ภาวะสมองไหลอาจเป็นที่มาของการฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทาง ซึ่งชัดเจนว่า ช่วยคลี่คลายปัญหานี้และมีผลสืบเนื่องมาจนปัจจุบัน.
วันนี้จำนวนแพทย์เฉพาะทางมากกว่าแพทย์ทั่วไปเกือบ 4 เท่า แนวโน้มนี้อาจเปลี่ยนแปลง เมื่อเริ่มมีสัญญาณบ่งชี้ว่า แพทย์ใช้ทุนสละที่นั่งในการเข้าฝึกอบรมอายุรศาสตร์ หันไปทำงานต่อในโรงพยาบาลชุมชน เมื่อค่าตอบแทนแพทย์ในโรงพยาบาลชุมชนเพิ่มขึ้นทันตาเห็นและก้าวกระโดด อีกทั้งยังสามารถไต่บันไดวิชาชีพไปถึงระดับเก้า.
การอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ เพื่อหวังแก้ปัญหาโดยมองเป็นจุดๆ มีทั้งผลดีและผลเสีย ที่ น่าถามคือ อะไรมากกว่ากันและถ้ามีผลดีมากกว่า ผลดีนั้นจะยั่งยืนเพียงใด ลึกไปกว่านั้นอาจมีคำถามว่า ผลดีนั้นแปลว่า อะไร ใครได้ใครเสีย.
เพื่อตอบคำถามเหล่านั้น จำเป็นต้องพิเคราะห์ให้ละเอียดว่า "การอัดฉีดเงิน" คือ อัดฉีดอย่างไร
2-3 ปีก่อน สปสช.เคยฉีดเงินไปให้แพทย์ที่อยู่เวรห้องฉุกเฉิน เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนตรงนั้น ทำไปได้ 1-2 ปีก็ต้องเลิก เพราะเกิดแรงเสียดทานจากแพทย์ที่อยู่เวรคนไข้ในและแผนกอื่นๆ เนื่องจากพวกเขาก็อยู่เวรแต่ไม่ได้ค่าตอบแทนเพิ่ม พยาบาลก็ไม่พอใจเพราะอยู่เวรเหมือนกันแต่ไม่ได้ค่าตอบแทนเพิ่ม.
ก่อนหน้านั้น ระบบจ่ายค่าตอบแทนตามผลงานซึ่งยังสืบเนื่องมาในปัจจุบัน ทำให้แพทย์โรงพยาบาลเอกชน ขยันทำหัตถการ ตรวจเยี่ยมคนไข้ สั่งการรักษา สืบค้น นำไปสู่ผลกระทบทางลบ เช่น ผลข้างเคียงจากยาหรือหัตถการ การแย่ง(เงิน)ผู้ป่วย ความสูญเปล่าในการใช้ยาและใช้บริการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ฯลฯ.
ในทางตรงกันข้าม สปสช.อัดฉีดเงินเป็นค่ายาละลายลิ่มเลือดเพื่อรักษาคนไข้หลอดเลือดสมองอุดตัน แต่ไม่จ่ายเป็นค่าตอบแทนบุคลากร กลับนำไปสู่การสร้างนวตกรรมที่ยังประโยชน์แก่คนไข้ชัดเจนและดีกว่าของฝรั่ง ดังบทความใน คอลัมน์ "นานาสาระ" เรื่องความสำเร็จของระบบ Stroke Fast Track ของรองศาสตราจารย์ นายแพทย์สมศักดิ์ เทียมเก่า (หน้า 386-388).
เช่นเดียวกัน การรู้จักใช้เงินอย่างยืดหยุ่นโดยยึดประโยชน์ของคนไข้ ทำให้ผู้พิการในชุมชนชนบทที่อำเภอ ภูกระดึง หล่มสัก กาฬสินธุ์ ฉวาง ด่านซ้าย และอีกหลายแห่งได้รับบริการกายภาพบำบัดซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อนเพียงเพราะความเชื่อว่า บริการกายภาพบำบัด ทำได้เฉพาะในโรงพยาบาลที่มีความพร้อมเท่านั้น (เครื่องมือพร้อม บุคลากรพร้อม) ในขณะที่ผู้พิการและยากจนในเมืองกลับไม่ได้รับการเหลียวแลทั้งๆที่อยู่ใกล้โรงพยาบาลที่มีความพร้อมในอำเภอเมืองหรือเขตเทศบาล!!!!
การแก้ปัญหาในระบบบริการสุขภาพซึ่งแท้ที่จริงมีความซับซ้อนมากกว่าในรูปหลายเท่านัก ด้วยวิธีคิดแบบเอาง่ายเข้าว่า จึงยากที่จะเป็นคำตอบให้กับคำถามยุ่งๆดังกล่าว แต่ความจริงที่ยากจะปฏิเสธ ก็คือ ดูเหมือนว่า การแก้ปัญหาแบบเอาง่ายเข้าว่า เป็นที่นิยมมากกว่า การแก้ปัญหาด้วยวิธีคิดอย่างรอบด้าน.
ในระบบอันซับซ้อน พฤติกรรมของระบบเป็นสิ่งที่ยากแก่การคาดคะเน เพราะมีตัวแปรมากมาย แต่ละตัวแปรล้วนสัมพันธ์กับตัวแปรอื่นๆอย่างสลับซับซ้อน การแก้เป็นจุดๆ ในระบบเช่นนี้ อาจได้ผลคล้ายการ กดลูกโป่ง เป็นจุดๆแล้วมันก็ไปโป่งอีกจุด.
คำว่า .เครือข่าย. เป็นวิธีหนึ่งในการพิจารณาความซับซ้อนของระบบ มีความพยายามจำแนกเครือข่ายเป็นสองลักษณะ ได้แก่ เครือข่ายที่ประกอบขึ้นด้วยจุดเชื่อม (node) ทั้งหลายซึ่งโยง (link) เข้าหากันโดยไม่มีจุดเชื่อมใดมีจำนวนเส้นโยงใยโดดเด่นเป็นพิเศษ และตรงกันข้าม เครือข่ายที่มีเพียงบางจุดเชื่อมที่โดดเด่นด้วยเส้นโยงใย และบางจุดเชื่อมเกือบจะไม่มีเส้นโยงใยเลย เครือข่ายชนิดที่สองพบได้ในโลกไซเบอร์ อย่างเช่น Youtube เป็นตัวอย่างจุดเชื่อมที่มีเส้นโยงใยมหึมา.
ลองจินตนาการดูว่า ถ้าวันหนึ่ง Youtube เกิดล่มจะเกิดอะไรขึ้นกับแฟนๆที่โยงใยเข้าหาเพื่อ download vdo clip.
สำหรับคนที่สามารถโจมตี Youtube ให้ล่มได้ โดยง่าย Youtube ย่อมมีความหมายในฐานะ "จุดคานงัด" ของการเปลี่ยนแปลงระบบ.
ด้วยวิธีคิดเกี่ยวกับเครือข่ายดังกล่าว การมองหาจุดคานงัด อาจหมายถึงการตั้งต้น ทำแผนที่เครือข่าย เพื่อค้นหาลักษณะของเครือข่าย ซึ่งถ้าเป็นดังเครือข่ายชนิดที่สอง และรู้วิธีจัดการกับจุดเชื่อมที่โดดเด่นโดยไม่ต้องออกแรงมาก ก็ย่อมเป็นไปได้ที่จะเจอจุดคานงัดในที่สุด.
(ศาสตราจารย์ นายแพทย์ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล)
- อ่าน 3,438 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้