"โศก เศร้า เหงา กลัว"
ไม่ใช่ว่าผมกำลังจะชวนคุณหมอไปชมภาพยนตร์เรื่องใหม่กันหรอกนะครับ แต่ปิยวาจาทางคลินิกฉบับนี้เรากำลังจะมาคุยกันถึงเรื่องปฏิกิริยา ทางอารมณ์บางอย่างของคนไข้ต่างหาก.
ก่อนอื่นเลย ผมคงต้องถามคุณหมอว่า ในชีวิตการเป็นแพทย์คุณหมอออกโอพีดีตรวจคนไข้ แล้วเจอคนไข้มานั่งร้องไห้กับคุณหมอหรือไม่ ? เคยเจอกี่รายครับ ?
ผมมั่นใจว่าคุณหมอต้องเคยพบคนไข้ร้องไห้มาแล้วอย่างแน่นอน.
เมื่อคุณหมอเคยเจอคนไข้มานั่งร้องไห้ตรงหน้า ผมมีคำถามต่อไปว่า...คุณหมอทราบไหมครับว่า คนไข้ของคุณหมอร้องไห้ด้วยสาเหตุใด.
ก. โศกเศร้า (sadness)
ข. เหงา (loneliness) หรือ
ค. กลัว (fear) หรือ
ง. คุณหมอ ไม่แน่ใจ...ตอบไม่ได้
ตอบยากใช่ไหมครับ.
ส่วนมากแล้วเวลาเราพบคนไข้ร้องไห้ ก็มักจะตีความว่าคนไข้กำลังโศกเศร้า แต่ที่จริงแล้วการร้องไห้หรือ crying นั้น ไม่ได้เกิดจากความเศร้าเพียงอย่างเดียว หากแต่เป็นปฏิกิริยาของอารมณ์หลายอย่าง เช่น ความกลัว ความเหงา หรือแม้แต่วิตกกังวล.
ปัญหาสำคัญเวลาที่คุณหมอเจอคนไข้ร้องไห้ก็ คือ คุณหมอจะรับมือกับคนไข้ร้องไห้ได้อย่างไร ซึ่งหลักการสำคัญที่สุดในการรับมือกับคนไข้ที่มาร้องไห้โฮๆอยู่ที่ห้องตรวจก็คือ คุณหมอจะต้องเข้าใจเสียก่อนว่า คนไข้ของคุณหมอร้องไห้เพราะเหตุใด.
เพราะความโศกเศร้า, เหงา, กลัว หรือวิตกกังวล เมื่อคุณหมอสามารถวิเคราะห์ได้แล้วต่อไปก็จะสามารถจัดการรับมือได้ถูกวิธีครับ.
คุณหมออาจจะแย้งว่า ในชีวิตจริงไม่ใช่เรื่องง่ายสักหน่อยที่จะรู้ว่าคนไข้ร้องไห้เพราะอะไรเมื่อนั่งตรวจกันอยู่ดีๆ แล้วคนไข้ปล่อยโฮออกมา ในตอนนั้นคุณหมอคงไม่มีเวลาไปวิเคราะห์หรอกว่าคนไข้มีความรู้สึกอย่างไรถึงร้องไห้ออกมา.
ผมมีหลักการทั่วไปสำหรับจะรับมือคนไข้ในเบื้องต้นก่อนจะลงลึกไปถึงขั้นวิเคราะห์หาสาเหตุ1 ทำได้ดังนี้ครับ.
1. การแสดงออกซึ่งความเห็นอกเห็นใจ (em-pathy) เป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดในการรับมือกับคนไข้ที่ร้องไห้ไม่ว่าเขาจะร้องด้วยสาเหตุใดก็ตาม.
ตั้งใจฟังในสิ่งที่คนไข้เล่า แสดงให้คนไข้เห็นว่าคุณหมอสนใจและพยายามทำความเข้าใจ มีวิจัยทางการแพทย์หลายฉบับแสดงให้เห็นว่าเพียงแค่หมอเจ้าของไข้รับฟังอย่างตั้งใจเท่านั้นคนไข้หลายรายก็จะเริ่มรู้สึกดีขึ้นได้โดยที่คุณหมอยังไม่ต้องลงมือทำอะไรด้วยซ้ำ.
