• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ไวรัสตับอักเสบซี

ถาม : ตัน/กรุงเทพฯ

ผมอายุ ๖๐ ปีแล้ว สุขภาพทั่วไปปกติ แต่ว่าน้องชายอายุ ๕๕ ปี มีปัญหาเรื่องตับอักเสบบี และน้องชายพูดเรื่องของตับอักเสบซีด้วย บอกว่าเป็นภัยเงียบที่คนไม่ค่อยพูดถึงกัน ผมจึงอยากรู้เรื่องของตับอักเสบซีไว้บ้าง เรื่องการติดต่อและการป้องกัน

 

ตอบ : นพ.ยง ภู่วรวรรณ
ไวรัสตับอักเสบซีนับเป็นปัญหาสาธารณสุขระดับชาติ มีการประเมินกันว่าคนไทยวันนี้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีไปแล้วประมาณ ๘๐๐,๐๐๐ คน และทั้งหมดนี้ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มติดยาเสพติดที่ใช้เข็มร่วมกัน

เชื้อไวรัสตับอักเสบซีจะอาศัยอยู่ในเลือด และน้ำคัดหลั่งในร่างกาย เช่น น้ำหล่อลื่นในช่องคลอด มีการติดต่อสู่ผู้อื่นคล้ายกับไวรัสตับอักเสบบีและโรคเอดส์ เช่น
♦ การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน ในพวกเสพสารเสพติด

♦ การใช้เข็มที่ติดเชื้อโรคสักผิวหนัง เจาะหู ฝังเข็ม

♦ การใช้ของส่วนตัวที่เปื้อนเลือดร่วมกัน เช่น มีดโกน หรือกรรไกรตัดเล็บ

♦ ติดต่อจากการทำฟัน

♦ จากการมีเพศสัมพันธ์ (ติดได้แต่น้อยกว่าโรคเอดส์มาก)

♦ แม่ตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อ ก็สามารถแพร่เชื้อไปสู่ลูกได้เมื่อคลอด (ติดได้แต่พบน้อย)
ส่วนใหญ่การติดต่อของเชื้อไวรัสตับอักเสบซี จะเกิดจากทางเลือดมากกว่าติดต่อทางเพศสัมพันธ์

สำหรับอาการของไวรัสตับอักเสบจะมีอาการคล้ายๆ กัน คือ ดีซ่าน ตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะสีเข้ม เบื่ออาหาร น้ำหนักลด อ่อนเพลียไม่มีแรง บวม มีน้ำในช่องท้อง การที่จะแยกอาการว่าเกิดจากเชื้อไวรัสชนิดใดกันนั้น ต้องใช้วิธีการตรวจทางห้องปฏิบัติการจึงจะทราบ แต่ที่น่าสังเกตคือโรคตับอักเสบจากไวรัสชนิดอื่นๆ มักจะเป็นแบบเฉียบพลัน และควรจะหายได้ภายในเวลา ๖ เดือน ถ้าหากมีอาการของโรคตับอักเสบเรื้อรัง ก็มักจะเกิดจากไวรัสตับอักเสบชนิดบีหรือซี โดยทั่วไปผู้ที่ได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบซี ส่วนใหญ่หลังติดเชื้อแล้วภายในเวลา ๑๐ ปีแรกจะไม่มีอาการอะไรเลย ยกเว้นส่วนน้อยที่อาจมีอาการของโรคแบบเฉียบพลัน ต่อเมื่อย่างเข้าสู่ ๑๐ ปีที่ ๒ ก็อาจเริ่มมีอาการของตับอักเสบเรื้อรังเกิดขึ้น และเมื่อ ๓๐ ปีผ่านไป ตับจะถูกทำลายมากขึ้น ก็จะเริ่มมีอาการของตับแข็งปรากฏให้เห็น หรือเป็นโรคตับแข็ง แล้วผู้ป่วยจำนวนหนึ่งก็จะเป็นมะเร็งตับ เรียกว่ากว่าจะแสดงอาการก็ใช้เวลาหลายสิบปี โดยที่โรคจะดำเนินไปอย่างช้าๆ ผู้ป่วยจะไม่รู้ตัวเลยว่ามีโรคอันตรายซ่อนแฝงอยู่ ถ้าไม่ได้ตรวจเลือด ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี ประมาณร้อยละ ๑๕-๒๐ อาจหายจากโรคได้เอง แต่ส่วนใหญ่ร้อยละ ๗๕-๘๕ จะเป็นเรื้อรัง ถ้าหากไม่ได้รับการรักษาก็จะกลายเป็นโรคตับแข็ง มะเร็งตับ และเสียชีวิตในที่สุด


