• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

แพ้กลิ่นฉุน

ถาม :   ปั้น/ขอนแก่น
ปัจจุบันอายุ ๕๐ ปี วิ่งออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ ๑๐ กิโลเมตรต่อเนื่องมามากกว่า ๒๐ ปีแล้ว แต่ถ้าอากาศเปลี่ยนหรือได้กลิ่นฉุน จะมีน้ำมูกใสๆ ไหลออกมาและจามทันที จะต้องทำอย่างไรบ้าง

 

ตอบ : นพ.ปารยะ อาศนะเสน
อาการน้ำมูกไหลและจามหลังจากได้กลิ่นฉุนหรืออากาศเปลี่ยนนั้น แสดงว่าคุณปั้นเป็นโรคภูมิแพ้ แต่ตัวคุณปั้นออกกำลังกายสม่ำเสมอจึงทำให้อาการไม่แย่ไปกว่านี้ มีเพียงน้ำมูกไหลและจามรบกวนบ้างเท่านั้น

ขออธิบายเพิ่มเติมเรื่องโรคภูมิแพ้สักนิด ผู้อ่านท่านอื่นที่มีปัญหาโรคภูมิแพ้จะได้ปฏิบัติตัวเพื่อไม่ให้อาการของโรคภูมิแพ้มารบกวนวิถีชีวิตประจำวัน
โรคภูมิแพ้เป็นโรคที่พบบ่อยในคนไทย พบว่าโรคนี้มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นสูงกว่าแต่ก่อนมากและมี แนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
โรคนี้เกิดจากการที่ร่างกายได้รับสารก่อภูมิแพ้เข้าไปในร่างกาย แล้วกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันและมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสารนั้นมากผิดปกติ ภายหลังเมื่อได้รับสารนั้นเข้าไปอีก ภูมิคุ้มกันดังกล่าวจะกระตุ้นให้เกิดอาการ ซึ่งจะเกิดอาการเฉพาะในคนที่แพ้เท่านั้น ในคนปกติจะไม่เกิดอาการใดๆ  สาเหตุเชื่อว่า เกิดจากปัจจัยทางพันธุกรรม และสิ่งแวดล้อม ดังนั้นจึงอาจมีคนอื่นในครอบครัวเป็นโรคนี้ด้วยได้ สิ่งแวดล้อมซึ่งแย่ลงเรื่อยๆ ในปัจจุบันก็เป็นปัจจัยเสริมทำให้อาการของโรคภูมิแพ้มากขึ้น

โรคภูมิแพ้เป็นกลุ่มของโรคที่แสดงอาการได้กับหลายระบบของร่างกาย อาการของโรคภูมิแพ้ขึ้นอยู่กับชนิดของโรคภูมิแพ้ที่เป็น ซึ่งพยาธิสภาพนั้นเกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายที่ทำงานมากเกินไปทำให้เยื่อบุที่อวัยวะต่างๆ มีความไวต่อสิ่งกระตุ้นมากเกิน เกิดการตอบสนองที่มากผิดปกติของอวัยวะนั้นๆ เช่น

ถ้าเป็นที่ตา เรียกว่า เยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้ ผู้ป่วยจะมีอาการคันและเคืองตา ตาแดง น้ำตาไหล หนังตาบวม แสบตา

ถ้าเป็นที่จมูก เรียกว่า โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ หรือโรคแพ้อากาศ ผู้ป่วยจะมีอาการจาม คันจมูก น้ำมูกไหลออกมาทางจมูก หรือไหลลงคอ คัดจมูก คันเพดานปากหรือคอ

ถ้าเป็นที่หลอดลม เรียกว่า โรคหลอดลมอักเสบจากภูมิแพ้ หรือโรคหอบหืด ผู้ป่วยจะมีอาการ ไอ หอบเหนื่อย หายใจขัด แน่นหน้าอก หายใจมีเสียงวี้ด หายใจลำบากหรือหายใจเร็ว โดยเฉพาะเวลาตอนกลางคืน ตอนเช้ามืด ขณะออกกำลังกาย หรือขณะเป็นไข้หวัด

