โรคหลอดเลือดสมองหรือ stroke เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 3 รองจากโรคเอดส์ และการบาดเจ็บผู้ป่วยที่ไม่เสียชีวิตก็จะมีความพิการหลงเหลือเป็นจำนวนมาก การรักษามาตรฐานในปัจจุบันคือ การให้ยาต้านเกร็ดเลือดหรือยาต้านการแข็งตัวของเลือดกรณีสมองขาดเลือด. การรักษาโรคที่เป็นสาเหตุ หรือปัจจัยเสี่ยงได้แก่ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง อย่างไรก็ตามการรักษาข้างต้นมีเป้าหมายหลักคือป้องกันการเป็นซ้ำ.
Stroke Fast Track เป็นความหวังของแพทย์และผู้ป่วยที่ต้องการให้สมองที่ขาดเลือดมีเลือดกลับมาเลี้ยงให้เร็วที่สุด สมองส่วนที่ขาดเลือดจะได้มีขนาดเล็กที่สุด ความพิการที่เกิดขึ้นจะได้น้อยที่สุดโดยการให้ยา rt-PA ทางหลอดเลือดดำภายใน 180 นาทีแรกหลังจากมีอาการในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองชนิดขาดเลือด.
ได้เริ่มมีการนำ Stroke Fast Track มาใช้รักษาผู้ป่วยในประเทศไทยเมื่อหลายปีก่อนโดยเริ่มในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยส่วนกลางและโรงพยาบาลเอกชนในกรุงเทพฯ ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก แต่ผู้ป่วยอีกเป็นจำนวนมากยังเข้าไม่ถึงเนื่องจากมีข้อจำกัดเรื่องการพัฒนาขีดความสามารถของโรงพยาบาลที่ให้บริการรักษาและค่าใช้จ่ายในการรักษา.
มีคนกล่าวว่า "โชคดีที่เกิดเป็นคนไทย และอยู่ในประเทศไทย" คำกล่าวเป็นจริงกับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองชนิดขาดเลือด เมื่อทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้จัดโครงการ Stroke Fast Track ขึ้นในปี พ.ศ. 2551 โดยมีโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการทั้งในส่วนกลางและต่างจังหวัด เช่น โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โรงพยาบาลหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โรงพยาบาลชลบุรี หลังจากได้เริ่มให้บริการ Stroke Fast Track มาได้ประมาณ 1 ปี.
ด้วยเล็งเห็นคุณค่าของการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง สำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย (สวปก.) จึงได้เชิญทีมผู้ให้บริการ Stroke Fast Track จากโรงพยาบาลข้างต้นนำเสนอการให้บริการเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2552 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินและพัฒนาระบบบริการ Stroke Fast Track อย่างรอบด้าน ผมได้มีโอกาสรับฟังและเสนอความคิดเห็นแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างผู้นำเสนอและตัวแทนจาก สวปก. ได้แก่ นายแพทย์ ดร.สัมฤทธิ์ ศรีธำรงสวัสดิ์ และศาสตราจารย์ นายแพทย์ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล บรรยากาศการประชุมเป็นไปอย่างสร้างสรรค์.
ผมได้เรียนรู้ระบบการให้บริการ Stroke Fast Track จากโรงพยาบาลต่างๆได้ทราบถึงจุดเด่นและปัจจัยของความสำเร็จ ซึ่งผมขอสรุปและนำเสนอต่อท่านผู้อ่านโดยมีวัตถุประสงค์ให้ผู้อ่านนำวิธีการบริหารจัดการระบบบริการ Stroke Fast Track ไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับโรงพยาบาลของท่าน ผมมีความเชื่อว่าจะเป็นการประหยัดเวลาและงบประมาณที่ท่านจะต้องเริ่มต้นทำใหม่ และอาจจะพบอุปสรรคเหมือนกับที่โรงพยาบาลต่างๆ ได้ประสบมาแล้ว ถ้าท่านได้อ่านบทความนี้และได้ศึกษาในรายละเอียดจากผู้ให้บริการจริงๆจะทำให้ท่านประสบผลสำเร็จอย่างรวดเร็ว.
โรงพยาบาลศรีนครินทร์ ได้เริ่มจัดตั้งทีมดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2551 หลังจากได้เข้าร่วมโครงการ Stroke Fast Track โดยมีท่านรองผู้อำนวยการโรงพยาบาลด้านบริการสู่ความเป็นเลิศเป็นประธานกรรมการ ต่อมา ได้มีการปรับโครงสร้างกรรมการบริหารจัดการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองครบวงจร ประกอบด้วยอนุกรรมการ 3 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายส่งเสริมและป้องกันโรค ฝ่ายรักษาพยาบาล และฝ่ายฟื้นฟูสภาพโดยการให้บริการ Stroke Fast Track ขึ้นกับฝ่ายรักษาพยาบาล.
กิจกรรมบริการวิชาการที่ทางโรงพยาบาลศรีนครินทร์ได้จัดขึ้น ได้แก่
1. กิจกรรมวันอัมพาตโลก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 เป็นต้นมา.
2. กิจกรรมแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนในจังหวัดขอนแก่นเรื่องการให้บริการ Stroke Fast Track.
3. สัมภาษณ์สดทางรายการโทรทัศน์ช่อง NBT จังหวัดขอนแก่น.