2. คุณหมอพึงตระหนักเอาไว้เสมอว่า ความโศกเศร้า, ความเหงา, ความกลัว ไม่ใช่โรคที่จะต้องรักษาให้หายเหมือนกับไข้หวัดหรือท้องเสียแต่เป็นปฏิกิริยาทางอารมณ์ที่คุณหมอสามารถช่วยให้คนไข้ดีขึ้นได้ด้วยการทำความเข้าใจ (understood)เขาให้มากขึ้น.2
เวลาเจอคนไข้ร้องไห้แบบนี้ คุณหมอสามารถแสดงความเข้าใจได้เพียงแค่ใช้คำพูดง่ายๆ ไม่กี่ประโยค เช่น
" ฟังดูเหมือนกับว่าคุณเอกชัย กำลังตกใจที่เกิดอาการแน่นหน้าอกขึ้นมากะทันหัน แถมอมยาอมใต้ลิ้นแล้วก็ยังไม่ดีขึ้น ใช่ไหมครับ" หรือ
" ฟังดูเหมือนกับว่าคุณปรียากำลังเสียใจที่ถูกออกจากงาน คุณคงรักงานที่ทำอยู่ประจำมากเลยนะครับ"
คำแนะนำสองข้อข้างต้น เป็นเครื่องมือให้คุณหมอรับมือกับคนไข้ที่อยู่ๆ ก็ร้องไห้โฮ ออกมาต่อหน้าคุณหมอในเบื้องต้น พอคุณหมอตั้งตัวได้แล้ว ก็ถึงเวลาจะมาวิเคราะห์กันละครับว่า คนไข้ร้องไห้ด้วยความรู้สึกใดกันแน่
สำหรับขั้นตอนในการวิเคราะห์หาสาเหตุก็ทำได้ไม่ยาก ผมมีคำแนะนำดังนี้ครับ
1. สังเกตภาษากาย (body language) ของคนไข้โดยละเอียด ไม่ต้องรีบนะครับ แต่พยายามให้เวลากับการสังเกตดูท่าทางต่างๆ เหล่านั้น ลักษณะท่าทางที่พบคนไข้แสดงให้เห็นได้บ่อยๆ ในเวชปฏิบัติ3 มีดังนี้
- คนไข้ที่กัดเล็บอยู่ตลอดเวลา หรือพยายามยกมือขึ้นมาปิดๆ บังๆ แถวริมฝีปาก มักเป็นคนไข้ที่มีความวิตกกังวลอยู่ในใจ
- คนไข้ที่ยกมือข้างใดข้างหนึ่งขึ้นแตะหรือกุมบริเวณหน้าผาก กำลังแสดงให้คุณหมอเห็นความเศร้าโศกภายในใจของเขา
- คนไข้ที่ยกมือขึ้นกอดอก เอนหลังพิงพนักเก้าอี้หรือทำท่าเหมือนจะหนีห่างออกไปจากคุณหมอเขากำลังแสดงถึงความกลัวหรือโกรธภายในใจออกมาครับ
ตัวอย่างที่ผมยกมานี้ เป็นภาษากายที่สังเกตได้ง่ายๆ คุณหมอลองใช้เวลาสักนิดก็จะได้เห็นและเข้าใจคนไข้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ขอเรียนคุณหมอว่าตัวอย่างข้างต้นนั้น เกิดขึ้นจากการศึกษาวิเคราะห์คนไข้จำนวนมากๆ อาจมีข้อยกเว้นในบางราย ที่ไม่ตรงไปตรงมาตามนี้ก็ได้
แต่สิ่งสำคัญที่สุดเหนืออื่นใดก็คือ ภาษาพูดนั้นโกหกกันได้แต่ภาษากายนั้นโกหกกันไม่ได้ครับ
2. คุยกับคนไข้อย่างตรงไปตรงมา โดยใช้เทคนิดดังต่อไปนี้ครับ
