• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

กรดไหลย้อน

ถาม : พัชราภา/สิงห์บุรี
ดิฉันอายุ ๗๐ ปี มีอาการคล้ายๆ กับโรคกรดไหลย้อน คือ กินอาหารเสร็จแล้วจะเรอ เช้ามืดจะรู้สึกขมในคอ

กินยาลดกรดของโรงพยาบาล และกินยา Motilium M และยา Controloc ๔๐ มิลลิกรัม เพราะมีโรคความดันโลหิตสูง และโรคซึมเศร้า จึงต้องกินยาทั้ง ๒ ชนิดนี้ด้วย

ดิฉันไม่ทราบว่าโรคกรดไหลย้อนจะพัฒนาเป็นโรคมะเร็งกระเพาะได้หรือไม่ ร่างกายไม่อ้วน แต่จะนอนหลังกินอาหารสักพักเพื่อหยอดยาตา ปกติไม่ดื่มกาแฟ ชา หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง แต่จะกินผลไม้รสเปรี้ยวบ้าง เสียงแหบเนื่องจากกล้ามเนื้อสายเสียงเกร็ง (เคยมีอาชีพเป็นครู) ต้องฉีด Botox อยู่ (เป็นเวลานานแล้ว)ถ้าเป็นแค่กรดไหลย้อนก็ไม่เท่าไร แต่สิ่งที่กลัวคือการเป็นมะเร็งกระเพาะ

 

ตอบ : นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ
โรคกรดไหลย้อน เป็นผลมาจากกล้ามเนื้อหูรูดตรงส่วนปลายของหลอดอาหารหย่อนคลาย (เสื่อมสมรรถภาพ) ไม่สามารถปิดกั้นไม่ให้น้ำย่อยซึ่งเป็นกรดไหลย้อนขึ้นมาที่หลอดอาหารและลำคอ ทำให้มีอาการปวดแสบตรงลิ้นปี่ บางคนอาจมีอาการเรอเปรี้ยว (การไหลย้อนของกรด) ขึ้นมาที่ลำคอ หรือรู้สึกจุกที่คอหอย บางคนมีอาการไหลย้อนของกรดมาที่กล่องเสียงและคอหอยขณะนอนราบตอนกลางคืน ตื่นเช้าจะรู้สึกเปรี้ยวๆ ขมๆ ในลำคอ เจ็บคอ เสียงแหบ ไอ อาการเหล่านี้มักจะเป็นเรื้อรังเป็นแรมเดือนแรมปี และจะกำเริบเวลากินอาหาร (เช่น ของมัน ของเปรี้ยว ของเผ็ด) ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ชา กาแฟ น้ำมะเขือเทศ ซอสมะเขือเทศ น้ำส้มคั้น ผลไม้เปรี้ยว ช็อกโกแลต สูบบุหรี่ เป็นต้น หรือกำเริบจากการกินอิ่มจัด กินแล้วล้มตัวลงนอน (ควรกินอย่างน้อย ๓ ชั่วโมงจึงเข้านอนได้) กินแล้วนั่งตัวงอหรือปล่อยให้เข็มขัดคับกางเกง

คนอ้วน การตั้งครรภ์ อารมณ์เครียด หรือยาบางชนิด ก็เป็นเหตุกระตุ้นให้โรคกำเริบได้
หากสงสัยว่าเป็นโรคนี้ ควรให้แพทย์ช่วยตรวจวินิจฉัย บางครั้งอาจจำเป็นต้องใช้วิธีส่องกล้องเข้าไปตรวจดูภายในหลอดอาหาร และกระเพาะอาหาร จึงจะวินิจฉัยได้แน่ชัดและสามารถแยกจากสาเหตุอื่น (เช่น แผลในกระเพาะอาหาร มะเร็งกระเพาะอาหาร)

ผู้ที่เป็นโรคนี้ แพทย์จะให้กินยาลดการสร้างกรด (เช่น ยาโอเมฟราโซล) และแนะนำให้ปฏิบัติตัวโดยเฉพาะให้หลีกเลี่ยงอาหารและสิ่งกระตุ้นต่างๆ ซึ่งจะช่วยให้อาการทุเลา แต่ถ้าขาดยาและมีสิ่งกระตุ้น (เช่น กินผลไม้เปรี้ยว กินข้าวผัด ของทอดอมน้ำมัน) ก็จะกำเริบได้อีก ถ้ากำเริบก็ให้กินยาแก้ไขเป็นครั้งคราวเวลามีอาการ โรคนี้จะเป็นๆ หายๆ อยู่เรื่อยๆ ไปจนตลอดชีวิต ถ้าปฏิบัติตัวถูกต้องหรือกินยาลดการสร้างกรดก็จะปลอดจากอาการ

โรคกรดไหลย้อนไม่ทำให้กลายเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร แต่มีโอกาสเกิดมะเร็งหลอดอาหารได้ แต่น้อยมาก พบในคนที่ปล่อยปละละเลย ขาดการรักษานานๆ

หากคุณยังมีอาการอยู่ ควรติดต่อรักษากับแพทย์ประจำ ถ้าแพทย์ยืนยันหรือส่องกล้องแล้วพบว่าเป็นโรคนี้ ก็ขอให้กินยาและหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น (เช่น ผลไม้เปรี้ยว ที่ยังกินอยู่) หากยังไม่เคยส่องกล้อง และแพทย์เห็นว่าจำเป็นต้องส่องกล้อง ก็ควรให้แพทย์ตรวจดู อย่างน้อยถ้ายืนยันได้ชัดเจนว่าไม่ได้เป็นมะเร็งก็จะสบายใจได้