• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

จมูกอักเสบภูมิแพ้

ถาม : รอน/สระบุรี
 ปัจจุบันอายุ ๓๐ ปี ส่วนสูง ๑๗๐ เซนติเมตร น้ำหนัก ๖๐ กิโลกรัมมีอาการดังต่อไปนี้ตั้งแต่เด็กๆ เป็นไข้ ตัวร้อน คัดจมูก (ด้านที่ติดกับตา) มีเสมหะ (ไม่ค่อยมาก) บางครั้งมีกลิ่นคาว มีอาการไอ จาม มีน้ำมูก (ค่อนข้างมาก) รู้สึกร้อนๆ หนาวๆ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ มีความรู้สึกข้อบวม ปวดตา ตามองไม่ชัด พร่ามัว มองเห็นภาพซ้อนๆกัน (โดยเฉพาะเมื่อแดดจ้า อากาศร้อน) มีความรู้สึกร้อนวูบวาบในตา อ่อนเพลีย เหงือออกง่าย บางครั้งมีอาการเจ็บดื้อๆที่หน้าอกร่วมด้วย

          ขณะที่นอนและลุกขึ้นทันทีจะอาการหน้ามืด อาการจะเป็นมากขึ้นเมื่อมีอากาศเปลื่ยนแปลง อากาศเย็น โดยเฉพาะฤดูหนาว นอนไม่ตรงเวลา เมื่อทำงานหรือออกกำลังกายเกินกว่าปกติ

          จากการไปปรึกษาแพทย์ที่โรงพยาบาลและคลีนิก ได้รับคำตอบตรงกันว่าเป็นอาการโรคภูมิแพ้ แล้วกลายเป็นไซนัสติดเชื้อ

 

ตอบ : นพ.ปารยะ อาศนะเสน

อาการทางจมูกของคุณอาจเข้าได้กับโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ หรือแพ้อากาศ อย่างไรก็ตามอาการทางจมูกดังกล่าวอาจแยกได้จากโรคไซนัสอักเสบเรื้อรัง จึงควรปรึกษาแพทย์หู คอ จมูก เพื่อรับการตรวจที่แน่ชัด อย่างไรก็ตาม ขออธิบายเกี่ยวกับโรคภูมิแพ้ ดังนี้

สิ่งที่ควรทราบ เมื่อได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคภูมแพ้

๑. โรคนี้ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ มักจะมีอาการเป็นๆ หายๆ

๒. มีสิ่งที่สามารถกระตุ้นให้ผู้ป่วยเกิดอาการขึ้นมาได้หลายประเภทเป็นสิ่งที่ต้องหลีกเลี่ยงได้แก

     -ความเครียด การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ อารมณ์เศร้า วิตก กังวล เสียใจ

     -ของฉุน ฝุ่น ควัน อากาศที่เปลี่ยนแปลง (จึงจำเป็นที่จะต้องหลีกเลี่ยงโดยสังเกตว่าอยู่ในสิ่งแวดล้อมใด สัมผัสอะไร หรือกินอะไรแล้วอาการมากขึ้น ให้หลีกเลี่ยง) และควรจัดบ้านและจัดห้องนอนตามคำแนะนำของแพทย์

     -การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ หรือหวัด จึงควรป้องกันไม่ให้เป็นโดยหลีกเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้ภูมิต้านทานร่างกายลดลง เช่น เครียด นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ การสัมผัสอากาศที่เย็นมากเกินไป เช่น ขณะนอน เปิดแอร์หรือพัดลมเป่าจ่อ ไม่ได้ให้ความอุ่นแก่ร่างกายเพียงพอ การดื่มหรืออาบน้ำเย็น ตากฝน หรือสัมผัสอากาศที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จากร้อนเป็นเย็น จากเย็นเป็นร้อน หรือมีคนรอบข้างที่ไม่สบายคอยแพร่เชื้อให้

