H7N7 และ H9N2 เป็นต้น ซึ่งโดยทั่วไปแล้วไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลที่ระบาดในมนุษย์เป็นประจำทุกปี (Seasonal human influenza A virus) นั้นจะเป็น H1N1 และ H3N2 เท่านั้น สำหรับสายพันธุ์ H5N1, H7N7 และ H9N2 นั้นพบว่าเป็นการติดเชื้อข้ามสายพันธุ์จากสัตว์ปีกมาสู่คน แต่โอกาสการติดเชื้อนั้นค่อนข้างยาก จะต้องมีการสัมผัสกับเชื้อไวรัสอย่างใกล้ชิด (Close contact) พร้อมทั้งได้รับปริมาณไวรัสมากด้วยจึงจะติดเชื้อได้ และเมื่อติดแล้วโอกาสการแพร่กระจายของเชื้อจากคนไปสู่คนก็จะน้อยด้วย เนื่องจากเชื้อไวรัสที่มาจากสัตว์ปีกจะมี HA ที่จับกับ Sialic receptor บนผิวเซลล์ของมนุษย์ได้ไม่ดีนัก.


สำหรับเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สุกร (Swine influenza A virus) ซึ่งในที่นี้หมายถึงเชื้อไวรัสไข้หวัดหมูที่มีการระบาดโดยทั่วไปในสุกรตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ประกอบด้วยสายพันธุ์ต่างๆ ดังนี้ H1N1, H1N2, H3N2 และ H4N6 เป็นต้น ซึ่งส่วนมากไวรัสสายพันธุ์เหล่านี้จะก่อโรคชนิดไม่รุนแรง ทำให้สุกรมีอาการป่วยเพียงเล็กน้อย หรือไม่แสดงอาการใดๆ เลย แต่สุกรก็จะเป็นพาหะในการนำเชื้อไวรัสมาสู่มนุษย์ได้ (ภาพที่ 5) เนื่องจากสายพันธุ์ H1N1 และ H3N2 ก็สามารถติดเชื้อในมนุษย์ได้เช่นกัน แต่เมื่อเปรียบเทียบระหว่างสายพันธุ์ H1N1 ที่พบในมนุษย์และสุกร หรือสายพันธุ์ H3N2 ที่พบในมนุษย์และสุกรนั้นก็จะมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน ดังนั้นมิใช่ว่าเชื้อไวรัสทุกสายพันธุ์ในสุกรจะสามารถติดเชื้อข้ามสายพันธุ์มาสู่มนุษย์ได้ นอกจากนี้การติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ชนิด เอ ในสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆ เช่นในม้า ก็จะเรียกว่าเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ม้า (Equine influenza A virus) ส่วนเชื้อไวรัสที่พบในสุนัขก็จะเรียกว่าเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สุนัข (Canine influenza A virus) เป็นต้น ซึ่งในปัจจุบันพบว่าเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ในม้าและสุนัข ยังไม่สามารถติดเชื้อข้ามสายพันธุ์มาสู่มนุษย์ได้.

 

วิวัฒนาการและกลไกการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิด เอ
เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิด เอ สายพันธุ์ต่างๆ มีอัตราการกลายพันธุ์และวิวัฒนาการค่อนข้างเร็ว เป็นผลทำให้มีการเปลี่ยนแปลงสารพันธุกรรมและโปรตีนโครงสร้าง (โดยเฉพาะอย่างยิ่งโปรตีน HA และ NA) ทำให้เชื้อไวรัสมีการหลบหลีกระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ส่งผลให้มีการติดเชื้อและก่อให้เกิดโรคระบาดได้อย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี นอกจากนี้ไวรัส สายพันธุ์ที่พบในสัตว์ก็มีการกลายพันธุ์ปรับตัวให้สามารถติดเชื้อข้ามสายพันธุ์มาสู่มนุษย์ได้เช่นกัน ซึ่งมีกลไกการเปลี่ยนแปลงหลัก 2 กระบวนการได้แก่

