• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ลูกชายไม่ชอบทำการบ้าน

 

ถาม : มานิต/ราชบุรี
ขณะนี้ลูกชายอายุ 8 ขวบ เรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 กลับจากโรงเรียนแล้วก็รีบวางกระเป๋านักเรียน สนใจเล่นกับเพื่อน ติดการ์ตูนและเกมมาก เวลาถามว่ามีการบ้านหรือไม่ก็จะตอบว่าไม่มีหรือไม่ก็บอกว่าเสร็จแล้วตั้งแต่อยู่ที่โรงเรียน

ปรากฏว่ามีการบ้านที่ค้างไว้มากกว่า 10 หน้า ถูกครูตีประจำเพราะไม่ทำการบ้าน เมื่อถามลูกชายก็ได้คำตอบว่าครูสอนเร็วจนไม่เข้าใจ และสั่งการบ้านมากจนทำไม่ไหวและระยะหลังๆ ก็เลยไม่ทำ

ขอถามว่าจะแก้ไขอย่างไรได้บ้าง เพราะไม่มีเวลาสอนการบ้านลูกทุกวัน จะต้องส่งไปเรียนพิเศษหรือไม่

 

ตอบ : นพ.สุริยเดว ทรีปาตี
มีสิ่งที่เกิดขึ้นกับครอบครัวนี้ 2 กรณีก็คือ
1. ขาดการวางกฎกติกาหรือกฎเกณฑ์กับลูกชายในการทำการบ้าน ก่อนปล่อยให้ลูกเล่นเกมหรือออกไปเล่นนอกบ้านได้อย่างเสรี ทั้งๆ ที่น่าจะเล่นช่วงหลังจากทำการบ้านของตนเองเรียบร้อยแล้ว

2. ไม่มีการติดตามและประเมินผลพฤติกรรมลูกอย่างดี จึงทำให้ไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วลูกส่งการบ้านครบ หรือได้ทำการบ้านหรือไม่ ซึ่งถ้าลูกไม่ได้ทำหรือไม่ได้ส่ง ก็จะต้องมาดูกันว่าแท้จริงปัญหาเกิดขึ้นจากอะไร อย่าเพิ่งไปต่อว่าเขา แต่ต้องมาช่วยกันดูว่าปัญหาเกิดขึ้นได้อย่างไร เพื่อที่จะไปแก้ปัญหานั้น เช่น เด็กบางคนลายมือไม่ดี เขียนไม่สวย แต่ครูดุมาก ลายมือต้องสวยเท่านั้นถึงจะส่งการบ้านได้ ถ้าไม่สวยให้ไปคัดมาใหม่

พ่อแม่จะต้องกลับมาดูศักยภาพของลูกตนเอง แล้วอาจจะต้องมีการตกลงกันระหว่างผู้ใหญ่กับผู้ใหญ่ เพื่อหาจุดกลางว่าคุณครูจะยอมรับได้แค่ไหน แล้วแค่ไหนที่พ่อแม่ยอมรับ โดยมีเงื่อนไขว่าลูกก็ต้องส่งการบ้าน กระบวนการอย่างนี้เรียกว่าการคลุกวงใน ซึ่งถ้าครอบครัวขาดกระบวนการอย่างนี้ก็อาจจะทำให้เกิดพฤติกรรม "ดินพอกหางหมู" และไปสะสมอยู่ปลายทางได้

ภาษาทางทฤษฎี "ต้นทุนชีวิตเด็กและเยาวชน" เรียกว่าให้การสนับสนุนช่วยเหลืออย่างเต็มรูปแบบและได้รับการติดตามผล ประเมินผลเป็นอย่างดี

การคลุกวงในต้องไม่ใช้การคลุกวงในแบบจับผิด แต่ต้องคลุกวงในลักษณะการจับถูก เช่น ไม่ใช้อารมณ์ถามว่า ทำไมไม่เสร็จ ทำไมไม่ทำ แต่หาประเด็นว่าไม่เสร็จเพราะอะไร มีปัญหาตรงจุดไหน เช่น ครูดุมากเลยแล้วส่งช้าไป ก็เลยไม่ยอมรับการบ้านเด็ก ถ้าเป็นอย่างนี้ก็ต้องมาวางกติกากับลูกตามจุดอ่อนข้อ 1 ที่กล่าวข้างต้น เช่น ถ้าคุณแม่ไปคุยให้ ลูกจะพยายามมากขึ้นไหม และต่อไปนี้ต้องไม่มีการเล่นก่อนทำการบ้าน ต้องทำการบ้านให้เสร็จเรียบร้อยก่อน เป็นการวางกรอบให้กับตัวเด็ก และอาจจะเพิ่มเติมด้วยว่า เมื่อทำการบ้านเสร็จแล้วจะเล่นได้นานแค่ไหน ทั้งนี้จะต้องสำรวจลักษณะของเกมด้วยว่าเป็นเกมอะไร อาจจะต้องมีการจัดสิ่งแวดล้อมใหม่โดยการเล่นเกมที่ห้องนั่งเล่นหรือห้องที่เป็นส่วนกลาง และอาจจะต้องสรุปสุดท้ายว่าถ้าไม่ปฏิบัติตามจะให้พ่อกับแม่ทำอย่างไร