ถ้าเป็นที่ผิวหนัง เรียกว่า โรคผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ ผู้ป่วยจะมีอาการคัน มีผดผื่นตามตัว ผื่นมักแห้ง แดง มีสะเก็ดบางๆ หรือมีน้ำเหลืองแห้งกรังปกคลุมอยู่ ในเด็กเล็ก มักเป็นที่แก้ม ก้น หัวเข่าและข้อศอก ในเด็กโตมักเป็นที่ข้อพับของแขนและขา ในรายที่เป็นเรื้อรัง ผิวหนังบริเวณที่เป็นจะหนาตัวขึ้นและมีสีคล้ำขึ้น นอกจากนั้นผิวหนังอาจเกิดการอักเสบจากการสัมผัสกับสารบางชนิดที่แพ้ได้ เช่น ผงซักฟอก เครื่องสำอาง ผิวหนังอาจมีการอักเสบเป็นตุ่มนูนคัน หรือใหญ่เป็นปื้นนูนแดง และคันมากที่เรียกว่า ลมพิษ ซึ่งมักจะเกิดจากการแพ้อาหาร โดยเฉพาะอาหารทะเล หรือแพ้แมลงกัดต่อย หรือแพ้ยา

ถ้าเป็นที่ระบบทางเดินอาหาร เรียกว่า โรคแพ้อาหาร ผู้ป่วยจะมีอาการ อาเจียน คลื่นไส้ ท้องเสีย ปากบวม ปวดท้อง ท้องอืด อาจมีอาการของระบบทางเดินหายใจ (เช่น หอบหืด แพ้อากาศ) และผิวหนัง (เช่น ผื่นคัน ลมพิษ) ร่วมด้วย อาหารที่เป็นสาเหตุได้บ่อย ได้แก่ นมวัว ไข่ ถั่ว อาหารทะเล ผักและผลไม้บางชนิด ผงชูรส สารกันบูด สารแต่งกลิ่นและสี

อาการของโรคภูมิแพ้จะทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยด้อยกว่าคนปกติทั่วไป เช่น ทำให้ไม่สามารถนอนหลับได้ตามปกติ ขาดสมาธิทำให้เรียนและทำงานได้ไม่เต็มที่ ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวัน หรือเล่นกีฬาได้ตามปกติ เสียบุคลิกภาพที่ดีในการเข้าสังคม และการที่ไม่ได้รักษาโรคนี้อย่างถูกต้อง อาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนตามมา

 

การรักษา
โรคภูมิแพ้ มีขั้นตอนในการรักษา ๔ ขั้นตอนดังนี้
๑. การดูแลตนเองอย่างเหมาะสม
หลีกเลี่ยงหรือกำจัดสิ่งที่แพ้ เป็นการรักษาที่สำคัญที่สุด เพราะเป็นการรักษาและป้องกันที่สาเหตุ โดยพยายามดูแลสุขภาพร่างกายให้สมบูรณ์และแข็งแรงอยู่เสมอ เช่น กินอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบทุกประเภท รวมทั้งผักและผลไม้ ออกกำลังกายเป็นประจำ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และรักษาสุขภาพจิตให้สดชื่น แจ่มใส เพราะถ้ามีอาการเครียด เศร้า โกรธ หรือกังวล อาจทำให้อาการของโรคมากขึ้นได้

พยายามอยู่ห่างจากผู้ที่ไม่สบายทั้งที่บ้าน และที่ทำงาน เนื่องจากอาจรับเชื้อโรค ทำให้มีการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจได้ และเมื่อมีการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ เช่น หวัด ไซนัสอักเสบ ฟันผุ คอหรือต่อมทอนซิลอักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ หรือการติดเชื้อที่ตา ผิวหนัง หรือระบบทางเดินอาหาร ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อรับการรักษาแต่เนิ่นๆ ป้องกันไม่ให้อาการของโรคภูมิแพ้กำเริบหรือแย่ลงไปได้

