คู่มือหมอครอบครัว 52 ครอบครัวที่หย่าร้าง (ตอนที่ 1)" [Divorcing family-episode 1]
"อีก 6 วัน จะถึงวันหย่าแล้วค่ะหมอ... ทำไมคะ ทำไมต้องมาเกิดกับหนู หนูไปทำอะไรผิด มันเจ็บมากค่ะหมอ รู้สึกสภาพจิตใจมันแย่สุดๆ ... เหงา...โหวงๆ... บอกไม่ถูก"
SMS ที่ถูกส่งมาจากคนไข้รายหนึ่ง แม้จะผ่านการพูดคุยปลอบโยน จิตบำบัดกันไปหลายรอบแล้ว ก็ยังรู้สึกแบบข้างบน แพทย์ พยาบาลหลายคนที่บังเอิญต้องไปรับทราบและให้คำปรึกษาเรื่องหย่าๆร้างๆบ้าง คงรู้สึกแวบแรกว่า "เอาอีกแล้ว... นี่ยังไม่หายอีกเหรอเนี่ย ... ยังทำใจไม่ได้อีกเหรอ... เมื่อไหร่จะทำใจได้สักที" ก่อนจะแอบถอนหายใจอีกสักตั้ง แล้วลงมือตอบ massage กลับไปแบบว่า "หมอเข้าใจค่ะ... เป็นกำลังใจให้นะคะ".
.... "เข้าใจหรือคะ เข้าใจจริงหรือคะ" อาจเป็นคำถามในใจของคนไข้หลังจากได้รับข้อความตอบกลับดังกล่าว .... นั่นสิ เราลองมาเข้าใจครอบครัวที่ต้องเผชิญหน้ากับสภาพดังกล่าวกันดีกว่าที่จะใช้คำปลอบโยนเพียงผ่านๆไป แล้วรู้ไหมคะว่าหมอควรคุยกับคนไข้เรื่องหย่าร้างอย่างไร มาดูกรณีศึกษานี้กันดีกว่าค่ะ
กรณีศึกษา
หญิงไทยคู่อายุ 31 ปี รองผู้จัดการบริษัทส่งออก คุณแม่ของลูกชายวัย 1 ขวบ.
อาการสำคัญ ปวดศีรษะรุนแรงเรื้อรังมานานหลายปี.
ประวัติปัจจุบัน อาการจะเป็นถี่ขึ้นและรุนแรงมากขึ้นในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา เคยไปตรวจมาหลายแห่ง หมอบอกแต่ว่าเป็นโรคเครียด เคยไป CT สมองก็ไม่มีอะไร หมอให้ยาแก้เครียดมากินก็ไม่หาย ยิ่งกินยายิ่งง่วงจนทำงานไม่ได้ เลยไม่กินยา กินได้แต่ยาไมเกรนเป็นครั้งคราว ไม่รู้เป็นโรคอะไรแน่ อยากหาย อยากจะทำงานได้เหมือนเดิม รู้สึกแย่ที่เอาเปรียบบริษัท เป็นถึงระดับหัวหน้าแต่ทำงานไม่คุ้มค่าจ้าง.
ปฏิเสธ ประวัติอุบัติเหตุที่ศีรษะ ไม่ดื่มเหล้า เบียร์ ไม่สูบบุหรี่ ไม่ได้ใช้ยาใดเป็นประจำ.
โรคประจำตัว เป็นโรคแพ้อากาศนานๆครั้งไม่เคยหอบหืด.
ประวัติประจำเดือน ปกติ สม่ำเสมอทุกเดือน กินยาคุมกำเนิดมานาน 8 ปี ไม่มีผลข้างเคียง ไม่ได้เปลี่ยนยี่ห้อยาคุม.
