Duckworth W, et al. Glucose Control and Vascular Complications in Veterans with Type 2 Diabetes. N Engl J Med 2009;360.
การศึกษา ADVANCE1 และ ACCORD2 ที่ผ่านมารายงานว่า การให้ยาลดน้ำตาลอย่างเข้มงวดไม่ลดอุบัติการณ์ของโรคหัวใจและหลอดเลือดในผู้ป่วยเบาหวาน อย่างไรก็ตามยังมีรายงานการศึกษาในประเด็นนี้เพิ่มเติมมาอีก การศึกษาใหม่ล่าสุดนี้ ทำในผู้ป่วยเบาหวานสูงอายุที่ควบคุมน้ำตาลในเลือดไม่ดีจำนวน 1791 คน อายุเฉลี่ย 60 ปี เป็นเบาหวาน มานานเฉลี่ย 11.5 ปี ผู้สูงอายุเหล่านี้มีดัชนีมวลกายเฉลี่ย 31) HbA1c 9.4% ส่วนใหญ่มีภาวะความดันเลือดสูง และ 2 ใน 3 มีภาวะแทรกซ้อนของหลอดเลือดเล็ก และร้อยละ 40 มีโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด นักวิจัยสุ่มแบ่งผู้ป่วยเป็น 2 กลุ่มๆรักษาเข้มข้น (892 คน) และกลุ่มควบคุม (899 คน) การรักษาเริ่มด้วยยากินสองขนาน และอาจฉีดอินซูลินเพิ่มในกรณีจำเป็นโดยกลุ่มเข้มงวดได้รับการในขนาดที่สูงกว่า และใช้อินซูลินมากกว่า การศึกษานี้ติดตามเป็นเวลานาน 5.6 ปี ตัวชี้วัดผลคือ อุบัติการณ์โรคหัวใจและหลอดเลือด การตาย และการรักษาผ่าตัดหลอดเลือด.
ผลการศึกษา ระดับ HbA1c ในกลุ่มเข้มงวดต่ำกว่ากลุ่มควบคุม (ร้อยละ 6.9 vs. ร้อยละ 8.4 ตาม ลำดับ) อัตราเสี่ยงของอุบัติการณ์ภาวะแทรกซ้อนในกลุ่มเข้มงวด (235 คน) มีน้อยกว่ากลุ่มควบคุม (264 คน) แต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ (HR 0.88, 95% CI 0.74, 1.05) ไม่มีแตกต่างในการเกิดโรคหัวใจกำเริบ หลอดเลือดสมอง หรือเข้ารับการผ่าตัดหลอดเลือด นอกจากนี้ไม่มีความแตกต่างในอัตราตาย (HR 1.7, 95%CI 0.81, 1.42) สำหรับผลข้างเคียงจากภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำเกินนั้นเกิดในกลุ่มควบคุม ร้อยละ 17.6 และในกลุ่มเข้มงวดร้อยละ 24.1.
สรุป การให้ยาอย่างเข้มงวดไม่ช่วยป้องกันการตายหรือการเกิดเหตุของโรคหัวใจและหลอด นอกจากนี้ยังไม่ช่วยให้การเกิดแทรกซ้อนของโรคหลอดเลือดเล็กด้วย.
จากผลการศึกษาก่อนหน้านี้และล่าสุดดูเหมือนว่า การรักษาเบาหวานควรเน้นการรักษาปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ความดันเลือดสูง ไขมันในเลือด น้ำหนัก และสูบบุหรี่ เป็นต้น.
เอกสารอ้างอิง
1. The ADVANCE Collaborative Group.Intensive blood glucose control and vascular outcomes in patients with type 2 diabetes. N Engl J Med 2008; 358:2560-72.
2. The Action to Control Cardiovascular Risk in Diabetes Study Group. Effects of intensive glucose lowering in type 2 diabetes. N Engl J Med 2008; 358:2545-59.
วิชัย เอกพลากร พ.บ., Ph.D.
รองศาสตราจารย์, ศูนย์เวชศาสตร์ชุมชน, คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล
- อ่าน 3,847 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้