- หลีกเลี่ยงการใช้ศัพท์ยากๆ ฟังดูหรูหรา แต่ไม่ใช่ภาษาของคนทั่วไปนะครับ
สมมติว่าคนไข้ของคุณหมอกำลังกลัวอะไรสักอย่าง แทนที่จะพูดว่า"คุณพนิดากำลังวิตกกังวลอยู่ใช่ไหมครับ"
คุณหมอควรใช้คำพูดตรงๆ ไปเลยว่า
"ดูเหมือนคุณพนิดากำลังกลัวใช่ไหมครับ"
เพราะการวินิจฉัยโรค (วิตกกังวล) จากแค่ คุณหมอเห็นคนไข้ร้องไห้ ดูเหมือนจะเป็นการด่วนตัดสินคนไข้เร็วเกินไปสักหน่อย นอกจากนี้ ในยามที่คนไข้กำลังร้องไห้อยู่คงไม่มีสมาธิจะเข้าใจศัพท์หรูๆ ยากๆ หรอกครับ.
- การแสดงความเห็นอกเห็นใจ การรับฟังผู้ป่วยระบายอารมณ์และความรู้สึกต้องมีขอบเขตไม่ควรปล่อยให้คนไข้ร้องไห้แล้วพร่ำพูดอะไรไปเรื่อยๆ.
นอกจากนี้การปล่อยให้ผู้ป่วยพูดไปเรื่อยๆ อาจจะทำให้คุณหมอเริ่มหลงประเด็นเนื่องจากข้อมูลต่างๆที่พรั่งพรูออกมานั้น มีมากเกินไป.
ถ้าคุณหมอเห็นว่าให้เวลากับคนไข้มานานมากพอแล้ว และคนไข้เริ่มพูดจาวกวนหรือออกนอกเรื่องไปไกลคุณหมอควรดึงคนไข้กลับมาด้วยคำพูดง่ายๆ เช่น
" คุณพงษ์ศักดิ์ครับ หมอขอขัดจังหวะประเดี๋ยวนะ สรุปว่าคุณพงษ์ศักดิ์กำลังรู้สึกกลัวที่ทราบว่าตนเอง ติดเชื้อเอชไอวี ไม่ทราบว่าจะต้องดูแลตนเองอย่างไรบ้างใช่ไหมครับ"
- ในกรณีที่คุณหมอไม่มั่นใจว่า ตกลงคนไข้ร้องไห้เพราะอะไรกันแน่ หลังจากแสดงความเห็นอกเห็นใจ ปล่อยให้คนไข้ได้ระบายความรู้สึกออกมาพักใหญ่แล้ว อย่าใช้ความคาดเดา แต่คุณหมอควรถามคนไข้ออกไปตรงๆ เลยครับว่า "คุณกำลังรู้สึกอย่างไร ครับหวาดกลัวหรือกำลังเสียใจ".
เมื่อเราทราบความรู้สึกที่แท้จริงของคนไข้จะทำให้คุณหมอรับมือกับสถานการณ์ตรงหน้าได้ดีขึ้น และสามารถดูแลคนไข้ได้ดีขึ้นครับ.
แต่อย่างไรก็ตาม อย่าคาดหวังว่าเมื่อถามไปแล้ว คนไข้จะตอบคุณหมอออกมาตรงๆ จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ผมสังเกตเห็นว่าคนไข้ฝรั่งมักจะกล้าพูดแสดงความรู้สึกของตนเองออกมาตรงๆ ในขณะที่คนไข้ฝั่งเอเชียมักจะซ่อนเร้น เก็บความรู้สึกส่วนลึกของตัวเองเอาไว้ไม่ยอมเล่าออกมาให้เราฟังตรงๆ โดยเฉพาะคนไข้ที่เป็นเพศชายจะมีแนวโน้มเก็บอารมณ์และความรู้สึกมากกว่าคนไข้เพศหญิง ทั้งนี้อาจจะเป็นผลสืบเนื่องมาจากการเติบโตขึ้นมาในวัฒนธรรมที่แตกต่างกันก็เป็นได้.