ประวัติครอบครัว แม่อายุ 54 ปี เป็นโรคความดันโลหิตสูงที่ควบคุมได้ดี ไม่ทราบประวัติครอบครัวทางพ่อ เพราะแม่หย่ากับพ่อตั้งแต่ผู้ป่วยคลอด มีพี่สาวอีก 2 คน อายุไล่ๆกัน แม่เลี้ยงลูกเองมาตลอด จนลูกทุกคนได้งานการทำมั่นคง คุณยายสบายดี คุณตาเสียชีวิตจากสงครามตั้งแต่คุณยายยังสาว ครอบครัวทางแม่อาศัยอยู่ต่างจังหวัด รักกันดี สนิทกันมาก.
ประวัติส่วนตัว แต่งงานเมื่อ 7 ปีก่อน สามีอายุน้อยกว่า 2 ปี เป็นรุ่นน้องที่มหาวิทยาลัย.
ตรวจร่างกายทุกระบบ ปกติ.
การซักประวัติปวดศีรษะเรื้อรังแบบเวชศาสตร์ครอบครัว
แพทย์ : ปวดศีรษะนี่เป็นมานานหลายปีเลยหรือค่ะ คงจะทรมานน่าดู (Reflection her long-term suffering) พอจะจำได้ไหมคะว่าเริ่มขึ้นตั้งแต่เมื่อไหร่ (Shifting time from healthy to unhealthy life)
ผู้ป่วย : โหย นานมากแล้วคุณหมอ จำไม่ได้หรอกค่ะ
เเพทย์ : เริ่มตั้งแต่ช่วงทำงานหรือเป็นมาตั้งแต่สมัยนักเรียนนักศึกษาค่ะ (Don't give up, Find out the changing time)
ผู้ป่วย : ตั้งแต่เข้ามหาวิทยาลัยค่ะ สมัยมัธยมไม่เป็นอะไรเลย แข็งแรงมาก เพื่อนๆและครูยังชมเพราะเป็นนักกีฬาทุกประเภท ชอบเล่นกีฬา (Onset in late adolescent)
แพทย์ : แล้วเกิดอะไรขึ้นสมัยเข้ามหาวิทยาลัยคะ (Focus life change before sickness)
ผู้ป่วย : คืองี้ค่ะ หนูมีแฟน (Onset of couple relationship) ก็ที่เป็นสามีคนปัจจุบันเนี่ยแหละค่ะ เขาเป็นรุ่นน้องหนู 2 ปี เขามาจีบ ตอนแรกเราก็ไม่อะไร แต่หนูเกิดท้องขึ้นมาตอนอยู่ปี 3 เขาปี 1 (Unplanned teen pregnancy) ตอนนั้นตกใจมาก เขาก็พาไปเอาออก...(ร้องไห้)... ยังจำติดตามาถึงทุกวันนี้ กลัวมากเลย รู้สึกแย่มากๆ บาปที่ฆ่าลูกตัวเอง แต่ตอนนั้นเราทั้งสองไม่พร้อมจริงๆค่ะ
แพทย์ : แล้วยังไงต่อคะ
ผู้ป่วย : ก็เริ่มทะเลาะกัน (Start of couple conflict) แล้วก็ปวดศีรษะ (Start of illness) เล่าให้แม่ฟังทีหลัง แม่ก็ว่าบาป ไม่ควรไปเอาออก แม่เลี้ยงให้ได้หลานคนเดียว (Stigma from the induced abortion) พอเรียนจบ ก็ทำงานรอจนเขาจบ แล้วก็แต่งงานกัน ก็คุมกำเนิดมาตลอด มันยังไม่พร้อม จนกระทั่งเมื่อปีก่อน เราทะเลาะกันมาก เขาก็เป็นฝ่ายอยากมีลูกเอง เขาอยากมีเองนะคะ เขาก็ให้หนูเลิกคุม (Decision to be parent is couple-quarrelling and husband's decision)
แพทย์ : ตอนนั้นก็ทะเลาะกันแล้วหรือคะ