¾ Antigenic drift  เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นเนื่องจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่มีสารพันธุกรรมเป็น RNA จึงมีอัตราการกลายพันธุ์เปลี่ยนแปลงสารพันธุกรรมได้ง่าย (High rate of mutation) เมื่อไวรัสมีการสะสมการกลายพันธุ์เพิ่มมากขึ้นก็จะทำให้มีโปรตีนที่มีคุณสมบัติเปลี่ยนแปลงไป (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง HA และ NA ซึ่งอยู่ที่เปลือกผิวชั้นนอกของไวรัส และมีบทบาทเกี่ยวข้องในการติดเชื้อ) จึงทำให้เชื้อไวรัสสามารถหลบเลี่ยงระบบภูมิคุ้มกัน และก่อให้เกิดการติดเชื้อระบาดเป็นประจำทุกปี ดังที่พบในกรณีไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล นอกจากนี้การกลายพันธุ์แบบนี้สามารถทำให้เชื้อไวรัสติดเชื้อข้ามสายพันธุ์จากสัตว์ปีกมาสู่คนได้ ดังเช่นที่พบในกรณีของไวรัสไข้หวัดนก เป็นต้น (ภาพที่ 6).

 

 

  

¾ Antigenic shift  เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นเนื่องจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่มีสารพันธุกรรมที่มีลักษณะเป็นท่อนๆ จำนวน 8 ท่อนที่เป็นอิสระต่อกัน ดังนั้นเมื่อมีการติดเชื้อจากไวรัส 2 สายพันธุ์ ในเซลล์เจ้าบ้านเดียวกัน ก็จะทำให้ไวรัสสามารถแลกเปลี่ยนชิ้นส่วนของสารพันธุกรรม (Genetic reassortment) กลายเป็นไวรัสสายพันธุ์ลูกผสม (Reasssortant virus) ซึ่งมีสารพันธุกรรมแบบผสมผสาน ทำให้มีคุณสมบัติแตกต่างไปจากเชื้อไวรัสตั้งต้น ซึ่งในร่างกายจะไม่มีระบบภูมิคุ้มกันที่จำเพาะกับตัวไวรัสลูกผสมสายพันธุ์ใหม่ เป็นผลทำให้อาจมีการระบาดของเชื้อไวรัสอย่างกว้างขวาง (Epidemic outbreak) หรือมีการระบาดในหลายประเทศทั่วโลก (Pandemic outbreak) ถ้าไม่มีมาตรการควบคุมโรคที่รัดกุมและเหมาะสม.

 


เหตุใดจึงเรียกเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ที่ระบาดในประเทศเม็กซิโกว่าไข้หวัดหมู
จากการระบาดของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ในประเทศเม็กซิโก และสหรัฐอเมริกาในช่วงเดือนเมษายน ปี
พ.ศ. 2552 พบว่าเป็นเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิด เอ สายพันธุ์ H1N1 ซึ่งมีความแตกต่างจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลที่เคยติดเชื้อในมนุษย์ การศึกษาวิเคราะห์เบื้องต้นพบว่าเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้มีสารพันธุกรรมที่มีความใกล้เคียงทางวิวัฒนาการกับเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สุกร สายพันธุ์ H1N1 (Swine influenza A virus) ทำให้ในช่วงแรกของการระบาดมีการเรียกชื่อไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้ว่าไวรัสไข้หวัดหมู (ภาพที่ 8 และ 9).



ต่อมาจากการวิเคราะห์ในส่วนของยีนต่างๆทั้ง 8 ยีน คาดว่าเป็นเชื้อไวรัสลูกผสมที่เกิดจากการแลกเปลี่ยนสารพันธุกรรมระหว่างเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิด เอ ที่พบใน มนุษย์ (ยีน PB1), สัตว์ปีก (ยีน PB2 และ PA) และสุกร (ยีน HA, NP, NA, M และ NS) จึงทำให้ไวรัสสารพันธุ์ใหม่นี้มีสารพันธุกรรมแบบผสมผสานที่มีลักษณะแตกต่างออกไป ซึ่งไม่เคยพบมาก่อน. นอกจากนี้ได้มีคณะผู้วิจัยรายงานผล จากการเปรียบเทียบวิเคราะห์เชิงวิวัฒนาการ (Phylogenetic analysis) พบว่าสารพันธุกรรมในยีนต่างๆ ของเชื้อไวรัสใหม่นี้ ล้วนแล้วแต่มีความใกล้ชิดคล้าย คลึงกับเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สุกร. อย่างไรก็ตามยังไม่สามารถยืนยันแน่ชัดว่าต้นกำเนิดที่แท้จริงนั้นมาจากสุกรหรือไม่ เนื่องจากยังไม่มีหลักฐานการพบเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดียวกันนี้ในสุกร นอกจากนี้ผลการวิเคราะห์ทางวิวัฒนาการนั้นอาศัยข้อมูลมาจากฐานข้อมูลพันธุกรรมเท่านั้น ทำให้ผลการเปรียบเทียบไม่สมบูรณ์เนื่องจากยังขาดข้อมูลสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสในหลายๆ ประเทศที่มิได้รายงานข้อมูลพันธุกรรมของเชื้อไวรัสที่มีการระบาดในอดีตไว้ในฐานข้อมูล.
 


