• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

กรดยูริก

ถาม : ดาราภรณ์/ชลบุรี

ดิฉันไปตรวจเลือดพบว่ามีกรดยูริกสูง ๘.๕ และมีหินปูนบางแห่ง เช่น ที่เอ็นร้อยหวาย และข้อนิ้วมือบางข้อ มีกระดูกพรุนถึง -๗ เพราะได้รับการฉีดสตีรอยด์ที่เอ็นร้อยหวาย ๓ ครั้ง
รักษาด้วยยาอัลลูโพลินอล แต่เกิดอาการแพ้ มีผื่นขึ้นทั่วตัว คุณหมอจึงไม่ให้ยาลดกรดยูริกอีกเลย ให้เฉพาะยารักษากระดูกพรุนอย่างเดียว รวมทั้งวิตามินดีและแคลเซียมด้วย
กรณีไม่ใช้ยาลดกรดยูริก จำเป็นต้องงดอาหารที่มีพิวรีนสูง เช่น หน่อไม้ แตงกวา ยอดผัก เป็นต้น และจะทำให้กลายเป็น "เกาต์" ได้หรือไม่

ถ้ากรดยูริกยังคงเท่าเดิม (คือ ๘.๕) จะมีอันตรายในส่วนอื่นๆ อีก เช่น มีหินปูนเกาะที่เต้านม (พบโดยการทำแมมโมแกรม) มีหินปูนเกาะที่หลอดเลือดใหญ่ที่คอ เส้นที่ขึ้นไปเลี้ยงสมอง
ดิฉันต้องดูแลตนเองอย่างไร และวิธีใดบ้าง

 

ตอบ : นพ.สุรชัย ปัญญาพฤทธิ์พงศ์
กรดยูริกสูง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่อวัยวะ เช่น ที่หลอดเลือด ทำให้ความดันโลหิตสูง ทำให้เกิดนิ่วในไต ทำให้ข้ออักเสบปวดบวม

กรณีของคุณเมื่อให้ยาลดกรดยูริกแล้วแพ้ยา จำเป็นต้องเปลี่ยนไปใช้วิธีการควบคุมอาหาร  และการออกกำลังกาย

ปกติโรคเกาต์มักเป็นในผู้ชาย ผู้หญิงเป็นน้อยกว่ามาก ผู้หญิงที่จะเป็นเกาต์มักเป็นผู้หญิงในวัยหมดประจำเดือน

กรณีของคุณเมื่อปฏิบัติตามที่คุณหมอแนะนำแล้ว ควรรักษาต่อเนื่องโดยการตรวจกรดยูริกซ้ำ เพื่อจะได้ปรับเปลี่ยนวิธีการรักษาให้เหมาะสม

การที่พบหินปูนเกาะที่ข้อนิ้วมือ เอ็นร้อยหวาย อาจเกิดจากภาวะข้อเสื่อมตามอายุ  ไม่ใช่จากกรดยูริกสูงหรือเป็นเกาต์