ผู้ป่วย : ค่ะ เขาเป็นคนเจ้าชู้น่ะค่ะ (Flirtatious man) เป็นคนคุยเก่ง มีเสน่ห์ มีสาวๆมาสนใจเขาเยอะแต่เขาก็ได้แต่คุยนะคะ ส่วนเรื่องที่แย่เลยเพราะเขาทำงานที่บริษัทเดียวกัน แต่เขาไม่ตั้งใจทำงาน ทำผิดพลาดบ่อย ไม่ได้เลื่อนขั้น โดนตำหนิต่อหน้าคนอื่น (Unsuccessful man) กลับมาบ้านก็มาพาลกับเรา เพราะเราเป็นคนฝากเขาเข้าทำงานส่วนเราได้ดิบได้ดี เลื่อนขั้นไปเรื่อยๆ (Superior status in workplace than husband) เราเป็นคนทุ่มเทกับงานในขณะที่เขาทำไปวันๆ ก็พยายามให้กำลังใจเขานะคะ แต่เขาเป็นลูกชายคนเล็กของครอบครัวคนจีนน่ะค่ะ ถูกตามใจมาตั้งแต่เด็ก ส่วนหนูก็ลูกคนเล็กนะคะ แต่แม่เลี้ยง ให้เราพึ่งตัวเองได้มาตั้งแต่แรก (Birth order and cross-cultural marriage) เพราะเราไม่มีพ่อ
แพทย์ : เติบโตมาคนละอย่าง (Summarize point of different family rule) แล้วเป็นไงมาไงจนถึงขั้นจะหย่ากันล่ะคะ (Decision to divorce)
ผู้ป่วย : (ร้องไห้โฮ).... เขาขอหย่าเมื่อ 4 เดือนก่อนค่ะ (Who started) หลังจากที่ทะเลาะกันมาตลอด เราก็พยายามคุยพยายามถามตรงๆว่ามีอะไร จะได้พูดคุยกันเปิดเผย เขาก็ว่าไม่มีอะไร แต่เพื่อนที่ทำงานบอกมาตลอดแหละค่ะว่าเขามีหญิงอื่น (Couple love affairs) เราก็ยังไม่เชื่อ ยังเชื่อใจเขา เพราะเราเป็นคนเปิดเผย ชอบก็บอก ไม่ชอบก็บอก เป็นคนตรงๆอย่างนี้มาตลอด (Direct communication) ยังบอกเขาว่าถ้าเธอมีคนอื่นให้บอก ถ้าเธอหมดรักฉันแล้วให้บอก ฉันรับได้ ฉันไม่ชอบการโกหก (Perceive the indirect communication as lying) ฉันพร้อมไปถ้าไม่รักกันแล้ว ....จนกระทั่งวันหนึ่ง เขาก็บอกขณะเราทะเลาะกัน เขาบอกว่าเขาอยากได้อิสระค่ะหมอ เขาว่าเขาก็ยังรักเราอยู่เหมือนเดิม...คือ รักเราอย่างเพื่อน ไม่ใช่รักอย่างสามีภรรยา
แพทย์ : เขาว่าเขารักคุณอย่างเพื่อนมาตลอด (Repeating)....โอ้โห เจ็บน่าดู (Reflection her feeling)
ผู้ป่วย : ค่ะ...(ร้องไห้)... เขาบอกว่าเขาอยากได้อิสระ ขอเขาได้ไหม เขาว่าเขาไม่เคยขออะไรจากเราเลย ขอให้เขาได้ไหม เขาว่า...(ร้องไห้)... เขาอยู่กับเรามาด้วย..ความรับผิดชอบ!!! (Reason for marriage is only responsibility, not love) หนูช็อคไปเลยค่ะ รับผิดชอบเหรอ เธออยู่กับฉันมา 7 ปีด้วยความรับผิดชอบเหรอ เขาบอกว่าใช่ เขาเคยทำเราเสียใจทำเราท้องจนต้องพาไปทำแท้งเขาเลยรับผิดชอบด้วยระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมา เขาว่ามันนานพอแล้ว เขาขอเป็นอิสระ
