อาการคันหูเป็นอาการที่พบได้บ่อย และเป็นที่น่ารำคาญแก่ผู้ที่มีอาการดังกล่าว อาการคันหูเกิดจากหลายสาเหตุ ส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักใช้ไม้พันสำลีปั่นหูชั้นนอก หรือใช้นิ้วแคะ, ขยี้ หรือปั่นรูหูเพื่อบรรเทาอาการคัน ซึ่งอาจทำให้ผิวหนังของหูชั้นนอกอักเสบมากขึ้น เกิดอาการคันมากขึ้น หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนกลายเป็นหูชั้นนอกอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย หรือเกิดฝีของหูชั้นนอกตามมา.
สาเหตุ
1. การอักเสบเรื้อรังของหูชั้นนอก (chronic otitis externa) เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด มักเกิดจากผู้ป่วยใช้ไม้พันสำลีปั่นช่องหูชั้นนอกเป็นประจำโดยเฉพาะหลังอาบน้ำแล้วน้ำเข้าหูทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรังของผิวหนังของหูชั้นนอก ทำให้เกิดอาการคันหูเรื้อรัง หรือเป็นๆ หายๆ.
2. การติดเชื้อราของช่องหูชั้นนอก (otomycosis) ทำให้มีอาการคันหูได้.
3. หูชั้นกลางอักเสบ แล้วเยื่อบุแก้วหูทะลุ มีหนองไหลออกมา ทำให้เกิดการอักเสบของหูชั้นนอกตามมา (secondary otitis externa) ซึ่งทำให้เกิดอาการคันหูได้.
4. โรคทางกายบางชนิดที่ทำให้มีอาการคันของหูชั้นนอกได้ เช่น โรคตับ (เช่นโรคตับอักเสบ), เบาหวาน, โรคเลือด, มะเร็ง, มะเร็งต่อมน้ำเหลือง, โรคไตวายเรื้อรัง.
5. โรคของผิวหนังเองที่มีการอักเสบของช่องหูชั้นนอก หรือใบหูร่วมด้วย ได้แก่ โรคสะเก็ดเงิน(psoriasis), โรคต่อมไขมันอักเสบ (seborrheic dermatitis), โรคผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้.
การวินิจฉัย
สามารถทำได้โดยซักประวัติ โดยอาจซักถามอาการอื่นๆ ที่อาจเกิดร่วมด้วย เช่น หูอื้อ, เสียงดังในหู, มีหนองไหลจากหู และตรวจหู อาจเห็นผิวหนังของ ช่องหูแห้ง แดง หนา เป็นขุย หรือเป็นแผล พบรอยถลอก หรือลักษณะของผิวหนังอักเสบได้.
การรักษา
1. รับประทานยาแก้แพ้ (antihistamine) ให้หายคัน.
2. อาจใช้ยาสตีรอยด์ ทาหรือหยอดหู เพื่อลดอาการอักเสบ และอาการคัน.
3. รักษาตามสาเหตุของอาการคัน.
4. แนะนำให้ผู้ป่วยเลิกใช้ไม้พันสำลี หรือนิ้วในการปั่นช่องหู ถ้าคันมาก แนะนำให้การรักษาโดยข้อ 1 และ ข้อ 2 อาจขยี้ตรงช่องหูเบาๆ ได้.
5. แนะนำให้ผู้ป่วยระวังไม่ให้น้ำเข้าหู เนื่องจากผู้ป่วยมักใช้ไม้พันสำลีซับน้ำในช่องหูหลังอาบน้ำ อาจทำให้เกิดการระคายเคืองของผิวหนังช่องหูเรื้อรัง ทำให้เกิดการอักเสบ และอาการคันขึ้นอีกอาจใส่หมวกเวลาอาบน้ำ หรือใช้สำลี หรือที่อุดหูสำหรับนักดำน้ำซึ่งหาซื้อได้ตามร้านขายอุปกรณ์กีฬา อุดหูระหว่างอาบน้ำ เพื่อไม่ให้น้ำเข้าหู.
ปารยะ อาศนะเสน พ.บ., ผู้ช่วยศาสตราจารย์
ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
- อ่าน 36,636 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้