๓. ควรออกกำลังกายแบบแอโรบิก อย่างสม่ำเสมอ

     การออกกำลังกายแบบแอโรบิกคือการออกกำลังกายที่ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น หายใจเร็วขึ้นต่อเนื่องกันอย่างน้อยวันละ ๓๐ นาที อย่างน้อยสัปดาห์ละ ๓ วัน เช่น วิ่ง เดินเร็ว ขึ้นลงบันได ว่ายน้ำ ขี่จักรยานฝืด (แบบปรับน้ำหนักได้ เช่น ใน Fitness) เตะฟุตบอล เล่นเทนนิส แบดมินตัน หรือบาสเกตบอล

     การออกกำลังกายจะทำให้ความไวของเยื่อบุจมูกและ/หรือ หลอดลมลดลง ทำให้ความจำเป็นในการใช้ยาลดน้อยลง  และทำให้มีภูมิต้านทานต่อหวัด ซึ่งเป็นปัจจัยกระตุ้นให้อาการภูมิแพ้แย่ลง โดยจะเป็นหวัดยาก หรือเป็นแล้วหายง่าย

๔. โรคนี้แพทย์ไม่ได้ให้ผู้ป่วย พ่นยา สูดยา หรือกินยาไปตลอดชีวิต เมื่อใดที่ผู้ป่วยสามารถลดเหตุได้ (ดูข้อ ๒ และ ๓) ก็สามารถลดยาได้ โดยระยะแรกแพทย์จะเป็นผู้ปรับยาให้

๕. เนื่องจากโรคภูมิแพ้ทำให้เยื่อบุทางเดินหายใจ ผิวหนังเยื่อบุตา ทางเดินอาหาร ไวผิดปกติเมื่อมีสิ่งกระตุ้น (ดูข้อ ๒)  จะทำให้มีอาการมากขึ้นได้ ซึ่งมักจะมีอาการได้ง่าย และหายยาก ดังนั้นเมื่อมีอาการ แนะนำให้เพิ่มการใช้ยามากขึ้น เพื่อให้หายจากอาการดังกล่าวเร็วทีสุด เช่น

     -เมื่อมีอาการทางตา อาจกินยาแก้แพ้ และ/หรือหยอดยาหยอดตาแก้แพ้

     -เมื่อมีอาการทางจมูก อาจล้างจมูก อบไอน้ำเดือด พ่นยา และ/หรือกินยาแก้แพ้

     -เมื่อมีอาการทางผิวหนัง อาจกินยาแก้แพ้ และ/หรือทายาแก้คัน

     -เมื่อมีอาการทางหลอดลม อาจสูดยา หรือพ่นยา เข้าหลอดลมให้มากขึ้น และ/หรือกินยาขยายหลอดลม หรือยาแก้ไอ

     -เมื่อมีอาการทางเดินอาหาร อาจกินยาแก้แพ้ และ/หรือยาแก้คลื่นไส้/อาเจียน หรือยาแก้ท้องเสีย

เมื่อมีอาการดังกล่าวดีขึ้นก็ค่อยๆลดยาดังกล่าวลงเอง หรือลดลงเท่ากับที่แพทย์แนะนำ (เมื่อมีอาการมากเป็นมาก ก็ให้ใช้ยามาก เมื่อมีอาการน้อย เป็นน้อยลง ก็พิจารณาลดยาลง)

 

โรคที่พบร่วมกับโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้

          โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้อาจพบร่วมกับโรคอื่นๆ ได้แก่ หูชั้นกลางอักเสบและน้ำคั่งในหูชั้นกลาง โรคหืด เจ็บคอและไอเรื้อรัง โซนัสอักเสบ ริดสีดวงจมูก จมูกไม่ได้กลิ่น และปัญหานอนกรน และ/หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

