ฉบับนี้ เป็นฉบับปีที่ 25
ต้องขอขอบคุณกองบรรณาธิการ ผู้เขียน สมาชิกผู้อ่าน บริษัทห้างร้าน และหน่วยงานที่ให้การอุปการะทำให้คลินิกของเราสามารถยืนหยัดจนย่างเข้าวัยเบญจเพศ.
คลินิก เป็นสิ่งพิมพ์หนึ่งที่ดำเนินการภายใต้อุดมการณ์ของมูลนิธิหมอชาวบ้านที่ไม่หวังมุ่งค้ากำไรแบบธุรกิจเอกชน และหวังเป็นสื่อกลางเผยแพร่ข้อมูลวิชาการด้านเวชปฏิบัติและการใช้ยาที่ ถูกต้อง ทันสมัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับแพทย์และบุคลากรสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานอยู่สถานบริการด่านหน้า.
สิ่งที่เป็นน้ำทิพย์ชโลมใจคณะผู้จัดทำ ก็คือ เสียงตอบรับจากสมาชิกผู้อ่าน ไม่ว่าจะเป็นจดหมาย โทรศัพท์หรือ e-mail ที่สะท้อนความคิดเห็น คำติชม ข้อเสนอแนะ คำถาม รวมทั้งข้อเขียนหรือบทความที่ส่งมาให้ลงในวารสารของเรา เพราะเราถือว่า คลินิก เป็น เวทีการเรียนรู้ร่วมกันของพวกเราทุกฝ่าย จึงขอเชิญชวนให้สมาชิกได้มีส่วนร่วมในการทำให้ คลินิกเป็นที่น่าอ่านน่าเรียนรู้ยิ่งๆ ขึ้นไป.
.........................................................
กระแสการเคลื่อนไหวในวงการสาธารณสุขในช่วงปีที่ผ่านมา ในมุมมองของผมเห็นจะได้แก่ ประเด็นต่อไปนี้
หนึ่ง การดูแลผู้ป่วยด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์ (humanized care) ซึ่งได้ก่อตัวมา 2-3 ปี และได้รับการเผยแพร่ออกไปอย่างกว้างขวาง สะท้อนถึงความต้องการทั้งฝ่ายผู้ให้บริการและประชาชนในการปฏิรูป การดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวม และการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างทั้ง 2 ฝ่าย.
สอง การทำงานวิจัยจากงานประจำ (from routine to research หรือ R2R) ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของ "การวิจัยระบบสุขภาพ (health system research)" และ "การวิจัยปฏิบัติการ (action research)" มีการดำเนินการอยู่ในคณะแพทย์ โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชน ซึ่งได้มีเอกสารเผยแพร่ผลงานวิจัยที่น่าสนใจออกมาจำนวนไม่น้อย. R2R น่าจะกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาคุณภาพบริการ และระบบบริหารจัดการ เสริมความเข้มแข็งให้แก่กระบวนการพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล (HA).
สาม การแสวงหาหนทางในการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ (primary care) ของประเทศ ซึ่งยังคงประสบปัญหาและอุปสรรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขาดแคลนกำลังคนที่จะให้บริการปฐมภูมิและเวชปฏิบัติครอบครัวอย่างมีคุณภาพ.
ที่ผ่านมา มีความพยายามส่งเสริมให้มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว/เวชปฏิบัติทั่วไป ลงไปทำงานในศูนย์แพทย์ชุมชน (community medical center หรือ CMU) แต่ก็มีปัญหาการลาออกของแพทย์จบใหม่ (แพทย์ใช้ทุน) จำนวนมาก เกิดการขาดแคลนแพทย์ในโรงพยาบาลชุมชน จึงไม่อาจหาแพทย์ลงไปทำงานในศูนย์แพทย์ชุมชนได้ตามเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้.
ในขณะเดียวกัน ก็มีปัญหาการขาดแคลนพยาบาลจำนวนมากทั้งในโรงพยาบาลระดับจังหวัด และอำเภอ เนื่องจากมีการไหลของพยาบาลไปสู่ภาคเอกชนอย่างไม่ขาดสาย. นอกจากกระทบต่อคุณภาพบริการในโรงพยาบาลของรัฐแล้ว ก็ยังประสบปัญหาในการส่งพยาบาลเวชปฏิบัติ (nurse practitioner) ลงไปทำงานในศูนย์สุขภาพชุมชน (primary care unit หรือ PCU).
มีรายงานจากสภาการพยาบาลว่า ในระยะหลายปีที่ผ่านมานี้ได้มีการฝึกอบรมพยาบาลเวชปฏิบัติรวมทั้งสิ้นอย่างน้อย 7,000 คนด้วยกัน จึงน่าจะมีการศึกษาว่า ส่วนใหญ่มีการกระจายตัวตามสถานพยาบาลระดับใดบ้าง มีคุณภาพและประสิทธิภาพในการให้บริการปฐมภูมิและเวชปฏิบัติครอบครัวได้ดีเพียงใด และต้องการการสนับสนุนในด้านใดบ้าง.
สี่ ในช่วงปีที่ผ่านมา ได้มีการหันมาให้ความสำคัญแก่การพัฒนาสถานีอนามัยให้มีบทบาทในด้านบริการปฐมภูมิ ซึ่งได้ถูกละเลยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา (ที่มุ่งพัฒนาแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว และพยาบาลเวชปฏิบัติเป็นหลัก) ทั้งๆ ที่ในอดีต เจ้าหน้าที่สถานีอนามัยได้มีบทบาทสำคัญในการดูแลสุขภาพของประชาชนในชนบทมาอย่างยาวนาน. ในหลายอำเภอได้มีการทดลองนำร่องในการจัดหากลไกสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่สถานีอนามัยพัฒนาขีดความสามารถในการให้บริการปฐมภูมิ เช่น การใช้โรงพยาบาลชุมชนเป็นฐานในการฝึกอบรมเพิ่มพูนทักษะส่วนขาดของเจ้าหน้าที่อนามัย (แบบตัดเสื้อวัดตัวเป็นรายบุคคล ไม่ใช่เสื้อโหล) การส่งแพทย์ออกไปนิเทศงานเจ้าหน้าที่ที่สถานีอนามัยแบบพี่เลี้ยง (coach) โดยการสังเกตการณ์ทำงานจริงของเจ้าหน้าที่ และให้คำชี้แนะที่สอดคล้องกับบริบทของสถานีอนามัย. การเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่โทรศัพท์และ/หรือใช้สื่ออินเตอร์เน็ต ในการขอคำปรึกษาปัญหาเวชปฏิบัติ เป็นต้น.
เชื่อว่า หากโรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศให้ความสำคัญในการพัฒนาสถานีอนามัยอย่างจริงจัง ก็น่าจะทำให้เกิดเครือข่ายบริการสุขภาพในชนบทที่เข้มแข็งได้.
ท้ายที่สุดนี้ ขอถือโอกาสอวยพรปีใหม่มายังแฟนๆ วารสารคลินิก ให้มีสุขภาพแข็งแรง มีความสุขและความสำเร็จในการประกอบความดีทั้งต่อตนเองและผู้อื่น.
สวัสดีปีใหม่ครับ !
(รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สุรเกียรติ อาชานานุภาพ)
- อ่าน 2,463 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้