• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

จัดฟัน 8 ปีไม่ดีขึ้น

ถาม : ทวีป/กรุงเทพฯ

ได้อ่านข้อความที่คุณหมอตอบคนไข้เกี่ยวกับอาการปวดขากรรไกรสามารถรักษาได้จากการจัดฟัน ผมคิดว่าไม่สามารถทำได้เพราะคนไข้ที่ยังมีอาการเจ็บหรือปวดอยู่จะไม่มีหมอคนไหนจัดฟันให้ ผมไม่ได้คิดขึ้นเองแต่เกิดจากที่ผมไปพบหมอฟันและหมอกระดูกขากรรไกรมาแล้วและอยากขอคำปรึกษาคุณหมอ

ก่อนจัดฟันผมไม่เคยมีอาการเจ็บป่วยหรือปวดขากรรไกรเลย เมื่ออายุ 20 ปี เริ่มจัดฟัน เพราะฟันไม่สวย จัดฟันได้ประมาณ 2-3 ปี มีการเปลี่ยนแปลงของขากรรไกรถอยหลังเข้าหาตัวเพราะฟันหน้าถูกดึงเข้ามา

ขณะนั้นผมมีอาการปวดขากรรไกร เพราะอยู่ผิดธรรมชาติ หลังจากนั้นจัดฟันได้ 8 ปี มีอาการปวดขากรรไกรมากจนแก้มชาหน้าชา ปวดตามาก ปวดกระดูกคอ ปวดรูหู นั่นคือ 8 ปี จัดฟันไม่สำเร็จ จึงขอถอดเหล็กจัดฟันออกเพราะทนปวดไม่ไหวและหมอที่จัดฟันให้บอกว่ารักษาได้ด้วยการจัดฟันวิธียก ผมทนจัดฟันมา 8 ปีแล้ว และวิธียกมีแต่ปวดมากกว่าเดิมจึงขอเลิกเปลี่ยนไปรักษาที่จุฬาฯ อีก 2 ปี อาการดีขึ้นแต่ยังไม่หายปวดขากรรไกร ซึ่งขณะนี้ขากรรไกรไม่ได้อยู่ในตำแหน่งธรรมชาติเดิมที่เกิดมา ช่วยแนะนำทางออกให้ผมด้วยครับ

 

ตอบ : ทพ.ไพฑูรย์ สุริยะวงศ์ไพศาล
เท่าที่ประเมินจากข้อมูลที่คุณให้มา ที่ว่ามีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งขากรรไกร จากเดิมโดยเลื่อนเข้าหาตัวนั้น หรือมีการถอยหลังของกระดูกขากรรไกรล่าง เนื่องจากการดึงฟันหน้าบนเข้ามาซึ่งคงมีเป้าหมายเพื่อลดการยื่นของฟันหน้าบน หรือที่เรียกกันว่าฟันเหยิน จึงเป็นเหตุให้เกิดแรงกดที่ข้อต่อขากรรไกร บริเวณที่เรียกว่า เทมโพโรแมนดิบูลาร์จอยต์ เนื่องจากส่วนปลายของกระดูกขากรรไกรล่างที่เรียกว่า คอนไดลาร์เฮด กดอัดกับหมอนรองกระดูก (คอนไดลาร์ดิสก์) ที่คั่นระหว่างคอนไดลาร์เฮดกับขากรรไกรบน ซึ่งเป็นบริเวณที่มีเส้นประสาทและเส้นเลือดหล่อเลี้ยงมาก จึงทำให้ปวด คล้ายกับนักมวยที่ถูกชกปลายคาง เมื่อนานเข้าจึงทำให้อาการลุกลามไปถึงส่วนอื่นๆ ทั้งศีรษะ ลำคอ และบ่า อ้าปากได้น้อยลง

การแก้ปัญหาระยะยาวคือ ต้องปรับตำแหน่งขากรรไกรล่างให้กลับสู่ที่เดิม ด้วยการจัดฟัน ให้ฟันหน้าบนที่ถูกดึงรวบเข้ามามากเกินไป เลื่อนออกไปสู่ตำแหน่งที่เหมาะสม ขากรรไกรล่างจึงจะเคลื่อนกลับสู่ตำแหน่งที่ไม่กดอัดหมอนรองกระดูกอีกต่อไป ซึ่งควรรีบทำโดยเร็ว เพราะปัญหานี้เรื้อรังมา 8 ปี ไม่ทราบว่าสภาพข้อต่อกระดูกขากรรไกรเป็นอย่างไรแล้ว ยิ่งนานก็ยิ่งยากแก่การแก้ไข 

แนะนำให้ไปพบทันตแพทย์จัดฟัน ที่คณะทันตฯ จุฬาฯ (ถนนอังรีดูนังต์) หรือคณะทันตฯ มหิดล (ถนนโยธี) เพื่อแก้ไขโดยด่วน

ระยะเฉพาะหน้านี้ จะต้องเลี่ยงการอ้าปากหาวนอนกว้างๆ งดของแข็งของเหนียว ลดการใช้โทรศัพท์มือถือและโทรศัพท์บ้านเป็นเวลานานๆ ถ้าปวดให้กินยาคลายกล้ามเนื้อ ทุก 6 ชั่วโมง แต่ไม่ควรกินนานติดต่อกันเกิน 7 วัน