๑.หูชั้นกลางอักเสบและน้ำคั่งในหูชั้นกลาง

     การอักเสบของเยื่อบุในหูชั้นกลาง มักจะมีสารคัดหลั่งเกิดขึ้นภายในหูชั้นกลางด้วย อาจเป็นน้ำใสมูกหรือหนอง ถ้ามีอาการเกิดขึ้นเฉียบพลัน จะมีอาการไข้ ปวดหู หรือมีหนองไหลจากหู ในรายที่มีเยื่อแก้วหูทะลุ ในรายที่มีของเหลวขังอยู่ในหูชั้นกลาง จะไม่มีอาการและแสดงอาการอักเสบเฉียบพลัน ผู้ป่วยมักจะมีการได้ยินลดลง มักเกิดจากปฏิกิริยาภูมิแพ้ที่เยื่อบุุจมูกทำให้เกิดการบวมและอุดตันของท่อยูสเตเซียน (ที่เชื่อมระหว่างหูชั้นกลางและโพรงหลังจมูก) ซึ่งทำให้ความดันอากาศในหูชั้นกลางต่ำกว่าภายนอก และเกิดสารคัดหลั่งในหูชั้นกลาง

๒.โรคหืด

     พบว่าร้อยละ ๖๐-๗๘ ของผู้ป่วยโรคหืดจะมีโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ร่วมด้วย และร้อยละ ๒๐-๓๐ ของผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้เป็นโรคหืด โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการมากหรือควบคุมไม่ได้ดี จะทำให้อาการให้อาการทางจมูกดีขึ้นอาการหอบหืดก็จะดีขึ้นด้วย

๓.เจ็บคอและ/หรือไอเรื้อรัง

     ผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ อาจมีอาการเจ็บคอ จากการที่มีอาการคัดจมูก และต้องหายใจทางปาก หรือมีน้ำมูกไหลลงคอทำให้มีอาการไอเรื้อรังร่วมด้วยได้

๔.ไซนัสอักเสบและ/หรือริดสีดวงจมูก

     ไซนัสอักเสบเป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบของเยื่อบุไซนัส เมื่อเยื่อบุจมูกบวมจากโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ จะทำให้รูเปิดของไซนัสอุดตัน และเกิดการคั่งของสารคัดหลั่งภายในไซนัส และเกิดการบวมของเยื่อบุไซนัส และการติดเชื้อแบคทีเรียตามมา นอกจากนั้นการอักเสบเรื้อรังของเยื่อบุจมูกเป็นปัจจัยหนึ่งในการเกิดริดสีดวงจมูก และถ้าเยื่อบุจมูกบวมมาก อาจทำให้อากาศไม่สามารถผ่านไปสู่เซลล์ประสาทรับกลิ่นที่โพรงจมูกส่วนบนทำให้ได้กลิ่นน้อยลง หรือจมูกอาจไม่ได้กลิ่นเลย

๕.การกรนและภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

     ร้อยละ ๔๐-๖๐ ของผู้ป่วยจมูกอักเสบจากภูมแพ้ มีปัญหาคัดจมูก ซึ่งเกิดจากเยื่อบุจมูกบวม ทำให้การไหลเวียนของอากาศภายในโพรงจมูกลดลง และความต้านทานภายในโพรงจมูกสูงขึ้น การที่ต้องพยายามสูดหายใจเข้าแรงขึ้น ในขณะที่การไหลเวียนในอากาศลดลงในช่วงหายใจเข้า จะส่งผลให้เกิดการตีบแคบและอุดกั้นทางเดินหายใจเป็นมากขึ้น อาจเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับได้

     ภาวะเช่นนี้ทำให้เกิดอาการอ่อนเพลียหรือง่วงซึมในเวลากลางวันส่งผลให้การเรียนรู้และสมรรถภาพในการทำงานลดลง บุคลิกภาพแย่ลงรวมทั้งเพิ่มความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุมากขึ้น

     ในผู้ป่วยเด็กที่เป็นโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้มักมีปัญหาต่อมทอนซิลและแอดีนอยด์โตร่วมด้วยซึ่งเป็นสาเหตุของการกรน และ/หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับที่พบได้บ่อย