จากไวรัสไข้หวัดหมูสู่ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 (H1N1)

จากการเรียกชื่อไข้หวัดหมูในช่วงต้นของการระบาดทำให้คนส่วนใหญ่เข้าใจผิดคิดว่าหมูเป็นพาหะนำโรคจึงปฏิเสธการบริโภคเนื้อหมู และในบางประเทศก็มีนโยบายยกเลิกการนำเข้าเนื้อหมูจากต่างประเทศ หรือมีการฆ่าตัดตอนหมูในประเทศของตนเพื่อป้องกันมิให้เกิดการระบาด จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมากทั้งๆ ที่ยังไม่มีข้อพิสูจน์ที่แน่ชัดว่าหมูเป็นพาหะนำโรคจริงหรือไม่ นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนแปลงชื่อจากไข้หวัดหมู เป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เม็กซิโกซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบการส่งออกและเศรษฐกิจของประเทศเม็กซิโกเป็นอย่างมาก ต่อมาจึงได้มีการประกาศเปลี่ยนชื่ออย่างเป็นทางการว่า "เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 (H1N1)" เพื่อมิให้คนเกิดความสับสนและเข้าใจผิด.
 


อุบัติการณ์และระบาดวิทยาของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เม็กซิโก

ในวันที่ 30 เมษายน 2552 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศสถานการณ์การะบาดฉุกเฉิน เป็นระดับที่ 5 (Pandemic alert Level 5) ซึ่งหมายความว่า เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 (H1N1) นี้มีความสามารถในการติดเชื้อแพร่ระบาดจากคนสู่คนได้อย่างน้อย 2 ประเทศในอาณาเขตภูมิภาคเดียวกัน จากสถิติการติดเชื้อและเสียชีวิตในประเทศเม็กซิโก พบว่าอัตราการเสียชีวิตจากการติดเชื้อมีค่าประมาณร้อยละ 2-3  นอกจากประเทศเม็กซิโกแล้ว ยังมีผู้ติดเชื้อในประเทศต่างๆ ดังแสดงในภาพที่ 10.


 

วัคซีนป้องกันและยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่
เป็นที่ทราบกันดีว่า ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลส่วนมากจะเป็นสายพันธุ์ H1N1 และ H3N2 ซึ่งมีการกลายพันธุ์เปลี่ยนแปลงสายพันธุ์อย่างค่อยเป็นค่อยไป จึงทำให้ต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์วัคซีนที่ใช้ในการป้องกันกันทุกปี และต้องมีการฉีดวัคซีนประจำปีที่มีสายพันธุ์ใกล้เคียงกับเชื้อไวรัสที่จะมีการระบาดก็จะสามารถป้องกันโรคได้จากการเปรียบเทียบระหว่างวัคซีนสายพันธุ์ H1N1 (A/      Brisbane/59/2007-like virus) ที่ใช้ป้องกันโรค  ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลของมนุษย์ในปัจจุบัน และสายพันธุ์ที่กำลังระบาดในประเทศเม็กซิโกพบว่ามีความคล้ายคลึงกันน้อยกว่า 80% บ่งชี้ให้เห็นว่าวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลก็ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 (H1N1). อย่างไรก็ตามจากการวิเคราะห์พบว่าไวรัสดังกล่าวยังคงตอบสนองต่อยาต้านไวรัสได้แก่ Osel-tamivir (Tamiflu) และ Zanamivir แต่สามารถดื้อต่อยา Amantadine ได้ ดังนั้นสำหรับผู้ป่วยในกลุ่มเสี่ยงที่มีการติดเชื้อภายใน 48 ชั่วโมง สามารถให้การรักษาด้วยยาต้านไวรัส Oseltamivirได้.
 


