• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

สายตาสั้นกับการทำเลสิก

ถาม : พรรณี/กรุงเทพฯ
ปัจจุบัน อายุ 35 ปี สายตาสั้น 400 ทำงานประจำที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ทุกวัน ต้องการทราบว่าการทำเลสิกแพทย์ผ่าตัดอะไรบริเวณดวงตาบ้าง และผ่าตัดแล้วต้องใส่แว่นอีกหรือไม่ เพราะเห็นว่ามีหลายโรงพยาบาลโฆษณาบริการทำเลสิก

 

ตอบ : นพ.ศักดิ์ชัย วงศกิตติรักษ์
เลสิก มาจากภาษาอังกฤษว่า Laser In-Situ Keratomileusis : LASIK
เลสิกเป็นวิธีการผ่าตัดรักษาภาวะสายตาผิดปกติ (สายตาสั้น สายตายาว โดยกำเนิด และสายตาเอียง) โดยใช้เครื่องแยกชั้นกระจกตา แยกชั้นกระจกตาให้มีความหนาประมาณ 1 ใน 3 ของความหนาของกระจกตาทั้งหมด แล้วใช้เอ็กซ์ไซเมอร์เลเซอร์ (excimer laser) ขัดเนื้อกระจกตาชั้นกลาง เพื่อเปลี่ยนความโค้งของกระจกตาโดยรวม แล้วจึงปิดผิวกระจกตาเข้าที่เดิม

เอ็กซ์ไซเมอร์เลเซอร์เป็นลำแสงที่มีความยาวคลื่นอยู่ในช่วงแสงอัลตราไวโอเลต เป็นลำแสงชนิดเย็นที่มีพลังงานสูง จึงสามารถตัดกระจกตาให้บางลงเป็นรูปต่างๆ ตามต้องการได้อย่างแม่นยำ สามารถกำหนดความละเอียดในการเจียรกระจกได้ถึง 1 ใน 1,000 มิลลิเมตร โดยไม่ก่อให้เกิดความร้อนหรือทำลายเนื้อเยื่อบริเวณข้างเคียง สามารถใช้รักษาสายตาผิดปกติชนิดต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความปลอดภัยสูง และมีผลข้างเคียงน้อยมาก

ข้อดีของการรักษาด้วยวิธีเลสิก
1. เลสิกเป็นการรักษาภาวะสายตาผิดปกติอย่างถาวร
2. ใช้เวลาในการผ่าตัดและการพักฟื้นสั้น แผลหายเร็ว
3. สามารถมองเห็นได้ทันทีหลังการผ่าตัด แต่อาจจะยังไม่คมชัดเต็มที่ในวันแรก
4. ไม่ต้องฉีดยาชา เพียงแต่ใช้ยาชาหยอดตา และไม่มีการเย็บแผล


เลสิกกับการเพิ่มคุณภาพชีวิต
1. เปิดอิสระแห่งการมองเห็น ลดการพึ่งพาแว่นและคอนแทกเลนส์
2. เพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพบางอาชีพ
3. เพิ่มความสะดวกสบายในการดำเนินชีวิต
4.  เพิ่มความคล่องตัวในการประกอบกิจกรรม งานอดิเรกหรือกีฬา โดยเฉพาะกีฬาทางน้ำ และกีฬากลางแจ้ง
5.เสริมสร้างบุคลิกภาพ


ผลข้างเคียง และภาวะแทรกซ้อน

ผลข้างเคียงและภาวะแทรกซ้อนจากการทำเลสิกนั้นเป็นภาวะไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้นกับผู้รับการรักษาด้วยวิธีเลสิก ถึงแม้จะมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก ผลข้างเคียงและภาวะแทรกซ้อนบางอย่างสามารถหายได้หลังการตรวจประเมินสภาพตาโดยสมบูรณ์
 

ผู้ที่เหมาะสมสำหรับการรักษาด้วยวิธีเลสิก
1. มีอายุ 18 ปี ขึ้นไป และมีสายตาคงที่อย่างน้อย 1 ปี

2. มีปัญหาในการสวมแว่นหรือคอนแทกเลนส์ อันเนื่องมาจากอาชีพ กิจวัตรประจำวันรวมไปถึงงานอดิเรก

3. ไม่อยู่ระหว่างตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร

4. ไม่มีโรคของกระจกตา และโรคตาอย่างอื่นที่รุนแรง เช่น จอประสาทตาเสื่อม ตาแห้งอย่างรุนแรง หรือโรคทางร่างกายที่มีผลต่อการหายของแผล เช่น โรคเบาหวาน โรคเอสแอลอี

5. มีความเข้าใจถึงการผ่าตัดด้วยวิธีเลสิกอย่างละเอียด และมีความคาดหวังที่ถูกต้อง

หมายเหตุ :  เลสิกเป็นวิธีการรักษาภาวะสายตาสั้น สายตายาวโดยกำเนิดและสายตาเอียง แต่ไม่สามารถรักษาภาวะสายตายาวในผู้สูงอายุได้ เนื่องจากสายตายาวในผู้สูงอายุเกิดจากกล้ามเนื้อตาเสื่อมตามอายุ เลสิกไม่ได้ไปทำให้กล้ามเนื้อตาตึงแต่อย่างใด แต่ไปปรับความโค้งของกระจกตา