• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เข็มขัดรัดหลัง

ถาม : พิยดา/สมุทรปราการ
ดิฉันทำงานโรงงานอุตสาหกรรม มีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพของคนทำงาน ดังนี้
๑. ที่โรงงานมี back support ไว้ให้พนักงานเบิก แต่ต้องให้ทางห้องพยาบาลพิจารณา และยังไม่มีเกณฑ์ที่จะใช้ในการตัดสินใจให้ใส่หรือไม่ใส่เสื้อเกราะ เท่าที่ทำได้คือถ้าบาดเจ็บมาเดี๋ยวนั้นก็จะให้ใส่ในระยะสั้นๆ แล้วนัดตรวจติดตาม พร้อมทั้งสอนวิธีบริหารร่างกายซึ่งดูจากหมอชาวบ้าน หรือใช้ท่า straight rising leg test ที่ให้นอนหงายยกขาขึ้นตรงๆ ทดสอบ ถ้ามีอาการเจ็บชัดเจนก็จะให้ใส่ แต่ไม่ค่อยมั่นใจ อยากได้ "เกณฑ์ที่จะใช้ตัดสิน" คือพยายามบอกให้ไปพบแพทย์เฉพาะทางก่อนก็ไม่ยอมไปกัน

๒. พนักงานอีกโรงงานทำเกี่ยวกับตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูป ที่นั่งของพนักงานเป็นเก้าอี้ที่ไม่มีพนัก แล้วต้องนั่งทำงานกันวันละกว่า ๑๐ ชั่วโมงทุกวัน เคยคุยกับเขาว่าจะเสี่ยงกับ "ปวดหลัง" เขาก็พูดทำนองว่าโรงงานอื่นก็นั่งแบบนี้ ไม่เห็นเป็นไร

 

ตอบ : ดร.วรรธนะ ชลายนเดชะ
ขอตอบปัญหาเป็นข้อๆ ดังนี้
๑. ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่าเข็มขัดรัดหลังจะแบ่งกว้างๆ ได้ ๒ แบบ คือแบบที่ใช้ในทางการแพทย์ และแบบที่ใช้ในคนงานหรือนักกีฬา

 

แบบที่ใช้ในทางการแพทย์จะมีผลช่วยให้หลังมีความมั่นคง ร่วมกับการป้องกันการเคลื่อนไหวของส่วนหลังที่มากเกินไป เข็มขัดแบบนี้จะมีขนาดใหญ่ ใส่แล้วจะก้มหรือเงยหลังได้ลำบาก
ส่วนแบบที่ใช้ในโรงงานจะมีขนาดเล็กกว่า เชื่อกันว่าสามารถเพิ่มความมั่นคงของหลังได้แต่จะไม่จำกัดการเคลื่อนไหว คาดว่าเข็มขัดรัดหลังที่ถามมาน่าจะเป็นแบบที่ใช้ในโรงงานมากกว่า
การตัดสินว่าควรใส่หรือไม่ใส่เข็มขัดรัดหลัง ควรแยกอาการปวดหลังที่มาจากสาเหตุอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับกล้ามเนื้อและข้อ (เช่น ปวดจากอวัยวะภายใน มะเร็ง) ออกเสียก่อน หลังจากนั้นควรสังเกตอาการว่ามากน้อยเพียงใด (เช่น ถ้าปวดมากจนขยับไม่ได้ เปลี่ยนอิริยาบถได้ลำบาก) จึงสมควรใส่ ในกรณีนี้มักจะเป็นมาใหม่ๆ การใส่จะช่วยประคองหลังพร้อมกับจำกัดการเคลื่อนไหวของหลัง ไม่ให้บาดเจ็บซ้ำและให้โอกาสส่วนที่บาดเจ็บได้ซ่อมแซม โดยทั่วไปไม่ควรใส่เข็มขัดรัดหลังเกิน ๒ สัปดาห์ ถ้าเกินนั้นกล้ามเนื้อที่ช่วยพยุงหลังที่เป็นกลไกที่สำคัญของร่างกายในการป้องกันอาการบาดเจ็บอีก จะเสียหน้าที่ไป ดังนั้น ถ้าใส่นานผู้ใส่จะเกิดอาการ "ติดการใส่" ถ้าไม่ได้ใส่แล้วจะทำงานไม่ได้ รู้สึกไม่ปลอดภัย
 

สำหรับผู้ที่มีอาการปวดหลังไม่มาก แต่ต้องทำงานจะอยากใส่เข็มขัดรัดหลังเพราะรู้สึกปลอดภัย กรณีแบบนี้ก็ไม่ควรใส่เพราะกล้ามเนื้อช่วยพยุงหลังจะทำงานน้อยลงหรือไม่ทำงานเลย ควรรักษาอาการปวดหลังให้ดีขึ้น ยกขนน้ำหนักที่น้อยก่อน แล้วค่อยเพิ่มจนยกได้มากขึ้นโดยไม่ปวด กล้ามเนื้อพยุงหลังจะค่อยๆ ทำหน้าที่ได้ดีขึ้นทีละน้อยจนเป็นปกติ
 

                                  


การทำ straight leg raising test หรือการยกขาขึ้นตรงๆ จะช่วยบอกได้คร่าวๆ ว่ามีการกดเส้นประสาทขาซึ่งส่วนใหญ่มาจากการแตกของหมอนรองกระดูกหรือไม่ ถ้ายกได้ไม่ถึง ๓๐ องศาแล้วมีอาการร้าวลงขา จะมีโอกาสหมอนรองกระดูกแตกได้สูง กรณีนี้ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญจะดีที่สุด ไม่ควรปล่อยไว้เพราะโอกาสที่หมอนรองกระดูกจะกลับเข้าที่ด้วยตัวเองจะมีไม่มาก ถ้าไม่ได้รับการรักษาและคำแนะนำที่ถูกต้องจะทำให้เป็นเรื้อรังและรักษาหายได้ยาก
 

๒. เรื่องของพนักพิงหลังถ้ามีก็ดี จะช่วยดัดหลังในขณะนั่งทำงาน ในทางปฏิบัติแล้วคนที่ทำงานลักษณะนี้จะพิงหลังน้อยมาก ที่พิงหลังอาจไม่จำเป็นสำหรับบางคน ที่สำคัญคือการลุกขึ้นยืนมาดัดหลังมากกว่า ถ้าโรงงานไม่ยอมให้มีพนักพิงหลัง ควรให้โอกาสพนักงานยืนขึ้นอย่างน้อยทุกชั่วโมงเพื่อดัดหลัง เพราะอาการปวดหลังจากการนั่งมักจะเกิดจาก
๑) การที่หลังโค้งกลับทิศ
หรือปูดออกทางด้านหลังซึ่งไม่เหมือนส่วนโค้งปกติ กรณีนี้ แรงดันในหมอนรองกระดูกจะเพิ่มขึ้น ส่วนของเอ็นด้านหลังจะถูกยืด

๒) การอยู่นิ่งหรือนั่งนานจะทำให้มีเลือดมาเลี้ยงเนื้อเยื่อต่างๆ รวมทั้งกล้ามเนื้อน้อยลง ทำให้ความยืดหยุ่นเสียไป มีโอกาสบาดเจ็บและนำมาซึ่งอาการปวดได้ง่าย

โดยสรุปการมีพนักพิงจะช่วยได้แต่ไม่มากเท่ากับการยืนขึ้นดัดหลัง เปลี่ยนอิริยาบถเป็นการเดินหรือทำกิจกรรมอื่นๆ ที่ไม่ใช่การนั่ง