แนวทางการป้องกันตนเองจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่
ในความเป็นจริงแล้ว หนทางที่ดีที่สุดในการป้องกันเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่โดยทั่วไปคือการฉีดวัคซีนป้องกันเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อเช่น เด็ก ผู้ที่ทำงานในโรงพยาบาลหรือสถานที่ที่มีผู้เสี่ยงติดเชื้ออยู่ นอกจากนี้ เนื่องจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สามารถติดต่อจากคนสู่คนได้ผ่านทาง virus-laden droplets ที่อยู่ในสารคัดหลั่งเช่นน้ำมูก และเสมหะ เมื่อผู้ติดเชื้อไอ หรือจาม virus-laden droplets จะสามารถเกาะอยู่บนเซลล์ เยื่อบุผิวที่ทางเดินหายใจส่วนต้นของผู้ที่อยู่ใกล้กับผู้ติดเชื้อได้ ดังนั้น การป้องกันเชื้อไวรัสในเบื้องต้นทั่วไปได้แก่ การรักษาสุขอนามัยเป็นประจำก็สามารถป้องกันการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ได้ โดยมีแนวทางการป้องกันดังนี้

- ป้องปากและจมูกทุกครั้งที่เกิดอาการไอหรือจาม.

- ล้างมือด้วยสบู่บ่อยครั้งตลอดวัน โดยเฉพาะภายหลังการไอ หรือจาม.

- หลีกเลี่ยงการสัมผัสดวงตา จมูก หรือปาก เนื่องจากเชื้อสามารถแพร่กระจายเข้าไปในร่างกายผ่านทางอวัยวะเหล่านี้ได้.

- พยายามหลีกเลี่ยงสถานที่สาธารณะที่มีคน อยู่หนาแน่น และไม่อยู่ใกล้ผู้ที่มีอาการป่วย (โดยทั่วไประยะที่แนะนำคือห่างไม่น้อยกว่า 3 ฟุต).

- เมื่อมีอาการป่วย ควรหลีกเลี่ยงสถานที่สาธารณะและควรหยุดงานเพื่อจำกัดการแพร่กระจายของเชื้อโรคไปสู่ผู้อื่น.
 


การตรวจวินิจฉัยและการเตรียมความพร้อมในประเทศไทย
การระบาดของไข้หวัดใหญ่ชนิด A สายพันธุ์  ดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน เรามีองค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัยในอดีต ความเชี่ยวชาญและมีมาตรการที่ดี ทำให้เรามีความมั่นใจในการควบคุมโรค อย่างมีประสิทธิภาพ องค์การอนามัยโลกให้ความสำคัญกับการระบาดของเชื้อในครั้งนี้เป็นอย่างมากมาก ประเทศไทยมีประสบการณ์การระบาดของโรคติดต่อทางระบบทางเดินหายใจหลายชนิด เช่น SARS  Coroavirus ไข้หวัดนกสายพันธŒ H5N1 ทำให้เชื่อมั่นได้ว่า ประเทศไทยน่าจะรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวได้เป็นอย่างดี ทางคณะแพทยศาสตร์และ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์มีความพร้อมในการรับผู้ป่วยและการตรวจวินิจฉัยอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมตั้งแต่เริ่มแรกที่มีข่าวการระบาด จึงมีความเชื่อมั่นว่าเราสามารถทำการตรวจวินิจฉัย ควบคุม และป้องกันการระบาดของโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ.
 

กิตติกรรมประกาศ
ขอขอบคุณ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กองทุนสภากาชาดไทยเฉลิมพระเกียรติ พ.ศ. 2542 (โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์) ทุนกลุ่มนวัตกรรมเชิงบูรณาการ (จุฬา 100 ปี) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เจ้าหน้าที่นักวิทยาศาสตร์ นิสิตปริญญาโท นิสิตปริญญาเอก ให้ความร่วมมือศึกษาวิจัยเกี่ยวกับโรคอุบัติใหม่มาโดยตลอด.
 

เอกสารอ้างอิง
 1. Horimoto T, Kawaoka Y. Influenza: lessons from past pandemics, warnings from current incidents. Nat Rev Microbiol 2005; 3:591-600.

 2. Webster RG, Bean WJ, Gorman OT, Chambers TM, Kawaoka Y. Evolution and ecology of  influenza A viruses. Microbiol Rev 1992; 56:152-79.

