เมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา ผมมีโอกาสเดินทางไปดูงานที่โรงพยาบาลกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลขนาด 90 เตียง และมีแพทย์เฉพาะอยู่หลายสาขา รวมทั้งสาขาเวชศาสตร์ครอบครัว.
นายแพทย์นพดล เสรีรัตน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาโรงพยาบาลให้เป็นโรงพยาบาลทุติยภูมิระดับกลาง (ที่สามารถดูแลผู้ป่วยที่ซับซ้อนได้ระดับหนึ่งมีห้องไอซียู และหน่วยไตเทียม) ควบคู่กับการสร้างความเข้มแข็งแก่เครือข่ายบริการปฐมภูมิของอำเภอแห่งนี้
นายแพทย์สิริชัย นามทรรศนีย์ แพทย์เฉพาะทางสาขาเวชศาสตร์ครอบครัว ได้เป็นแกนนำในการพัฒนางานบริการปฐมภูมิ โดยแสดงบทบาทที่น่าสนใจดังต่อไปนี้
1. เป็นแพทย์ผู้ให้บริการปฐมภูมิ โดยปฏิบัติงานเป็นหัวหน้าศูนย์แพทย์ชุมชนซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณโรงพยาบาล ให้บริการครบวงจรแก่ประชาชนในเขตรับผิดชอบ คือ เขตตำบลที่ตั้งของโรงพยาบาลมีทั้งด้านการรักษาพยาบาล การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค และการฟื้นฟูสภาพ รวมทั้งการเยี่ยมบ้านและทำงานเชิงรุกในชุมชน. คุณหมอและทีมงานประจำได้ให้การดูแลสุขภาพแก่ประชาชนในเขตตำบลนี้อย่างต่อเนื่อง โดยได้ประยุกต์หลักการและวิธีการทางเวชศาสตร์ครอบครัวอย่างเต็มรูปแบบมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ป่วย ครอบครัว และชุมชน ทำให้เข้าใจและเข้าถึงผู้รับบริการ สามารถให้การดูแลผู้ป่วยอย่างเป็นองค์รวม ผสมผสาน และต่อเนื่อง รวมทั้งส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชน.
แนวคิดสำคัญ คือ แพทย์และทีมงานด้านเวชศาสตร์ครอบครัวจะต้องมีความรู้ทางการแพทย์ (biomedicine) ที่ลึก และสามารถตัดตอนมาประยุกต์กับการดูแลผู้ป่วยได้อย่างดี ไม่ใช่รู้อย่างตื้นๆง่ายๆ ขณะเดียวกันก็ต้องมีความเข้าใจความละเอียดของความเป็นมนุษย์ สามารถให้บริการขั้นพื้นฐาน แก้ปัญหาที่ไม่ซับซ้อนด้านเทคนิค แต่ซับซ้อนด้านกาย-จิต-สังคม (difficult cases) ได้.
คุณหมอได้ใช้ศูนย์แพทย์ชุมชนแห่งนี้สร้างต้นแบบของการให้บริการปฐมภูมิที่ใช้ศาสตร์ทางเวชศาสตร์ครอบครัวควบกับองค์ความรู้เฉพาะด้านต่างๆ และพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ของแพทย์พยาบาลและบุคลากรทุกสาขา.
2. เป็นครู ถ่ายทอดวิชาเวชศาสตร์ครอบครัวแก่บุคลากรทุกสาขา เช่น ฝึกอบรมพยาบาลเวชปฏิบัติ จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การอภิปรายปัญหาผู้ป่วย (case conference) เป็นต้น.
3. เป็นผู้นำและที่ปรึกษาแก่ทีมงานในการให้บริการปฐมภูมิแก่ชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการเยี่ยมบ้าน ซึ่งโรงพยาบาลแห่งนี้ได้จัดทีมนักกายภาพบำบัดออกไปเยี่ยมบ้านและให้การบำบัดฟื้นฟูผู้พิการในชุมชนอย่างต่อเนื่องทุกวัน ซึ่งต่อมาได้ประสานกับพยาบาล เจ้าหน้าที่สถานีอนามัย และอาสาสมัครในชุมชนในการเยี่ยมบ้านผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ ในลักษณะสหวิชาชีพมีการนำปัญหาผู้ป่วยที่เยี่ยมบ้านมาอภิปรายแลกเปลี่ยน และร่วมกันหาทางออกให้แก่ผู้ป่วย โดยมีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวเป็นผู้นำทางวิชาการที่ช่วยชี้แนะและให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด.
ทีมงานได้เล่าถึงความสำเร็จอันน่าภาคภูมิใจ ในการแก้ปัญหาของผู้ป่วยให้ฟังอยู่หลายกรณี.
ตัวอย่างผู้ป่วยจิตเวชรายหนึ่ง ซึ่งเป็นชายวัยกลางคน นอนบนแคร่ทั้งวัน ไม่พูดจากับใครเลยมา 5 ปี. ทีมเยี่ยมบ้านเข้าไปเยี่ยมดู แรกๆ ผู้ป่วยไม่ให้ความสนใจ แต่ทีมงานก็ขยันไปเยี่ยมพูดคุยให้กำลังใจ จนครั้งที่ 7 ผู้ป่วยยอมให้ฉีดยารักษา ให้การดูแลถึงบ้านแบบนี้ถึง 30 ครั้ง ผู้ป่วยอาการดีขึ้น สามารถลุกขึ้นทำกิจวัตรประจำวัน และในที่สุดสามารถทำอาชีพรับจ้างสูบลมยางรถฟื้นคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ได้อย่างน่ามหัศจรรย์.
ผมมีโอกาสไปเยี่ยมบ้านกับทีมงานอยู่ 2 ราย รายหนึ่งเป็นชาย อายุ 30 ปีเศษ มีปัญหาขาอ่อนแรงเนื่องจากเป็นวัณโรคไขสันหลัง ทีมนักกายภาพบำบัดได้ให้การบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยที่บ้านอย่างต่อเนื่อง โดยการทำราวเกาะเดินด้วยวัสดุง่ายๆ. ขณะไปเยี่ยมครั้งนี้ ผู้ป่วยสามารถเดินได้ดี และมีกำลังใจเข้มแข็ง.
อีกรายเป็นหญิงอายุ 80 ปี เป็นเบาหวาน และเกิดแผลเรื้อรังที่เท้า ทีมงานได้สอนเทคนิคการทำแผลแก่เจ้าหน้าที่อนามัย ซึ่งไปทำแผลให้คุณยายตอนค่ำทุกวัน ติดต่อกันนาน 3 เดือนจนหาย. ขณะไปเยี่ยมครั้งนี้ พบว่าแผลหายสนิท และได้สัมผัสความปิติของทั้งผู้ป่วย ครอบครัว และทีมงาน.
4. เป็นนักจัดการเครือข่ายปฐมภูมิระดับอำเภอ แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว มีบทบาทในการค้นหาและวิเคราะห์ปัญหาสุขภาพในชุมชน วางแผน ดำเนินการ ประเมินโครงการ และสรุป บทเรียน ร่วมกับทีมโรงพยาบาล สาธารณสุขอำเภอ สถานีอนามัย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเครือข่ายชุมชนอย่างต่อเนื่องตามวงจร "Plan-Do-Check-Act" ซึ่งจะเสริมความเข้มแข็งแก่เครือข่ายบริการปฐมภูมิของอำเภอในการแก้ไขและป้องกันปัญหาสุขภาพในชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล.
(รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สุรเกียรติ อาชานานุภาพ)
- อ่าน 4,001 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้