พยายามหลีกเลี่ยงอย่าสัมผัสกับสิ่งที่แพ้ อาจใช้วิธีสังเกตว่า สัมผัสกับอะไร อยู่ในสิ่งแวดล้อมใดหรือกินอะไรแล้วมีอาการ ควรหลีกเลี่ยงสิ่งเหล่านั้น นอกจากนั้นควรกำจัดหรือลดปริมาณของสารก่อภูมิแพ้ที่มีอยู่ในสิ่งแวดล้อมรอบตัวให้เหลือน้อยที่สุด
 

๒. การใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการ
ยาบรรเทาอาการภูมิแพ้มีหลายชนิด เช่น ยากิน ยาพ่นจมูก ยาทาผิวหนัง ยาสูด หรือพ่นคอ ยาหยอดตา ซึ่งมีความจำเป็นในระยะแรก เนื่องจากผู้ป่วยไม่สามารถหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้หรือสารระคายเคืองต่างๆ ได้ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์

อย่างไรก็ตาม ยาเป็นเพียงการรักษาที่ปลายเหตุ เมื่อสามารถดูแลตนเอง และควบคุมสิ่งแวดล้อมได้ดีขึ้น ความจำเป็นในการใช้ยาจะน้อยลงเรื่อยๆ ผู้ป่วยควรใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดและไม่ควรซื้อยามาใช้เอง

ยาบางชนิดที่แพทย์สั่งให้ อาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนชนิด หรือขนาดของยา แล้วแต่การตอบสนองต่อการรักษา จึงควรมาตามแพทย์นัดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ได้ประโยชน์จากการใช้ยาสูงสุด และเกิดผลข้างเคียงน้อยที่สุด

๓. ฉีดวัคซีนภูมิแพ้
การฉีดวัคซีนภูมิแพ้เป็นการรักษาโดยฉีดสารก่อภูมิแพ้ที่คิดว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ เข้าไปในร่างกายทีละน้อย แล้วค่อยๆ เพิ่มจำนวน เพื่อให้สร้างภูมิต้านทานต่อสิ่งที่แพ้ วิธีนี้จะใช้สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการมาก ไม่สามารถควบคุมอาการได้ด้วยยา หรือไม่สามารถทนผลข้างเคียงของยาได้ หรือผู้ที่มีโรคภูมิแพ้หลายชนิดร่วมด้วย วิธีนี้จะใช้เวลาอย่างน้อย ๑ ปีครึ่ง ถ้าไม่ได้ผล อาจต้องฉีดต่อเนื่องไปอีก ๓-๕ ปี

๔. รักษาโดยการผ่าตัด

การผ่าตัดรักษาภูมิแพ้จะใช้กับผู้ป่วยบางรายที่มีอาการคัดจมูกหรือน้ำมูกไหล ซึ่งให้การรักษาโดยการใช้ยาอย่างเต็มที่แล้วไม่ดีขึ้น หรือมีโรคบางอย่างร่วมด้วย เช่น ผนังกั้นช่องจมูกคด เยื่อบุจมูกบวมมากผิดปกติ ริดสีดวงจมูก ไซนัสอักเสบ ซึ่งไม่ดีขึ้นหลังให้การรักษาด้วยยา
โรคภูมิแพ้สามารถรักษาให้อาการต่างๆ ดีขึ้นได้ สามารถใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้โดยปราศจากโรคแทรกซ้อน ทั้งนี้การรักษามิได้ขึ้นอยู่กับการใช้ยาเพียงอย่างเดียว จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือและการปฏิบัติตนอย่างถูกต้องของผู้ป่วยด้วย