 3. Fouchier RA, Munster V, Wallensten A, Bestebroer TM, Herfst S, Smith D, et al. Characterization of a novel influenza A virus hemagglutinin subtype (H16) obtained from  black-headed gulls. J Virol 2005; 79:2814-22.

 4. Nicholson KG, Wood JM, Zambon M. Influenza. Lancet  2003; 362:1733-45.

 5. Suarez DL. Evolution of avian influenza  viruses. Vet Microbiol 2000; 74:15-27.

 6. Claas EC, Osterhaus AD, van Beek R, De Jong JC, Rimmelzwaan GF, Senne DA, et al. Human influenza A H5N1 virus related to a highly pathogenic avian influenza virus. Lancet  1998; 351:472-7.

 7. van Riel D, Munster VJ, de Wit E, Rimmelzwaan GF, Fouchier RA, Osterhaus AD, et al. H5N1 Virus Attachment to Lower Respiratory Tract. Science  2006; 312:399. 

 8. Shinya K, Ebina M, Yamada S, Ono M, Kasai N, Kawaoka Y. Avian flu : influenza virus  receptors in the human airway. Nature  2006; 440:435-6.

 9. Horimoto T, Kawaoka Y. Influenza : lessons from past pandemics, warnings from current inci-dents. Nat Rev Microbiol  2005; 3:591-600.

 10. Centers for Disease Control and Prevention [homepage on the Internet].  Atlanta : The Organization; c2009 [updated 2009 May 5;  cited 2009 May 9]. CDC; [about 5 screens]. Avialable from:http://www.cdc.gov/h1n1flu/guidelines_infection_control.htm

 11. Centers for Disease Control and Prevention [homepage on the Internet].  Atlanta : The Organization; c2009 [updated 2009 May 5; cited 2009 May 9]. CDC; [about 60 screens]. Avialable from: http://www.cdc.gov/mmwr/preview/mmwrhtml/rr57e717a1.htm 

 12. World Health Organization [homepage on the Internet]. Geneva : The Organization; c2009 [updated 2009 May 8; cited 2009 May 9]. WHO; [about 1 screen]. Avialable from:http://www.who.int/csr/don/2009_05_08a/en/index.html

 13. Centers for Disease Control and Prevention [homepage on the Internet].  Atlanta: The Organization; c2009 [updated 2008 December 19; cited 2009 May 9]. CDC; [about 6 screens]. Avialable from:http://www.cdc.gov/ flu/professionals/infectioncontrol/healthcarefacilities.htm
 

ดร.สัญชัย พยุงภร, อาจารย์, ภาควิชาชีวเคมี, คณะแพทยศาสตร์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จาริกา มากคช
 ยง ภู่วรวรรณ พ.บ. ศาสตราจารย์
ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

ป้ายคำ:
  • โรคเรื้อรัง
  • โรคหวัด ภูมิแพ้
  • เวชปฏิบัติปริทัศน์
  • ไข้หวัดหมู
  • จาริกา มากคช
  • ดร.สัญชัย พยุงภร
  • ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ
  • อ่าน 16,612 ครั้ง
  • พิมพ์หน้านี้พิมพ์หน้านี้

ข้อมูลสื่อ

294-002
วารสารคลินิก 294
มิถุนายน 2552
เวชปฏิบัติปริทัศน์
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ
จาริกา มากคช, ดร.สัญชัย พยุงภร
Skip to Top