แพทย์ : โอ้โห มีอย่างนี้ด้วย ไม่ได้อยู่เพราะรักเรา แต่เพราะรับผิดชอบชดใช้ให้ (Summarize point)
ผู้ป่วย : ค่ะ มันทุเรศไหมคะหมอ หนูว่ามันบ้า เธออยู่กับฉันเพราะความรับผิดชอบ ไม่ต้องมารับผิดชอบฉัน ฉันอยู่ของฉันมาเองได้ แต่เธอทำอย่างนี้ฉันเจ็บ เจ็บมาก มิน่าพอคลอดลูกมา เขาแทบไม่อยากไปหาลูก (Postpartum child neglect) ทั้งที่ลูกติดเขา เราต้องเอาลูกไปฝากพี่สาวเลี้ยงที่ต่างจังหวัดเพราะเราต้องทำงานกันทั้งคู่ เสาร์อาทิตย์ก็ จะชวนกันไปหาลูก แรกๆเขาก็ไปหลังๆเขาก็อิดออดอ้างโน่นนี่ปล่อยหนูไปคนเดียว จนกระทั่งเขามาบอกว่าขออิสระนี่แหละค่ะ
แพทย์ : แล้วคุณคิดยังไงคะเรื่องหย่าน่ะ (Idea of divorce)
ผู้ป่วย : ลำพังหนูไม่เท่าไหร่หรอกค่ะ หน้าที่การงานก็ดี (Finance competence) หนูเลี้ยงลูกรอดอยู่แล้ว(Child-rearing competence) ครอบครัวหนูก็ดี (Extended family support) ผิดกับครอบครัวเขาที่ไม่เคยแม้แต่จะให้ของรับขวัญลูก งานเลี้ยงแต่งงานยังแทบไม่เสียสักบาท แม่หนูออกเอง ตลอด ทั้งๆที่บ้านเขาเป็นเศรษฐีไม่รู้กี่พันล้าน ครอบครัวหนูไม่รวยแต่ไม่งกหรอกค่ะ (Seem to be the un-acceptable marriage from the husband's family)
แพทย์ : คุณคิดว่าคุณสามารถเลี้ยงลูกได้ลำพัง (Competence toward child custody) แต่มันทำให้คุณรู้สึกยังไงบ้างล่ะคะ (Feeling)
ผู้ป่วย : (ร้องไห้) มันเจ็บค่ะหมอ ไม่อยากให้ลูกต้องมาเจอสภาพเดียวกับหนูตอนเล็กๆ ตอนที่พ่อหย่ากับแม่ หนูยังเล็กมาก จำพ่อได้เลาๆ รู้สึกโหยหาเขามาก อยากตามหาเขา รู้สึกเราขาดอยู่ตลอดเวลา เวลาเรามีลูก เราไม่อยากให้ลูกรู้สึกเจ็บเหมือนเราที่เป็นมาตลอดชีวิต (Family ghost) แต่มันก็มาเป็นจนได้ มันทำไมต้องเกิดกับหนูคะ หนูรู้แล้วว่าแม่รู้สึกยังไง พ่อเขาก็หย่าไปเพราะมีเมียอื่นนี่แหละค่ะ (Family pattern) แม่เจ็บ แต่เข้มแข็งมาก เลี้ยงลูกสาวสามคนมาเองได้อย่างกล้าหาญ (Single-mom family) หนูแทบไม่เคยเห็นแม่ร้องไห้เลย ครั้งนี้ก็เหมือนกัน รู้ว่าแม่เจ็บเพราะเรื่องของหนู แต่แม่กลับเป็นฝ่ายปลอบเรา ยืนได้ก่อนเรา ทำไมหนูไม่เข้มแข็งเหมือนแม่
แพทย์ : สถานการณ์ขนาดนี้ เป็นหมอ ก็คงเข้มแข็งไม่ไหวเหมือนกันแหละค่ะ (Empathy and allow her feeling) แล้วนี่หลังจากเขาขอหย่า เกิดอะไรกับคุณสองคนบ้างคะ (couple reaction after divorce talk)
