ถาม : เด็กแรกเกิด (newborn แรกเกิด-4 สัปดาห์) และเด็กทารก (infant) (4 สัปดาห์-เริ่มยืนได้หรือ 12 เดือน หรือ 24 เดือน) ถ้ามีอาการจามน้ำมูกใส คัดจมูก จะทำการรักษาอย่างไรในแต่ละกลุ่มอายุ
ยา antihistamine เช่น cetirizine จะใช้ได้หรือไม่ ขนาดยาเท่าไร
ยา decongestant เช่น pseudoephedrine จะใช้ได้หรือไม่ ขนาดยาเท่าไร
สมาชิก
ตอบ : สาเหตุของโรคหวัดส่วนใหญ่เกิดจาก การติดเชื้อไวรัส โดยอาการที่เกิดขึ้นเป็นจาก inflammatory response ต่อ viral antigens และการหลั่ง chemical mediators จากการติดเชื้อ ทำให้มีเลือดมาเลี้ยงบริเวณเยื่อบุจมูกเพิ่มขึ้น ตลอดจนการเพิ่มขึ้นของ vascular permeability ทำให้มีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล และจาม ยาที่ใช้รักษาโรคหวัด มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อบรรเทาอาการที่เกิดขึ้น ไม่จำเป็นต้องรักษาทุกอาการ ควรให้ยาบรรเทาเฉพาะอาการที่เป็นมากและต่อเนื่อง.
โดยทั่วไปในผู้ป่วยที่มีน้ำมูกข้นอุดตันรูจมูก แนะนำให้ใช้ 0.9% normal saline ที่ปลอดเชื้อหยอดเพื่อทำให้น้ำมูกอ่อนตัวและจมูกโล่งขึ้น สามารถ ทำได้ในเด็กทุกกลุ่มอายุ หรือใช้ผ้านุ่มม้วนให้ปลายแหลมชุบน้ำอุ่นหรือน้ำเกลือสะอาด (normal saline) พอชุ่มๆ แล้วสอดเข้าไปในรูจมูกเพื่อทำให้เยื่อบุจมูกเปียก หายใจโล่งขึ้น แนะนำให้เด็กจิบน้ำอุ่นเพื่อช่วย เป็น soothing remedies.
เนื่องจากอาการที่เกิดขึ้นในโรคหวัดมีส่วนคล้ายคลึงอย่างยิ่งกับโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ (allergic rhinitis) จึงมีการนำยาในกลุ่ม antihistamine และ decongestant มาใช้อย่างแพร่หลาย.
ยากลุ่ม antihistamine ทางเวชปฏิบัติแบ่ง ออกเป็น 2 กลุ่ม คือ
1. First-generation antihistamine มี antihistamine effect เป็นหลัก อาการข้างเคียงสำคัญ คือ ง่วงนอน บางตัวมี anti-cholinergic effect ร่วมด้วย จึงทำให้เสมหะแห้ง เหนียว ปากแห้ง ยาในกลุ่มนี้ ได้แก่ chlorpheniramine, brompheniramine, diphenhydramine ถึงแม้จะมีการใช้กันอย่างแพร่หลาย แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีข้อมูลจากการวิจัยใดๆ ที่ยืนยันประโยชน์ของยา antihistamine ในโรคหวัดจากการติดเชื้อ ยากลุ่มนี้ใช้ได้ดีเฉพาะที่เป็นจากภูมิแพ้เท่านั้น.
2. Second-generation antihistamine มี antihistamine effect แต่ไม่มี anti-cholinergic effect จึงไม่สามารถลดน้ำมูกที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสได้ และไม่มีประสิทธิภาพในการลดอาการคัดจมูก ได้ผลดีเฉพาะกรณีที่มีภูมิแพ้ร่วมด้วย ยากลุ่มนี้ได้แก่
2.1 Cetirizine สามารถใช้ได้ในเด็กอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป ในขนาด 0.2-0.4 มก./กก./วัน ให้วันละ 1 ครั้ง หรือ 0.25 มก./กก./ครั้ง ให้วันละ 2 ครั้ง.
2.2 Loratadine สามารถใช้ได้ในเด็กอายุ ตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป ในขนาด 5 มก. หรือ 1 ช้อนชาวันละครั้ง.