4. รายการรู้ทันสุขภาพกับโรงพยาบาลศรีนครินทร์เรื่อง โรคหลอดเลือดสมองทางด่วนโรคหลอดเลือดสมอง การใช้ยาละลายลิ่มเลือด และการฟื้นฟูสภาพผู้ป่วยทางสถานีโทรทัศน์เคเบิลท้องถิ่น.
5. DVD เรื่องโรคหลอดเลือดสมอง.
6. ปฏิทินประจำปี 2552 เรื่องโรคหลอดเลือดสมอง.
7. ประชุมวิชาการสำหรับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในจังหวัดขอนแก่น และญาติผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง.
8. ประชุมวิชาการสำหรับผู้สนใจทั่วไปในการประชุมวิชาการ สวทช. 2009 ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี.
ซึ่งทางโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ก็จัด กิจกรรมคล้ายๆ กับทางโรงพยาบาลศรีนครินทร์ ส่วนโรงพยาบาลหาดใหญ่และชลบุรีมีทีมโรคหลอดเลือดสมองบริการเยี่ยมบ้านเพื่อให้การดูแลที่ครบวงจร.
โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียติมีการสร้างเครือข่ายโรงพยาบาลที่ร่วมให้บริการอย่างเป็นระบบรวมทั้งการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ EMS ที่ให้บริการทางโทรศัพท์หมายเลข 1669 มีขั้นตอนการดำเนินการรักษาตามขั้นตอนของ Stroke Fast Track ตั้งแต่โรงพยาบาลชุมชนที่อยู่ในเครือข่าย และผู้ป่วยทุกรายจะได้รับการประเมินจากประสาทแพทย์ ที่ทุ่มเทอย่างมาก สามารถให้คำปรึกษาได้ตลอดเวลา ผมย้ำว่าตลอดเวลาและทุ่มเทจริงๆ ไม่ว่าในหรือนอกเวลาราชการทั้งในประเทศและต่างประเทศ.
การเรียนรู้จากการนำเสนอ
ผมได้เรียนรู้วิธีการให้บริการของแต่ละโรงพยาบาล องค์ประกอบแห่งความสำเร็จของการให้บริการ Stroke Fast Track ได้แก่
1. การบริหารจัดการในทีม ต้องมีการกระจายอำนาจ กำหนดบทบาทหน้าที่ชัดเจน.
2. ความทุ่มเท ร่วมแรงร่วมใจของทีม.
3. เครือข่ายโรงพยาบาลที่ร่วมให้บริการและ การบริหารจัดการระบบที่รวดเร็ว.
4. การสนับสนุนจากผู้บริหารโรงพยาบาล.
5. เจ้าภาพหรือผู้รับผิดชอบหลักที่ต้องมีความรู้ ประสบการณ์ และความทุ่มเท.
ผู้ป่วยที่ได้เข้าระบบ Stroke Fast Track ใน แต่ละโรงพยาบาลมีเป็นจำนวนไม่น้อย เช่น โรงพยาบาลศรีนครินทร์ประมาณ 3 รายต่อเดือนและได้รับยา rt-PA 1 รายต่อเดือน ซึ่งก่อนจะเริ่มโครงการนั้น เรากลัวว่าจะหาผู้ป่วยเข้าร่วมโครงการไม่ได้ ชี้ให้เห็นว่าผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองมาโรงพยาบาลเร็วขึ้นมาก ถ้าเราทราบถึงสาเหตุของผู้ป่วยที่ไม่ได้มารับการรักษาภายใน 3 ชั่วโมงแรกได้ ก็จะสามารถทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาได้มากกว่านี้.
โอกาสพัฒนา
ผมได้เสนอต่อที่ประชุมว่า เราต้องร่วมมือกันอย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาระบบการให้บริการ Stroke Fast Track อย่างต่อเนื่อง ดังนี้
1. การรวบรวมข้อมูลผู้ป่วย stroke แบบสหสถาบัน และมองหาปัญหา เพื่อนำมาวางแผนแก้ไขการดูแลผู้ป่วยอย่างครบวงจร.
2. ร่วมมือกันแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเรียนรู้จากการให้บริการ เพื่อการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ไม่ต้องเกิดข้อผิดพลาดซ้ำเดิม.
3. พัฒนาเครือข่ายโดยเรียนรู้จากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ.
4. จัดระบบการพัฒนาบุคลากรในทีมให้มีความรู้ความเข้าใจและทัศนคติที่ดีต่อโรคหลอดเลือดสมอง.
5. รณรงค์ให้ประชาชนทั่วไปมีความรู้ความเข้าใจและการปฏิบัติที่ถูกต้องต่อโรคหลอดเลือดสมอง.
สรุป
ผมขอสรุปองค์ประกอบที่สำคัญของความสำเร็จ ในการบริการ Stroke Fast Track ได้แก่ 1. เจ้าภาพ 2. ความทุ่มเท และ 3. การสนับสนุนจากผู้บริหาร ผมเห็นด้วยว่าการเกิดเป็นคนไทยมีความโชคดีจริงๆ ด้วย.
สมศักดิ์ เทียมเก่า พ.บ., รองศาตราจารย์
สาขาวิชาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
- อ่าน 12,780 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้