3. หลังจากคุยกับคนไข้อย่างตรงไปตรงมาแล้ว ก็มาถึงขั้นตอนสำคัญถัดมานั่นก็คือการหยุดและนิ่งพักชั่วขณะ (pause).
การสื่อสารระหว่างคุณหมอและคนไข้ไม่จำเป็นต้องใช้คำพูดเสมอไป การหยุดนิ่งชั่วขณะก็เป็นส่วนสำคัญหนึ่งในการสื่อสารกับคนไข้ของเรา.4
การหยุดนิ่ง หรือ Pause สัก 5-10 วินาที เป็นเทคนิคที่มีประโยชน์มากครับ เพราะนอกจากจะทำให้คนไข้ตั้งสติได้แล้ว ยังช่วยให้คุณหมอมีเวลา "ย่อย" สารที่ได้รับจากคนไข้อีกด้วย.
4. มีอีกหนึ่งประเด็นที่คุณหมอต้องตระหนัก เอาไว้ด้วย นั่นคือ ในบางครั้งน้ำตาของคนไข้ไม่ได้หมายถึงความเศร้า กลัวหรือเสียใจเสมอไป หลายหนคนไข้ร้องไห้เพราะดีใจที่ผลการรักษาออกมาดีก็มีเหมือนกันนะครับ และสำคัญที่สุดคือข้อแนะนำต่อไปนี้.
5. คุณหมอต้องไม่ปลอบใจ พร้อมกับยืนยัน กับคนไข้ว่า "ไม่เป็นไร" ก่อนแสดงความเห็นอกเห็นใจนะครับ เพราะธรรมชาติของคนเราเวลาเห็น คนอื่นร้องไห้ต่อหน้า มักจะรีบปลอบใจด้วยคำว่า"ไม่เป็นไร" ก่อนเสมอ.
สำหรับในเวชปฏิบัติทำอย่างนั้นไม่ได้ครับ เราต้องเข้าใจ
ความรู้สึกของคนไข้เสียก่อน จากนั้นจึงค่อยปลอบใจ หรือให้คำยืนยันกับคนไข้ในขั้นตอนต่อไป.
ข้อนี้เป็นเรื่องสำคัญมากที่คุณหมอหลายๆ ท่านมักจะข้ามไป หรือหลายท่านอาจไม่เห็นความสำคัญว่าจะต้องทำทุกอย่างเรียงตามลำดับ ฉันอยากทำอย่างไรฉันก็จะเชื่อในสัญชาตญาณของตัวเอง.
ขอเรียนว่าความเข้าใจเช่นนั้นไม่ถูกต้องนะครับในการสื่อสารกับผู้ป่วยลำดับขั้นตอนของการแสดงออกของคุณหมอต่อคนไข้เป็นสิ่งจำเป็นครับโดยเฉพาะในคนไข้รายที่เราสื่อสารด้วยลำบาก (difficult patient).
เมื่อพบคนไข้ร้องไห้ต่อหน้าคุณหมอในครั้งหน้าที่ออกตรวจ ทดลองนำเทคนิคที่ผมแนะนำไปใช้นะครับ.
ใช้เวลาไม่มากนัก แต่คุณหมอจะพบว่าทำให้คุณหมอมั่นใจในการสื่อสารและดูแลคนไข้ขึ้นอีกมากมายอย่างแน่นอน.
พงศกร จินดาวัฒนะ พ.บ. ว.ว. (เวชปฏิบัติทั่วไป) อ.ว. (เวชศาสตร์ครอบครัว)
ศูนย์สุขภาพชุมชน 1 ,กลุ่มงานเวชกรรมสังคม ,โรงพยาบาลราชบุรี
- อ่าน 3,495 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้