ไวรัสตับอักเสบซียังไม่มีวัคซีนป้องกัน
เหมือนไวรัสชนิดเอและบี ดังนั้น พื้นฐานการรักษาทั่วไป ก็คือ การทำร่างกายให้แข็งแรง กินอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายได้บ้างตามสมควร ตามแต่ระยะของโรค ไม่วิตกกังวลหรือเครียดกับอาการเจ็บป่วยจนเกินไป เพราะบางครั้งความคิดในเชิงลบ ก่อให้เกิดโทษภัยมากกว่าตัวเชื้อโรคเสียอีก แล้วถ้าเชื้อไวรัสคุกคามทำลายเนื้อตับจนเกิดการอักเสบ ก็ต้องรักษาโดยการกินยา ปัจจุบันยาที่ใช้รักษาโรคไวรัสตับอักเสบซีที่ได้ผลมีอยู่ ๒ ชนิด

ชนิดแรกคือ ยาต้านไวรัส ชนิดที่สองได้แก่ ยาอินเตอร์เฟอรอน ซึ่งยาทั้ง ๒ ชนิดนี้มีราคาแพงมาก (เป็นหลักแสน) การรักษาจะใช้เวลาประมาณ ๖-๙ เดือน และเนื่องจากยาดังกล่าวมีผลข้างเคียงมาก
 

ดังนั้น การใช้ยาจึงต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น การรักษาที่ถูกต้องด้วยยาที่มีอยู่ ณ ปัจจุบัน สามารถทำให้ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งหายขาดจากโรคได้ อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่สามารถรักษาโรคไวรัสตับอักเสบซีให้หายได้ทั้งหมดทุกคน แต่โดยภาพรวมผลของการรักษาไวรัสตับอักเสบซีก็ดีกว่าไวรัสตับอักเสบบี ซึ่งการรักษาจะช่วยยืดอายุของผู้ป่วยให้อยู่ได้นานขึ้น ดีกว่าไม่รู้และไม่รักษา
 

การป้องกันโรคนี้ที่ดีที่สุดก็เหมือนกับการป้องกันโรคเอดส์ คือ ไม่ใช้ของมีคมหรือใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน หรือมีการให้เลือดโดยไม่ได้ตรวจ ซึ่งหากระมัดระวังอย่างดี นอกจากจะปลอดภัยจากโรคตับอักเสบบีและซีแล้ว ยังปลอดภัยจากโรคเอดส์ด้วย
 

ปัจจุบันไวรัสตับอักเสบซี ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน การมีสุขภาพแข็งแรงเป็นความโชคดีของชีวิต ดังนั้น ทุกคนจึงควรรักษาสุขภาวะของตนเองเอาไว้ให้นานที่สุด เพราะการเจ็บป่วยไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดย่อมทำให้เกิดความทุกข์ใจ แล้วยิ่งหากเป็นโรคที่รักษาไม่หาย และเป็นโรคอันตราย ก็ยิ่งก่อให้เกิดความวิตกกังวลและความเครียด วิธีที่ดีที่สุด คือ การป้องกันตัวเองไม่ให้เจ็บป่วยจากทุกโรค