สำหรับยากลุ่ม decongestant ทำให้เกิด vasoconstriction โดยออกฤทธิ์ผ่าน a-adrenergic receptor ซึ่งจะลดการบวมของ nasal mucosa และ ลด nasal discharge ยานี้มีทั้งแบบพ่นและแบบกิน.
แบบพ่นที่ใช้บ่อยได้แก่ 0.25% ephedrine, 0.025% และ 0.05% oxymetazoline nasal drop และ 0.05% oxymetazoline nasal spray ในผู้ใหญ่ การใช้ยาระยะสั้นและถูกต้องจะได้ผลดี ส่วนในเด็กยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์สนับสนุน.
ยากลุ่มนี้มีฤทธิ์ข้างเคียงอาจเกิด rhinitis medicamentosa, rebound congestion และ rhinorrhea มากขึ้น ซึ่งในทารกมีอันตรายมากถ้าเกิด rebound congestion เนื่องจากเด็กทารกโดยเฉพาะอายุน้อยกว่า 4-6 เดือน หายใจทางจมูกเป็นหลัก (obligate nasal breathing) จะเกิดเป็น obstructive sleep apnea ได้ ดังนั้นจึงไม่แนะนำให้ใช้ยาพ่น decongestant ในเด็กเล็ก. การใช้ยานี้ต้องระวังผลข้างเคียงจาก systemic absorption เช่น insomnia, tachycardia, hypertension, seizure, sedation, hallucination และ panic disorder ถ้าจำเป็นต้องใช้ไม่ควรใช้เกิน 3 วัน.
แบบกินที่ใช้บ่อยได้แก่ pseudoephedrine ยังไม่มีการวิจัยแบบเปรียบเทียบกับยาหลอก เพื่อศึกษาผลของยานี้ในโรคหวัด มีเพียงการรายงานว่าอาจจะทำให้อาการหวัดดีขึ้น. อาการข้างเคียงที่พบได้ในเด็ก ได้แก่ aggression, hallucination, confusion, sedation, hypertension, seizure และ dystonia ต้องระมัดระวังการใช้ยานี้ในเด็กเล็กอายุ < 1 ปี และผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจ ขนาดยา ของ pseudoephedrine คือ 4 มก./กก./วัน แบ่งให้รับประทานทุก 6-8 ชั่วโมง.
จากประสบการณ์ส่วนตัวพบว่ามีการใช้ยา antihistamine กันอย่างแพร่หลายในโรคหวัดจากการติดเชื้อ ถ้าเด็กมีแต่อาการทางจมูกเพียงอย่างเดียว มักจะไม่มีผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย แต่ถ้าเด็กมีอาการไอหรือมีเสมหะร่วมด้วย หากได้รับ antihistamine ไปรับประทานมักจะทำให้เสมหะเหนียว เกิดเสมหะคั่งค้าง อุดกั้นทางเดินหายใจ จนกระทั่งบางรายพบว่ามีปอดแฟบได้ ดังนั้นจึงไม่แนะนำ antihistamine ในเด็กที่ไอและมีเสมหะ. สำหรับ decongestant ที่ใช้กันบ่อยคือ pseudoephedrine พ่อแม่มักจะชอบเพราะทำให้เด็กหายใจสะดวกขึ้น แต่ผลข้างเคียงที่พบได้ไม่น้อย คือ ทำให้เด็กก้าวร้าว ซุกซน นอนไม่หลับในทุกๆ ครั้งที่กินยานี้ ดังนั้นหากพบผลข้างเคียงดังกล่าวขอให้งดการใช้ pseudoephedrine ในเด็กรายนั้นๆ.
เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือแนวทางการดูแลรักษาโรคติดเชื้อเฉียบพลันระบบหายใจในเด็ก. กรุงเทพฯ : ชมรมโรคระบบหายใจและเวชบำบัดวิกฤตในเด็กแห่งประเทศไทย ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย, 2549.
อรุณวรรณ พฤทธิพันธุ์ พ.บ., ศาสตราจารย์
ปิยะพร ชื่นอิ่ม พ.บ., อาจารย์ หน่วยโรคระบบหายใจเด็ก คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
สุรางค์ เจียมจรรยา พ.บ. ศาสตราจารย์, ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
- อ่าน 32,201 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้