24 เมษายน 2552 นับเป็นวันดีเดย์ของข่าว "หวัดหมู" ด้วยเวลาเพียงไม่ถึงสองสัปดาห์ ข่าวนี้ไม่เพียงเรียกความสนใจ หากยังสร้างความปั่นป่วนต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของสังคมทั่วโลก.
แรงกระเพื่อมของคลื่นข่าวดังกล่าว แสดงให้เห็นศักดิ์ศรี และความน่าเชื่อถือขององค์การอนามัยโลก ต่อรัฐบาลและสื่อมวลชนทั่วโลก ในด้านหนึ่ง นี่คือ เรื่องดีที่ประชาคมโลก มีที่พึ่งทางความรู้เกี่ยวกับสุขภาพอย่างหายห่วง น้ำหนักคำพูดขององค์การอนามัยโลกมิได้เกิดขึ้นลอยๆ หากวางอยู่บนเงื่อนไขสำคัญ ที่ ท่านอ.ประเวศ วะสีกล่าวไว้ นั่นคือ องค์การอนามัยโลกสามารถเข้าถึงแหล่งความรู้สุดยอดโดยไร้ขีดจำกัด...ถ้าทุกประเทศในโลกมีกลไกคล้ายๆ กันนี้ ก็เท่ากับมีจุดเชื่อมแหล่งความรู้อันทรงพลัง เอ...แล้วประเทศไทยเรามีจุดเชื่อมอย่างนี้ไหมหนอ ?
ความฉับไวในการตอบสนองต่อ "หวัดหมู" ของประเทศต่างๆ บ่งชี้ว่า ประชาคมโลกยังมีความทรงจำแจ่มชัดเกี่ยวกับการระบาดของซาร์สและหวัดนก เมื่อหลายปีก่อน พูดภาษาชาวบ้าน ก็เรียกว่า "เจ็บแล้วรู้จักจำ" ไม่เพียงมีความทรงจำ เครือข่ายนักวิชาการและนักการสาธารณสุขในที่ต่างๆทั่วโลกยังทำหน้าที่เป็นหูเป็นตา คอยจับจ้องอยู่ไม่เสื่อมคลาย จึงมีความฉับไวในการค้นหา ค้นพบ และตอบสนองต่อสถานการณ์ นี่คือ นัยสำคัญของการ มีระบบเฝ้าระวังโรค.
อย่างไรก็ตาม สรรพสิ่งล้วนมีสองด้าน เป็นธรรมดา อีกด้านหนึ่งที่อาจเป็นจุดอ่อนของ ระบบเฝ้าระวังโรค และจุดเชื่อมอันทรงพลังอย่างองค์การอนามัยโลก คือ ภาวะภูมิไวเกิน หรือกระต่ายตื่นตูม.
คนที่จุดประเด็นนี้ คือ คุณจอร์จ ฟรายแมน เขาเสนอบทความเรื่อง the Geopolitics of Pandemics1 ข้อสังเกตที่น่าสนใจของคุณฟรายแมน ได้แก่
ก) หวัดหมู ไม่รุนแรงอย่างที่กลัวกัน เมื่อเทียบกับไข้หวัดใหญ่ที่คร่าชีวิตคนทุกปี ปีละครึ่งล้านทั่วโลก และ 36,000 คนในสหรัฐฯ (ตอนนี้มีเพียง 2 คนที่ เสียชีวิตจากหวัดหมูในสหรัฐฯ) ยิ่งเทียบกับหวัดนกซึ่งตายเกินครึ่ง2 หวัดหมูนับว่ารุนแรงน้อยกว่ามาก (ตายร้อยละ 23 จาก 1584 รายในสหรัฐฯและเมกซิโกรวมกันโดยยืนยันด้วยผลทางห้องปฏิบัติการ)... ผู้เขียน.
ข) เมื่อไม่รุนแรง จึงเป็นไปได้ว่า หวัดหมู อาจเริ่มระบาดก่อนหน้าจะเป็นข่าวนานพอดู ความที่โรคไม่รุนแรงผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยก็คงไม่ไปหาหมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่ไม่มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอย่างประเทศไทยหรือยุโรป.
ค) แม้ไม่รุนแรง แต่การติดต่อได้ง่ายด้วยการสัมผัสในชีวิตประจำวัน ทำให้โรคแพร่กระจายได้เร็ว ยิ่งอาศัยการเดินทางอย่างรวดเร็วในโลกปัจจุบัน หวัดหมูจึงกระโดดพรวดๆจากเมกซิโกไปไกลทั่วโลกในชั่วข้ามวัน.
ง) ด้วยเงื่อนไขในข้อ ข) และค) คุณฟรายแมน เลยชี้ว่า การค้นพบพื้นที่ใหม่ๆที่โรคแพร่ไปอาจเป็นภาพลวงตา แท้ที่จริงเป็นการค้นพบพื้นที่ที่โรคไปปรากฏอยู่แล้วโดยบังเอิญมากกว่า.
ในโลกวิชาการ การมองต่างมุมเป็นของดี เพราะช่วยให้เกิดการมองอะไร อะไร อย่างรอบด้าน นำไปสู่ข้อถกเถียง ใคร่ครวญอย่างพิถีพิถัน สอดคล้องกับหลักกาลามสูตรของพระพุทธองค์ อันเป็นเงื่อนไขแห่งการเจริญสติปัญญาให้ยิ่งๆขึ้นไป.
มองต่างมุม จะเกิดได้และสืบสานต่อไปอย่างมั่นคง ก็ต้องอาศัยการเปิดกว้างทางความคิดและค่านิยมที่ยืดหยุ่นต่อความเห็นต่างของสังคม และแน่นอนยังต้องอาศัยปริมาณนักคิดที่มากพอ สมดัง คำกล่าวว่า "ร้อยบุปผาประชันโฉม ร้อยสำนักประชันเสียง".
(ศาสตราจารย์ นายแพทย์ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล)
1 http://www.stratfor.com/weekly/20090504_geopolitics_pandemics
2 World Health Organization. Epidemiology of WHO-confirmed human cases of avian influenza A (H5N1) infection. Wkly Epidemiol Rec 2006; 81:249-60.
3http://www.who.int/csr/don/2009_05_06d/en/index.html accessed 7 May 2009
- อ่าน 1 ครั้ง
พิมพ์หน้านี้