บทความสุขภาพน่ารู้

  • ทั้งหมด
  • การแพทย์ทางเลือก
    • แพทย์แผนไทย
      • กดจุด
      • นวดไทย
    • แพทย์แผนจีน
  • ดูแลสุขภาพ
    • การดูแลผู้สูงอายุ
    • การปฐมพยาบาล
    • การรักษาเบื้องต้น
    • การใช้ยาสมุนไพร
    • คู่มือดูแลสุขภาพ
    • ยาและวิธีใช้
    • ตรวจสุขภาพด้วยตัวเอง
      • คำนวณค่า BMI
      • วินิจฉัยโรคเบื้องต้น
      • แนะนำการตรวจสุขภาพประจำปี
    • คุยสุขภาพ
      • กรณีศึกษา
      • ถามตอบปัญหาสุขภาพ
  • สุขภาพทางเพศและครอบครัว
    • การดูแลบุตร
    • แม่และเด็ก
    • การตั้งครรภ์
    • เรียนรู้เรื่องเพศและการวางแผนครอบครัว
  • สร้างเสริมสุขภาพ 3 อ. ​และป้องกันโรค
    • อาหาร
      • อาหาร 5 หมู่
      • อาหารของผู้่ป่วยโรคเรื้อรัง
        • ความดันสูง
        • หัวใจ
        • เกาต์
        • เบาหวาน
      • อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง
      • อาหารป้องกันมะเร็ง
      • อาหารสมุนไพร
    • ออกกำลังกาย
      • วิ่ง เดิน ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ แอร์โรบิค แอร์โรบอคซิ่ง รำกระบอง ไทเก็ก ชี่กง โยคะ
    • อารมณ์
      • การทำสมาธิ
      • การพักผ่อน
      • การพัฒนา EQ
      • จิตอาสา/ ฉือจี้
  • พฤติกรรมอันตราย
    • พฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ
    • อนามัยสิ่งแวดล้อม
    • อิริยาบถ
  • โรคและอาการ
    • โรคเรื้อรัง
      • กลุ่มอาการเมตาโบลิค
      • ความดันโลหิตสูง
      • ถุงลมปอดโป่งพอง
      • มะเร็ง
      • อัมพฤกษ์ อัมพาต
      • เบาหวาน
      • โรคข้อ/เกาต์
      • โรคทางจิตเวช เครียด หวาดระแวง
      • โรคหวัด ภูมิแพ้
      • โรคหัวใจ
      • โรคหืด
      • ไขมันในเลือดสูง/ผิดปกติ
      • ไตวาย
    • โรคตามระบบ
      • ระบบทางเดินอาหาร
      • โรคจากอุบัติเหตุ สารพิษ และสัตว์พิษ
      • โรคช่องปากและฟัน
      • โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
      • โรคติดเชื้อ
      • โรคผิวหนัง
      • โรคพยาธิ
      • โรคระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ
      • โรคระบบต่อมไร้ท่อ
      • โรคระบบทางอวัยวะเพศชาย
      • โรคระบบทางอวัยวะเพศหญิง
      • โรคระบบทางเดินปัสสาวะ
      • โรคระบบทางเดินหายใจ
      • โรคระบบประสาทและสมอง
      • โรคระบบไหลเวียนโลหิต
      • โรคหู ตา คอ จมูก
    • โรคจากการทำงาน
      • พิษภัยจากสารเคมี (ยาฆ่าเมลง/ สารตะกั่ว)
      • โรคจากฝุ่นและสารเคมีในโรงงาน
      • โรคจากสัตว์ เช่น ฉี่หนู
      • โรคจากอริยาบทที่ผิดสุขลักษณะ
      • โรคเส้นเอ็นอักเสบ/ นิ้วล็อค
  • ทันกระแสสุขภาพ
  • คลังความรู้สื่อสังคมออนไลน์
  • อื่น ๆ

ได้รับความนิยม

  • นม
  • ถั่วพู
  • คนท้อง
  • ธาลัสซีเมีย
  • ผู้สูงอายุ
  • ผักพื้นบ้าน
  • สมุนไพร

แผนผังเว็บไซต์

  • หน้าแรก
  • ดูแลสุขภาพด้วยตัวเอง
  • บทความสุขภาพน่ารู้
  • สื่อสุขภาพ
  • คำถามสุขภาพ
  • ข่าวสาร
  • ติดต่อหมอชาวบ้าน
  • ข้อปฏิเสธความรับผิดชอบ

รวมลิงค์เครือข่าย

  • มูลนิธิหมอชาวบ้าน
  • สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน
  • สถาบันโยคะวิชาการ

สื่อสุขภาพ

  • คลิปสุขภาพ
  • หมอชาวบ้านรายเดือน
  • คลินิกรายเดือน
  • จดหมายข่าวย้อนหลัง
  • feed หมอชาวบ้าน
  • facebook หมอชาวบ้าน
  • youtube หมอชาวบ้าน
  • feed หมอชาวบ้าน
  • facebook หมอชาวบ้าน
  • twitter หมอชาวบ้าน
  • youtube หมอชาวบ้าน
สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสถาบัน ChangeFusion พัฒนาระบบโดย Opendream สัญญาอนุญาต cc by-nc-sa