ผู้ป่วย : หนูก็พยายามรักษาครอบครัวไว้ให้ได้ พยายามคุยกับเขาดีๆ พยายามทำทุกอย่างให้มันดีขึ้น (Restructuring marital relationship) แต่เหมือนกับว่ายิ่งทำยิ่งแย่ค่ะ เขาหาว่าหนูจะทำให้เขารู้สึกผิดไปอีกทำไม เราไปกันไม่ได้หรอก เขาบอกแล้วไงว่าเขาขออิสระจากเรา เขาไม่ได้บอกว่าเขามีคนอื่น เขาแค่บอกว่าอยากอยู่คนเดียวโดยไม่มีหนู ไม่มีลูก ยิ่งหนูทำดี เขากลับยิ่งโหดร้ายมากขึ้น
เมื่อสัปดาห์ก่อนเขากระแทกหนูติดตู้เสื้อผ้า บีบคอหนู บอกให้เลิกยุ่งกับเขา (Intimidation form of couple violence) หนูตกใจมาก เขาไม่เคยรุนแรงแบบนี้มาก่อน หลังจากนั้นเราก็ไม่พูดกันอยู่ 2-3 วัน อยู่ๆเขาก็มาเคาะห้องหนูแล้วขอนอนด้วย (Asking for sex after physical separation) พอเสร็จกิจ เขาก็กลับไปนอนห้องเขา ทิ้งหนูนอนอยู่ในห้องคนเดียว เขาเห็นหนูเป็นตัวอะไร เหมือนผู้หญิงหากินเหรอ (Sexual and emotional abuse)
แพทย์ : แล้วนี่คุณจะทำอย่างไรต่อไป แยกห้องกันแล้ว เขายังมาขอมีเพศสัมพันธ์อยู่อีก ครั้งหน้าคุณจะว่าอย่างไร (Sex is your choice, not only his demand)
ผู้ป่วย : หนูก็แอบคิดว่ามันอาจจะกลับมาดีกันได้ หนูก็เลยยอม (Fantasy of reunion) แต่ครั้งหน้าหนูคงไม่ยอมแล้ว เพราะมันกลับทำให้หนูรู้สึกแย่ลงไปอีก
...........................................................
จากบทสนทนาข้างต้น คงจะเห็นแล้วว่าสุขภาพครอบครัวที่หย่าร้างมีผลโดยตรงต่ออาการปวดศีรษะเรื้อรังของผู้ป่วย และแพทย์มีหน้าที่ค้นหาสาเหตุองค์รวมของอาการป่วยมากกว่าทำหน้าที่ค้นหาเพียงความผิดปกติของร่างกาย หรือบอกเพียงชื่อโรคว่าปวดศีรษะจากความเครียดแล้วจ่ายยากลับไปกินให้หลับ โดยไม่ได้ช่วยให้ผู้ป่วยเข้าใจความเชื่อมโยงระหว่างเหตุกับผลที่ทำให้เกิดความเจ็บป่วยของตนเอง ว่ามาจากชีวิตส่วนไหนที่มันเครียด บทความตอนต่อไปจะมาวิเคราะห์ประวัติที่ได้มาจากบทสนทนาข้างต้นและมาทำความเข้าใจกับระยะต่างๆของครอบครัวที่หย่าร้าง.
(ตอนที่ 2 อ่านต่อฉบับหน้า)
สายพิณ หัตถีรัตน์ พ.บ.,
ว.ว. (เวชปฏิบัติทั่วไป), อ.ว.(เวชศาสตร์ครอบครัว), ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
- อ่าน 5,024 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้